ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่2) : กระบวนการจัดการชุมชนชาวสะเอียบ “รักษาพื้นที่สีเขียว”

เขื่อนแก่งเสือเต้น (ตอนที่2) : กระบวนการจัดการชุมชนชาวสะเอียบ “รักษาพื้นที่สีเขียว”

16 ธันวาคม 2012


วิถีชีวิตชาวสะเอียบอาศัยอยู่ร่วมกับป่าผืนสุดท้ายของประเทศไทย ทรัพยากรสำคัญคือ “ไม้สักทอง” หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ป่าจะถูกทำลาย ดังนั้น การรักษาป่าจึงเป็นกลายเครื่องมือสุดท้ายที่ชาวบ้านใช้ต่อรองกับรัฐ

ที่ตำบลสะเอียบมีพื้นที่ป่าไม้รวมกว่า 2 แสนไร่ ทั้งป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และมีป่าสักทองรวมกว่า 3 หมื่นไร่ ซึ่งหากมีเขื่อนแล้วจะไม่ใช่ต้นไม้เท่านั้นที่หมดไป แต่ระบบนิเวศอื่นๆ จะถูกทำลายไปด้วย ทั้งสัตว์ป่า ของป่าที่เป็นอาหาร

นายวิชัย รักษากาล
นายวิชัย รักษากาล

นายวิชัย รักษากาล กรรมการหมู่บ้านดอนชัย ตำบลสะเอียบ กล่าวว่า สมัยที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ เคยมาดูป่าที่นี่และบอกให้ชาวบ้านช่วยกันรักษาไว้ เพราะเป็นป่าแหล่งสุดท้ายของไทย แต่เมื่อเกษียณแล้วมาเป็นรัฐมนตรีกลับจะสร้างเขื่อนนำน้ำมาท่วมป่าแทน

20 ปีที่ผ่านมามักมีข่าวออกไปว่า “สะเอียบไม่มีป่าแล้ว” นั่นเพราะครั้งหนึ่งพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ พานักข่าวการเมืองนั่งเฮลิคอปเตอร์บินดูพื้นที่ป่าในหน้าแล้ง ซึ่งเป็นช่วงป่าไม้ผลัดใบ จึงเห็นแต่ต้นไม้ใบร่วงหมด นักข่าวจึงเขียนว่าป่าหมดไม่มีแล้ว นอกจากนี้ก็เห็นไร่ข้าวโพดที่ชาวบ้านบุกรุกป่าเข้าไปด้วย

อีกสาเหตุหนึ่งคือ ผืนป่านี้เคยเป็นป่าสัมปทานมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกในปี 2480 บริษัทอีสต์ เอเชียติก มาเปิดรับสัมปทานป่าไม้ ทำให้ไม้ใหญ่ขนาด 3-4 คนโอบถูกตัดหมด สมัยนั้นสัตว์ป่ายังมีอยู่มาก ทั้งช้าง กระทิง กวาง เสือ ฯลฯ แต่เมื่อล้มไม้ใหญ่เกิดเสียงดัง สัตว์เหล่านี้ก็เตลิดหนีไปจนหมด

ต่อมาหลังปี 2500 ก็สัมปทานไม้อีกครั้งหนึ่งโดยบริษัทชาติไพบูรณ์ ซึ่งครั้งนี้ตัดไม้กันอุตลุด ไม้ที่โตยังไม่ได้ขนาดก็ตัด เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่มาดูแลป่านี้เลย ปล่อยให้คนเข้ามาขนไม้ออกไปหมด แต่ชาวบ้านที่นี่จริงๆ เป็นคนอนุรักษ์ป่า เสาบ้านต้นใหญ่ๆ ของชาวบ้านก็ซื้อมาจากที่สัมปทาน ตัดมาเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งตัด 1-2 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปี 2532 รัฐบาลจึงประกาศปิดป่า

ตอไม้ที่หลงเหลือจากการสัมปทานไม้ของบริษัท ชาติไพบูรณ์
ตอไม้ที่หลงเหลือจากการสัมปทานไม้ของบริษัท ชาติไพบูรณ์

กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า รักษาปอดของคนไทย

ในปี 2534 ชาวสะเอียบจึงตั้ง “กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า” ขึ้นเพื่อต่อสู้กับนายทุนทั้งหลายที่เข้ามาตัดไม้ เพื่อออกตรวจพื้นที่ป่าร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยาน ในบางครั้งก็เกิดการปะทะกับกลุ่มนายทุนเข้า อาวุธที่กลุ่มนายทุนใช้คือปืนเอ็ม 16 กำลังคนกว่า 100 คน ในขณะที่อาวุธชาวบ้านคือปืนลูกซอง 5 กำลังคน 30-40 คน

ปัจจุบันคนก็ยังไม่หยุดตัดไม้เพราะมีนายทุนหนุนหลัง ด้านเจ้าหน้าที่ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเพราะได้รับเงินใต้โต๊ะ วันนี้มีเอารถจักรยานยนต์ขนไม้แทนช้างแล้ว โดยตัดไม้เหลือยาว 2 เมตร ทยอยนำออกมา เป็นกองทัพมดที่เราจับได้บ้างไม่ได้บ้าง พวกตัดไม้ไม่หยุด เราก็ต่อสู้และจับกุมเรื่อยๆ

นอกจากนี้เราก็ตั้งกฎเกณฑ์ร่วมกันในชุมชนว่า

1. ห้ามค้าขายไม้และชักนำพ่อค้านายทุนเข้ามาหาประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในชุมชน

2. ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่าทำไร่เลื่อนลอย

3. ห้ามซื้อขายไม้ทุกชนิด รวมถึงไม้บ้านเรือนเก่า เพื่อตัดวงจรการค้าไม้สู่ภายนอก

ตามกฎหมายแล้ว ไม้สักที่ปลูกอายุ 5 ปี หรือไม้ประดู่ ไม้แดง อายุ 3 ปี เจ้าของสามารถขายหรือขนย้ายไปไหนก็ได้ แต่ชุมชนมองว่า หากใช้กฎหมายตามที่กรมป่าไม้กำหนด ป่าของชุมชนก็จะหมดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าแค่เอาไม้มาสร้างบ้านทั้งชีวิต คนเราสร้างบ้านไม่เกิน 2 หลัง สามารถอยู่ได้จนแก่ตาย แต่ถ้าคิดขาย ไม้มีเท่าไหร่มันก็หมด ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นนั้นชาวบ้านนำมาปฏิบัติจริง ใครจะรื้อบ้าน ย้ายบ้าน ไม่ได้เด็ดขาด

อีกทั้งครู ตำรวจ และข้าราชการอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาทำงานที่สะเอียบ 2-3 ปี ที่ปลูกบ้านอยู่พื้นที่ เมื่อจะย้ายออกไปทำงานที่อื่นก็ห้ามรื้อบ้านย้ายออกไปนอกพื้นที่ด้วย แม้ว่าจะมีลายเซ็นอนุญาตจากผู้ว่าฯ ก็ตาม

เพราะกฎทุกกฎของหมู่บ้านเป็นกฎเหล็กที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องปฏิบัติตาม

“กฎเรื่องป่าไม้ของเราแข็งมาก และเราจะทำไปเรื่อยๆ จนกว่าเรื่องเขื่อนจะคลี่คลาย เพราะเรามีป่าไม้เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยให้ไม่มีการสร้างเขื่อน ป่านี่ไม่ใช่แค่ของเราชาวสะเอียบ แต่เป็นปอดของคนไทยทั้งประเทศ เป็นป่าแหล่งสุดท้ายของไทย”

โฉนดชุมชน ป้องกันชาวบ้านบุกรุกป่า

พื้นที่ป่าที่ชาวบ้านบุกรุกอยู่ติดที่ดินทำกินเดิมฝั่งหมู่บ้าน ไม่ได้อยู่ในเขตป่าสมบูรณ์ เดิมทีชาวบ้านมีที่ดินคนละ 2-3 ไร่ ต่อมาเมื่อแต่ละบ้านมีคนมากขึ้นก็ต้องการขยายพื้นที่ทำกินออกไปโดยการแผ้วถางป่า สมัยนั้นชุมชนยังไม่มีกฎเข้มงวดเรื่องการบุกรุกป่าเท่าไรนัก พอชาวบ้านมาขอขยายเพิ่มที่ทำกินผู้นำก็ให้ ยังไม่มีการดูแลหรือควบคุมพื้นที่ทำกิน

อีกปัญหาหนึ่งคือ ชาวสะเอียบอยู่อาศัยและทำมาหากินบนที่ดินนี้มากว่า 200 ปี ในขณะที่ข้อมูลของกรมป่าไม้นั้นดิ้นตลอดในปี 2516 รอบๆ หมู่บ้านกลายเป็นเขตป่าสงวน ที่ทำกินก็กลายเป็นป่าสงวนไปด้วย ในปี 2519 รัฐก็ออก นส.3ก. ให้บางพื้นที่ที่ทำกินก่อนปี 2515 และพอปี 2529 รัฐบาลก็ประกาศพื้นที่นี้เป็นเขตอุทยานทับทั้งบ้านและที่ทำกินของชาวบ้านทั้งหมด ไม่มีการกันออก หากกรมป่าไม้อยากจะจับใครก็จับได้ แม้ว่าเรื่องจะเกิดที่ใต้ถุนบ้าน แต่เมื่อบวกกับกฎหมายอุทยานเรื่องบุกรุกป่าแล้วคดีความก็จะยิ่งหนักขึ้น

แรงจูงใจที่ทำให้ชาวบ้านบุกรุป่าคือ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเดิมที่เคยปลูกข้าวไร่ ถั่วลิสง ก็หันมาปลูกข้าวโพดกันมากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากเดิมที่เคยปลูกกัน 2-3 ไร่ ก็ปลูกกันเป็น 10 ไร่ เมื่อข้าวโพดราคาแพง รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูกและประกันราคาให้ ชาวบ้านจึงเปลี่ยนอาชีพมาปลูกข้าวโพดกันมากขึ้น ประมาณร้อยละ 90 ของครัวเรือนชาวสะเอียบปลูกข้าวโพดเป็นหลัก

ดังนั้น ผู้นำจึงพยายามยุติปัญหาต่างๆ ด้วยการทำโฉนดชุมชน เพราะหากปล่อยให้ชาวบ้านบุกรุกไปเรื่อยๆ ป่าก็หมด แล้วปัญหาระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็จะยิ่งหนักมากขึ้น

การประชุมครั้งนี้มีทั้งผู้นำชุมชน กำนัน นายก อบต. ผู้ว่าฯ นายอำเภอ มาหารือร่วมกันว่าจะกันแนวเขตพื้นที่เป็นโฉนดชุมชนตามที่ดินทำกินจริงในปัจจุบัน ไม่ให้ชาวบ้านรุกป่าเพิ่มได้อีก แต่ฝ่ายราชการก็ไม่เอาด้วยเพราะผิดกฎหมาย ต้องไปขอมติคณะรัฐมนตรีก่อน นายชุม สะเอียบคง ก็ใช้อำนาจการเป็นประธานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน ออกคำสั่งคณะทำงานออกสำรวจแนวเขตจนเสร็จเป็นโฉนดชุมชน เป็นทำโฉนดกันเองของชาวบ้าน

ชาวบ้าน, อบต., อุทยาน และคณะกรรมการทั้ง 4 ชุมชน เดินสำรวจพื้นที่นานถึง 4 ปี กว่าโฉนดชุมชนจะเสร็จ พร้อมทั้งปักหมุดเขตพื้นที่จีพีเอส เพื่อป้องกันการซื้อขายที่ดินให้นายทุน และสร้างการรับรู้เรื่องการขาดที่ดินทำกินของคนชุมชน

ที่ทำกินของชาวบ้านในปัจจุบันล้วนอยู่ในเขตอุทยาน แต่ว่าป่ากับที่ทำกินจะต้องไม่รุกล้ำกันอีก

ดังนั้น เจ้าของที่ดินทุกคนจะต้องเซ็นรับทราบว่าพื้นที่ของตนอยู่หลักหมุดจีพีเอสที่เท่าไหร่ อยู่แค่ไหน ตรงไหน ซึ่งในเอกสารจะมีข้อความระบุว่า ข้าพเจ้าจะไม่บุกรุกต่อไปอีก หยุดแค่นี้ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด ถูกยึดที่ดินคืนทั้งหมด และถูกหมู่บ้านปรับ 5000 บาท

ชาวบ้านที่นี่ถือครองที่ดินมากสุดก็ไม่เกิน 20 ไร่ต่อแปลง รวมแล้วต่อคนมีไม่เกิน 30 ไร่ ถือครองน้อยสุดคือ 3-4 ไร่ ส่วนคนที่ไม่มีที่ดินเลยก็ไปทำอาชีพอื่น

เมื่อปักหมุดครบแล้ว ชุมชนก็ทำแผนที่ที่ดินด้วย ซึ่งในอนาคตหากรัฐบาลมีคำสั่งให้คนอยู่กับป่าได้ ชาวบ้านก็สามารถยื่นแผนที่นี้รวมถึงข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ซึ่งพร้อมเสนอขอกันพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินออกจากเขตอุทยานได้ทันที

การทำโฉนดนี้ สร้างการรับรู้ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ว่าเราจะไม่บุกรุกป่าแล้วในระดับปฏิบัติการเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเชิงนโยบายของกรม เพราะผิดก็คือผิด แต่คนที่ทำงานอยู่กับชาวบ้านจะรับรู้ข้อตกลงนี้ และรู้ว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุกหากทำกินตามที่ดินในโฉนด ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่จะจับใคร ต้องมาถามชาวบ้านก่อนว่าตรงที่บุกรุกนั้นเกินจากโฉนดหรือไม่

ประโยชน์ของหลักหมุดจีพีเอสคือ สามารถตรวจสอบผ่านดาวเทียมได้ทันทีว่าพื้นที่บริเวณหลักหมุดไหนบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่ม ก็มาแจ้งกับผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนก็จะดูในแผนที่ว่าที่หลักหมุดนี้เป็นที่ดินของใคร แล้วจับส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

พืชทางเลือกและโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว

หลังจากทำโฉนดชุมชนป้องกันการบุกรุกป่าแล้ว ผู้นำก็ส่งเสริมการปลูกพืชอื่นๆ เป็นทางเลือกใหม่ให้ชาวบ้านปลูกแทนข้าวโพดด้วย เช่น มะขาม ลำไย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวของสะเอียบ ซึ่งทำมา 3 ปีแล้ว เป็นอีกโครงการหนึ่งเพื่อช่วยลดการปลูกข้าวโพดและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ โดย ทุกๆ ปี อบต. จะให้กล้าสักทองแก่ชาวบ้านคนละ 2 ไร่ รวม 4 หมู่บ้านก็ปีละ 200 ไร่ ปลูกไว้ในพื้นที่ทำกินของตนเอง ดังนั้น บ้านไหนที่เคยปลูกข้าวโพด 10 ไร่ ก็จะปลูกข้าวโพดได้ 8 ไร่

แต่เดิมสักเป็นไม้หวงห้าม ไม่ว่าใครจะปลูกก็ถือว่าเป็นของรัฐทั้งหมด แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้วมีระเบียบใหม่ว่าสามารถปลูกได้แต่ต้องลงทะเบียน ชาวบ้านจึงก็อ้างระเบียบนี้มาปลูก ทำให้เจ้าของที่ลงทะเบียนสามารถใช้ประโยชน์จากสวนสักของตนได้

ชุมชนกับป่า

ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้ เงิน 100 บาท อยู่ได้ถึง 5 วัน เพราะหาอาหารกินได้จากป่า เช่น ผัก ปลา หน่อไม้ ไม่ต้องซื้อ แต่ถ้าไม่มีป่า ไม่มีอาหาร มีเงินเท่าไหร่ก็หมด

ขนาดของสักทองเปรียบเทียบกับเด็กอายุ 7 ปี
ขนาดของสักทองเปรียบเทียบกับเด็กอายุ 7 ปี

ด้านมูลค่าป่าสักทอง เมื่อ 20 ปีก่อนมีปริมาตรไม้ 2.8 แสน ลบ.ม. มีมูลค่า 4 พันล้านบาท ในวันนี้มูลค่าไม้ก็เพิ่มขึ้น 5-6 เท่าแล้ว อีกทั้งไม้โตขึ้น มีปริมาตรมากขึ้น ไม้สักต้นเล็กๆ เมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้ยังมีมูลค่าเพราะมันโตขึ้น ฉะนั้น มูลค่าไม้สักจึงเพิ่มสูงประมาณ 10,000 ล้านบาทในปัจจุบัน แต่กรมชลประทานกลับไปคิดใหม่ว่ามูลค่าไม้สักที่ได้นั้นคือรายรับของการสร้างเขื่อน จึงเกิดความคุ้มทุนขึ้นมา

อีกทั้งชุมชนก็มีคนหนาแน่นมากขึ้น ชาวบ้านมีรายได้มากขึ้น เฉพาะโรงกลั่นสุราของชาวสะเอียบที่มีอยู่รวม 36 แห่ง เสียภาษีให้รัฐปีละ 200-300 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น ถ้าจะสร้างเขื่อนให้ได้ ค่าชดเชยของชาวบ้าน มูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งหมด รัฐต้องมาคิดคำนวณใหม่ ใช้ราคาเดิมเมื่อ 20 ปีที่แล้วไม่ได้ ทุกวันนี้รัฐจะจ่ายค่าชดใช้ให้ครัวเรือนละ 2 ล้านชาวบ้านก็ไม่เอา

สุดท้ายคือ “การบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ” เป็นพิธีสงฆ์ที่ชาวบ้านทำประจำทุกๆ ปี ในช่วงหน้าฝนเพื่อสร้างสำนึกรู้ของชาวบ้าน โดยเอาธรรมะเข้ามาสร้างจิตสำนึกรู้ว่าป่าเป็นสิ่งคู่บ้านคู่เมือง นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในป่า ผูกผ้าเหลืองที่ต้นไม้สักทอง และอธิษฐานให้ต้นไม้อยู่คู่ป่าต่อไป ได้เจริญเติบโต อย่าให้ใครมาตัด โดยเชิญสื่อมวลชน รวมถึงผู้ใหญ่ของจังหวัดแพร่ มาเป็นสักขีพยานในพิธีด้วย