ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : ย้อนรอยเขตอุตสาหกรรมหนัก การเปลี่ยนไปของ “มาบตาพุด”

30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : ย้อนรอยเขตอุตสาหกรรมหนัก การเปลี่ยนไปของ “มาบตาพุด”

6 ธันวาคม 2012


นับตั้งแต่มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 ปี 2525-2529 พื้นที่บริเวณชายฝั่งตะวันออกก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่โดยใช้ชื่อว่าโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกหรือเรียกกันว่าโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด

ด้วยเพราะนโยบายหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 ต้องการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้ไปตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาคอย่างเป็นระบบ โดยให้มีการพัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมหลักและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ให้มีความสมบูรณ์ในตัวเองเพื่อเสนอทางเลือกแหล่งที่ตั้งให้กับอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต โดยที่ไม่จำกัดอยู่เฉพาะเมืองหลวงของประเทศเท่านั้น

จึงกำหนดพื้นที่บริเวณ “อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี” จนถึง “เขตเทศบาลเมืองระยอง” ซึ่งมีเนื้อที่รวมกว่า 123,750 ไร่ เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และเพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่ คือ มาบตาพุด จ.ระยอง, แหลมฉบัง จ.ชลบุรี และ เมืองชุมชนบริเวณใกล้เคียงในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 6

โดยได้วางบทบาทให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นแหล่ง “อุตสาหกรรมหลัก” เช่น อุตสาหกรรมแยกก๊าซ ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมโซดาแอช อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และมีท่าเรือน้ำลึกติดกับเขตอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถขนถ่ายวัตถุดิบได้อย่างสะดวก

พร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนให้เกิดขึ้นในลักษณะที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้ อาทิ การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมและชุมชนมาบตาพุด การพัฒนาทางรถไฟสายฉะเชิงเทรา-สัตหีบ และการพัฒนาเคหะชุมชน

พื้นที่มาบตาพุดยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 และฉบับที่ 8 โดยยังคงเน้นการ “เพิ่มขีดความสามารถ” ของพื้นที่ดังกล่าวให้เป็น “ประตูเศรษฐกิจ” ของประเทศ

การพัฒนาที่เกิดขึ้นทำให้พื้นที่นี้มีศักยภาพสูงในการลงทุนด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการไหลของทุนตลอดจนการเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นี้อย่างมาก

ในวันนี้ รายได้หลักของจังหวัดระยอง กว่า 80 % จึงมาจากภาคอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดในแต่ละปีคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประเทศไทย

โดยในปี 2553 มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดระยอง (GPP) อยู่ที่ 749,878 ล้านบาท และมีรายได้ต่อหัวของประชากรที่ 1,242,809 บาทต่อคนต่อปี

ในปี 2520 ก่อนที่จะมีโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก จังหวัดระยองมีโรงงานที่จดทะเบียนเพียง 126 โรงงาน เงินลงทุน 817 ล้านบาท ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 350 โรงงานในปี 2531 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทั่งในปี 2551 มีโรงงานอุตสาหกรรมมากถึง 1,771 โรงงาน อันเป็นผลมาจากการเกิดของนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม จำนวน 19 แห่ง ซึ่งมีเนื้อที่รวมกันถึง 51,656 ไร่ ประกอบไปด้วย

นิคมอุตสาหกรรม 8 แห่งได้แก่

1. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จำนวน 10,215 ไร่

2. นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก จำนวน 3,700 ไร่

3. นิคมอุตสาหกรรมผาแดงจำนวน 540.24 ไร่

4. นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด 2,062 ไร่

5. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ 4,700 ไร่

6. นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย 3,220.25 ไร่

7. นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด 8,179 ไร่

8. นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล 1,703.40 ไร่

เขตประกอบการอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้แก่ 1. เขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอิดัสเตรียลพาร์ค 1,341 ไร่ 2. เขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอ 4,335 ไร่ 3. เขตประกอบการอุตสาหกรรมจีเคแลนด์ 882 ไร่ และ 4. เขตประกอบการอุตสาหกรรม บริษัท ระยองที่ดินอุตสาหกรรม จำกัด 3,427 ไร่

ชุมชนอุตสาหกรรมจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1. นิคมอุตสาหกรรมนครินทร์-อินดัสเตรียลปาร์ค 465 ไร่ 2. ชุมชนอุตสาหกรรม เอสเอสพี พร็อพเพอร์ตี้ 1,246 ไร่ 3. ชุมชนอุตสาหกรรม บริษัท ทุนแท๊กซ์ อินดัสเตรียลปาร์ค จำกัด 1,497 ไร่ 4. ชุมชนอุตสาหกรรมไอพีพี 390 ไร่ 5. ชุมชนอุตสาหกรรมโรจนะ 2,200 ไร่

สวนอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือ 1. สวนอุตสาหกรรมบริษัทระยอง 1,500 ไร่ และ 2. สวนอุตสาหกรรมเครือเจริญโภคภัณฑ์ 54 ไร่

แม้การพัฒนาจะนำมาซึ่ง “ตัวเลข” จีพีพีที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่ในขณะเดียวกัน การพัฒนาก็ได้พรากเอาหลายสิ่งไปจากชาวมาบตาพุดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม 20 ปีของการพัฒนา มีการทบทวนสิ่งที่ได้ดำเนินการมาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ได้ระบุโดยประหนึ่ง “ยอมรับ” ในทีว่า ผลจากการพัฒนาที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุล กล่าวคือ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มากเกินไป จนทำให้มีการใช้ทรัพยากรในการผลิตจนเกิดขีดความสามารถที่จะทดแทนได้ทัน และทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา

ดังนั้น นโยบายและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกในช่วงแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 หรือระหว่างปี 2545-2554 จึงมุ่งเน้นการพัฒนาฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมและบริการที่มีอยู่เดิมให้แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ ให้เกิดความ “สมดุล” กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากขึ้น

แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าเนื้อหาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 จะไม่สามารถฉุดรั้งการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดได้

จากรายงานฉบับสุดท้ายที่จัดทำในโครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินการจัดทำปรับปรุงผังเมืองรวม บริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุด ร่วมกับ บริษัท พิสุทธิ์ เทคโนโลยีจำกัด ได้เปิดเผยถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่วางผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง ซึ่งมีการสำรวจในปี 2549 และปี2552 โดยพบว่า

1.พื้นที่ที่อยู่อาศัย ในปี 2549 มีจำนวน 27,750 ไร่ ปี 2552 มีจำนวน 28,446 ไร่ เพิ่มขึ้น 696 ไร่

2.พาณิชยกรรมและศูนย์กลางเมือง ในปี 2549 มีจำนวน 1,794 ไร่ ปี 2552 มีจำนวน 2,214 ไร่ เพิ่มขึ้น 420 ไร่

3.พื้นที่อุตสาหกรรม ในปี 2549 มีจำนวน 24,438 ไร่ ปี 2552 มีจำนวน 25,135 ไร่ เพิ่มขึ้น 697 ไร่

4.พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ในปี 2549 มีจำนวน 70,488 ไร่ ในปี 2552 มีจำนวน 70,846 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 358 ไร่

3.ที่โล่งและนันทนาการ ในปี 2549 มีจำนวน 25,406 ไร่ ในปี 2552 มีจำนวน 21,607 ไร่ ลดลง 3,799 ไร่

4.พื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ในปี 2549 มีจำนวน 6,694 ไร่ ในปี 2552 มีจำนวน 6,838 เพิ่มขึ้น 144 ไร่

5.สถาบันราชการ การศึกษา และศาสนา ปี 2549 มีจำนวน 4,331 ไร่ ปี 2552 มีจำนวน 3,320 ไร่ ลดลง 1,011 ไร่

6.แหล่งน้ำปี 2549 มีจำนวน 975 ไร่ ในปี 2552 มีจำนวน 4,483 ไร่ เพิ่มขึ้น 3,508 ไร่

7.พื้นที่อื่นๆ ในปี 2549 มีจำนวน 2,009 ไร่ ในปี 2552 มีจำนวน 996 ไร่ ลดลง 1,013 ไร่

จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าในระยะเวลา 3 ปี(พ.ศ.2549-2552)การพัฒนาในพื้นที่มาบตาพุดมีการขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มของการใช้ประโยชน์ที่ดินในประเภทที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม และแหล่งน้ำ รวมไปถึงพื้นที่ชนบทและเกษตรบางส่วน โดยพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับการลดลงของพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ในด้านที่โล่งและนันทนาการ สถาบันราชการ การศึกษา ศาสนา และพื้นที่ประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้แม้ว่าพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมจะยังคงมีสัดส่วนในผังเมืองรวมที่มีการสำรวจในปี 2549 และปี 2552 มากที่สุด แต่ในรายงานได้ระบุว่า ในปัจจุบันมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรมไปเป็นการใช้ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย และอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเทศบาลต.เนินพระ เทศบาลต.ทับมา และด้านเหนือของเทศบาลมาบตาพุดด้วย

ป้ายคำ :