ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. แถลงนโยบายปี ’56 เน้น “เชิงรุก” เครื่องมือพร้อมรับมือเงินทุนเคลื่อนย้าย “ไม่ลังเล”ถ้าต้องใช้

ธปท. แถลงนโยบายปี ’56 เน้น “เชิงรุก” เครื่องมือพร้อมรับมือเงินทุนเคลื่อนย้าย “ไม่ลังเล”ถ้าต้องใช้

22 มกราคม 2013


ผู้ว่าแถลงนโยบาย_02

ทุกต้นปีของการเริ่มศักราชใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะแถลงนโยบายประจำปีโดยผู้ว่าการ ธปท. และเมื่อวันที่ 22 มกราคม ที่ผ่านมา ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ได้ แถลงนโยบายประจำปี 2556 โดยส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินในปีนี้ว่า จะดำเนินนโยบาย “เชิงรุก” ให้ทันการณ์และเหมาะสม

ดร.ประสารเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็น “เรือ” โดยในปี 2555 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเปรียบเหมือน “เรือที่ลอยลำอยู่ท่ามกลางมรสุม” เพราะเผชิญทั้งปัญหาเศรษฐกิจโลกอ่อนแอและมีความเสี่ยงสูง ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังเหตุการณ์น้ำท่วม และภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวน

ดังนั้น ในปี 2555 ที่ผ่านมา นโยบายการเงินจึงได้ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เห็นจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินตลอดปี 2555 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 2 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 0.5% จาก 3.25% เป็น 2.75%

“ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ได้แล้วว่า เศรษฐกิจไทยเข้มแข็งและมีความยืดหยุ่นเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงและความผันผวนต่างๆ โดยมีอุปสงค์ในประเทศเปรียบได้กับ “เสากระโดงเรือ” ที่แข็งแรง” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2556 ดร.ประสารเปรียบเศรษฐกิจไทยเหมือน “เรือได้แล่นผ่านพ้นมรสุมใหญ่” แล้ว แต่คลื่นลมก็ยังแรง และมีเค้าลางของเมฆที่อาจก่อนตัวเป็นพายุในน่านน้ำข้างหน้าได้อีกครั้ง โจทย์ของผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายใต้ความเสี่ยงที่อาจแอบแฝงก่อตัวอยู่ในเวลานี้คือ ทำอย่างไรให้เรือแล่นไปสู่จุดหมายได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยที่สุด

“การดำเนินนโยบายที่มองไปข้างหน้าและมีลักษณะ proactive เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง” ดร.ประสารกล่าว

โดยเฉพาะเรื่องการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งมีการซักถามกันมากในการแถลงนโยบายปี 2556 ดร.ประสารระบุว่า การดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นความท้าทายที่ ธปท. ต้องติดตามใกล้ชิดเป็นพิเศษ และประเมินผลกระทบของค่าเงินต่อภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งแบงก์ชาติได้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ (policy option) โดยจะพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม ที่สำคัญคือ การวางโครงสร้างและเตรียมความพร้อมให้แก่ภาคเอกชน เช่น มาตรการรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยจะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ด้านเงินทุนขาออกตามแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ทยอยปรับปรุงตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา (เกณฑ์การผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ออกช่วงปลายปี)

ดร.ประสารอธิบายเพิ่มเติมว่า แบงก์ชาติได้เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ พร้อม และ “ไม่ลังเล” ถ้าจำเป็นที่ต้องใช้ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันยังติดตามอยู่ ส่วนผลกระทบของเงินบาทต่อภาคเศรษฐกิจจริงอาจจะมีบ้าง แตกต่างกันแล้วแต่ธุรกิจ แต่ยังอยู่ในกรอบที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจ ดูความเป็นไปของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาค ซึ่งสังเกตดูจากเงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคในกรอบที่ยาวขึ้น คือ ตั้งแต่ปี 2555 ถึงปัจจุบัน ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินภูมิภาค แต่ระยะสั้นอาจเห็นการเคลื่อนไหวแตกต่างกันเยอะบ้างก็เป็นเรื่องปกติทั่วไป

ค่าเงินบาทในปี 2555 จนมาถึงต้นปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบเงินบาทกับดอลลาร์แข็งตัวขึ้นน้อยกว่าสกุลอื่นๆ ค่อนข้างมาก โดยเงินบาทเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นประมาณ 3% ส่วนเงินวอนของเกาหลีแข็งค่าขึ้นกว่า 7% และเงินเปโซของฟิลิปปินส์แข็งค่าขึ้นกว่า 6%

“แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินเราแข็งขึ้นกว่าสกุลอื่นที่กล่าวถึง แต่ถ้าดู 1 ปี กับอีก 2 สัปดาห์ จะเห็นความจริงว่ามีสกุลเงินที่แข็งกว่าคือ เงินวอนของเกาหลี เงินเปโซของฟิลิปปินส์ แต่เงินริงกิตของมาเลเซีย กับดอลลาร์สิงคโปร์ ก็อยู่ระดับใกล้เคียงกับเงินบาท แข็งค่าขึ้นประมาณ 5-6% เพราะฉะนั้นก็ไม่ถึงกับเรียกว่าผิดจากการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคมากนัก” ดร.ประสารกล่าว

สำหรับเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ของแบงก์ชาติ ดร.ประสารระบุว่า ที่คุ้นเคยกัน เช่น ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่ง ศักยภาพของแบงก์ชาติที่จะเข้าตลาด ซึ่งการขาดทุนของแบงก์ชาติจะไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายดูแลอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้แบงก์ชาติได้มีพื้นฐานที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว คือ การผ่อนคลายให้นักลงทุนและนักธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น และยามนี้จะเห็นว่า มีความต้องการเงินทุนต่างประเทศทั้งเรื่องการนำเข้าและการไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น จะช่วยสร้างความสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย

โดยช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 มีคนไทยนำเงินออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศจำนวน 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศจำนวน 8,000 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนคนไทยที่นำเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่ต่างประเทศประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนต่างประเทศนำเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ (ตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น) ในประเทศ จำนวน 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท.

“จะเห็นว่า ตัวเลขทั้ง 4 ตัว จะช่วยรักษาสมดุลได้ดีพอสมควร ทำให้ไม่จำเป็นที่ทางการหรือแบงก์ชาติต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินมากนัก” ดร.ประสารกล่าว

ส่วนเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มจะทรงตัวหรืออยู่ในช่วงขาขึ้นหรือไม่ ดร.ประสารกล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยตัดสินโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำปัจจัยเศรษฐกิจมาพิจารณา และต้องมีการประเมินความเป็นไปของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศเป็นระยะ โดยขณะนี้ต้องจับตาดูว่า เมื่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีจำนวนมาก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะกระทบตลาดในประเทศ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ใช่เฉพาะประเทศ และมีตัวอย่างให้เห็นว่า การใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป อาจเป็นบ่อเกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินได้ เช่นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ยุโรป

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวถึงสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่มีจำนวนมากว่า ยากจะคาดการณ์ได้ว่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร บอกได้เพียงว่าเกิดภาวะผิดปกติขึ้นในระบบการเงินโลก จากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจหลักของโลก และเวลานี้ผ่านไป 4-5 ปี การฟื้นตัวก็ช้ากว่าที่หลายคนได้เคยตั้งเป้าหมายเอาไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจหลักเหล่านั้นขาดเครื่องมือการดำเนินนโยบายมหาภาคอื่นๆ โดยเฉพาะนโยบายการคลัง ภาระจึงตกหนักอยู่ที่นโยบายการเงิน จึงมีการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีสัญญาณในทางที่ดีขึ้นบ้างว่า เช่น สหรัฐก็มีสัญญาณฟื้นตัวอ่อนๆ และมีการให้ความเห็นจากสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐบางท่านถึงข้อเป็นห่วงว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไป อาจนำมาซึ่งต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่อเศรษฐกิจของเขาอย่างมาก และเป็นสัญญาณอีกอันหนึ่งว่า การทำแบบนี้ต้องมีวันจบ ไม่ใช่ไปเรื่อยๆ

“เราก็ตั้งความหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น แต่เราไม่สามารถกำหนดได้ สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดคือ มีสติ และไม่ได้แห่ตามกระแสไปทั้งหมด ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตื่นตกใจแล้วทำเครื่องมืออะไรต่างๆ ที่ผิดจังหวะ ผิดเวลา แทนที่จะนำส่วนที่ดี ก็อาจสร้างข้อมูลผิดๆ โดยไม่จำเป็น” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

รวมทั้งการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีสติ คือ พยายามดูว่าของเราเป็นอย่าง ของเขาเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น หลักของเราจะดูแลเศรษฐกิจไทย ไม่ดูแลเศรษฐกิจอเมริกาหรือเศรษฐกิจญี่ปุ่น ดังนั้น เราเป็นประเทศเล็กก็ต้องทำในระดับที่เหมาะสม

ดร.ประสารเชื่อว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย มีทั้งความท้าทายที่ต้องเผชิญ และโอกาสที่ต้องเอื้อมคว้าเอาไว้ แบงก์ชาติในฐานะหนึ่งในหน่วยงานดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินไทย มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทันการณ์เหมาะสม และเราพร้อมจะจับมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

“ผมหวังอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือและการประสานเชิงนโยบายของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิดมากขึ้น จะช่วยส่งเสริมการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ไม่ถือ ‘ฉัน’ ถือ ‘เธอ’ แค่ถือ ‘เรา’ เป็นที่ตั้ง เพื่อนำมาซึ่งความเป็นอยู่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชนไทยอย่างแท้จริง” ดร.ประสารกล่าว