ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิด “โครงการ-เม็ดเงิน” นโยบายเร่งด่วนปี 2556 “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีมะเส็ง

เปิด “โครงการ-เม็ดเงิน” นโยบายเร่งด่วนปี 2556 “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีมะเส็ง

5 มกราคม 2013


การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556 ของหน่วยงานสำคัญๆ ที่ทยอยประกาศออกมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 พบว่า ทุกแห่งมองในทิศทางเดียวกัน คือ เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี “มะเส็ง” จะเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 5% และปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ “การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ” กับปัจจัยหนุนที่สำคัญคือ ภาคการส่งออกซึ่งคาดว่าจะได้อานิสงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

โดยการลงทุนในปีนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ปีทอง” แห่งการลงทุนของภาครัฐ เพราะตัวเลขโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องดำเนินการรวมๆ แล้วคงใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท ขณะที่นายกรัฐมนตรี “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ถึงกับยกให้การลงทุนปีนี้เป็น “วาระแห่งชาติ”

GDP 2556

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ระบุว่า ในปี 2556 การลงทุนภาครัฐจะเป็น “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐจะมาจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจประมาณ 3-4 แสนล้านบาท การลงทุนจากงบปกติของรัฐบาลอีกกว่า 2 แสนล้านบาท และเงินลงทุนจากมาตรการในส่วนแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาววงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเบิกจ่ายได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระยะ 7 ปี ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะเสนอร่างกฎหมายเงินกู้ฉบับนี้ให้รัฐสภาพิจารณา และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในไตรมาสแรกของปี 2556

ผู้อำนวยการ สศค. อธิบายว่า พ.ร.บ.เงินกู้ฯ 2.2 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งระบบราง มีเพียงส่วนน้อยที่นำไปลงทุนในส่วนของกรมศุลกากร โดยเงินลงทุนจะทยอยเบิกจ่ายตามโครงการลงทุนภายใน 7 ปี ซึ่งช่วงปีแรกคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายกว่า 1 แสนล้านบาท และปีที่สองจะเพิ่มเป็น 2-3 แสนล้านบาท จากนั้นก็จะทยอยออกเบิกจ่ายจนครบ 7 ปี ส่วนงบลงทุนปกติของของรัฐบาลที่ตั้งไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะเน้นลงทุนเรื่องพลังงานและอื่นๆ ที่ไม่ใช่ระบบขนส่ง

“สศค. ประมาณการจีดีพีปี 2556 ขยายตัว 5% ยังไม่นับรวมวงเงินลงทุนใน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ในปีแรกกว่า 1 แสนล้านบาท ดังนั้น ถ้าเม็ดเงินลงทุนส่วนนี้เบิกจ่ายได้จริง จะทำให้จีดีพีปี 2556 เพิ่มขึ้นได้อีก 1%” ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว

นอกจากนี้ สศค. ประเมินว่า “การใช้จ่ายสาธารณะ” ของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ จะมีวงเงินการใช้จ่ายทั้งสิ้น 3.16 ล้านล้านบาท และในปีงบประมาณ 2557 คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 3.21 ล้านล้านบาท

ขณะที่ สำนักงบประมาณรายงานสรุปข้อมูล “นโยบายเร่งด่วน” และ “นโยบายที่สำคัญ” ของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2556 ว่า มีเม็ดเงินรวมทั้งสิ้น 5.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนโยบายเร่งด่วน 18 ข้อ วงเงิน 5.24 แสนล้านบาท และนโยบายสำคัญ 8 ข้อ วงเงิน 1.62 หมื่นล้านบาท

จะเห็นว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นนโยบายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ และแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554

หากรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะมีเม็ดเงินจากภาครัฐอัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีผลทางจิตวิทยาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนกล้าตัดสินใจบริโภคและลงทุนตาม ทำให้ภาคเอกชนมีบทบาทเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ซึ่งในปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยขยายตัวทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 8 ปี

“ทั้งปี 2555 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวถึง 5.6% ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 16.1% เป็นการขยายตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์ย้อนหลัง 8 ปีที่ผ่านมา ปี 2556 คงไม่สูงขนาดนี้ แต่ยังเป็นปัจจัยบวกหนุนเศรษฐกิจต่อไปได้” ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว

งบประมาณนโยบายเร่งด่วน 2556

อย่างไรก็ตาม ในปี 2556 แม้จะเป็น “ปีทอง” ของการลงทุนภาครัฐ แต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายเงินลงทุนของภาครัฐ หากล่าช้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ย่อมส่งผลกระทบด้านลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและบั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

เพราะฉะนั้น ประสิทธิภาพการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐ จะเป็น “หัวใจ” สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2556

ส่วนภาคการส่งออกในปีที่ผ่านมาประเมินว่าขยายตัวได้มากสุดไม่เกิน 5% ถือว่า “ตกต่ำ” มากในรอบกว่า 10 ปี อันเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่ปี 2556 สำนักพยากรณ์เศรษฐกิจเชื่อมั่นว่า การส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยเฉพาะสัญญาณบวกจากข่าวดีตั้งแต่วันแรกของการเริ่มต้นศักราชใหม่ คือ ข่าวทำเนียบขาวและสมาชิกพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐ ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหน้าผาการคลัง (Fiscal Cliff) ยกแรกแล้ว ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถชะลอการปรับลดการใช้จ่ายออกไปอีก 2 เดือน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกก็ยังมีความไม่แน่นอนจากปัญหาหนี้ในยุโรป ที่ประเมินกันว่าจะเป็นปัญหาเรื้อรัง ต้องใช้เวลาอีกนานในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ส่วนสหรัฐแม้จะมีข่าวดี แต่ต้องลุ้นกันต่อว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่สะดุดลง เพราะอัตราการว่างงานยังอยู่ระดับสูง ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอย เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจโลกมานาน ก็ยังไม่ดีขึ้น ขณะที่จีนก็ประกาศนโยบายดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินไป

เพราะฉะนั้น แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางดีขึ้นกว่าปีก่อน แต่อัตราการขยายตัวคงไม่สูงเหมือนในอดีต และยังอยู่ในภาวะเปาะบาง เนื่องจากหากพิจารณาปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องจับตามอง คือ กรณีพิพาทหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งหมู่เกาะดังกล่าวมีชื่อในภาษาจีนว่า เกาะ “เตียวหยู” ส่วนชาวญี่ปุ่นเรียกว่าหมู่เกาะ “เซ็นกากุ” กรณีนี้หากบานปลายย่อมกระทบเศรษฐกิจโลกแน่นอน นอกจากนี้ยังต้องเกาะติดสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในตะวันออกกลางด้วย

ปัจจัยต่างประเทศจึงเป็นได้ทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ที่สำคัญคือเป็นตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากเศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งพาการส่งออกที่รอคอยอานิสงจากเศรษฐกิจโลกก็คงทำได้ไม่เต็มที่ และยากที่จะกลับไปขยายตัวในอัตรา 20-30% เช่นในอดีต

ทั้งนี้ สศค. ประมาณการส่งออกทั้งปี 2555 ขยายตัว 3% และปี 2556 คาดว่าจะขยายตัว 6.6% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประมาณส่งออกทั้งปี 2555 ขยายตัว 4.4% และปี 2556 จะขยายตัว 9% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ประมาณการส่งออกทั้งปี 2555 ขยายตัว 5.5% และเพิ่มขึ้นเป็น 12.2% ในปี 2556 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกทั้งปี 2555 ไว้ที่ 5% จากเดิมตั้งเป้าไว้ถึง 15% และปี 2556 ตั้งเป้าส่งออกโต 8-9%

โดยสรุป ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2556 แม้จะมีปัจจัยบวก คือ การลงทุนภาครัฐ กับปัจจัยหนุน คือ ภาคการส่งออก แต่ขณะเดียวกันทั้งสองปัจจัยนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วย เพราะมีโอกาสที่สถานการณ์อาจพลิกผันทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามคาดการณ์ได้

ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองเป็นอีกตัวแปรที่ไม่ควรละเลย เพราะนโยบายรัฐบาลจะเดินได้ตามเป้าหมายหรือไม่ขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมืองด้วย โดยปีนี้อาจเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ทางการเมืองอีกครั้ง เพราะมีประเด็นร้อนเรื่องการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งจนกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และอาจทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทีเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจไทยปี “มะเส็ง” โดยภาพรวมยังไปต่อได้ แต่ประมาทไม่ได้!!!