ThaiPublica > เกาะกระแส > พาณิชย์เร่งเปิดโต๊ะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ต้นปี ’56 หวั่น “ผูกขาดยา”

พาณิชย์เร่งเปิดโต๊ะเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ต้นปี ’56 หวั่น “ผูกขาดยา”

11 ธันวาคม 2012


มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2555 ถือเป็นการคิกออฟการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อลดกำแพงภาษีสินค้านำเข้าและส่งออกมูลค่านับแสนล้านบาท ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาสังคมที่ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ลักไก่เสนอ ครม. ทั้งที่ยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

กระทรวงพาณิชย์ได้ให้เหตุผลกับ ครม. ถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการว่า จะสร้างโอกาสแก่ไทยในการเป็นศูนย์กลางของอียูด้านการค้าและลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมสำคัญ คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และภาคบริการ รวมทั้งแก้ไขปัญหาการถูกตัดสิทธิทางภาษีศุลกากรหรือจีเอสพีในปี 2558

ขณะที่กรอบการเจรจาครอบคลุม 17 ประเด็น ได้แก่ 1. ด้านการค้าสินค้า 2. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า 4. มาตรการเยียวยาทางการค้า 5. มาตรการปกป้องด้านดุลการชำระเงิน 6. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช 7. อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า 8. การค้าบริการ

9. การลงทุน 10. การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ 11. ทรัพย์สินทางปัญญา 12. การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 13. ความโปร่งใส 14. การแข่งขัน 15. การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 16. ความร่วมมือ และ 17. เรื่องอื่นๆ

ประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากคือ การที่อียู “พ่วง” ข้อเสนอบีบประเทศไทยให้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในกลุ่มอุตสาหกรรมยารักษาโรค มากกว่าข้อตกลงคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (TRIPS Plus) หรือทริปส์ผนวก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการผูกขาดการจำหน่ายยาและการเข้าถึงยาของคนไทย

ล่าสุด นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการ คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (คจคส.) ได้ทำหนังสือถึงนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อนำเสนอเอกสารทางเลือกเชิงนโยบาย หากรัฐบาลต้องการเดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการผูกขาดยาเชิงพาณิชย์

โดยผลการศึกษาจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ยาที่ประเทศไทยผลิตใช้ได้เองคิดเป็นสัดส่วนเพียง 35% เท่านั้น ที่เหลือเป็นยานำเข้ามูลค่ามหาศาล ถ้าไทยยอมเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรยาจากอียู ก็จะส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายรักษาโรคของคนไทย และเพิ่มต้นทุนของสถานพยาบาลทุกประเภท รวมถึงค่าใช้จ่ายของกองทุนที่ดูแลด้านสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

การศึกษาพบว่า หากเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเชิงพาณิชย์ให้กับอียู 1 ปี มูลค่าผลกระทบต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงสุดอยู่ที่ 2,834.7 ล้านบาท, ถ้าผูกขาดเพิ่มขึ้น 2 ปี มูลค่า 6,552.5 ล้านบาท และหากยืดอายุสิทธิบัตรให้อียูถึง 10 ปี มูลค่าผลกระทบจากการผูกขาดจะมากกว่า 232,702.2 ล้านบาท

ในส่วนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาประโยชน์ของข้อตกลงเอฟทีเอไทย-อียูในช่วงปี 2554อ้างว่า ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในทุกประเด็น โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ทำให้จีดีพีประเทศเพิ่มขึ้น 3.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เนื่องจากเอฟทีเอทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางการค้ามากขึ้น และจะเห็นประโยชน์เป็นรูปธรรมภายในระยะเวลา 5 ปี

ล่าสุด นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เป็นประธานการประชุมข้อคิดเห็นต่อการเปิดเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-อียู ในประเด็นการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (Data Exclusivity) และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร (Patent Term Extension) ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้แทนหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ ภาครัฐ ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ส่วนภาคเอกชน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์(PReMA) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน(TPMA) เครือข่ายภาคประชาชน และนักวิชาการ

“เอฟทีเอ ไทย-อียู มีประเด็นข้อวิพากษ์จากสังคมมาก โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพในประเด็นการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา และการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร ดังนั้น เราจะมีวิธีเตรียมพร้อมอย่างไรเพื่อให้เกิดผล กระทบด้านลบน้อยที่สุด โดยหวังว่าจะได้ทางออกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน และได้ข้อคิดเห็นสำคัญให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา” นพ.ประดิษฐ์กล่าว

ในที่ประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน โดยนายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สนับสนุนการทำ เอฟทีเอ ไทย-อียู โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม หากประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพีจากอียูตั้งแต่ปี 2558 การส่งออกไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมาก

นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่มาภาพ : http://image.mcot.net
นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ที่มาภาพ : http://image.mcot.net

สอดคล้องกับที่นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักบูรณาการเศรษฐกิจการค้า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำเสนอว่า ปัจจุบันสหภาพยุโรปเริ่มทำเอฟทีเอแบบทวิภาคีกับประเทศในอาเซียนแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์และเวียดนาม ล่าสุดทางมาเลเซียเพิ่งประกาศว่าจะเปิดเจรจา คาดว่าต่อไปอียูจะเดินหน้าทำเอฟทีเอในกรอบอาเซียนด้วยแน่นอน ดังนั้น หากไทยไม่เริ่มเจรจากับอียู เมื่อถึงเวลาทำเอฟทีเอ อียู-อาเซียน แล้ว เราก็จะต้องรับเงื่อนไขมาโดยปริยาย

นายพิทักษ์กล่าวว่า รัฐบาลจะสามารถเริ่มเจรจากับอียูได้ประมาณช่วงต้นปี 2556 และจะใช้เวลาในการเจรจาประมาณปีครึ่งกว่าจะได้ข้อสรุป และจะมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติในเดือนมกราคม 2558

ขณะที่นักวิชาการและเครือข่ายภาคประชาชนได้แสดงความห่วงกังวลต่อข้อเรียกร้องจากอียู ในเรื่องการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาและการขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างมาก

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนในนามกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนและเครือข่าย กล่าวว่า ทางกลุ่มไม่ได้คัดค้านการเจรจาเอฟทีเอกับอียู แต่ต้องการเห็นการเจรจาการค้าที่ประเทศได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบถึงประชาชนและสังคมอย่างรุนแรง ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศทำตามมติ ครม. คือให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดรวมทั้งความเห็นจากประชาชนรายงานไปยัง ครม. ก่อนการยกร่างกรอบการเจรจา ไม่ควรลัดขั้นตอนโดยให้ ครม. พิจารณาร่างกรอบฯ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการรายงานผลการรับฟังความเห็น

รวมทั้งยังได้ให้ข้อมูลเปรียบเทียบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรคของคนในประเทศที่สูงขึ้น จะมากกว่าตัวเลขผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิจีเอสพีและไม่ทำเอฟทีเอกับอียู

“จากการศึกษาของนักวิชาการที่ อย. กรมทรัพย์สินทางปัญญา และกรมเจรจาฯ ให้การสนับสนุน และได้รับการตีพิมพ์ใน The Southeast Journal of Tropical Medicine and Public Health คาดการณ์ไว้ว่าค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท หากเรายอมรับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี และปล่อยให้ขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเพิ่มขึ้นอีก 5 ปี “น.ส.กรรณิการ์กล่าว

นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ อาทิ WHO, UNDP, UNAIDS และ UNCTAD ได้แนะนำให้ประเทศกำลังพัฒนาเลี่ยงการยอมรับข้อตกลงที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะเรื่องการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา หรือแม้แต่สภายุโรปเองก็มีมติห้ามมิให้คณะกรรมาธิการยุโรปบีบบังคับประเทศกำลังพัฒนาให้ยอมรับข้อตกลงที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อปัญหาด้านการสาธารณสุข

รศ.ดร.นุศราภรณ์ เกษสมบูรณ์ นักวิชาการในคณะทำงานร่วม สช.-อย. ในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ในนามผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ขณะนี้ สช. และ อย. กำลังเร่งประเมินผลกระทบทางสุขภาพต่อการเข้าถึงยา กรณีเอฟทีเอ ไทย-อียู อยู่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเริ่มการประเมินผลกระทบ โดยได้ให้นักวิจัยจากแผนงานการพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศกับสุขภาพ สำนักงานนโยบายสุขภาพระหว่างประเทศกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ศึกษา คาดว่าจะเสร็จในเดือนมิถุนายนปีหน้า

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ ยืนยันและคงสถานะของการปฏิบัติตามข้อตกลงทริปส์ในกรณีของยารักษาโรค ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศสมาชิก WTO ยอมรับ เพราะหากขยายสิทธิผูกขาดเชิงพาณิชย์ในยารักษาโรค จะทำให้คนไทยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่สามารถครอบคลุมการให้ยาดังกล่าวในชุดสิทธิประโยชน์ แต่หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาดังกล่าวได้ ก็ควรดำเนินการทางกฎหมายภายในประเทศให้แล้วเสร็จ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก่อนการเจรจา

พร้อมกันนั้น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ตามรายได้ที่สูงขึ้นจากความตกลงทางการค้า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย และการกำหนดให้มีมาตรการควบคุมยาในประเทศอย่างจริงจัง

ส่วนข้อเสนอที่อียูต้องการให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการขอสิทธิบัตร ในงานวิจัยเห็นว่า ควรชดเชยเวลาจากความล่าช้าต่างๆ เป็นกรณีๆ ไป เมื่อพิสูจน์ได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากหน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการจริง และควรกำหนดให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากคู่เจรจาอย่างเป็นรูปธรรม ตามความต้องการของประเทศไทย รวมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยด้วย

ทริปส์ผนวก

ร่างข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อการค้าเสรีระหว่างประเทศ: กรณีทริปส์ผนวก โดยแผนงานพัฒนาศักยภาพด้านการค้าระหว่างประเทศ (ITH) ของสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP)

ตามที่ประเทศไทยมีนโยบายการเจรจาการค้าเสรีระหว่างประเทศแบบทวิภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งการเจรจาการค้าเสรี โดยเฉพาะกับประเทศพัฒนาแล้ว มีหัวข้อการเจรจาที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยาด้วยเสมอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาให้เหนือกว่าความตกลงทริปส์ หรือเรียกว่าทริปส์ผนวก แต่เนื่องจากความสำคัญของยารักษาโรคซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต จัดเป็นความจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ และยาเป็นสินค้าคุณธรรมซึ่งแตกต่างจากสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ดังนั้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการเจรจาในประเด็นยาที่ดีที่สุด จึงมีข้อเสนอต่อการเจรจาการค้าเสรีดังนี้

1. ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยขณะนี้ คือ การยืนยันและคงสถานะการปฏิบัติตามกรอบความตกลงทริปส์ในทุกเงื่อนไขสำหรับกรณีของยา ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทุกประเทศสมาชิกองค์การค้าโลกยอมรับ เนื่องจากประเทศไทยยังมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้น้อย ระดับความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นยังอยู่ในระดับปลายน้ำ ข้อมูลการประดิษฐ์คิดค้นแสดงให้เห็นว่า แม้ทริปส์จะให้สิทธิผูกขาดเชิงพาณิชย์ แต่การประดิษฐ์คิดค้นและผลผลิตจากการคิดค้นตามวัตถุประสงค์ของทริปส์ก็ไม่มากขึ้น และการขยายสิทธิการผูกขาดทางการพาณิชย์ในยา จะทำให้ประชาชนไทยเข้าถึงยาได้ยากขึ้น ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่สามารถครอบคลุมการให้ยาดังกล่าวในชุดสิทธิประโยชน์ เพราะยามีราคาแพง

2. ทางเลือกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาประเด็นสิทธิบัตรและการผูกขาดเชิงพาณิชย์ได้ มีข้อเสนอดังต่อไปนี้

2.1 การดำเนินการสำหรับมาตรการเยียวยาในประเทศให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับผลกระทบก่อนการเจรจาจะแล้วเสร็จ

ข้อเสนอการเจรจานั้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการดำเนินการทางกฎหมายสำหรับมาตรการเยียวยาชดเชย ดังนี้

2.1.1รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณให้กับ

1) ระบบบริการสุขภาพหรือระบบประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากความตกลงทางการค้า เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาและเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย

2) ให้อุตสาหกรรมผู้ผลิตยาของคนไทยเพื่อพัฒนาความสามารถและคุณภาพมาตรฐานการผลิตในระดับนานาชาติ ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ เพื่อผลิตยาสำหรับความต้องการในประเทศและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

2.1.2 กำหนดให้มีมาตรการควบคุมราคายาในประเทศอย่างจริงจัง

2.1.3 สร้างความเข้มแข็งและเข้มงวดจริงจังในมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับยา เช่น การประเมินความคุ้มค่าของยา ด้วยหลักการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล เป็นต้น

2.2 การเจรจาว่าด้วยระบบสิทธิบัตรและการผูกขาดทางการพาณิชย์

2.2.1 ประเด็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายระยะเวลาของการผูกขาดทางการพาณิชย์ (เช่น การขอขยายระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตร (patent term extension), การให้สิทธิเด็ดขาดสำหรับข้อมูลผลการทดสอบเกี่ยวกับยา (data exclusivity), การเชื่อมโยงระหว่างการขออนุญาตจำหน่ายยาและสิทธิบัตร (linkage between drug registration and patents), การเพิ่มระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการสิทธิบัตร (patent term compensation for granting delay),การเพิ่มระยะเวลาความคุ้มครองสิทธิบัตรเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการขออนุญาตจำหน่ายยา (patent term compensation for the delay of marketing approval) เป็นต้น

ข้อเสนอ การเจรจาจะต้อง

1. ทำให้การขยายระยะเวลาเหล่านั้นสั้นที่สุด เนื่องจากระยะเวลาการขยายยิ่งนานเท่าใดจะยิ่งเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยาและสุขภาพ และการจำกัดการพัฒนาความสามารถของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศมากขึ้นเท่านั้น

2. การชดเชยเวลาที่เกิดจากความล่าช้าต่างๆ ควรอนุญาตเป็นกรณีๆ ไป เมื่อพิสูจน์ได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากหน่วยงานผู้ดำเนินการ

2.2.2 ประเด็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มข้อจำกัดการใช้ความยืดหยุ่นของทริปส์ [เช่น การจำกัดการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing restriction), การยกเลิกมาตรการนำเข้าซ้อน (parallel import limitation), และการจำกัดเงื่อนไขการเพิกถอนสิทธิบัตร (prohibition of the revocation of patent) เป็นต้น]

ข้อเสนอ ไม่ลดทอนการใช้มาตรการเหล่านี้ เนื่องจากเป็นมาตรการในการสร้างสมดุลระหว่างการให้สิทธิกับบุคคลเชิงพาณิชย์และสิทธิของส่วนรวม เป็นมาตรการสำคัญเพื่อใช้ในการปกป้องสังคมส่วนรวม ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการให้สิทธิผูกขาดในเชิงพาณิชย์ที่มากเกินไปโดยสิทธิ์นั้นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ

2.2.3 ประเด็นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการขยายขอบเขตของการประดิษฐ์คิดค้นที่สามารถขอสิทธิบัตรได้ [เช่น การให้สิทธิบัตรในสัตว์และพืช หรือข้อบ่งชี้ใหม่ การรักษา การวินิจฉัย (patentability of animals and plants,new use,diagnostic) เป็นต้น]

ข้อเสนอ เนื่องจากผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจะคล้ายคลึงกับการขยายระยะเวลาการผูกขาดในข้อ 2.1 ในด้านค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากจะมีสิทธิบัตรมากขึ้น ดังนั้น ควรจำกัดขอบเขตให้น้อยที่สุด หรืออนุญาตให้ขยายขอบเขตในกรณีเดียวกันกับที่ประเทศไทยให้คู่เจรจาอื่นไปก่อนหน้า เช่น การจดสิทธิบัตรในจุลินทรีย์ในความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น เป็นต้น

2.2.4 ประเด็นการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตรในทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากขึ้น (Ip enforcement and boarder measure) ซึ่งต้องการให้เพิ่มกระบวนการทางอาญา และมาตรการทางการบริหาร/ปกครอง รวมถึงมาตรการเยียวยาต่อผู้ทรงสิทธิ

ข้อเสนอ ต้องมุ่งเน้นหลักการสร้างความเป็นธรรมของทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา แยกแยะเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรและยาปลอมในความหมายทางการค้า ออกจากยาสามัญและยาปลอมในความหมายทางสาธารณสุข การใช้ดุลยพินิจในการกักกันสินค้าของเจ้าหน้าที่อย่างสมเหตุผล และไม่เกินเลยไปยังกรณีการผ่านแดนเพื่อการส่งต่อของยาสามัญด้วยกฎหมายสิทธิบัตรในประเทศของตน และการดำเนินการเหล่านี้ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการสุขภาพและผู้ป่วย

2.3 การเจรจาประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องควบคู่การเจรจาข้อ 2.2

2.3.1 กำหนดให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรมผ่านระบบสิทธิบัตร โดยให้เป็นมาตรการหนึ่งในบทความร่วมมือระหว่างประเทศและคู่เจรจา ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ ให้เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดกระบวนการวิจัยและพัฒนายาและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตามความต้องการของประเทศไทย

2.3.2 กำหนดให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพจากการใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติของประเทศไทยอย่างเป็นธรรม (fair benefit sharing)โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะของทรัพยากรธรรมชาติของไทย ผลผลิตสำหรับการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ของชาวไทย รวมถึงการกำหนดให้มีมาตรการติดตามและควบคุมการเข้าถึงความหลากหลายทางชีวภาพของคู่เจรจา และการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น