ThaiPublica > เกาะกระแส > งบฯ 7.4 หมื่นล้าน เรื่องต้องรู้! ก่อนเข้าคูหาเลือกผู้ว่าฯ กทม.

งบฯ 7.4 หมื่นล้าน เรื่องต้องรู้! ก่อนเข้าคูหาเลือกผู้ว่าฯ กทม.

30 มกราคม 2013


ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย
ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่ากทม.จากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย

แม้จะเป็นเพียงการแข่งขันทางการเมืองระดับท้องถิ่น

แต่เป็นท้องถิ่นในระดับเมืองหลวงของประเทศย่อมไม่ธรรมดา

การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น!!

โดยเฉพาะผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 9 จากพรรคเพื่อไทย

ยิ่งใกล้โค้งสุดท้ายเข้ามามากเท่าใด ต่างฝ่ายต่างงัดกลยุทธ์ออกมาประชันกันอย่างคึกคัก นโยบายหลายอย่างที่เข้าข่ายว่า “ขายฝัน” ถูกหยิบออกมานำเสนอเพื่อให้คนกรุงได้ตัดสินใจ

แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าความสนใจของประชาชนที่มีต่อตัว “นโยบาย” จะมีน้อยกว่า “ที่มา” ของผู้สมัครว่ามาจาก “พรรคการเมือง” ใด และมีความเกี่ยวโยงกับ “เสื้อสี” อะไร

อย่างไรก็ตาม “ปัจจัย” ที่สำคัญยิ่งซึ่งคนกรุงเทพฯ ควรจะนำมาพิจารณาก่อนการเปิดคูหาในวันที่ 3 มีนาคมนี้คือ “งบประมาณ” ของ กทม. ที่มีจำนวนมหาศาล

งบประมาณของกรุงเทพมหานครในปี 2556 มีจำนวน 74,967.17 ล้านบาท

โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่มาจากการอุดหนุนของรัฐบาลตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 14,419.83 ล้านบาท และส่วนที่มาจากรายได้ของ กทม. เอง จำนวน 60,527.33 ล้านบาท (กราฟด้านล่างแสดงงบประมาณรายจ่ายของกทม.ย้อนหลัง5 ปี)

งบประมาณดังกล่าวถูกจัดสรรภายใต้กรอบการทำให้ กทม. เป็นเมืองสะอาด สวยงาม สิ่งแวดล้อมที่ดี ผู้คนมีความสุข ปลอดภัย และอุ่นใจทุกครอบครัวด้วยการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนทุกระดับ และให้มีการร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเดินทางไม่ติดขัด ลดปัญหาจราจร และที่สำคัญ เป็นเมืองแห่งโอกาสให้ทุกคนตั้งตัวและเติบโตได้

ทั้งนี้ งบประมาณก้อนแรกกว่า 14,419 ล้านบาท ที่มาจากงบอุดหนุนของรัฐบาล จะถูกใช้ในแผนงานต่างๆ จำนวน 6 แผนงาน ประกอบด้วย 1. แผนงานป้องกัน ปราบปราม และบำบัดยาเสพติด จำนวน 394 ล้านบาท 2. แผนงานยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนจำนวน 4,085 ล้านบาท 3. แผนงานสนับสนุนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาเพื่อการศึกษา จำนวน 203 ล้านบาท

4. แผนงานสนับสนุนการจัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 1,305 ล้านบาท 5. แผนงานพัฒนาด้านสาธารณสุข จำนวน 108 ล้านบาท และ 6. แผนงานส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,322 ล้านบาท

ขณะที่งบประมาณในส่วนที่มาจากรายได้ของ กทม. นั้นมีกว่า 60,000 ล้านบาท(ไม่รวมรายจ่ายการพาณิชย์กรุงเทพมหานครจำนวน 527 ล้านบาท) ซึ่งจัดสรรตามลักษณะงานและประเภทของงบประมาณได้ดังนี้ 1. ด้านการบริหารทั่วไป 14,623 ล้านบาท 2. ด้านการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 11,764 ล้านบาท 3. ด้านการโยธาและระบบการจราจร 9,907 ล้านบาท

4. ด้านการระบายน้ำและบำบัดน้ำเสีย 5,309 ล้านบาท 5. ด้านการพัฒนาและบริการสังคม 7,122 ล้านบาท 6. ด้านการสาธารณสุข 5,170 ล้านบาท และ7. ด้านการศึกษา 6,101 ล้านบาท

งบประมาณกรุงเทพมหานคร

งบประมาณดังกล่าวมีจำนวนมากกว่างบประมาณที่กระทรวงเกรดเอหลายกระทรวง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล

สิ่งนี้ ชาว กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของภาษีจึงควรนำมาพิจารณาก่อนการตัดสินใจให้ความไว้วางใจกับผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง เพราะในอนาคต คนที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะมีอำนาจในการบริหารงบประมาณก้อนมหึมาก้อนนี้!

เปิดแหล่งหากิน กทม.

งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ในส่วนที่ กทม. ควักออกจากกระเป๋าของตัวเองนั้น มีจำนวนมากกว่างบประมาณในส่วนที่รัฐบาลอุดหนุนถึง 4 เท่า

แสดงให้เห็นถึงรายได้ของ กทม. ที่สามารถเก็บได้เองตาม “อำนาจ” ของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษว่ามีจำนวนมากเพียงใด

สำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร ได้ประมาณการรายรับของ กทม. ในปี 2556 เอาไว้ที่จำนวน 60,000 ล้านบาท มากกว่าการประมาณการรายรับในปี 2555 จำนวน 5,000 ล้านบาท

โดยประมาณการรายได้ในปี 2556 นั้นมีที่มารายได้จาก

ภาษีอากร ประกอบด้วย ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย อากรฆ่าสัตว์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสุรา ภาษีการพนัน ภาษีสรรพสามิต ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน ภาษี ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวน 57,493 ล้านบาท

ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาต ค่าปรับ และค่าบริการ อาทิ ค่าธรรมเนียมการเก็บขยะมูลฝอย ค่าธรรมเนียมการจอดยานยนต์ ค่าใบอนุญาตติดตั้งป้ายโฆษณา ใบอนุญาตตลาดเอกชน รวมจำนวน 1,050 ล้านบาท

รายได้จากทรัพย์สิน อาทิ ค่าเช่าอาคารสถานที่ ค่าเช่าท่าเทียบเรือ ค่าเช่าแผงสาธารณะ รวม 700 ล้านบาท

รายได้จากการสาธารณูปโภค การพาณิชย์ และกิจกรรมอื่น ประกอบด้วยรายได้จากสถานธนานุบาล และสำนักงานตลาด รวมจำนวน 80 ล้านบาท

และรายได้เบ็ดเตล็ด เช่น เงินเหลือจ่ายปีเก่าส่งคืน และค่าขายแบบประกวดราคา จำนวน 677 ล้านบาท