ThaiPublica > คนในข่าว > “ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ความท้าทายกรณี “สรยุทธถึงคอร์รัปชันประเทศไทย”

“ประมนต์ สุธีวงศ์” ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ความท้าทายกรณี “สรยุทธถึงคอร์รัปชันประเทศไทย”

2 ธันวาคม 2012


ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น
ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น

ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของภาคเอกชน นำโดยหอการค้าและสภาหอการค้าไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย

นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดให้ก่อตั้งภาคีฯ ขึ้นในปี 2553 และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นคนแรก

แต่หลังจากที่นายดุสิตได้เสียชีวิตลงในเดือนกันยายน 2554 นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงได้เข้ามารับหน้าที่ในการเป็นผู้นำของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นแทนนายดุสิต

ที่ผ่านมา ภาคีฯ มีจุดยืนและการกระทำที่ชัดเจนในการต่อต้านการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ตั้งแต่การระดมภาคเอกชนที่ไม่เห็นด้วยกับการทุจริต ประกาศหยุดจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อตัดปัญหาการคอร์รัปชันจากฝั่งผู้ให้ โครงการหมาเฝ้าบ้าน ที่สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบสร้างความโปร่งใส ไปจนถึงการจับตานโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ที่มีความเสี่ยงในการเกิดการคอร์รัปชัน อาทิ โครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท

แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผลงานเด่นชัดที่สุดของภาคีฯ ที่ปรากฏในสังคม คงหนีไม่พ้นการที่ภาคีฯ ออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญานายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง กรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ยักยอกเงินโฆษณา 138 ล้านบาท มาให้บริษัท ไร่ส้ม จำกัด จากการจัดรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ระหว่างปี 2548-2549

จุดเริ่มต้นจากการเกาะติดสถานการณ์ของสำนักข่าวอิศรา จนไปสู่การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวกดดัน โดยนายประมนต์ สุธีวงศ์ ได้ทำหนังสือ ลงวันที่ 9 ต.ค. 2555 ถึงประธานคณะกรรมการบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เพื่อขอทราบจุดยืนและบรรทัดฐานต่อกรณีของนายสรยุทธ หลังถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด

ขณะที่กลุ่มปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้านของภาคีฯ ก็ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวกดดันด้วยการรณรงค์ไม่ดูรายการของนายสรยุทธ และออกมาเปิดเผยว่ามีบริษัทเอกชน 4 แห่ง คือ โตโยต้า โตชิบา ธนาคารไทยพาณิชย์ และปูนซีเมนต์ไทย เตรียมการที่จะถอนโฆษณาจากรายการของนายสรยุทธ ในต้นปี 2556

จากกระแสดังกล่าว ส่งผลให้ วันที่ 2 พ.ย. 2555 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือถึงบริษัทในตลาดทุน ระบุถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของสื่อมวลชน กรณีบริษัทไร่ส้ม ที่แม้จะยังไม่มีบทสรุปทางกฎหมายต่อพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา แต่ในแง่การประกอบวิชาชีพนับว่าไม่เหมาะสม มีการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดจรรยาบรรณ ก.ล.ต. จึงได้ขอความร่วมมือให้บริษัทพิจารณาอย่างรอบคอบและใช้ความระมัดระวัง ในการทำธุรกิจกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชัน

ในความเคลื่อนไหวและกระแสสังคมทั้งหมดคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เป็นองค์กรสำคัญที่มีส่วนในการผลักดัน ทำให้สังคมตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาคอร์รัปชัน โดยมีกรณีนายสรยุทธเป็นตัวอย่าง

สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงได้สัมภาษณ์นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อถามถึงจุดยืนและความชัดเจนของภาคีฯ ต่อกรณีนายสรยุทธ และแนวทางเคลื่อนไหวต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย

นายประมนต์ สุธีวงศ์
นายประมนต์ สุธีวงศ์

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้จุดยืนของภาคีฯกรณีคุณสรยุทธและมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง

งานที่ภาคีฯ ทำ เราไม่ได้มุ่งที่จะไปเจาะเป็นตัวบุคคลหรือพฤติกรรมของใครโดยเฉพาะ แต่กรณีคุณสรยุทธ ผมคิดว่าเป็นกรณีตัวอย่าง คือ เป็นคนที่อยู่ในวงการสื่อ เป็นผู้ที่มีคนให้ความเชื่อถือสูง ก็ควรจะมีพฤติกรรที่เหมาะสม มีความโปร่งใส และเชื่อถือได้

เมื่อมีองค์กรสื่อจุดประกายขึ้น มีการสัมมนา มีการเชิญคนมาพูดคุย เราก็ไปมีส่วนร่วมกับเขาเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ในการคุยกันก็ได้ข้อสรุปว่า ใครก็ตามที่มีสภาวะแบบนั้น และทำอะไรที่ไม่ชอบไม่ควร ก็ควรจะพิจารณาตัวเอง ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตอบสนองความคาดหวังของสังคม อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น

ที่ภาคีฯ ของเราเข้าไปมีส่วนร่วมเพราะเห็นว่า การขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนมีความรับผิดชอบต่อการทุจริต เป็นหน้าที่ของเรา เราก็เข้าไปสนับสนุนเพราะเห็นด้วยกับเขาว่า คนที่มีสภาพเป็นผู้นำทางสังคม ต้องมีความประพฤติที่น่าเชื่อถือ เราก็ให้การสนับสนุน โดยถามไปถึงองค์กรที่คุณสรยุทธมีส่วนเกี่ยวข้องว่า เขาจะทำอะไรหรือเปล่า

“เราก็ถามไปเฉยๆ ไม่ได้มีข้อเสนอแนะว่าต้องทำอะไร ผมคิดว่าคำถามที่เรามีเป็นสิ่งที่สังคมเป็นผู้ตอบมากกว่า”

เมื่อถามไปแล้วองค์กรเขาจะทำอะไรหรือไม่ก็เป็นความรับผิดชอบของเขา ถ้าเขาเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราเห็นว่าสอดคล้องกับความคาดหวังของคนทั่วๆ ไปก็ดี ถ้าเขาเลือกที่จะไม่ทำ ก็เป็นเรื่องของสังคมที่จะคิดว่าต้องทำอะไรต่อไป

สำหรับภาคีฯ เอง สิ่งที่เราคาดหวังอย่างเดียวคือ เราหวังว่าสังคมจะรับรู้เรื่องต่างๆ พวกนี้ และจะเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรถูกหรือไม่ถูก เพราะสิ่งที่เราพยายามทำคือ ทำให้สังคมเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันเป็นสิ่งไม่ดี และเมื่อไม่ดีแล้วก็ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้อง

ยกตัวอย่างในกรณีคุณสรยุทธ ถ้าสังคมเห็นด้วยกับการขับเคลื่อนของเรา เขาก็จะลุกขึ้นมาต่อต้านด้วยการไม่ไปดูรายการเขา หรือผู้ที่มีโฆษณาก็อย่าไปโฆษณา หรือแม้กระทั่งวงการสื่อเองก็อย่าไปทำสังฆกรรมอะไรร่วมกับเขา มันต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทั้งหมด สิ่งที่เราทำมีแค่นั้น ถ้าไม่ประสบความสำเร็จ ก็แปลว่าสังคมยังไม่ตอบรับกับสิ่งที่เราคิดว่าควรจะเป็น ก็ต้องขับเคลื่อนกันต่อไป ประเด็นของคุณสรยุทธเป็นแบบนี้

เราไม่ได้ตั้งประเด็นว่าต้องไปขับไล่คุณสรยุทธ หรือไปแอนตี้ช่อง 3 เราแค่เชิญชวนให้คนที่มีส่วนร่วมเข้ามาพิจารณา ผมก็ดีใจที่สำนักงาน ก.ล.ต. เขามีจดหมายออกมา ก็แสดงว่าเขาตอบรับกับความคาดหวังของเรา เพราะเขาเป็นองค์กรที่กำกับเรื่องการบริหารการจัดการที่ดี เขาก็ออกมาสื่อถึงสมาชิกว่าควรจะต้องไปดูเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และผมก็เชื่อว่าหลายๆบริษัทก็เอาไปพิจารณาตามความเหมาะสม ใครที่อยากจะทำอะไรที่เป็นการแสดงออกก็ทำไป ใครที่ไม่พร้อมเขาก็ไม่ทำ

นายประมนต์ สุธีวงศ์

ไทยพับลิก้า : เรื่องนี้เป็นการจุดประกาย จากนั้นให้สังคมเป็นคนตัดสินใจเอง

ครับ ขบวนการของเรา เราไม่ได้เป็นผู้พิพากษา เราไม่ใช่คนที่จะไปตัดสินว่าใครถูกใครผิด เพียงแต่เมื่อเราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เหมาะสม ด้วยมาตรฐานของเรา เราก็สื่อให้คนอื่นรู้ และเราก็หวังว่าสังคมจะเป็นผู้ตัดสิน ทางขบวนการสื่อก็ต้องไปคิดว่าจะทำอะไรกับกรณีนี้ ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อวงการของคุณเองยังเป็นอย่างนี้ ถ้าอยู่เฉยๆก็แสดงว่าคุณไม่สนใจ หรือไม่กล้าที่จะทำอะไร

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้สังคมพร้อม หรือกล้าแค่ไหน ที่จะแสดงออกขนาดนั้น

ตอนนี้ยังไม่พร้อม ก็เป็นความหนักใจอย่างหนึ่ง และคิดว่าสิ่งที่เราทำในตอนนี้คือ พยายามขับเคลื่อนให้สังคมมีความพร้อมมากขึ้นในเรื่องนี้ และผมก็หวังว่าสื่อจะส่งเสริมให้สังคมมีความเข้าใจว่า เราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราไม่ควรยอมรับกับสิ่งที่ไม่ดีและปล่อยไปเฉยๆ

ถ้าทุกคนลุกขึ้นมาพูด ผมเชื่อว่ามันเป็นพลังได้แน่นอน ถ้าทุกคนออกมาพูดว่าจะไม่รับคอร์รัปชัน ผมว่ามันสะเทือนแน่นอน แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ยังบอกว่าธุระไม่ใช่ ใครอยากโกงก็โกงไปฉันไม่เดือดร้อน ถึงเดือดร้อนก็ไม่อยากทำอะไร ผมคิดว่านี่ก็เป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ และต้องพยายามขับเคลื่อนต่อไป

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้เรื่องการงดสนับสนุนในแง่โฆษณามีความชัดเจนแค่ไหน

คงต้องตามดูต่อไปว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ผมมีข้อมูลจากหลายบริษัทที่ตอบสนองว่า เขาจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนนี้อาจยังไม่เห็น แต่เดือนหน้าหรือเดือนต่อๆ ไป ต้องตามดูว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ภายในเดือนธันวาคมก็น่าจะมีอะไรให้เห็นบ้าง เพราะผมเชื่อว่ามีหลายบริษัทที่ได้แสดงท่าทีตอบสนองว่า ต้องการจะช่วยให้เราไปในทิศทางที่ถูกต้อง ผมก็เชื่อว่านี่จะมีผล แต่มากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่การเปลี่ยนแปลง ความกดดันต้องมาจากสังคม ถ้าพวกเราที่เป็นผู้ใช้บริการของบริษัทต่างๆ เหล่านั้น แล้วเราไม่พอใจไปบอกบริษัทว่า คุณไม่ควรโฆษณา ทำในฐานะผู้บริโภค แบบนั้นผมคิดว่ามันเป็นพลัง แต่ถ้าภาคีฯ ไปบอกแบบนั้น ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์หรอก เพราะภาคีฯ ไม่ใช่ผู้บริโภค

“เราเพียงแค่ให้คำแนะนำว่า ทิศทางที่เราคิดว่าถูกต้องคืออะไร เมื่อไม่เหมาะสมแล้วควรจะทำอย่างไร”

ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้าคงเห็นผลว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ผมเชื่อว่าคงมีบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่พอที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ผมไม่ทราบ และจริงๆ ผมอยากจะบอกว่ามันไม่ใช่หน้าที่หลักของเรา

หน้าที่หลักของเราคือการสร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้ สร้างให้คนรับรู้ เราก็หวังว่าจะมีการตอบสนองในทิศทางที่ดี

ไทยพับลิก้า : มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า กรณีคุณสรยุทธจะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญของภาคีฯ ที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นองค์กรธุรกิจ และมีงบโฆษณาจำนวนมหาศาล หากเรื่องการตัดงบโฆษณาใช้ไม่ได้ผล กังวลไหมว่า ในอนาคตภาคีฯ เองจะถูกท้าทาย

ผมคิดว่านี่เป็นความคาดหวังที่ผิด ที่จริงภาคีฯ ไม่ได้มีอำนาจ ภาคีฯ มาจากการรวมตัวของภาคเอกชน มีบุคคลที่มีจิตสาธารณะ สละเวลามาช่วยกัน และพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่มีจิตสำนึกว่ารับเรื่องนี้ไม่ได้ แต่เราไม่มีอำนาจ การที่จะไปบอกว่าเราสั่งคนโน้นคนนี้ได้ไม่จริง เราไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายด้วยซ้ำ

แต่สิ่งที่เราทำ ผมคิดว่าจะมีความหมาย เพราะผมเชื่อว่ามันถูกใจ และตรงใจกับหลายคนที่มีความอึดอัดมาตลอด ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ ไม่มีเวที เมื่อเราเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้น มีเวที หลายคนก็เข้ามามีส่วนร่วม และถ้ามีคนอยากจะทำอะไร ผมก็คิดว่าเขากล้าทำมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เป็นความหวังของเรา

แต่การที่จะบอกว่าให้คนนั้นคนนี้เลิกโฆษณา มันเป็นการคาดหวังที่เกินกว่าความเหมาะสมและความเป็นจริง เราคิดว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กร ถ้าเขามีความนึกคิดที่จะต่อต้าน รณรงค์ทำให้สังคมดีขึ้น เขาก็ต้องตัดสินใจเอา มันไม่ใช่เรื่องแพ้เรื่องชนะ แต่เป็นเรื่องทิศทางการตอบรับของสังคม ว่าจะเป็นไปตามที่เราหวังหรือไม่ อันนั้นคือผลแพ้ชนะ

ในที่สุด ถ้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปสิบปีและไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย นั่นคือความพ่ายแพ้แน่นอน ตอนนั้นพวกเราคงหมดแรง แต่ถ้าทุกปีมีอะไรที่ดีขึ้น มันก็เป็นกำลังใจให้ทำต่อไป และผมก็หวังว่าสิ่งที่เราทำจะค่อยๆ ดึงเอาคนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ หรือลังเลเข้ามาสู่ขบวนการขับเคลื่อนต่อไป

ไทยพับลิก้า : เรื่องนี้ถือเป็นกรณีตัวอย่างแรกไหม

ในภาคเอกชน เรื่องนี้เป็นกรณีตัวอย่างแรก เพราะภาครัฐมีกรณีตัวอย่างอื่นเกิดขึ้นแล้ว แต่สถานการณ์ไม่เหมือนกัน เพราะในภาครัฐ ถ้าเป็นข้าราชการที่มีเรื่องอื้อฉาวขึ้น และถึงขั้นฟ้องร้อง โดยกฎหมายแล้วเขาต้องออกจากหน้าที่ทันที มันมีกฎหมายอยู่ แต่ภาคเอกชนไม่มีกฎหมายแบบนี้ มันก็เป็นกรณีตัวอย่างว่า เกิดเรื่องขึ้นในภาคเอกชนแล้ว จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร

นายประมนต์ สุธีวงศ์
นายประมนต์ สุธีวงศ์

ไทยพับลิก้า : เพราะเป็นภาคเอกชน เมื่อออกมาทำอะไรคนก็ชอบเอาไปโยงกับเรื่องผลประโยชน์ มองว่ามีเรื่องแอบแฝง หรือมีเรื่องการเมือง คุณประมนต์คิดอย่างไร

เราก็คงผิดหวังถ้ามีคนเข้าใจผิด อันนั้นไม่ใช่เจตนารมณ์ของเรา เพราะคนที่เข้ามาทำงานในภาคีฯ ผมก็เชื่อว่ามีจิตบริสุทธิ์พอสมควร ไม่น่าจะมีอะไรเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่น่าจะมีผลประโยชน์ของตัวเอง เพียงแต่เราหวังร่วมกันว่า จะช่วยทำให้การทุจริตคอร์รัปชันลดลง แต่ถ้ามีคนเข้าใจผิด หากเราอธิบายได้ก็จะอธิบาย เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : ทำไมถึงเป็นสรยุทธ ไม่เป็นคนอื่น

ก็เผอิญมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ถ้ามีเรื่องอื่นที่คล้ายๆ แบบนี้ออกมาอีก เราก็คงจะดำเนินการคล้ายๆ กัน

ไทยพับลิก้า : มีคนตั้งคำถามว่าแล้วกรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล

ก็มีคนพูดมาเหมือนกัน เรื่องนี้ผมไม่ทราบว่ากรณีคุณสนธิ เราจะตีความหมายว่าเป็นคนของสังคมในลักษณะของคุณสรยุทธ หรือเป็นคนของการเมือง คงต้องแยกกัน เพราะคุณสนธิก็ไปอยู่ในด้านการเมืองพอสมควร ฉะนั้นเราคงต้องแบ่งแยก เราต้องดูว่าเข้าข่ายเราหรือไม่

แต่อันนี้ก็ยอมรับว่า ตอนที่ภาคีฯ ทำ เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดเป็นประเด็นขึ้น เราไม่อยากถูกกล่าวหาว่าเลือกที่รักมักที่ชัง ถ้ามันมีประเด็นว่าเป็นเรื่องที่เข้าข่าย เราก็คงต้องให้ความสมมาตรเท่ากัน ผมก็ไม่แน่ใจว่าเขาทำหน้าที่เป็นเจ้าของสื่อ เป็นผู้สื่อข่าว หรือเป็นนักการเมือง เพราะเขาสวมหมวกหลายใบเหลือเกิน ก็แยกไม่ค่อยออกว่าในบทบาทที่เขาทำ เขาทำในบทบาทไหนแน่

ไทยพับลิก้า : ถ้ายังไม่มีอะไรเกิดขึ้นจะทำเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

เรื่องที่เราขับเคลื่อนไม่ใช่เฉพาะกรณีคุณสรยุทธ คำว่าขับเคลื่อนของเราคือขับเคลื่อนขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เพราะนอกจากกรณีคุณสรยุทธ เราก็ตามเรื่องทุจริตมาหลายโครงการ ทั้งจำนำข้าว โครงการป้องกันน้ำท่วม และเราจะทำอะไรอีกหลายอย่างในทำนองนี้

ไทยพับลิก้า : ในอนาคต ภาคีฯ มีแผนที่จะขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร

เรามีความคาดหวังที่จะขับเคลื่อนต่อไปอีกมาก มี 3 กรอบที่เราพูดถึงเป็น 3 ป. ในการต่อต้านคอร์รัปชัน คือ ป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม ดูว่าเราจะทำอะไรบ้าง และพยายามขยายผลให้ชัดเจนขึ้น เอาคนที่เกี่ยวข้องมาสนับสนุนให้มากขึ้น เพื่อให้งานสามารถแพร่หลายออกไปได้

เพราะการทำงานด้านป้องกันอย่างเดียวมันไม่พอ เราก็ได้มาเน้นให้ความสำคัญในเรื่องการปลูกฝังเยาวชน มีกระบวนการที่จะเข้าไปในโรงเรียน เข้าไปในกลุ่มเยาวชน ให้เขาเริ่มรับรู้ว่าการทุจริตไม่ดี และเราก็หวังว่านี่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมค่อยๆเปลี่ยนไป

ตัวอย่างที่ดำเนินการตอนนี้ มีโครงการหมาเฝ้าบ้าน มีโครงการฮั้วไม่จ่ายใต้โต๊ะ ที่ทำงานร่วมกับ กทม. เพื่อให้การไปขออนุญาตต่างๆ ไม่ต้องเสียเงินตามรายทาง มีโครงการที่ยังไม่เป็นข่าว คือ การรณรงค์ให้บริษัทใหญ่ๆ ที่มีคู่สัญญาอยู่ไม่กี่ราย ไปเชิญชวนให้คู่สัญญามาร่วมลงนามพร้อมกัน บอกว่าจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน จะไม่มีการฮั้วประมูล ผมยกตัวอย่างการบินไทยที่เป็นบริษัทใหญ่ และซื้อเครื่องบินที่มีผู้ผลิตอยู่เพียง 3-4 ราย ก็เป็นข้อเสนอแนะของเราต่อผู้บริหารการบินไทยว่า ทำไมไม่เชิญบริษัทพวกนี้มาจับมือกันว่าจะไม่มีการทุจริตคอร์รัปชัน จะไม่มีการติดสินบน อันนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้บริษัทใหญ่ หรือรัฐวิสาหกิจมีโอกาสที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้

กรณีงบน้ำท่วมหรือจำนำข้าวเราก็ยังทำต่อ เพราะเป็นโครงการที่ไม่จบ อย่างโครงการของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ที่รณรงค์ให้บริษัทมาร่วมลงนามเพื่อเป็นแนวร่วมว่าจะไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ก็เป็นอีกทิศทางหนึ่งที่เราทำอยู่ โครงการปลูกฝังกับเยาวชน หรือโครงการที่ทำแล้วได้ผลกระจายไปต่างจังหวัดคือ โครงการโตไปไม่โกงของ กทม. เป็นโครงการที่ดี เป็นหลักสูตรที่ดี เรากำลังทำงานร่วมกับบริษัทที่ทำ CSR อยู่แล้ว ก็จะเชิญชวน แทนที่จะทำ CSR ทั่วไปก็มาสนับสนุนโครงการนี้ ให้เงินสนับสนุน เราก็จะเอาโครงการเข้าไปสู่โรงเรียนต่างๆ เป็นการขยายผล

นายประมนต์ สุธีวงศ์

ไทยพับลิก้า : อย่างเรื่องการบินไทย จะขยายผลให้ชัดเจน หรือทำเป็นตัวอย่างนำร่องได้หรือไม่

เราก็หวังแบบนั้น แต่จะต้องเป็นกลุ่มบริษัทที่มีจำนวนไม่มากนัก ถ้ามีเป็นร้อยคงทำไม่ได้ จะจับคนมาเซ็นทั้งหมดคงยาก ถ้ามีคนเบี้ยวสักสองสามคนก็เจ๊งแล้ว แต่ถ้าเป็นเพียง 3-4 บริษัท และเป็น บริษัทใหญ่ บริษัทต่างชาติ โอกาสเป็นไปได้มีสูง เพราะกฎหมายต่างชาติเขาแรงอยู่แล้ว พวกนี้ไม่อยากจะทุจริต ดังนั้น ถ้ามีโอกาสจะทำได้โดยแน่ใจว่าการแข่งขันเป็นธรรม ไม่มีการเอาเปรียบ ผมเชื่อว่าเขาอยากทำ เพราะจะทำให้เขาไม่มีต้นทุนแฝงเกิดขึ้น ตอนนี้เขากำลังดูรายละเอียดอยู่ เป็นความหวังของเรา ถ้าทำสำเร็จก็จะขยายผลต่อไป ซึ่งในระดับบอร์ดเขาสนใจดูว่าจะทำได้อย่างไร ไม่ได้ปฏิเสธ แต่กระบวนการต้องใช้เวลา

ไทยพับลิก้า : บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ควรจะต้องมีรายงานที่พูดถึงเรื่องความโปร่งใส หรือมีรายงานเรื่องการจัดการกับคอร์รัปชันหรือไม่

ตลาดหลักทรัพย์ก็ทำมาเยอะเรื่องการรณรงค์ มีการเพิ่มเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้สมาชิกมีแนวปฏิบัติ หรือมีข้อมูลให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าทำมาอย่างต่อเนื่องและทำได้ดีพอสมควร จะเห็นว่าผลสำรวจการปฏิบัติของบริษัททั่วไปที่พูดถึงเรื่องของจรรยาบรรณ ตัวเลขก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มีหลายบริษัทที่เริ่มเข้ามาอยู่ในขบวนการมากขึ้น หลายบริษัทก็มีวิธีปฏิบัติที่ดีขึ้น ภาพก็ดีขึ้นเรื่อยๆ

ไทยพับลิก้า : แต่ในการจัดอันดับ ก็เป็นที่รู้กันว่ายังมีบริษัทที่ติดอันดับเรื่องการคอร์รัปชันอยู่ ตรงนี้จะทำอย่างไร

การไปกำกับดูแลในระดับบริษัทเราคงไม่มีกำลังพอ และไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เราคงร่วมงานกับหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องนี้อีกทีว่า เขาจะมีส่วนช่วยในการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้อย่างไร ถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และ IOD ที่มีหน้าที่ตรงนี้อยู่ แต่ถ้าเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียน ก็อาจจะยาก เพราะคนที่ควบคุมคือกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งอาจไม่เข้มงวดเท่าไรนัก แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังดูแล เราก็มีข้อเสนอแนะได้

ไทยพับลิก้า : จะมีการจับตานโยบายต่างๆ ของรัฐบาลเป็นพิเศษหรือไม่

คงแยกกัน เรื่องนโยบายเราจะไม่ทำ ทางภาคีฯ เราเน้นเรื่องการทุจริต เราไม่ได้เน้นเรื่องนโยบาย ชอบหรือไม่ชอบไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปวิจารณ์ ผมยกตัวอย่างว่า จำนำข้าว มีคนที่วิจารณ์นโยบายรัฐบาลเยอะ ว่าเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม อันนั้นเป็นสิทธิที่เขาจะทำได้ ทางภาคีฯ เราจะไม่วิจารณ์นโยบาย ผมถือว่านโยบายรัฐบาลเป็นเรื่องที่เมื่อเขาได้รับเลือกตั้งเข้ามา เขาประกาศนโยบาย มีคนให้การสนับสนุน เขาก็ทำไป ถ้านโยบายไม่ดี ก็จะมีคนวิจารณ์ แต่ถ้านโยบายนั้น เมื่อปฏิบัติแล้วมีข้อเสีย อันนั้นคือสิ่งที่เราจะทำ สิ่งที่เราจะเข้าไปช่วยคือ ดูว่าการทำนโยบายนี้ ข้อปฏิบัติมีจุดรั่วไหลอะไร แล้วเราก็พิสูจน์ให้เห็นว่าโครงการจำนำข้าวมีจุดทุจริตไหนที่ควรป้องกัน เป็นหน้าที่ของเรา ที่พยายามชี้ให้เห็นว่ามีจุดเสียตรงไหน เป็นการช่วยกันดู

ไทยพับลิก้า : ปีหน้าแนวทางการปฏิบัติจะชัดเจนขึ้น เป็นรูปธรรมแค่ไหน

เราก็หวังว่าการทำงานของเราจะชัดเจนขึ้น มีพลังมากขึ้น มีผู้สนับสนุนมากขึ้น เท่าที่ผ่านมาหนึ่งปีก็ทำได้ดีพอสมควร ในเรื่องของการมีส่วนร่วมก็มีหลายแห่งที่สนับสนุนเรา มีคนที่เข้ามาเป็นอาสาสมัครมากขึ้น มีคนที่พอมีเวลาและไม่เป็นห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ มาให้เวลากับพวกเรา อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าจะเป็นตัวที่ช่วยเสริมพลังให้กับองค์กร

นายประมนต์ สุธีวงศ์

ไทยพับลิก้า : นอกจากการเรียกร้องหรือถามหาจุดยืนเพื่อให้สังคมตัดสินแล้ว ในอนาคตภาคีฯ มีแผนจะผลักดันประเด็นที่ต้องการให้เป็นรูปธรรม อย่างการเสนอให้รัฐออกกฎระเบียบ หรือการเสนอกฎหมายสู่สภาหรือไม่

นั่นก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของงานเรา เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ตัวอย่างเรื่องที่เราขับเคลื่อนอยู่ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ ซึ่งขณะนี้เราได้เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูล มีการแสดงถึงวิธีคำนวณราคากลาง การออกทีโออาร์ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้เราหวังว่าเมื่อเปิดเผยมาแล้ว จะทำให้คนทุจริตได้ยากขึ้น การตรวจสอบเป็นไปได้ง่ายขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

แต่แค่นั้นคงไม่พอ เพราะต้องมีการเข้าไปเปลี่ยนแปลงบางอย่างในวิธีการและกระบวนการด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจต้องแก้ระเบียบ แก้กฎหมาย ซึ่งการแก้กฎหมาย เรามีการพูดเสมอว่ากระบวนการยุติธรรมของเราล่าช้า กว่าจะเอาคนผิดมาลงโทษได้ บางทีเป็น 20-30 ปี เรื่องมันก็เลยเถิดจนหมดความสำคัญไป

สิ่งหนึ่งที่เราอยากจะเห็นและผลักดันคือการแก้กฎหมาย ให้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะในเรื่องคอร์รัปชันเร็วขึ้น ถ้ามีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตแล้วฟ้องร้องกัน ให้เสร็จสิ้นภายใน 2-3 ปีได้ไหม แทนที่จะเป็นสิบๆ ปี ถ้าเป็นแบบนั้นได้ก็จะทำให้คนที่ทุจริตมีความเกรงกลัว เพราะโทษมาเร็ว ไม่ใช่รอจนตายไปแล้วถึงมาบอกว่าผิด ตรงนี้เป็นเรื่องระยะยาวที่เรารอให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง เปลี่ยนแปลงกระบวนการ และตัวกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : ในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า ภาคีฯมีจุดยืนหรือเป้าหมายในสังคมไทยอย่างไร

ใน 5–10 ปีข้างหน้า เรามีความหวังว่าขบวนการนี้จะได้รับการสนับสนุนให้ขับเคลื่อนต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ผมก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อันนี้ต้องดูกันต่อไป แต่เราก็มีแผน มีความหวังว่าจะเป็นพลังให้สังคมได้ แต่ในท้ายที่สุด เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ต้องมีรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ ถ้าเราย้อนกลับไปมองประเทศอย่างสิงคโปร์ หรือฮ่องกงที่ทำเรื่องนี้สำเร็จ เพราะเขามีผู้นำที่มีความชัดเจนว่าต้องการจะทำเรื่องคอร์รัปชัน สิ่งที่เราทำอยู่เป็นเพียงการปลุกกระแสจิตสำนึก สร้างพลังมวลชนไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเราหวังว่าประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะตัดสินใจได้เอง

หรือถ้ารัฐบาลไม่ทำก็คงไม่สำเร็จ คนมีอำนาจที่จะทำได้คือตัวรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นใคร ต้องมีผู้นำที่มีความตั้งใจ มีความพร้อมที่จะทำและแก้ไข ถ้าเราผลักดันได้จนมีรัฐบาล มีผู้นำที่มีความพร้อม มีคนมีอำนาจลุกขึ้นมาตอบรับโจทย์นี้ เมื่อถึงวันนั้น ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของพวกเรา

จากวิสัยทัศน์ของเราเขียนชัดเจนว่า เราต้องการที่จะเป็นพลังสังคม ที่ขับเคลื่อนให้คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่คนไทยและสังคมไทยยอมรับไม่ได้ สิ่งต่างๆ ที่เราทำก็พยายามให้ถึงจุดนี้ การตอบสนองจะมากน้อยแค่ไหนก็คงขึ้นกับคนไทย ถ้าคนไทยบอกว่าธุระไม่ใช่ เราขับเคลื่อนมาหลายปีแล้วยังพูดแบบนี้อยู่ ผมว่าก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นกันเถอะ

ไทยพับลิก้า : ตั้งแต่คุณประมนต์ทำงานมาจนถึงวันนี้ อยากให้ประเมินเรื่องคอร์รัปชันของประเทศไทย

ผมว่า ถ้าดูจากการวัดขององค์กรนานาชาติ หรือข้อมูลวิชาการที่มี เราจะเห็นว่าประเทศไทยเลวลงมาเรื่อยๆ จากการคอร์รัปชันตามน้ำ เดี๋ยวนี้ก็ทวนน้ำ บางทีก็เป็นคอร์รัปชันเชิงนโยบาย และลุกลามไปเรื่อยๆ ถ้าไม่หยุดก็คงเหมือนมะเร็ง ที่วันหนึ่งมะเร็งก็จะทำลายร่างกายเรา

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้มีอีกเครือข่ายหนึ่งที่ชื่อคล้ายๆ กับชื่อของ “ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น” มีชื่อว่า “ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นแห่งชาติ” เคลื่อนไหวอยู่ ทั้งสององค์กรมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร

เรื่องนี้ผมทราบว่ามีคนจดทะเบียนเป็นชื่อนั้น เราไปห้ามเขาคงไม่ได้ ซึ่งก็มีกลุ่มบุคคลหนึ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ ก็ทำให้เกิดความสับสนกับเรา ซึ่งผมก็เป็นห่วง ผมคิดว่าหลายคนที่ไม่เข้าจะคิดว่าเป็นองค์กรเดียวกัน ตอนนี้เรากำลังคิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงชื่อของเราเพื่อไม่ให้มีความสับสน กำลังคิดจะจดเป็นมูลนิธิขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป