ThaiPublica > เกาะกระแส > ผอ. UN Women แนะไทยเปิดทาง “ผู้หญิง” เข้าสภาให้มากขึ้น

ผอ. UN Women แนะไทยเปิดทาง “ผู้หญิง” เข้าสภาให้มากขึ้น

9 ธันวาคม 2012


นางมิเชล บาเชอร์เลต ผอ. UN Women (คนกลาง) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สำนักงานสหประชาชาติ

แม้ว่าคำว่า “ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง” จะกลายเป็นคำที่เชยจนตกขอบไปเสียแล้วสำหรับยุคนี้สมัยนี้ที่ “ความเท่าเทียม” ทางเพศกลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่สังคมอารยประเทศต้องมี

ไม่เว้นแม้แต่สังคมไทยที่ในระยะหลังมานี้ “ช่องทาง” ของผู้หญิงที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในแวดวงของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะมีสูงขึ้นในอัตราที่ไม่น้อยหน้าไปกว่าผู้ชาย

แต่กระนั้น เกือบสองในสามของผู้ใหญ่ที่ไม่รู้หนังสือเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงในโลกกว่า 84 เปอร์เซ็นต์ เคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงมาแล้ว รวมไปถึงทุกๆ 90 วินาที จะมีผู้หญิง 1 คน ที่เสียชีวิตจากการตั้งครรภ์

ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญของการเกิด UN Women หรือ สำนักงานประชาชาติเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและให้อำนาจสตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา “มิเชล บาเชอร์เลต” รองเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้อำนวยการ UN Women ได้เดินทางมาประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเข้าพบ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยแล้ว “มิเชล” ยังเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไทยร่วมพูดคุยด้วย

“สาร” จาก ผอ. UN Women ซึ่งมีดีกรีเป็นอดีตประธานาธิบดีหญิงของประเทศชิลี ทำให้ทุกคนทุกเพศในสังคมเข้าใจถึงความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง โดยเฉพาะ “อคติ” ที่มอง “ศักยภาพ” ของผู้หญิงที่ยังตกเป็นรองผู้ชาย และมักจะเข้าใจกันไปว่าการกระทำหรือความคิดใดๆ ของผู้หญิงมาจากการตัดสินใจของผู้ชาย

ข้อกฎหมายก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ “มิเชล” ให้ความสำคัญ โดยได้ชื่นชมประเทศไทยที่มีการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการสนับสนุนให้มีกระบวนการพิจารณาคดีที่ละเอียดอ่อนต่อสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง

แต่สิ่งที่หนึ่ง ผอ. UN Women เห็นว่าประเทศไทยยังคงจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องของสตรีให้มากขึ้นก็คือ จำนวนของนักการเมืองหญิงในประเทศที่ตัวเลขยังคงต่ำ แม้ว่านายกรัฐมนตรีของไทยจะเป็นผู้หญิงก็ตาม

“ผู้หญิงที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ยังมีตัวเลขที่ต่ำ แม้ว่าจะมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคนี้ แต่เราต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้ารับการสมัครรับเลือกตั้งให้มากขึ้น เพราะผู้หญิงจะเป็นผู้แทนของสังคมไทย พวกเธอสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับได้”

ด้วยเหตุนี้ UN Women จึงสนับสนุน “ผู้หญิง” ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นในบางประเทศ โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงได้

สำหรับสถิติของนักการเมืองหญิงในประเทศไทย จากการรวบรวมของสำนักข่าวไทยพับลิก้าพบว่า สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระหว่างเพศหญิงและเพศชายมีความแตกต่างกันมาก โดย ส.ส. ที่เป็นผู้หญิงมีจำนวน 81 คน ขณะที่ ส.ส.ชายมีจำนวน 419 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน ส.ส.หญิงที่ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร 19.33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วน ส.ว.หญิงมีจำนวน 25 คน ขณะที่ ส.ว.ชาย 124 คน หรือมี ส.ว.หญิงที่ทำหน้าที่ในวุฒิสภาเพียง 20.16 เปอร์เซ็นต์