ThaiPublica > คอลัมน์ > เสี้ยวหนึ่งของบันทึกความทรงจำ: คดีประวัติศาสตร์การชุมนุมคัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ สงขลา

เสี้ยวหนึ่งของบันทึกความทรงจำ: คดีประวัติศาสตร์การชุมนุมคัดค้านท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย อำเภอจะนะ สงขลา

20 มกราคม 2013


นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ชัยชนะของประชาชนกรณีประท้วงท่อก๊าซ จะนะ จ.สงขลา ที่มาภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=401857866564957&set=a.120509001366513.31146.100002222405477&type=1&theater
ชัยชนะของประชาชนกรณีประท้วงท่อก๊าซ จะนะ จ.สงขลา ที่มาภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=401857866564957&set=a.120509001366513.31146.100002222405477&type=1&theater

วันที่ 16 มกราคม 2556 เป็นวันที่ต้องถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของภาคประชาชน ในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยสงบปราศจากอาวุธ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่า ประชาชนผู้คัดค้านได้ใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปฏิบัติตามหลักสากลและตาม รธน. ในการควบคุมหรือสลายการชุมนุม จึงขอแสดงความชื่นชมยินดีต่อประชาชนชาวจะนะและชาวสงขลาผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน 12 คน ที่ถูกจับกุมคุมขังด้วยอำนาจรัฐที่มิชอบ

ในส่วนของผม ในฐานะที่ทำหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น ได้รับทราบข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อคืนวันที่ 20 ธันวาคม 2545 เมื่อทราบว่ามีการจับกุมบรรจง นะแส และพวกรวม 12 คน ผมตัดสินใจลงไปสงขลาทันทีในวันรุ่งขึ้นโดยไม่ได้ขออนุมัติหรืออนุญาตจากใคร เพราะถือหลักว่า หากเราทำความดีไม่ต้องขออนุมัติ ส่วนเรื่องรายงานให้ประธาน กสม. ทราบนั้นสามารถรายงานได้ภายหลัง (ต่อมาเมื่อได้แจ้งประธาน กสม. ให้ท่านได้รับทราบ ท่านได้ขอบคุณที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่อย่างรวดเร็ว) หากไปขออนุญาตแล้วมีการตั้งข้อสังเกตว่าให้รอดูสถานการณ์ไปก่อน หรือรอเข้าที่ประชุม กสม. ก่อน ผมก็คงไม่ได้ลงไปสงขลาแน่ และไม่มีโอกาสมีส่วน (แม้เล็กน้อย) ในการปกป้องคุ้มครองคนที่รักแผ่นดินถิ่นเกิดด้วยจิตสำนึกสาธารณะอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง ทำไม่ผมเชื่อเช่นนั้น? ทำไมผมไม่รอดูสถานการณ์ก่อน? วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ผมจะได้บันทึกสิ่งที่อยู่ในใจมานานร่วมสิบปี

ผมได้ติดตามการต่อสู้คัดค้านด้วยการแสดงออกอย่างสงบและสันติวิธี ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่จะนะและพื้นที่อื่นในจังหวัดทางภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมา ผมได้รับรู้ถึงการพัฒนาที่เอาจีดีพีหรือเอาเงินเป็นตัวตั้ง หาได้คำนึงถึงสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิทธิชุมชนไม่

ที่สำคัญคือ ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่มีโอกาสได้ร่วมกำหนดชะตากรรมหรือชะตาชีวิตของพวกเขาหรือของชุมชนด้วยตัวเขาเอง ไปดูรัฐธรรมนูญในมาตรา 3 ทุกฉบับที่ผ่านมาเถิด ระบุชัดเจนว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย… อำนาจอธิปไตยจะเป็นของปวงชนชาวไทยได้อย่างไร หากเขาเหล่านั้นไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศ ทิศทางในการพัฒนาประเทศที่ผ่านมาถูกกำหนดโดยคนไม่กี่ตระกูลในสังคมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในนามการปกครองที่เรียกว่าประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งหรือเผด็จการทหาร สิ่งที่เราเรียกว่าแผนพัฒนาประเทศนั้นถูกกำหนดโดยคนหยิบมือเดียวที่เข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐและอำนาจทางเศรษฐกิจ

ผลของการพัฒนาที่ผ่านมานั้น รายได้ส่วนหนึ่งส่งออกนอกประเทศ รายได้ส่วนหนึ่งกระจุกอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่ตระกูลที่อยู่บนยอดพีระมิด (ไม่ว่าจะมีระบอบการปกครองแบบใดก็ตาม) คนข้างล่างได้บ้างจากแรงงานราคาถูก แต่สิ่งที่ทิ้งไว้นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำที่กว้างขึ้นของคนในสังคมไทยแล้ว ยังทิ้งมลภาวะจากอุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ทิ้งความพิการความตายและสุขภาพที่ทรุดโทรมไว้ให้คนที่อยู่ฐานล่างของประเทศอย่างน่าสลดสังเวชใจมาก

แต่ทุกวันนี้ คนข้างบนยอดพีระมิดยังเดินหน้าผลักดันการพัฒนาที่เอาความโลภเป็นตัวตั้งอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อคนในพื้นที่หรือคนที่ฐานล่างขอมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาบ้าง คนข้างบนก็ใช้เครื่องมือของรัฐไล่ทุบตีผู้คนที่คัดค้านเหมือนหมูเหมือนหมา หรือร้ายไปกว่านั้นคือการลอบสังหารผู้นำการคัดค้านอย่างโหดเหี้ยม โดยมิได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ที่ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 แห่ง รธน. ฉบับปัจจุบัน

ในกรณีท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซที่จะนะ เช่นเดียวกับอภิมหาโปรเจคต์ทั้งหลาย ที่ผู้มีอำนาจได้ทำทุกวิถีทางที่หลบเลี่ยงไม่รับฟังความเห็นของคนในพื้นที่ หรือหากฟังก็กระทำเพียงพิธีกรรมด้วยการจ้างคนมานั่งรับฟังอย่างขอไปที เพื่อนำไปอ้างว่าได้ทำการครบถ้วนกระบวนการแล้ว ซ้ำร้ายไปกว่านั้นคือ การจ้างนักวิชาการจากสถาบันวิชาการที่มีชื่อเสียงมาทำการรับรองกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร้จริยธรรมอย่างไม่น่าเชื่อ

แม้ว่าผมทราบข่าวจากสื่อมวลชนแล้วก็ตาม ผมยังได้รับข้อมูลจากแพทย์และชาวสาธารณสุขในพื้นที่ ทำให้พอประมวลสถานการณ์ในพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง ผมจึงขึ้นเครื่องไปลงหาดใหญ่ แล้วขอรถตู้จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลามารับ แล้วตรงไปที่ค่ายรามคำแหง อำเภอเมืองสงขลา ทันที ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าไปในค่ายรามคำแหงได้เลย ผมขอให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลาช่วยประสานงานให้ โดยระบุไปว่าผมเป็นข้าราชการระดับ 11 เป็นระดับสูงสุดในระบบราชการ อีกทั้งรถตู้ที่จะนำผมไปพบผู้นำการชุมนุม 12 คนนั้นก็เป็นรถที่ใช้ในราชการของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดังกล่าวแล้ว เมื่อถึงหน้าประตูทางเข้าค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ผมต้องแสดงตัวว่าผมเป็นข้าราชการ มาเพื่อเยี่ยมผู้นำชุมนุม ผมจึงสามารถเข้าไปพบบรรจง นะแส กับพวกได้

ทันทีที่ผมเห็นบรรจง นะแส ผมยกมือขึ้นไหว้ก่อนทั้งๆ ที่ทราบดีว่าอายุน้อยกว่าผม แต่ผมต้องการแสดงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังทำการสอบผู้นำการชุมนุมอยู่นั้นเห็นว่า ผมให้ความนับถือผู้นำการชุมนุมที่พวกเขาร่วมกันปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแทนผมและคนไทยทั้งประเทศ แล้วต้องมาลำบากกลายเป็นผู้ต้องหาอย่างนี้ ผมจำไม่ได้ว่าได้พูดอะไรกับบรรจงบ้าง แต่ที่ผมไม่สามารถพูดออกมาได้เลยแม้แต่ประโยคเดียว เมื่อตอนที่ผมขอร้องเจ้าหน้าที่ให้พาผมไปดูสถานที่ที่ควบคุมตัวชั่วคราว สถานที่ชั่วคราวเป็นเหมือนโรงรถที่กั้นเป็นห้องๆ สามห้อง ทั้ง 12 คน อยู่แยกกันทั้งสามห้องติดกัน

ผมต้องกลั้นใจอย่างหนัก ไม่สามารถพูดหรือถามไถ่อะไรได้ เพราะเกรงว่าต่อมน้ำตาจะทำหน้าที่โดยที่ไม่ได้สั่งการ ผมเพียงแต่พยักหน้าทักทายแล้วออกมาโดยเร็ว จากนั้นกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ก่อนลาจากกันเพื่อไปขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ สิ่งที่ผมแน่ใจประการหนึ่งก็คือ ผู้นำการชุมนุมทั้ง 12 คน ได้รับความปลอดภัยระดับหนึ่งแล้ว เพราะเรื่องราวของเขาจะได้รับการเปิดเผยในเวลาไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ และเป็นจริงดังคาด เมื่อผมมาถึงที่สนามบินหาดใหญ่ สัญญาณคลื่นมือถือมีความแรงขึ้น จึงได้รับการติดต่อจากทางสถานีวิทยุแห่งหนึ่งจากกรุงเทพฯ สัมภาษณ์ผมทันทีว่าไปเยี่ยมผู้นำการชุมนุมได้พบอะไรบ้าง มีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ถามว่านายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีอำนาจในการสั่งการให้สลายการชุมนุมหรือไม่ ผมตอบไปว่า ไม่มี รธน. มาตราไหนที่อนุญาตให้นายกรัฐมนตรี รมว. หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการสลายการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมทำการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ และหากเห็นว่าการชุมนุมอาจไม่สงบหรือพบอาวุธในที่ชุมนุม การสลายการชุมนุมต้องมีขั้นตอนตามหลักสากลจากเบาไปหาหนัก

จากข้อมูลที่ผมได้รับจากสื่อมวลชนตรงกันว่า ไม่ปรากฏชัดว่ามีการดำเนินการยุติการชุมนุมอย่างเป็นขั้นตอนตามหลักสากล โดยที่ผมไม่มีโอกาสทราบเลยว่า หลังผมสัมภาษณ์เสร็จแล้วขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ คุณหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำการสัมภาษณ์ต่อจากผม วิจารณ์ผมโดยที่ผมไม่มีโอกาสชี้แจง และยังย้อนกลับมาว่า…ไม่มี รธน. มาตราไหนที่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมรุมตีเจ้าหน้าที่รัฐ…ผมรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสอยู่ในสายพร้อมกัน เพราะจะได้ชี้แจงได้ในทุกประเด็น ทำให้ผมเห็นว่า นักการเมืองพรรคนี้เก่งเรื่องการตลาด และมีความชำนาญมากในการใช้และควบคุมสื่อ

เหตุเกิดที่จะนะเมื่อ 20 ธันวาคม 2545 นับถึงปัจจุบัน เป็นเวลาล่วงเลยมากว่าสิบปีแล้ว แต่ยังมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองและทุนในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ลงในพื้นที่ภาคใต้ นับตั้งแต่ตอนล่างของประจวบคีรีขันธ์ลงมาโดยไม่ต้องการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงจากประชาชนเจ้าของพื้นที่ สำหรับแผนพัฒนาภาคใต้ตอนล่าง (สงขลา สตูล และนครศรีธรรมราช) นั้นถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่แทนภาคตะวันออก (มาบตาพุด ระยอง) ที่มีปัญหาความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมจนเกินกว่าจะเยียวยา

ดังนั้น เพื่อไม่ต้องการให้คนในพื้นที่เห็นภาพรวมของการพัฒนาทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นในภาคใต้ จึงใช้วิธีเปิดเผยข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ อย่างแยกส่วน ต่างกรรมต่างวาระในการจัดทำประชาพิจารณ์หรือเวทีรับฟังความคิดเห็น แล้วแต่จะเรียก สร้างความหวาดระแวงให้คนในพื้นที่ภาคใต้ในขณะนี้

ล่าสุด ในกรณีของท่าเรือน้ำลึกที่ท่าศาลา ที่ถูกเครือข่ายพลเมืองในพื้นที่ชุมนุมขับไล่ และจัดเวทีชี้แจงความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ถึง 116 ครั้ง ก่อนที่เชฟรอนจะออกมาประกาศว่าขอยุติโครงการ?? อย่างที่คนในพื้นที่ยังคลางแคลงใจ เหตุเพราะคณะกรรมการผู้ชำนาญการของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบผ่านการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) มาแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านและตั้งข้อสงสัยต่อกระบวนการประเมินผลของนักวิชาการและประชาชนในพื้นที่อย่างมาก

เพื่อนคนไทยครับ บ้านเมืองของเรากำลังเดินเข้าสู่สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ยากต่อการหยุดยั้งในไม่ช้านี้ เพราะกลไกต่างๆ ในสังคมกำลังอยู่ในสภาพโกลาหล ซึ่งจะนำไปสู่จุดถึงที่สุดที่ทางวิชาการเรียกกันว่า tipping point แต่ผู้คนบนยอดพีระมิดยังมุ่งหน้ากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแผ่นดินอย่างไม่หยุดยั้ง ละเลยเพิกเฉยต่อสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้บัญญัติในรัฐธรรมนูญ 50 ไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งมีผลในทางปฏิบัติด้วยโดยไม่ต้องรอให้รัฐสภาไทยออกกฎหมายลูกมารองรับ การอ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของประชาชน จะนำพาบ้านเมืองไปสู่หายนะในที่สุด

รัฐบุรุษอาวุโส ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นคนแรกที่ได้พูดถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ต่อมา ส.ว.รสนา โตสิตระกูล ได้นำมากล่าวอ้างในปาฐกถา 14 ตุลาประจำปี 2554 ความตอนหนึ่งมีดังนี้……….

“…โดยบุคคลที่มีแนวคิดนี้คือ รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ที่ได้กล่าวถึงเรื่องการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตยทางการเมือง เพราะคนส่วนน้อยที่คุมอำนาจเศรษฐกิจในมือจะใช้อำนาจทุนกับระบบการเลือกตั้งเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการเมืองอันชอบธรรม ..ระบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจหมายถึง ราษฎรส่วนมากของสังคม ต้องไม่ตกเป็นทาสของกลุ่มคนจำนวนน้อยที่อาศัยอำนาจผูกขาดเศรษฐกิจของสังคม…”

ราษฎรอาวุโสในสังคมไทยอีกท่านหนึ่ง ที่ได้กล่าวย้ำถึงประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเสมอ โดยขอให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจังคือ ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้กล่าวย้ำเรื่องนี้ในปาฐกถาเปิด (opening remarks) เรื่อง สิทธิมนุษยชน: ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียมกัน และการพัฒนา ในการประชุมของสถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครั้งที่16 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ณ กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา ท่านได้ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมว่า แม้แต่สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือกันว่าเป็นประเทศที่เป็นแบบอย่างของประชาธิปไตยเสรีนั้น ยังไม่เพียงพอที่จะประกันความเสมอภาค ประชาธิปไตยทางการเมืองในลักษณะวันแมนวันโหวตเพียงอย่างเดียวไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมโดยอัตโนมัติ ประชาธิปไตยที่มีเพียงรูปแบบโดยไม่มีสาระจึงใช้ไม่ได้ผล หากไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

ความทั้งหมดข้างต้น เป็นเสี้ยวหนึ่งของบันทึกความทรงจำอันเนื่องจากคดีประวัติศาสตร์ ที่ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำวินิจฉัยดังที่ทราบกันแล้ว ขอจบลงด้วย…คำขอบคุณต่อผู้นำองค์กรเอกชนทั้ง 12 ท่าน และพลเมืองชาวจะนะ สงขลาไว้ ณ โอกาสนี้อีกครั้งหนึ่ง

ดู 10 ปี คดีท่อก๊าซ จะนะ จ.สงขลา