ThaiPublica > คอลัมน์ > อินโฟกราฟฟิกที่ดี (3): สื่อให้เห็นความหมาย

อินโฟกราฟฟิกที่ดี (3): สื่อให้เห็นความหมาย

22 มกราคม 2013


สฤณี อาชวานันทกุล

สองตอนที่ผ่านมาผู้เขียนยกตัวอย่างเพื่อชี้ความสำคัญของ “ข้อมูล” และการใช้กราฟให้ “เป็น” คือสอดคล้องเหมาะสมกับข้อมูล ในการสร้าง “ข้อมูลภาพ” หรืออินโฟกราฟฟิก ซึ่งกำลังฮิตติดลมบนในโลกออนไลน์ของไทย ไม่ต่างจากที่ฮิตในโลกออนไลน์ประเทศอื่น

แต่น่าเสียดายที่อินโฟกราฟฟิกภาษาไทยที่ “ดี” ยังมีอยู่เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น

ปัญหาของอินโฟกราฟฟิกส่วนใหญ่คือ เอาข้อมูลพื้นๆ ไม่กี่ตัวมาทำให้ดูขรึมขลังอลังการ ราวกับว่ามันบอกอะไรๆ เราได้มากมาย

ดูแวบแรกรู้สึกว่า “สวยดี” แต่หลังจากนั้นสามวินาทีก็ถึงบางอ้อว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย”

อินโฟกราฟฟิกไม่จำเป็นต้องเน้นข้อมูลเชิงปริมาณ (ซึ่งมักจะต้องอาศัยกราฟ และที่สำคัญกว่านั้นคือความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล) ก็ได้ จะเน้นข้อมูลเชิงคุณภาพ (มักแสดงออกผ่านถ้อยคำ) เป็นหลักก็ได้ แต่สาระสำคัญก็เหมือนกัน คือต้องใช้ “คำ” และ “ภาพ” ให้สามารถ “สรุป” และ “สื่อ” ใจความสำคัญที่ต้องการจะสื่อได้

อินโฟกราฟฟิกที่เต็มไปด้วยตัวเลข แต่ไม่รู้ว่าประเด็นคืออะไร หรือเต็มไปด้วยข้อความติดกันเป็นพืด ก็ไม่ต่างจากงานเขียนแย่ๆ ที่จับต้นชนปลายไม่ได้ คล้ายคนเขียนยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการจะสื่ออะไร “ประเด็น” อยู่ตรงไหน

อินโฟกราฟฟิกเน้นข้อมูลเชิงคุณภาพหลายชิ้นอัดเนื้อหาเต็มพื้นที่จนคนอ่านตาลาย ภาพประกอบและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ใช้ก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเนื้อหา ไม่ได้สื่อประเด็นอะไรเท่ากับเอาไว้ “พักสายตา” คนอ่านมากกว่า ถ้าผู้ผลิตไปทำเป็นสื่อสิ่งพิมพ์แจกอย่างเช่นแผ่นพับ หรือเขียนเป็นบทความน่าจะเหมาะสมกว่ากันมาก เพราะเหมือน “ความเรียง” มากกว่า “อินโฟกราฟฟิก” ที่ทำเพื่อการสื่อสารออนไลน์เป็นหลัก

ตัวอย่างอินโฟกราฟฟิกที่เข้าข่ายนี้คือชิ้นที่ใช้ชื่อว่า “สื่อสาธารณะ” ผลิตโดยสถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส (สวส.) –

สื่อสาธารณะ (Public Media) โดย สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ
สื่อสาธารณะ (Public Media) โดย สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ

ลองเปรียบเทียบอินโฟกราฟฟิกด้านบนกับกราฟฟิกของ Matra Law เพจของทีมผู้พัฒนาประมวลกฎหมายไทยสำหรับใช้งานบนไอโฟนและไอแพดรายแรก –

ห้างรับผิดชอบแน่นอนถ้ารถหาย ที่มา: เพจ Matra Law
ห้างรับผิดชอบแน่นอนถ้ารถหาย ที่มา: เพจ Matra Law
เลิกกันไม่ใช่เนรคุณ ที่มา: เพจ Matra Law
เลิกกันไม่ใช่เนรคุณ ที่มา: เพจ Matra Law

ใครปราดตามองกราฟฟิกง่ายๆ สองชิ้นนี้ก็เข้าใจแล้วว่าต้องการจะสื่ออะไร ที่จริงสองชิ้นนี้อาจเรียกว่า “อินโฟกราฟฟิก” ไม่ได้เต็มปากนัก เพราะ ‘ง่าย’ และ ‘สั้น’ เกินไป เหมือน “flash card” บัตรสามคูณห้านิ้วที่ใช้ท่องข้อมูลเตรียมสอบมากกว่า แต่ผู้เขียนยกมาอ้างในที่นี้เพราะเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ “คำ” อย่างมีประสิทธิภาพในอินโฟกราฟฟิก คือทำได้ดีทั้งการเลือกคำและการจัดวางคำ ทำให้คนอ่านมองเห็นประเด็นที่ผู้สร้างต้องการจะสื่ออย่างชัดเจนโดยไม่ต้องใช้สมาธิขั้นสูง

(เพจ Matra Law นำเสนอเกร็ดกฎหมายน่าสนใจด้วยการจัดทำกราฟฟิกสั้นๆ แบบนี้ อัพโหลดเป็นรูปบนเฟซบุ๊ก ประกอบคำอธิบายด้านข้าง กราฟฟิกส่วนใหญ่ต้องอ่านคำอธิบายประกอบจึงจะเข้าใจตัวบทและบริบทอย่างครบถ้วน)

เปรียบเทียบให้ถูกต้อง

ไม่ว่าจะใช้กราฟฟิกสวยงามเพียงใดหรือมีมือดีไซน์เจ๋งขนาดไหน ข้อมูลจำนวนมากก็ยากแก่การทำความเข้าใจอยู่ดี โดยเฉพาะข้อมูลเชิงปริมาณที่มีหลายหลัก (เช่น เงินหลักแสนล้านหรือล้านล้าน) และข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เช่น ข้อมูลตัวเดียวกันแต่เปรียบเทียบข้ามบริษัท ข้ามอุตสาหกรรม หรือข้ามประเทศ

ความเสี่ยงของการใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบคือ การใช้โดยไม่คิดให้ดีก่อนว่าข้อมูลนั้นเปรียบเทียบกันได้หรือไม่ และเปรียบเทียบแบบนี้แปลว่าอะไร ใช้ข้อมูลที่หาได้แบบลุ่นๆ สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิด

ยกตัวอย่างเช่น ลองดูภาพแสดงปริมาณเบียร์ที่คนดื่มในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดปี 2011 แยกรายประเทศ จากสำนักข่าว AFP –

ความกระหายเบียร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ล้านลิตร) ที่มา: AFP
ความกระหายเบียร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ล้านลิตร) ที่มา: AFP

ภาพนี้บอกว่า คนเวียดนามดื่มเบียร์มากที่สุดในภูมิภาค คือ 2,595 ล้านลิตร ตามด้วยไทย 1,805 ล้านลิตร และฟิลิปปินส์ 1,622.7 ล้านลิตร

แต่ “ความหมาย” ของข้อมูลนี้คืออะไร? บทสรุปจากภาพนี้คือ “คนเวียดนามดื่มเบียร์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะตัวเลขปริมาณสื่ออย่างนั้น แต่อาจทำให้คนเข้าใจผิดได้ เพราะแต่ละประเทศมีประชากรไม่เท่ากัน ถ้าหากคนทุกประเทศดื่มเบียร์เท่ากันหมด (เช่น คนละ 20 ลิตรต่อปี) ตัวเลขของประเทศใหญ่อย่างอินโดนีเซียก็จะต้องสูงกว่าประเทศเล็กอย่างสิงคโปร์ แต่คงไม่ถูกต้องถ้าจะบอกว่า “คนอินโดนีเซียดื่มเบียร์มากกว่าคนสิงคโปร์”

การป้องกันความเข้าใจผิดนี้ทำได้ง่ายๆ ด้วยการหาตัวเลขประชากรของแต่ละประเทศมาหารปริมาณเบียร์ที่บริโภค ผลลัพธ์ที่ได้คือ “ปริมาณเบียร์ต่อหัว” ดังภาพนี้ –

ความกระหายเบียร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ลิตรต่อหัว) ที่มา: ผู้เขียน ดัดแปลงจากข้อมูล AFP
ความกระหายเบียร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ลิตรต่อหัว) ที่มา: ผู้เขียน ดัดแปลงจากข้อมูล AFP

ข้อมูลนี้ทำให้เราตอบคำถาม “คนชาติไหนดื่มเบียร์มากกว่ากัน” ได้อย่างเต็มปาก จะเห็นว่าบางอันดับไม่เปลี่ยนแปลง เวียดนามยังครองแชมป์ที่ 29.55 ลิตรต่อคนต่อปี ไทยยังตามมาเป็นที่สอง คือ 27.39 ลิตรต่อคนต่อปี และเมียนมาร์ก็ยังรั้งท้ายที่ 0.6 ลิตรต่อคนต่อปี แต่ลาวกับสิงคโปร์แซงหน้าฟิลิปปินส์ขึ้นมาเป็นอันดับที่สามและสี่ตามลำดับ

แน่นอน ผู้สร้างอินโฟกราฟฟิกต้นฉบับอาจไม่ได้อยากตอบคำถามว่าชนชาติไหนดื่มเบียร์มากกว่ากัน อาจจะอยากนำเสนอปริมาณรวมเพราะจะได้ชี้ว่า “ตลาดเบียร์” ประเทศไหนใหญ่กว่ากัน แต่ประเด็นที่ผู้เขียนอยากชี้คือ การใช้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบลักษณะนี้สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อหรือเป็นประเด็นอื่น ด้วยเหตุนี้ การ “แปลง” ข้อมูลดิบ เช่น ด้วยการ “ถ่วงน้ำหนัก” ด้วยข้อมูลอีกชุดหนึ่งก่อน เพื่อให้เปรียบเทียบกันได้จริงๆ และป้องกันการเข้าใจผิด จึงมักจะเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต่อการนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ

ตัวอย่างสื่อที่นำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบได้ดีมากคือ วารสาร ดิ อีโคโนมิสต์ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบ ราคา หรือ กำลังซื้อ ของคนในประเทศต่างๆ ทั้งที่กองบรรณาธิการทำเอง หรือที่อ้างอิงจากรายงานของนักวิเคราะห์

ตัวอย่างหนึ่งที่เข้ากับตัวอย่างเบียร์ข้างต้น คือ กราฟ “Beer and Labour” (เบียร์กับการทำงาน) –

Beer and Labour ที่มา: http://www.economist.com/blogs/graphicdetail/2012/09/daily-chart-13
Beer and Labour ที่มา: http://www.economist.com/blogs/graphicdetail/2012/09/daily-chart-13

สำหรับกราฟนี้ ดิ อีโคโนมิสต์ แสดงผลการคำนวณของนักวิเคราะห์จากยูบีเอส สถาบันการเงินชื่อดัง เขานำราคาขายปลีกเบียร์ขนาด 500 มิลลิลิตรในแต่ละประเทศ มาหารด้วยค่าจ้างรายชั่วโมงเฉลี่ยของประเทศนั้นๆ ผลลัพธ์ที่ได้ตอบคำถาม “เราต้องทำงานกี่นาทีถึงจะมีเงินพอซื้อเบียร์หนึ่งกระป๋องได้?”

น่าสังเกตว่าค่าเฉลี่ยของ 150 ประเทศทั่วโลกคือ 20 นาที ของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกเล็กน้อย คือคนไทยโดยเฉลี่ยต้องทำงานราว 22 นาที ถึงจะมีสตางค์พอซื้อเบียร์ ขณะที่คนอเมริกันโดยเฉลี่ยทำงานแค่ 5 นาทีก็มีเงินซื้อเบียร์แล้ว แต่คนไทยก็ยังต้องทำงานซื้อเบียร์น้อยกว่าคนเวียดนาม แชมป์ดื่มเบียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ – คนเวียดนามโดยเฉลี่ยต้องทำงานถึง 28 นาที ถึงจะมีเงินซื้อเบียร์ขนาด 500 มิลลิลิตร

เชื่อมข้อมูลมาใกล้ตัว

ความน่าสนใจของข้อมูลที่ยูบีเอสนำเสนอข้างต้นไม่ได้อยู่ที่การเลือกใช้วิธีเปรียบเทียบที่ “มีความหมาย” อย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่ความฉลาดในการเชื่อมข้อมูลมา “ใกล้ตัว” คนอ่าน ในที่นี้คือ “กำลังซื้อเบียร์”

ลองนึกดูว่าถ้านักวิเคราะห์แสดงราคาเบียร์ในประเทศต่างๆ (ในทางที่เทียบกันได้ เช่นแสดงในสกุลเงินเดียวกันสำหรับเบียร์ขนาดเดียวกัน) อย่างเดียว คนอ่านก็คงสนใจพอประมาณ แต่การเปรียบเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงช่วยยกระดับความน่าสนใจไปอีกขั้น เพราะทำให้คนอ่านเชื่อมโยงมาถึงตัวเองได้ทันทีว่า ฉันจะต้องทำงานแค่ไหนถึงจะมีเงินไปซื้อเบียร์

กล่าวโดยทั่วไป การนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่ผู้สร้างตั้งใจจะเน้นเรื่อง “ขนาด” โดยเฉพาะขนาด “มหาศาล” ของอะไรสักอย่างนั้น ลำพังการใช้กราฟหรือตัวเลขเพียวๆ มักจะไม่ช่วยให้ใครเข้าใจ โดยเฉพาะคนอ่านที่ปกติไม่ได้ทำงานกับตัวเลข วันๆ อยู่กับโปรแกรมไมโครซอฟต์เอ็กเซลมากกว่าแฟน

การเชื่อมข้อมูลมาใกล้ตัว ในขนาดและบริบทที่คนเข้าใจ (human scale) จึงเป็นวิธีที่น่าเรียนรู้และน่าใช้ในการนำเสนอข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่อยากเน้น “ขนาด” ให้คนรู้สึก

การเชื่อมข้อมูลมาใกล้ตัวนั้นทำได้หลายวิธี การวิเคราะห์ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ อย่างเช่น “เวลาทำงานที่ต้องใช้ก่อนซื้อเบียร์ได้ในแต่ละประเทศ” แทนที่ “ราคาเบียร์ในประเทศต่างๆ” ข้างต้นก็เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ

มาลองดูอีกตัวอย่าง แพ็คเกจอุ้มภาคการเงินที่สภาคองเกรสอเมริกันอนุมัติตั้งแต่ปี 2008 เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์นั้นมีมูลค่ามหาศาลถึง 8,439,120,000,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 8.43 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

คำถามคือจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจตัวเลขที่ “ใหญ่” ขนาดนี้?

คำตอบของเว็บไซต์แห่งหนึ่ง (ขออภัย ผู้เขียนเซฟมานานมากแล้วโดยลืมจด URL ที่มา) คือ นำเสนอตัวเลขนี้เชิงเปรียบเทียบ 4 แบบ –

The Numbers, The Taxes, The History & The Value
The Numbers, The Taxes, The History & The Value

แบบแรก The Numbers (ตัวเลข) คำนวณว่าครอบครัวอเมริกันแต่ละครอบครัวต้องรับภาระแพ็คเกจอุ้มครอบครัวละเท่าไร (ประมาณ 55,198 เหรียญสหรัฐต่อครอบครัว)

แบบที่สอง The Taxes (ภาระภาษี) คำนวณว่าถ้ารัฐต้องเก็บภาษีเพิ่มเพื่อเอามาอุดช่องโหว่ (เพราะเงินอุ้มคือเงินภาษีประชาชนทั้งนั้นไม่วันนี้ก็วันหน้า) คุณจะต้องจ่ายภาษีตลอด 30 ปีข้างหน้ารวมเป็นเงินเท่าไร ถ้ามีรายได้ปีละ 50,000 เหรียญสหรัฐ

แบบที่สาม The History (ประวัติศาสตร์) เปรียบเทียบแพ็คเกจเงินอุ้มครั้งนี้กับกรณีใช้จ่ายเงินมหาศาลของรัฐบาลอเมริกันครั้งก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ โดยปรับตัวเลขตามเงินเฟ้อเพื่อให้เปรียบเทียบค่าเงินข้ามหลายศตวรรษได้อย่างถูกต้อง

แบบสุดท้าย The Value (มูลค่า) คำนวณให้ดูว่าภาระเงินอุ้มของแต่ละครอบครัวจาก The Numbers นั้นซื้อสินค้าต่างๆ ที่คนอเมริกันชอบ (รถยนต์เชฟโรเล็ตรุ่น Aveo ค่าเล่าเรียนระดับอุดมศึกษา เครื่องไอแม็ค และแพ็คเกจเรือสำราญ) ได้มากน้อยเพียงใด

นอกจากการเชื่อมมาใกล้ตัวด้วยการนำเสนอเชิงเปรียบเทียบในทางที่ใกล้ตัว อีกวิธีที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ถนัดกราฟฟิกมากกว่าตัวเลข คือการใช้ “ภาพ” สื่อสาร “ขนาด” อย่างชัดเจน

ตัวอย่างหนึ่งที่ลือลั่นคือเว็บไซต์ usdebt.kleptocracy.us/ ซึ่งแสดงขนาดของหนี้สาธารณะอเมริกาเป็นกองเงิน เปรียบเทียบกับสถานที่สำคัญๆ ในอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบกับอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ตึกเอ็มไพร์ สเตท และตึกเวิลด์ เทรด เซ็นเตอร์ ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าใหญ่โตกว่ากันขนาดไหน (กองเงินแสดงหนี้สาธารณะ 114.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ทางขวาสุดของภาพ) –

หนี้สาธารณะอเมริกัน เปรียบเทียบกับสถานที่สำคัญ ที่มา: http://usdebt.kleptocracy.us/
หนี้สาธารณะอเมริกัน เปรียบเทียบกับสถานที่สำคัญ ที่มา: http://usdebt.kleptocracy.us/

โลกออนไลน์ไทยก็เริ่มมีตัวอย่างอินโฟกราฟฟิกที่พยายามเชื่อมข้อมูลมาใกล้ตัวเหมือนกัน ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนค่อนข้างชอบมาจากเว็บ GeoThai.net ชื่อ “บันทึกประวัติศาสตร์โลก: เข้าใจธรณีกาลด้วยหนังสือหนึ่งเล่ม”

บันทึกประวัติศาสตร์โลก: เข้าใจธรณีกาลด้วยหนังสือหนึ่งเล่ม ที่มา: http://geothai.net/gneiss/?p=2025
บันทึกประวัติศาสตร์โลก: เข้าใจธรณีกาลด้วยหนังสือหนึ่งเล่ม ที่มา: http://geothai.net/gneiss/?p=2025

คำอธิบายใต้อินโฟกราฟฟิกชิ้นนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า “เปรียบเทียบมาตราเวลาทางธรณีกาลกับหนังสือหนึ่งเล่ม ที่ประกอบด้วยกระดาษ 100 แผ่น (100 หน้า) สารบัญแบ่งเป็น 11 บท ตามจำนวนมหายุค (Era) ลำดับจากอายุอ่อนไปอายุแก่ โดยมีปัจจุบันอยู่ในหน้าแรก ที่คั่นหนังสือระบุเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นบนโลก”

ผู้เขียนหวังว่าตัวอย่างทั้งหมดที่ยกมาข้างต้นนั้นคงพอจะชี้ให้เห็นความสำคัญของการหาวิธี “สื่อความหมาย” ของข้อมูลให้ชัดเจน ตรงประเด็น และพยายามป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อ่าน

นั่นหมายความว่าผู้จัดทำอินโฟกราฟฟิกจะต้องเข้าใจข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเป็น ไม่ใช่มัวแต่คิดเรื่องความสวยงามหรือความดูดีมีเอกลักษณ์ของดีไซน์ เพราะถึงที่สุดแล้ว ไม่ว่าดีไซน์จะเตะตาขนาดไหน ถ้าหากอินโฟกราฟฟิกชิ้นนั้นใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ไม่มีประเด็นชัดเจน และไม่ได้สื่อสาร “เรื่องราว” อะไรที่น่าสนใจ มันก็ไม่ต่างอะไรกับหนังสือที่ดูดีแค่ปกเท่านั้น

(อ่านต่อตอน: อินโฟกราฟฟิกที่ดี (จบ): อย่าตายน้ำตื้นกับสถิติ)