ThaiPublica > คอลัมน์ > การถือครองสินทรัพย์ในประเทศไทย

การถือครองสินทรัพย์ในประเทศไทย

20 ธันวาคม 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล

ในครั้งก่อน ผมนำเอาข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาในเรื่องเกี่ยวกับการปรับลดอัตราภาษีผลได้จากทุนมาเล่าสู่กันฟังครับ โดยจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนครับว่า ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงจากการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวคือ “กลุ่มคนรวย” ของประเทศ

ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องมาจากการที่กลุ่มคนรวยมักจะมีรายได้ในลักษณะ “ผลได้จากทุน” เป็นสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มคนจน เป็นอันมากครับ คนรวยมักจะเป็นเจ้าของสินทรัพย์หลักๆ ของประเทศ จำพวกตราสารหนี้ หุ้น หรือที่ดิน ซึ่งทำให้พวกเขามีรายได้จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์เหล่านั้นในระดับสูง แตกต่างจากกลุ่มคนจนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ประเภทใดๆ

ต่อเนื่องจากในครั้งก่อนครับ ในครั้งนี้ผมจะนำเอาข้อมูลการถือครองสินทรัพย์ของประเทศไทยเท่าที่ผมมีอยู่มานำเสนอ โดยก่อนอื่นผมขอเริ่มจากข้อมูลบัญชีเงินฝาก ซึ่งน่าจะเป็นสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประเภทหนึ่งให้กับเจ้าของบัญชีเงินฝาก นอกจากนั้น เงินฝากน่าจะถือเป็นฐานตั้งต้นสำคัญของการซื้อหาสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ของแต่ละบุคคลอีกด้วยครับ

ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลจำนวนบัญชีเงินฝากและมูลค่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดของประเทศไทยครับ

จากข้อมูลในตารางที่ 1 นี้จะเห็นได้ว่า บัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ราว 70 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86.59 ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งหมด เป็นเจ้าของเงินฝากคิดเป็นมูลค่าราว 3.35 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.36 ของมูลค่าเงินฝากทั้งหมดเพียงเท่านั้นครับ โดยจะเห็นได้ว่า มูลค่าเงินฝากส่วนใหญ่จะอยู่กับบัญชีเงินฝากมูลค่า 1 ล้านบาทต่อบัญชีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนอยู่ราว 1.2 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.47 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่เป็นเจ้าของเงินฝากมูลค่าราว 7.44 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 74.61 ของมูลค่าเงินฝากทั้งหมด

จำนวนประชากรไทยทั้งหมดจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด ในเดือนกันยายน 2555 มีอยู่ราว 68 ล้านคนครับ แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศไทยที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีคนอยู่จำนวนราว 10 ล้านคน ที่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในระดับต่ำกว่า 2,014 บาทต่อคน หรือต่ำกว่า 67 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งไม่น่าจะมีเงินเหลือเก็บออมไว้กับธนาคารพาณิชย์ใดๆ ได้ ในขณะที่คนกลุ่มรวยสุด 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย น่าจะเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากเกินกว่า 5 บัญชีขึ้นไปครับ

เนื่องจากเจ้าของบัญชีเงินฝากจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝาก ข้อมูลในตารางที่ 1 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนครับว่า กลุ่มคนที่เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อบัญชี ซึ่งน่าจะหมายถึงกลุ่มคนรายได้สูงของประเทศไทย จะได้รับรายได้ในลักษณะของดอกเบี้ยเงินฝากในระดับสูงกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเป็นอย่างมากครับ

ตารางที่ 2 เป็นข้อมูลการกระจายตัวของเงินฝากตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยครับ จากมูลค่าเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดในประเทศไทยราว 9.98 ล้านล้านบาท เงินฝากส่วนใหญ่ราว 6.18 ล้านล้านบาท อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ในขณะที่ลำดับรองลงมาราว 2.12 ล้านล้านบาท อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลาง ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือเป็นเขตพื้นที่ซึ่งมีมูลค่าเงินฝากต่ำที่สุดของประเทศไทย

การกระจายตัวของมูลค่าเงินฝากในตารางที่ 2 มีลักษณะใกล้เคียงกันกับการกระจายตัวของเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยครับ นั่นคือ กรุงเทพมหานครและภาคกลางเป็นเขตพื้นที่ซึ่งมีการให้สินเชื่อสูงสุดของประเทศ ในขณะที่ภาคเหนือเป็นเขตพื้นที่ซึ่งมีการให้สินเชื่อต่ำที่สุด

นอกจากนั้นอาจสังเกตได้ว่า การกระจายตัวของเงินฝากและเงินให้สินเชื่อตามภูมิภาคนี้ มีลักษณะสวนทางกับการกระจายตัวของคนจนในประเทศไทยมากครับ

โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเขตพื้นที่ซึ่งมีคนจนอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59.2 ของคนจนทั้งหมดของประเทศ รองลงมาคือภาคเหนือ ซึ่งมีคนจนอาศัยอยู่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.3 ของคนจนทั้งหมด ในขณะที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ซึ่งมีคนจนอาศัยอยู่น้อยที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.1 ของคนจนทั้งหมดของประเทศ

ถ้าหากเราคิดว่า มูลค่าเงินฝากและการเข้าถึงสินเชื่อเป็นปัจจัยสำคัญต่อการซื้อหาสินทรัพย์ลักษณะอื่นๆ มาครอบครอง ก็มีความเป็นไปได้สูงมากครับว่า กลุ่มคนรวยน่าจะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสครอบครองสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ในระดับสูง

กราฟที่ 3 เป็นข้อมูลการถือครองหุ้นสามัญของ 24 ตระกูลที่ถือครองหุ้นมูลค่าสูงสุดของประเทศไทย โดยจากข้อมูลในตารางดังกล่าวจะเห็นได้ว่า มูลค่าหุ้นในปี 2554 ที่กลุ่ม 24 ตระกูลดังกล่าวถือครองอยู่คิดเป็นมูลค่าถึงราว 2.66 แสนล้านบาท แน่นอนครับว่ายังมีตระกูลอื่นๆ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์อีก ที่ยังไม่ติดอันดับ 24 ตระกูลแรกของประเทศ

นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า กราฟที่ 3 ยังไม่ได้รวมตระกูลเศรษฐีใหญ่ของประเทศไทยบางตระกูล อาทิ เจียรวนนท์ หรือ สิริวัฒนภักดี อีกด้วย ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ผู้รวบรวมข้อมูลอาจไม่ได้รวบรวมข้อมูลการถือครองหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทนอกตลาดดังกล่าวอาจมีการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงอีกด้วย

การครอบครองหุ้นสามัญของตระกูลเศรษฐีเหล่านี้ ทำให้โอกาสในการมีรายได้ในลักษณะผลได้จากทุนของคนกลุ่มนี้อยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งแน่นอนครับว่า สัดส่วนรายได้ในลักษณะผลได้จากทุนของคนกลุ่มนี้ น่าจะอยู่ในระดับสูงกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเป็นอันมากครับ

และถึงแม้เราจะมองถึงผู้ซื้อหุ้นรายย่อยทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนไม่มากนักครับ

ตารางที่ 4 แสดงข้อมูลจำนวนบัญชีซื้อขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ โดยในเดือนกรกฎาคม 2555 มีลูกค้าที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ทั้งหมดราว 7.5 แสนบัญชี และมีลูกค้าที่เปิดบัญชีที่ซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ตทั้งหมดราว 3.3 แสนบัญชี

แน่นอนครับว่า ลูกค้า 1 รายอาจมีบัญชีซื้อขายหุ้นมากกว่า 1 บัญชี และในกรณีของประเทศไทย มีความเป็นไปได้สูงมากครับว่า จำนวนผู้เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ล้านคน เนื่องจากผู้ที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นผ่านอินเทอร์เน็ตมักจะเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นผ่านโบรกเกอร์ประกอบกันไปด้วย

ในกรณีที่มีกลุ่มคนที่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมดราว 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับจำนวนคนไทยทั้งหมด 68 ล้านคน ก็คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1.5 โดยที่มีความเป็นไปได้สูงมากครับว่า กลุ่มคน 1 ล้านคนเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศไทย เนื่องจากในการเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์นั้น ผู้เปิดบัญชีอาจต้องแสดงหลักฐานทางการเงินบางอย่าง ซึ่งกลุ่มคนจนไม่สามารถแสดงได้

จะเห็นได้ครับว่า กลุ่มผู้มีโอกาสได้รับรายได้ในลักษณะผลได้จากทุนนั้น มีโอกาสกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 10 หรือ 20 เปอร์เซ็นต์แรกเป็นอย่างมากครับ ซึ่งน่าจะทำให้สัดส่วนผลได้จากทุนของคนกลุ่มนี้น่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าสัดส่วนของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า ในขณะที่ผลได้จากทุนที่เกิดจากการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวนครับ

สุดท้าย ในกรณีของการถือครองที่ดิน รูปที่ 1 แสดงภาพการกระจายการถือครองที่ดินของประเทศไทยที่รวบรวมมาจากสำนักงานที่ดิน 399 แห่งทั่วประเทศ โดยจากข้อมูลดังกล่าว บุคคลธรรมดาที่ถือครองที่ดินเกินกว่า 100 ไร่ มีอยู่เพียง 4,613 ราย โดยในจำนวนนี้มีเพียง 121 รายที่ถือครองที่ดิน 500–999 ไร่ และอีกเพียง 113 รายที่ถือครองที่ดินเกินกว่า 1,000 ไร่

กลุ่มคนจำนวน 4,613 รายนี้คิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 0.007 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศไทย โดยคนกลุ่มนี้มีโอกาสสูงมากที่จะได้รับรายได้ในลักษณะผลได้จากทุนจากการซื้อขายที่ดิน และคนกลุ่มนี้ก็มีโอกาสสูงมากที่จะอยู่ในกลุ่มรายได้สูงที่สุด 10–20 เปอร์เซ็นต์แรกของประเทศไทย เนื่องจากกลุ่มคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการสะสมสินทรัพย์สูงกว่าผู้คนกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า

จากข้อมูลแวดล้อมต่างๆ จะเห็นได้ครับว่า มีโอกาสสูงมากที่สถานการณ์ของประเทศไทยจะมีลักษณะใกล้เคียงกับสถานการณ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือไม่ก็อาจจะแย่กว่า ในเรื่องเกี่ยวกับการกระจายการถือครองสินทรัพย์ของประเทศ โดยการงดเว้นการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนรูปแบบต่างๆ น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มคนรายได้สูงของประเทศไทยเป็นหลักครับ

และการงดเว้นการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน ก็มีโอกาสสูงมากที่จะทำลายหลักความเป็นธรรมของระบบภาษีไทยลงไปอีกด้วยครับ