ThaiPublica > คนในข่าว > “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” โหมโรง พิมพ์เขียวประเทศไทย ขายไอเดียคลาย 3 ปมตัวฉุดอนาคต

“อภิรักษ์ โกษะโยธิน” โหมโรง พิมพ์เขียวประเทศไทย ขายไอเดียคลาย 3 ปมตัวฉุดอนาคต

6 มกราคม 2013


นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

“เราไม่ต้องรอว่าต้องกลับมาเป็นรัฐบาลเราถึงจะมาผลักดันเรื่องเหล่านี้ ชีวิตคนแน่นอนอาจจะขึ้นอยู่กับรัฐบาล ตัวนายกฯ การบริหารประเทศ แต่อย่าลืมว่าเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 7,000 กว่าแห่ง…ที่สามารถขับเคลื่อนผ่านได้เลย”

จากตัวเลขทางคณิตศาสตร์ที่ประกอบด้วย “4+3+2+1=10” กลายเป็นสมการสำคัญในการร่างพิมพ์เขียวอนาคตประเทศไทย ที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยประกาศไว้เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2553

สูตรดังกล่าวมาจากการผสมของ 4 ฐานรากสังคม 3 ฐานรากเศรษฐกิจ 2 ฐานรากการเมือง เพื่อนำให้ประเทศไทยเป็น 1 ในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “สังคมอบอุ่น ปรองดอง”

โดยหวังว่าประเทศไทยจะฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ โจทย์ใหญ่ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการ “ก้าวข้าม” ให้ได้คือ คำว่า “ประชานิยม” ที่ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมชมชอบแก่รัฐบาลโดยที่ไม่คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังต่อการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ

เมื่อวันและเวลาล่วงเลยมากว่า 9 เดือน และก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศพิมพ์เขียวฉบับนี้เพื่อขายไอเดียให้กับประชาชนชาวไทย

“อภิรักษ์ โกษะโยธิน”หนึ่งในคีย์แมนสำคัญ ได้บอกเล่าถึงความคืบหน้าของพิมพ์เขียวประเทศไทยกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า ดังต่อไปนี้

ไทยพับลิก้า : ความคืบหน้าของการออกแบบพิมพ์เขียวประเทศไทยไปถึงไหนแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมาเดินสายไปพบปะเครือข่ายประชาชนภาคต่างๆ ในแต่ละเรื่อง ล่าสุดก็มีเป้าหมายในการที่จะผลักดันการทำงาน โดยการตั้งสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย คล้ายๆ มูลนิธิควง อภัยวงศ์ แต่ว่าการทำงานก็จะมีความเป็นอิสระในการทำงานกับเครือข่าย ทั้งในส่วนของนักวิชาการ ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่เครือข่ายของคนในกลุ่มต่างๆ ว่ามีประเด็นปัญหาหรือแม้แต่แนวทางในการที่จะหาทางออก หรือออกแบบประเทศในอนาคตว่าเรื่องไหนที่จะเป็นโอกาสของประเทศไทย

ในชั้นนี้ได้มีการดูทั้งในส่วนของข้อมูลในส่วนต่างๆ เช่น ข้อมูลการสำรวจความต้องการของพี่น้องประชาชน หรือแม้แต่ข้อมูลซึ่งทางสำนักงานสถิติแห่งชาติได้เคยทำสำรวจไว้ ที่เกี่ยวข้องเรียกว่าทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ซึ่งจะมีอยู่ 3 เรื่อง ที่ตอนนี้คิดว่าน่าจะเป็นเป้าหมายที่จะมีการดำเนินการ ในการที่จะเข้าไปศึกษาออกแบบอนาคตประเทศไทย

เรื่องที่ 1 คือ เรื่องการศึกษา เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในแง่พื้นฐานในการที่จะพัฒนาประเทศในอนาคต เรื่องที่ 2 คือ เรื่องโครงการระบบเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง หรือการวางแนวทางยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ อันที่ 3 เรื่องการบริหารจัดการ ซึ่งจะรวมไปถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล หน่วยงานรัฐ ความรับผิดชอบ รวมไปถึงความโปร่งใส อันนี้เป็น 3 ประเด็นหลักที่จะเป็นเป้าหมายในการทำงานร่วมกับเครือข่าย

ไทยพับลิก้า : อะไรที่ทำให้ต้องมีการออกแบบอนาคตประเทศไทยกันใหม่

จริงๆ ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์การเมืองในช่วงหลัง จะเห็นว่าการเมืองค่อนข้างรุนแรง มีการแบ่งฝ่ายกันชัดเจน ถ้าเราไปถามประชาชน พูดตรงๆ ถ้าไม่นับกลุ่มคนที่มีการสนับสนุนทางการเมืองก็มีการแบ่งแยกชัดเจนเป็นกลุ่มเป็นก้อน ก็จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่หรือพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ก็อยากจะเห็นประเทศไทยเดินหน้า แม้แต่มีความคาดหวังว่านักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้ที่จะขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือว่าลดการขัดแย้งหรือความรุนแรงทางการเมือง อาจจะรวมไปถึงภาพลักษณ์ของนักการเมืองในเรื่องของการทุ่มเททำงานเพื่อส่วนรวมมากกว่าจะไปทำเพื่อพวกพ้อง หรือมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน

ตรงนี้ก็เป็นเรื่องหลักที่พูดตรงๆ เวลาเราลงพื้นที่ก็มักจะมีเสียงสะท้อนแบบนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่คนรับทราบดี แต่ว่าความอึดอัดตรงนี้มีคนเป็นจำนวนมาก ทั้งในภาควิชาการและภาคองค์กรเอกชนที่เป็นนักธุรกิจผู้ประกอบการ หรือแม้แต่รวมไปถึงเรื่องของคนที่ทำงานในภาคประชาสังคมต่างๆ ที่อยากเห็นอนาคตประเทศไทยที่เดินข้างหน้า นี่เป็นเสียงสะท้อนที่เราได้รับ และเริ่มทำงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ซึ่งที่มาก็มาจากสมัชชาประชาชน เพียงแต่ว่าแนวทางที่พูดถึงแนวความคิด 10 ฐานรากสู่พิมพ์เขียวประเทศไทยหลังจากที่เราได้ไปทำงานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คิดว่ามีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ที่คนให้ความสนใจ

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ไทยพับลิก้า : อินเด็กซ์แต่ละตัวจะมีอะไรที่เป็นตัวชี้วัดว่าเป็นปัญหาใหญ่

จริงๆ ตอนนี้คณะทำงานได้ไปรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่บ้างแล้ว ทั้งข้อมูลในระดับที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นของ WEF (World Economic Forum) หรือ แม้แต่สถาบัน IMD(International Institute for Management Development) ซึ่งโดยปกติทางองค์กรภาคเอกชนหรือแม้แต่รัฐบาลโดยสภาพัฒน์ฯ จะหยิบยกขึ้นมา หรือแม้แต่การจัดอันดับในเรื่องของดัชนีคอร์รัปชัน ที่มีการประกาศออกมาว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับค่อนข้างที่จะต่ำ อันนี้เป็นตัวอย่างของข้อมูลที่มีในมาตรฐานสากล ที่เราสามารถจะนำไปเปรียบเทียบได้ว่า ประเทศไทย อย่างน้อย 3 เรื่องนี้ มีดัชนีชี้วัดเรื่องไหนที่จำเป็นที่จะต้องมีการวัดผล

อย่างเรื่องมาตรฐานทางการศึกษาที่จะมีการจัดอันดับในหลายสถาบัน ทั้งในเรื่องของผลลัพธ์ในเรื่องการศึกษา หรือแม้แต่การจัดอันดับสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่มี ในเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจนมีค่อนข้างมาก เรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน การบริหารจัดการเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องธรรมาภิบาล

กลุ่มที่ 2 มีการสำรวจภายในประเทศ หรือสำรวจพี่น้องคนไทย ซึ่งอันนี้จะมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้ง National progress index และข้อมูลสำนักงานสถิติ แบบนี้จะเอามาดูว่ามันควรจะมีดัชนีชี้วัดตัวไหนที่เป็นเป้าหมายในการที่จะกำหนด ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตให้ดีขึ้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ ภายในต้นปีหน้าจะมาแถลงให้ทราบ

ไทยพับลิก้า : ใน 3 เรื่องสำคัญ เรื่องไหนน่าเป็นห่วงที่สุดในขณะนี้

จริงๆ ก็ต้องเรียนตรงๆ ว่าทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องการศึกษานี่ พูดกันตรงๆ ว่าเป็นเรื่องที่คนไทยพูดกันเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่อันนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างยาว อาจจะเรียกว่าการปฏิรูปการศึกษา การปรับปรุงการศึกษามันมีปัจจัยค่อนข้างเยอะ และเป็นเรื่องที่ใช้เวลานาน แต่อันนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง หรือถ้าจะเปรียบเทียบอาจจะไม่ถือว่าเร่งด่วนในสิ่งจะต้องทำให้เสร็จภายในกรอบระยะเวลา 1 ปี แต่ว่ามีความสำคัญมากในระยะยาวในการที่จะพัฒนาประเทศ

ส่วนปัญหาเรื่องระบบโครงสร้างเศรษฐกิจกระทบกับประชาชนชีวิตประจำวันเลย เช่น ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจปากท้อง ข้าวของแพง มันกระทบชีวิตเขา ถูกไหมครับ หรือแม้แต่การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ หรืออาจจะเรียกว่านโยบายรัฐบาลที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในทางวิชาการว่าเป็นนโยบายประชาชนนิยม ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะโดนใจประชาชนจำนวนมาก แต่ว่าอาจจะส่งผลกระทบในเรื่องของการบริหารจัดการงบประมาณ หรือปัญหาหนี้สาธารณะ หรือแม้แต่ลักษณะนิสัยของพี่น้องประชาชนที่มีการใช้จ่าย ซึ่งอาจจะเกิดหนี้ครัวเรือนด้วย เรื่องนี้ประชาชนก็ให้ความสำคัญค่อนข้างสูงมากเพราะกระทบกับชีวิตเขา

เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่มีความคาดหวังสูงของประชาชนส่วนใหญ่ของวันนี้ว่า เห็นการทุจริตคอร์รัปชันการจัดอันดับอะไรที่ออกมา และที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้น สำรวจเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพบว่า เด็ก คนรุ่นใหม่ รับได้ถ้ามีการทุจริตแต่ประเทศเจริญสูง อยู่ที่ 64 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอันนี้สูงมาก น่าเป็นห่วงว่าคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศรู้สึกไม่ได้เดือดร้อนเลยถ้าจะมีการทุจริต เพราะบางคนก็บอกว่าเป็นเรื่องที่เขาต้องมาทำหน้าที่บริหารประเทศ ถ้าได้ประโยชน์ไปก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นอะไร ไม่เสียหาย แต่ขอให้ประเทศเจริญ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะยอมรับได้ คิดว่าทั้ง 3 เรื่องนี้มีความสำคัญ แต่อยู่ที่ว่าความสำคัญในแต่ละมิติที่อาจจะแตกต่างกัน แต่ว่าเป็น 3 เรื่องหลัก

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะโฟกัสให้แคบลงมาจะมีอะไรที่มากกว่านี้หรือไม่

อันนี้ยังไม่มีรายละเอียด นักวิชาการยังไม่นำเสนอ ต้องรอตกลงว่าเขาจะวัดเรื่องอะไร ผมยกตัวอย่าง วันนี้ส่วนใหญ่ระบบเศรษฐกิจประเทศเรามักจะพูดถึงในเรื่องของการเติบโตของ GDP คือ เราไม่ได้ดูในมิติว่าการที่จะเร่งให้มันเติบโตแบบ GDP นี่ ตกลงแล้วมันยั่งยืนไหม เหมือนสมัยก่อนที่เราเจอวิกฤติเรื่องค่าเงินบาทต้มยำกุ้ง ที่เราเน้นแต่การเติบโต GDP แต่วันหนึ่งมันล่มสลาย

มันมีบทเรียน 2-3 ครั้งหลังที่เห็นชัดเจนว่า นโยบายประชานิยม ระบบเศรษฐกิจโตโดยไม่ได้ดูผลกระทบว่าจะเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืนหรือเปล่า และบางครั้งไม่ได้ดูในเรื่องของสัดส่วน การกู้เงินมาใช้และเวลาการใช้งบประมาณก็มีความรั่วไหล มันก็เกิดวิกฤติการเงินที่อเมริกา Hamburger Crisis และปัจจุบันก็เกิดวิกฤติการเงินในยุโรป เพราะฉะนั้น อันนี้เราจะมีมาตรการอะไรที่จะไปวัดการเติบโตของประเทศไทย ว่าจะไม่เกิดปัญหาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

สองมันก็จะมีในเรื่องของแนวทางที่จะวัดว่า การเติบโตทางธุรกิจ ทางระบบเศรษฐกิจ ต้องเป็นการเติบโตของเศรษฐกิจหรือธุรกิจที่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม อันนี้ก็เห็นชัดเจน ที่เกิดวิกฤติที่มาบตาพุด ช่วงหลังนี่เวลาที่จะมีภาคอุตสาหกรรมไปลงทุนในต่างจังหวัด ในชุมชนต่างๆ ก็จะเกิดการต่อต้าน เรียกร้องว่าจะไปกระทบวิถีชีวิต กระทบเรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อมไหม อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะมีการพัฒนาแบบสมดุล ไม่ใช่เติบโตอย่างเดียว

ถ้าเอาใกล้ตัวลงมาอีก ถ้าไปถามประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนสามารถที่จะมีรายได้มากกว่ารายจ่าย ทำอย่างไรที่เขาจะไม่เป็นหนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่เราไปถามคนในการใช้ชีวิตประจำวัน แบบนี้ต้องมาดูว่ามันจะมีนโยบายอะไรที่เป็นความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่จะช่วยคนให้มีรายได้ แน่นอน นโยบายประชานิยมส่วนใหญ่จะทำให้คนรู้สึกมีรายได้มากในระยะสั้น เช่น การรับจำนำข้าวในราคาสูงๆ แต่ว่าถ้าทำแบบนั้นต่อเนื่องแล้วเกิดวิกฤติขึ้นมา ไม่สามารถบริหารจัดการได้ ข้าวไม่สามารถขายได้จริง การบริหารจัดการจัดเก็บไม่ดี เกิดข้าวเน่าเสียหาย แบบนี้นักวิชาการก็มาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ อาจจะเสียหายเป็นมูลค่าหลายแสนล้าน วันหนึ่งมันก็จะกลับมาว่า ในที่สุดก็จะขายข้าวไม่ได้ราคาที่สูงๆ เพราะมันไม่ใช่ของจริง แบบนี้ก็จะกระทบไปหมด อันนี้พูดง่ายๆ เราคงจะดูในเรื่องของระบบเศรษฐกิจแบบมหภาค และดูเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ว่าจะต้องดูดัชนีชี้วัดอะไร กับดูในลักษณะที่เป็นจุลภาค ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง

ไทยพับลิก้า : จะเอาชนะประชานิยมได้ไหม

แนวความคิดอันนี้ เรื่องพิมพ์เขียวประเทศไทยที่จะแตกต่าง โดยปกติพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็จะเป็นนโยบายของพรรคแต่ละพรรคการเมืองนั้น แน่นอนอาจจะมีการทำวิจัยพัฒนา อาจจะมีการสอบถามความเห็นของประชาชนอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นความรู้สึกว่าเป็นนโยบายของพรรคโดยตรง แต่ว่ากระบวนการออกแบบอนาคตประเทศไทยก็ดี กระบวนการพิมพ์เขียวจะแตกต่าง และอันนี้เป็นแนวความคิดสมัยใหม่นะครับ คือ ถ้าจะเปรียบเทียบนโยบายที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะทำในลักษณะที่เรียกว่า Top down ถูกไหมครับ คือ พรรคการเมืองทำขึ้นมาอาจจะไปรับฟังความคิดเห็นบ้างแต่ถือว่าน้อย แต่ของเราเรียกว่า Bottom up คือ ทำมาจากสภาพปัญหาจริง ทำมาจากเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบที่เกี่ยวข้องโดยตรง

เช่น การศึกษา ถ้าทำต้องทำจากเด็กนักเรียน นักศึกษา เยาวชน เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง เครือข่ายครู หรือแม้แต่เรียนจบการศึกษาแล้วมีงานทำไหม ตรงกับสิ่งที่เด็กเขาชอบหรือเปล่า หรือส่งเสริมให้เด็กมีการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนหรือพัฒนาตัวของเขาให้มีทักษะการดำเนินชีวิตได้ ไม่เกิดปัญหาที่เป็นเรื่องปลายเหตุ เช่น ปัญหาเด็กนักเรียนตีกัน ใช้ความรุนแรง เด็กเที่ยวเตร่ อบายมุข ยาเสพติด ซึ่งอันนี้เป็นปลายเหตุจากระบบการศึกษาหรือปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม

ไทยพับลิก้า : พิมพ์เขียวฉบับนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะถูกหยิบมาใช้จริง

ผมคิดว่า หนึ่ง ต้องสร้างความรู้สึกให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่คิดว่าหน้าที่ของตัวเองคือการใช้สิทธิเลือกตั้ง หลังจากเลือกตั้งไปแล้วก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. ของผู้แทน ของรัฐบาล วันนี้เราต้องเปลี่ยนความรู้สึกนี้ ในสมัยใหม่ เราจะเห็นหลายๆ ประเทศที่เขาส่งเสริมในเรื่องของบทบาทภาคประชาชน ที่เรียกว่าภาคพลเมือง เป็น Active citizens ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมตลอด ไม่ใช่ว่ารอ 4 ปีครั้ง หรือทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เพราะอันนี้คือคนที่เขามีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของประเทศหรืออาจจะมากกว่านั้น

คนส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกว่า ถ้ารัฐบาลจะไปทุจริต ทั้งภาคการเมืองก็ดี หรือแม้แต่เครือข่ายเอกชนไปเอื้อประโยชน์ทุจริตกันนี่ มันไม่เกี่ยวข้องกับเขา โดยเขาลืมไปว่าเงินภาษีอากรที่รัฐบาลเอาไปใช้ ที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน จะ 20-30 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้นในช่วงหลังนี่ จริงๆแล้วเป็นเงินของเขาทั้งสิ้นเพราะทุกคนเสียภาษี หลายคนก็บอกว่าจริงๆ คนเสียภาษีกันน้อยมาก แต่ลืมไปว่าสินค้าทุกอย่างที่เขาซื้อเขาเสียภาษีทางอ้อม เขาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกไหมครับ

แปลว่าเงินของรัฐบาลที่เอาไปใช้จ่ายมันคือเงินของเขา ถ้าทุกคนตระหนักเรื่องเหล่านี้ ผมเชื่อนะว่าเขาจะไม่ปล่อยให้มีการทุจริตในเรื่องแบบนี้ ถามว่าถ้าเขาไม่ปล่อยเขาจะทำอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าแนวทางการออกแบบอนาคตประเทศไทย จะเป็นหลักที่จะดึงส่วนร่วมของคนแต่ละภาคส่วนให้มามีเป้าหมายร่วมของประเทศร่วมกัน อันนี้เป็นจุดเปลี่ยน หวังว่าอยากเห็นคนเข้ามา

ทีนี้ ถามว่ามันจะเป็นรูปธรรมได้อย่างไร หลังจากในต้นปีหน้าที่เรามีการจัดการประชุมเครือข่าย หรือแม้แต่มีแนวทางที่จะทำในเรื่องนี้ที่จะออกมาเป็นแนวทางสมัยใหม่ ที่ในต่างประเทศเรียกว่าเป็นนวัตกรรมทางสังคม พูดง่ายๆ มีแนวความคิดใหม่ๆ ทางนวัตกรรมที่จะมาแก้ไขปัญหาสังคม หรือนโยบายเชิงสาธารณะในแต่ละเรื่องหรือใน 3 เรื่องนี้ สิ่งที่สามารถทำได้เลยคือการนำไปขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ยกตัวอย่าง วันนี้เรามักจะไปมองว่ารัฐบาลเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน แต่เราลืมไปว่า วันนี้เรามีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่ง ทั้งในระดับของ กทม. พัทยา อบต. อบจ. เทศบาล แบบนี้ถ้าในการระดมสมอง การทำงานร่วมกันของเครือข่ายต่างๆ ถ้ามันมีแนวคิดในเชิงที่เป็นนโยบายที่เราเรียกว่านวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ ในเรื่องของการศึกษา การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โครงสร้างเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการภาครัฐ เราก็จะผลักดันให้องค์กรบริหารส่วนปกครองท้องถิ่น ซึ่งอาจจะพูดตรงๆ ว่าเป็นแนวร่วมที่อาจจะหยิบยกเรื่องนี้เอาไปผลักดันต่อได้โดยไม่ต้องรอว่ารัฐบาลจะหยิบยกไปทำไหม

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน

ไทยพับลิก้า : เงื่อนไขสำคัญของการที่พิมพ์เขียวนี้จะถูกนำไปใช้จริงคือ พรรคประชาธิปัตย์จะต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ารัฐบาลพรรคอื่นจะมาใช้พิมพ์เขียวฉบับนี้

ผมก็ไม่เชื่อว่าเขาจะทำแบบนั้นนะ เพราะถ้าเชื่อเขาคงไม่ทำประชานิยม ความหมายคือ รัฐบาลในปัจจุบันเขาเชื่อว่าแนวทางที่เขาทำอยู่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี เครือข่ายที่เป็นแนวร่วม หรืออาจจะเรียกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ ผมยังเชื่อว่าเขาไม่คิดแบบนั้น ไม่อย่างนั้นเขาจะอึดอัดหรือว่ามีแต่ปัญหาเรื่องการเมือง ทำไมนักการเมืองถึงทุจริตคอร์รัปชันเอื้อประโยชน์ส่วนตน แสดงว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นอยู่มันควรจะเปลี่ยนแปลง ถูกไหมครับ

เราไม่ต้องรอว่าต้องกลับมาเป็นรัฐบาลเราถึงจะมาผลักดันเรื่องเหล่านี้ แน่นอนว่าชีวิตคนอาจจะขึ้นอยู่กับรัฐบาล ตัวนายกฯ การบริหารประเทศ แต่อย่าลืมว่าเรามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 7,000 กว่าแห่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ ชีวิตคน กทม. บางเรื่องรัฐบาลบริหารทุกวันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคน กทม. เลยนะ คนที่ดูแลเป็นเรื่องของ กทม. เป็นเรื่องของสำนักงานเขต ถูกไหมครับ เป็นเรื่องที่ผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำได้เลย ในความหมายผมก็คือว่า ถ้าเราสามารถที่จะมีนโยบายบางเรื่อง สามารถไปขับเคลื่อนผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เลย อันนี้ไม่ต้องรอเป็นรัฐบาล

ไทยพับลิก้า : การขับเคลื่อนนี่คืออะไร หมายถึงการเข้าไปหารือหรือไปชี้แนะ

ผมยกตัวอย่าง สมมุติในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ได้กลับมาบริหาร กทม. ต่อ เราก็เอานโยบายเรื่องการศึกษาซึ่งอาจจะเป็นแนวความคิดของนักวิชาการของพ่อแม่ผู้ปกครองรุ่นใหม่ เช่น บอกว่าอยากให้เด็กไทยมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถที่จะให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ เตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เราก็เอาแนวความคิดแบบนี้มาทำในโรงเรียน กทม. 435 แห่ง อาจจะทำต้นแบบก่อนก็ได้ 10-15 แห่ง แบบนี้ก็ทำได้เลย ไม่ต้องรอเป็นรัฐบาล ถูกไหม

หรือเทศบาลนครหาดใหญ่ เราอาจจะไปผลักดันขับเคลื่อนแนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจ เช่น ในเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะหาดใหญ่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่อยู่ในภาคใต้ มีนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย หรืออนาคตเราพูดถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ถ้าเราพัฒนาระบบการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวที่หาดใหญ่ตามแนวความคิดซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากนักวิชาการ นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ หรือเครือข่ายต่างๆ ที่เขาคิดขึ้นมา เราก็ไม่ต้องรอเรากลับไปเป็นรัฐบาลถูกไหมครับ คนที่อยู่ในหาดใหญ่มีจำนวนมาก คนที่อยู่ กทม. เป็น 10 ล้านคนก็สามารถได้ประโยชน์จากแนวทางการทำงานเรื่องนี้ได้เลย

ไทยพับลิก้า : หมายความว่าในท้องถิ่นนั้นๆ จะต้องเป็นพื้นที่ที่ผู้นำท้องถิ่นเป็นคนของประชาธิปัตย์

ไม่จำเป็น เพราะอย่าลืมว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แน่นอนว่าบางคนอาจจะสังกัดพรรคจริง บางคนก็ไม่ได้สังกัด บางคนก็อิสระ หรือบางคนก็ไม่ได้ถึงขั้นที่จะแบ่งแยกขนาดนั้น คำถามผมก็คือว่า ถ้ามีคนคิดมาแล้วและเป็นเรื่องที่ดีนี่ ถามว่าเขาไม่อยากทำหรือ ทำแล้วเขาได้คะแนน คนที่เป็นนักเลือกตั้ง นักการเมือง เขาก็หวังว่าเขาทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับประชาชน ถ้าเกิดประโยชน์กับประชาชนก็ต้องเลือกเขาไง

ยกตัวอย่างสมัยผมเป็นผู้ว่าฯ กทม. สมัยแรก พรรคประชาธิปัตย์ก็ไปดูว่ามันมีปัญหาเรื่องเด็กที่อยู่ในชุมชนแออัดใน กทม. หรือ แม้แต่คนยากคนจน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ถูกไหมครับ เพราะพ่อแม่ไม่มีเงิน เงินไม่พอ หรือไม่อย่างนั้นต้องไปเข้าโรงรับจำนำในช่วงเปิดเทอม ก็มีแนวความคิดในเรื่องนโยบายเรียนฟรีขึ้นมาในปี 2547 ส่วน กทม. เองพอผมไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ ก็เอานโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ไปทำโครงการเรียนฟรี 12 ปี

พอตอนหลังเราเป็นรัฐบาลในปี 2552 รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ ก็เอาโครงการซึ่ง กทม. ทำเป็นต้นแบบไว้แล้วประมาณ 4 ปี ก็เอามาขยายผลเป็นนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อันนี้คือตัวอย่างที่ทำได้เลย

ไทยพับลิก้า : พิมพ์เขียวนี้จะกลายเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต?

ผมไม่อยากเรียกเป็นนโยบายหาเสียง เพราะ หนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับความร่วมมือของเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ องค์กรเอกชน และเป้าหมายอันนี้เป็นสิ่งที่ควรจะขับเคลื่อนได้ในระยะยาวต่อไป เพียงแต่เราก็หวังว่าในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เรามีความเชื่อว่าแนวทางแบบนี้เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เพียงแต่ว่าในทางการเมืองข้อเท็จจริงก็คือว่า ถ้าเรามีโอกาสเป็นรัฐบาลเราก็นำไปขับเคลื่อน หรือในอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราสามารถไปเป็นรัฐบาลท้องถิ่น เหมือนกับ กทม. เหมือนที่หาดใหญ่ และอีกหลายๆ ที่ เราก็สามารถนำไปขับเคลื่อนได้

หรือแม้แต่ใครก็ตามที่คิดว่ามันเกิดประโยชน์และจะหยิบไปขับเคลื่อนก็สามารถกระทำได้ เพราะมันไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ทำ แต่ว่าเวลาไปถึงช่วงเลือกตั้ง หรือ ใกล้จะถึงช่วงเลือกตั้งนี่ เราก็อาจจะพัฒนานโยบายในเรื่องของการรณรงค์หาเสียง อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่แน่นอนแนวความคิดบางส่วนก็อาจจะมาจากโครงการพิมพ์เขียวประเทศไทย เหมือนกับที่เรากำลังจะบอกว่าในการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่จะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า ถ้าเรามีโอกาสได้กลับมาบริหาร กทม.

ไทยพับลิก้า : ฉบับเต็มของพิมพ์เขียวจะประกาศเมื่อไหร่

ประมาณช่วงต้นปี 2556 คงจะมีการแถลงเปิดตัวสถาบันอย่างเป็นทางการ และคงเป็นในช่วงเดือนมีนาคม จะมีการจัดประชุมเสวนาหรือทำค่ายอย่างที่หัวหน้าพรรคว่า และก็ระดมความคิดเห็นหรือแนวทางที่ในต่างประเทศ หรือในบางประเทศที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จในวิธีการแบบนี้ออกมาใช้ คาดว่าในเดือนมีนาคมนี้น่าจะเห็นแนวทางใหม่ๆ ใน 3 เรื่องนี้ หลังจากนั้นจะเอาไปผลักดันเลย ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งในภาคเอกชนเองที่เป็นเครือข่ายที่เขาทำอยู่แล้ว เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เขาผลักดันในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน แบบนี้เราจะไปทำงานร่วมกับเขา เพราะส่วนนึ่งก็เคยทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

ไทยพับลิก้า : ถ้าสถานการณ์ยังคงเดินแบบนี้เรื่อยไป อนาคตของประเทศอยู่ตรงไหน

ส่วนที่หนึ่งเลย ท่านหัวหน้าพรรคเองและนักวิชาการเคยพูดอยู่หลายครั้งมากว่า มันมีความเสี่ยงสูง การดำเนินนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลทำอยู่มันมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น นโยบายรับจำนำข้าว หรือแม้แต่การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม งบประมาณ 1.2 แสนล้าน 3.5 แสนล้าน หรือแม้แต่การกู้อีก 2.2 ล้านล้านบาท ถ้าเปรียบเทียบดูเราจะเห็นสัดส่วนหนี้สาธารณะที่สูงมาก แล้วก็มีบทเรียนที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศอเมริกาใต้ บทเรียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในวิกฤติหนี้ยุโรป อันนี้เป็นเรื่องที่หนึ่ง ถ้ารัฐบาลยังดำเนินการนโยบายแบบนี้อย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นความเสี่ยงของประเทศ

เรื่องที่สอง เรื่องของ Good Governance เรื่องการทุจริตก็จะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้สึกแบบนี้มานานแล้ว และปัญหาวันนี้มันก็ซึมเข้าไปเป็นรากเหง้าหรือทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง ตามที่มีการสำรวจกันมาว่ายอมรับได้ถ้าโกงแต่ประเทศพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มีสติสัมปชัญญะรู้สึกว่าประเทศไม่น่าจะพัฒนาด้วยวิธีแบบนี้ ถ้าเราปล่อยสถานการณ์ให้มันเดินต่อไปแบบนี้ แล้วคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งใช่เจ้าของประเทศไม่ลุกขึ้นมาเป็นพลังสังคม และปล่อยให้คนที่เป็นนักการเมืองหรือคนซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นส่วนน้อย แต่เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีบทบาทสูงมากในทางการเมือง ในทางสังคม ผลักดันแบบนี้ ผมคิดว่าปัญหาในที่สุดมันจะมากระทบถึงตัวเขาเอง กระทบถึงลูกหลานเขาในเรื่องการศึกษา กระทบถึงในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจปากท้องที่เป็นตัวอย่างความล่มสลายมาแล้ว ในยุโรปในอเมริกาใต้ หรือแม้แต่กระทบในเรื่องของการฝังลึกเข้าไปในรากเหง้าซึ่งยิ่งมากขึ้นทุกวัน

แล้วถ้าเราพูดเปรียบเทียบกับโอกาสของประเทศไทย เราจะพบว่าจริงๆ ประเทศไทยมีโอกาสสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเราพูดถึงการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยทำเล ภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของอาเซียน ไม่นับในเรื่องของคุณลักษณะของคนไทยที่มีความยิ้มแย้มแจ่มใส อัธยาศัยดี ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการเราติดอันดับต้นๆ ของโลก เป็นเมืองที่น่าลงทุน แต่ถ้านักธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลกเขาบอกว่าประเทศนี้มันทุจริตเยอะ ถ้าเขาจะมาลงทุนนี่เขาต้องจ่ายเบี้ยใบ้รายทาง ใต้โต๊ะ ให้นักการเมือง ให้ข้าราชการประจำ ผมไม่เชื่อว่าใครอยากไป ถูกไหมครับ เหมือนเราถ้าต้องไปทำธุรกิจในต่างประเทศและเรารู้สึกว่าต้องไปจ่ายใต้โต๊ะ ต้องไปถูกเขาโกง แบบนี้เราก็คงไม่อยากไปประเทศนั้น

หรือสอง ถ้าประเทศเกิดวิกฤติ เกิดหนี้อย่างที่เราเห็นในประเทศกรีซ หรืออีกหลายประเทศในยุโรป จนต้องมีการถูกจำกัดการใช้เงิน มีการรัดเข็มขัดเราก็เห็น ในที่สุดมันกระทบถึงประชาชนเลย ต้องไปปล้นตามซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าเราไม่อยากให้สภาพแบบนี้เกิดขึ้น จริงๆ แล้วแบบนี้เรามีโอกาสอีกเยอะแยะที่คนไทยเก่งๆ มีความคิดสร้างสรรค์ มีโอกาสในการที่จะได้รับการผลักดัน แต่กลายเป็นว่าปัญหาของประเทศวันนี้มันมาวนเวียนอยู่กับเรื่องการเมือง และกลายเป็นการกระทบกับการดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตของคน ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่คงไม่ใช่แค่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแน่นอนเป็นหน้าที่หลักของเราที่ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่คนในภาคส่วนต่างๆ ก็น่าจะตื่นตัว เพราะวันนี้ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันระดมความเห็น

จริงๆ แล้ววันนี้ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เรามีคนใช้เฟซบุ๊กใน กทม. มากที่สุดในโลก ประมาณ 12 ล้านคน ถ้าเทียบเคียงคนไทยเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่วัยรุ่นที่ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ หรือในสังคมออนไลน์ แต่คนทุกกลุ่ม คนในต่างจังหวัด คนในทุกจังวัดใช้อยู่แล้ว ตรงนี้อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้คนสามารถสื่อสาร จริงๆ วันนี้ก็สื่อสารอยู่แล้วนะครับ เพียงแต่ว่าเราไม่เคยไปจัดระบบในการรับฟังแนวความคิด ความคิดริเริ่มต่างๆ ของคนที่อยู่ในกลุ่มที่อยู่ในสังคมออนไลน์มาผลักดันใช้และให้เปลี่ยนแปลงชีวิตเขา เปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้จริงๆ

อภิรักษ์ โกษะโยธิน

สิ่งนี้เหมือนเป็นพลังเงียบที่เราไม่เคยปลุกขึ้นมา และเรากำลังพูดถึงบทบาทของภาคพลเมือง ผมคิดว่าอันนี้จะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และความความตื่นตัวแบบนี้มันไม่จำเป็นที่จะต้องไปรอที่จะมีการชุมนุมประท้วง ไปเรียกร้อง ไปขับไล่อะไร เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทุกวัน เราสามารถเปิดเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเราส่งข้อความ ซึ่งแปลว่า ในอนาคต โครงการออกแบบประเทศไทยเราจะมีเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่สามารถรับฟังความคิดเห็น และมีการจัดระบบข้อมูลในแต่ละเรื่อง แบบนี้จะเป็นช่องทางให้ประชาชนทั่วไปสามารถที่จะสื่อสารเอาความคิดของเขาไปขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

การทำงานแบบนี้เป็นการทำงานภายใต้ตัวสถาบัน เพราะฉะนั้น สถาบันก็อาจจะไปเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักวิชาการ องค์กรอิสระต่างๆ หรือแม้แต่เครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์นะครับ บางครั้งความเห็นในทางการเมืองเขาอาจจะไม่ได้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง แต่เขาอยากเห็นประเทศเปลี่ยนแปลง เขาอยากเห็นประเทศดี ส่วนจะส่งเสริมให้คนมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อันนั้นเป็นเรื่องอนาคตถู กไหมครับ แล้วเราก็หวังว่าสิ่งที่เราทำ ถ้าเราทำดี ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็หวังว่าคนในกลุ่มใหญ่ของประเทศซึ่งแน่นอนวันนี้อาจจะยังไม่สนับสนุนพรรคเรา หรือใครสนับสนุนและเปลี่ยนใจก็หวังว่าจะกลับมาให้การสนับสนุน เพราะมีความเชื่อมั่นในการทำงานและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์

ไทยพับลิก้า : ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเห็นผล

ไม่หรอก ถ้าเราหวังว่าเรากลับมาชนะเลือกตั้งใน กทม. โครงการต่างๆ ก็จะทำได้เลย ไม่ใช่แค่ กทม. ที่เดียว ยังมีเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่เขาสามารถหยิบนโยบายบางเรื่องไปทำได้เลย สมัยนี้ทำได้เร็วมาก เพียงแต่ว่าจะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง

ไทยพับลิก้า : ทำไมไม่ทำเรื่องนี้ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นรัฐบาลและมีเพาเวอร์ในการผลักดันเรื่องต่างๆ อยู่

จริงๆ แล้ว พูดตรงๆ สมัยที่เราเป็นรัฐบาลเราก็ขับเคลื่อนประเทศด้วยนโยบายของรัฐบาลถูกไหมครับ และมันก็มีเป้าหมายเฉพาะหน้าบางเรื่องที่ต้องทำ เช่น ตอนนั้นเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์พอดี มีคนตกงาน เราต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ มีการแก้ไขปัญหา ผมคิดว่าวันนั้นสถานการณ์ก็ไม่เหมือนกับวันนี้ และเราเป็นรัฐบาลแล้วเราก็ทำเลย แต่ว่าวิธีการทำงานของเรา ถ้าจะเปรียบเทียบกับวันนี้ กับรัฐบาลปัจจุบันนี้ก็ทำงานไม่เหมือนกันนะ

ถ้าจำได้ เรามีเครือข่ายที่ผลักดันเรื่องภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ที่เราทำเยอะมาก สมัยนั้นก็มีคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ ไปเป็นประธานที่ทำเรื่องชุมชน ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ไม่มี ไม่ได้ทำ เราทำร่วมกับเครือข่ายสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม แบบใกล้ชิดมากเลย ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันอาจจะไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่าวิธีการทำงานที่เราทำสมัยที่เราเป็นรัฐบาลนี่ เรามีความเชื่อมั่นในเรื่องการทำงานกับเครือข่าย มีความเชื่อมั่นในการที่จะรับฟังความคิดเห็นและมาร่วมในการผลักดันด้วยกัน มากกว่าที่เราคิดเองและผลักดันตามความเชื่อของเราอย่างเดียว ผมคิดว่าแนวทางแบบนี้น่าจะเป็นสิ่งที่มีความแตกต่างในเรื่องของจุดยืนและวิธีการทำงาน