ThaiPublica > เกาะกระแส > “อานันท์ – อัมมาร” วิพากษ์คอร์รัปชันยุคบูรณาการแบบ “กินเมือง” รุนแรงถึงขั้นชาติหายนะ

“อานันท์ – อัมมาร” วิพากษ์คอร์รัปชันยุคบูรณาการแบบ “กินเมือง” รุนแรงถึงขั้นชาติหายนะ

14 ธันวาคม 2012


“อัมมาร สยามวาลา” ชี้คนไทยขาด “พลังแค้น” หยุดคอร์รัปชัน เสนอสร้างจิตสำนึก “เงินของรัฐบาลเป็นเงินของเรา” ขณะที่ “อานันท์ ปันยารชุน” เปิดใจอายุ 80 ปี แล้วและเป็นครั้งแรกที่ห่วงปัญหาคอร์รัปชันมากที่สุด ชี้ระดับความรุนแรงถึงขั้นบูรณาการเข้าสู่ยุค “กินเมือง” และนโยบายปัจจุบันจะนำความหายนะมาสู่ประเทศชาติ

ในวันที่ 13 ธันวาคม 2555 องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย และศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จัดงาน “โปร่งใสยามบ่าย: คนไทยไม่โกง” โดยส่วนหนึ่งของงานนี้คือ การประกาศผลรางวัลการประกวดข่าวทุจริตเชิงสืบสวนประจำปี 2555 และที่สำคัญคือ การแสดงความคิดเห็นของ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการกิตติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในหัวข้อ “ใส่ใจภาษีของเรา: ทางเลือกในการหยุดคอร์รัปชัน” กับข้อคิดจาก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย

“อัมมาร” ชี้คนไทยขาด “พลังแค้น” หยุดคอร์รัปชัน

ในงานนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการกิตติคุณ ทีดีอาร์ไอ ใช้เป็นที่ระบายความคับแค้นในใจ (ก่อนหน้านี้ได้ระบายความคับแค้นใจในเวทีสัมมนาวิชาการประจำปี 2555 ของธนาคารแห่งประเทศไทย)

“เรื่องที่ผมพูดเป็นเรื่องที่อยากจะระบายความคับแค้นใจอะไรบางอย่าง” ดร.อัมมารกล่าวพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า คนไทยมีความรู้สึก “ก่ำกึ่งมากกับปัญหาคอร์รัปชัน”

โดยตัวเลขการสำรวจความนึกคิดของประชาชนต่อการทุจริตคอร์รัปชันที่แสดง มักเป็นใน “อุดมการณ์” ของเรา คือ คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ทุกคนยอมรับและเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นว่าไม่ดี นักการเมือง ผู้แทนราษฎร ทุกคนก็รู้กันหมดว่าใครเป็นใคร ใครทำอะไร รู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้นมากเมื่อมีปัญหาคอร์รัปชันขึ้นมา ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คอร์รัปชันก็เป็นประเด็นเบอร์หนึ่ง มีความรู้สึกนั้นกันตลอด

“แต่ในประเทศไทยคอร์รัปชันมันเกลื่อน เกลื่อนจริงๆ เวลาออกมาเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ก็เป็นข่าวแล้วหายไป สิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยเหมือนอย่างอินเดียซึ่งมีปัญหาเหมืนกับเราคือ อย่างน้อยในอินเดียตอนนี้เขาแค้น แต่เราไม่เคยถึงจุดที่มีความแค้นต่อคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวและตั้งคำถามว่า

ทำไมคนไทยไม่แค้น?

ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร. อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

ในฐานะของนักวิจัยและนักวิชาการ ดร.อัมมารบอกว่า อยากตั้งคำถามและฝากคำถามว่าทำไมคนไทยคนไทยถึงไม่แค้น เพราะแค่ไม่พอใจสมัยนี้ไม่พอแล้ว ต้องแค้นแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง เหมือนอย่างที่หลายประเทศกำลังเกิดขึ้นเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ทนไม่ได้

“ความอดทนของเราสูงหรืออย่างไร ความดื้อด้านต่อปัญหาเหล่านี้ของเราสูงหรืออย่างไร” ดร.อัมมารตั้งคำถามและบอกว่า เมื่อไรที่สังคมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแค้น ก็ผูกกับอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่า “เราไม่มีความรู้สึกเพียงพอกันทั้งสังคม” ไม่ได้บอกว่าคนไทยมีความรู้สึกอย่างนั้นโดยทั่วไปอยู่ในยีน (gene) หรืออยู่ในจิตสำนึกของคนไทยทุกคน คนไทยก็มีความหลากหลาย แต่ไม่มีแรงมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

สร้างจิตสำนึก “เงินของรัฐบาลเป็นเงินของเรา”

ดร.อัมมารกล่าวว่า ประเทศอื่นๆ เขาไม่รู้สึกเพียงแต่คอร์รัปชัน แต่เขาจะมองว่า เขาเป็นเจ้าของเงินและทรัพย์สมบัติสาธารณะ และหน่วยงานที่มีเงินและทรัพย์สมบัติสาธารณะมากที่สุดก็คือรัฐบาล เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของเขาต่อภาษีอากร การจ่ายหรือไม่จ่ายภาษีอากร การใช้เงินภาษีอากร เป็น “ความรู้สึก” ที่มีความหวงแหนพอสมควร

“สหรัฐที่ทะเลาะอยู่นี้ก็เป็นเรื่องการใช้ภาษีอากร การขึ้นภาษี การใช้ภาษี คือว่า ประชาชนเขามีความเป็นห่วงใยในกระบวนการได้มาซึ่งเงินและการใช้เงินของรัฐบาล”

ทำไมเขารู้สึก แล้วเราไม่รู้สึก?

นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ บอกว่า คำตอบง่ายๆ อันหนึ่งคือ ในอเมริกา ภาษีเขาต้องเสียรวมกันแล้ว ประมาณ 30-40% ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ถ้าเป็นยุโรปอาจสูงถึง 60-70% ต่อจีดีพี นี่คือสาเหตุหนึ่ง แต่ไม่ได้มีคำแนะนำว่าประเทศไทยต้องเก็บภาษีให้ได้ 30-40% ของจีดีพี สำหรับประเทศไทยเวลานี้เก็บภาษีรวมต่อจีดีพีได้ประมาณ 16-18%

แต่ปัญหาของเราขณะนี้คือว่า รัฐบาลมีการใช้เงินโดยไม่ขึ้นภาษี ซึ่งคนไม่รู้สึกว่าวันหนึ่งมันจะกลับมา “หลอกหลอน” เรา

ดร.อัมมารฝากให้ไปคิดว่า ทำไมเราไม่นึกถึงว่า “เงินของรัฐบาลเป็นเงินของเรา” จะเห็นว่าโครงการประชานิยมสร้างความพึงพอใจให้กับคนที่ได้เยอะมาก ไม่ว่าจะแพง จะถูกอย่างไร ทุกคนแฮปปี้หมด การมีประชานิยมเป็นวิธีหาเสียงที่ดีที่สุด และวิธีการที่รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้ทำจนประสบความสำเร็จสมบูรณ์ที่สุดก็คือ เลือกคนเป็นกลุ่มๆ และให้เงินเป็นกลุ่มๆ

“ถ้ามองโครงการทั้งหมดจะเห็นว่าครอบคลุมทุกฝ่าย โฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลก็บอกว่าให้กับคนฐานราก ให้กับคนยากจน อะไรต่างๆ อย่าไปเชื่อ จะเห็นว่าทุกฝ่ายได้ ที่เห็นได้ชัดคือโครงการจำนำข้าว” ดร.อัมมารกล่าว

อีกโครงการหนึ่งคือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ดร.อัมมารตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้ไม่เป็นข่าว เพราะพอผู้ประกอบการหรือนายจ้างแฮปปี้เขาก็เงียบๆ ไว้ แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เรื่องนี้ทีแรกตั้งไว้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการเพื่อจะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ คือ รัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลให้ แต่ภาระที่ลดลงให้นำไปจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น

“แต่รัฐบาลแย่ เมื่อผู้ประกอบการโวยวายมากๆ ก็เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเรื่อยๆ แต่ภาษีเงินได้นิติบุคลลดให้ทันที” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวและว่าต่อไปว่า

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เรามองว่าเป็นของประทานมาให้จากภายนอก เป็นของจากหลวง เป็นเรื่องที่เทวดาส่งมาให้ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมาคือ สมัยตอนที่มีกองทุนหมู่บ้าน ก็บอกนั่นคือ “เงินของทักษิณ” อันนี้เป็นคำพูดของเขา ไม่ได้เป็นโฆษณาช่วนเชื่อของรัฐบาล คนเขาเชื่อกันอย่างนั้น อีกอันหนึ่งที่มีความเชื่อกันมากก็คือความรู้สึกว่า “คนไทยที่เสียภาษีมีน้อย”

ดร.อัมมารกล่าวว่า มีรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยพูดมาได้ว่า คนไทยที่เสียภาษีมีไม่กี่แสนคน เขานึกถึงการเสียภาษีนั้นว่า ใครเป็นคนเขียนเช็คให้กรมสรรพากร หรือให้กระทรวงคลังเท่านั้น แต่พวกเราทั้งหลายที่ไปซื้อของตามร้านค้าต่างๆ เสีย VAT (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่รัฐบาลไม่เคยบอก

ที่อเมริกาเขาฉลาดอย่างหนึ่ง คือ เขาบอกว่า เวลาออกบิล หรือแม้กระทั่งติดป้ายราคาสินค้า เขาให้ใส่ราคาที่ไม่รวมภาษี เวลาที่ไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์เขาจะบวกภาษี แค่นั้นคนก็จะรู้สึกว่าเขาเสียภาษี อันนี้เป็นเรื่องที่นักการเมืองไทยไม่มีวันทำ

คือทำให้มองว่า “ภาษี” เป็นเงินที่ประชาชนจ่าย แล้วเงินที่มีเป็นเงินที่มาจากประชาชน ไม่ใช่เงินของเขา สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติ

“ผมอยากจะเสนอองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยว่า ความโปรงใสในเรื่องการเสียภาษีควรจะมีให้มากขึ้น รวมทั้งความความโปรงใสในส่วนอื่นๆ ของราชการ ซึ่งเป็นของดี” ดร.อัมมารกล่าว

หลังจาก ดร.อัมมารพูดเสร็จ ทางทีมงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย สรุปความเห็นของ ดร.อัมมารเป็นสโลแกนสั้นๆ ว่า “ภาษีของเรา เงินของเรา” และให้ทุกคนในงานร่วมเปล่งเสียงว่า “ภาษีของเรา เงินของเรา”

ทั้งนี้สามารถฟังรายละเอียดที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา แสดงความคิดเห็นได้จากคลิปวีดีโอข้างล่างนี้

[youtube http://www.youtube.com/watch?v=4ezGPvIxVhI&w=420&h=315]

“อานันท์ ปันยารชุน” ชี้ ปีนี้คอร์รัปชันรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี

ด้านนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ได้ให้ข้อคิดว่า ตั้งแต่เป็นเด็กมาได้ยินคำว่า “คอร์รัปชัน” และเห็นมีผู้พยายามต่อต้านค่อนข้างมาก แต่หลาย 10 ปีที่ผ่านมานั้น ระดับของการคอร์รัปชันในประเทศไทยทะยานขึ้นสูงมาก

“ปีนี้ผมอายุครบ 80 และเป็นปีแรกที่ผมขอสารภาพด้วยความจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ และไม่มีอคติว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ผมมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุดตั้งแต่เกิดมา”

นายอานันท์กล่าวต่อไปว่า ในอดีตนั้น คอร์รัปชันเป็นเรื่องการให้น้ำชา การให้สินบน การให้ของชำร่วย การช่วยเหลือด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือระหว่างกลุ่มต่อกลุ่ม ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ความลึกลับของการคอร์รัปชันนั้นมีมากมาย ในเรื่องค่าน้ำชาก็ดี การให้สินบนก็ดี การให้ซองขาวก็ดี มันกลายเป็นเรื่องปกติไปอย่างง่ายๆ และเป็นเงินจำนวนไม่มากเท่าไร

แต่ปัจจุบันมีผู้เฉลียวฉลาด ต้องเรียกว่า “ฉลาดแกมโกง” มากขึ้นอย่างมากมาย มีการวางยุทธศาสตร์ มีการวางแผนการ สำคัญสุดคือ อันนี้ขอยืมศัพท์ของท่านนายกฯ ที่ท่านใช้บ่อยคือ พวกคอร์รัปชันทั้งหลายเขา “บูรณาการ” กันพร้อมเพรียงหมดแล้ว ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่ม ตอนนี้เป็นเครือข่ายหมด เครือข่ายกลุ่มนักการเมือง พ่อค้านักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเป็นองค์กรตรวจสอบ สุดท้ายก็เป็นการยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด

“ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน สมัยนี้ผมต้องใช้คำนี้ มันไม่ใช่เรื่องการโกงกิน ไม่ใช่เรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงเท่านั้น สมัยนี้เขา “กินเมือง” กันครับ อะไรขวางหน้าซื้อหมด อำนาจเงินเป็นอำนาจที่เรียกว่า sovereign หรืออำนาจสูงสุดแล้ว คนไม่มีค่าแล้ว ถ้าจะมีค่าก็มีค่าว่า ซื้อเท่าไรจึงได้มา 1 แสน 2 แสน 5 ล้าน 100 ล้าน 1,000 ล้าน อันนั้นกลายเป็น “ค่าของคน” ไปแล้ว”

ขณะที่ความมีจิตใจที่โปรงใส ความมีจิตใจที่อิสระ ความมีจิตใจที่รักประเทศชาติ และถือเป็นส่วนหนึ่งของประเทศชาติจางหายไปเกือบหมดแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับอำนาจผูกขาด อำนาจผูกขาดทางการเมือง ทางเศรษฐกิจทั้งระบบ

อันนี้ที่ผมเรียกว่า “กินเมือง”

นายอานันท์บอกว่า ในปีนี้เป็นปีที่คิดว่า ถ้าจับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่า สิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรโปร่งใส หรือองค์กรอีกต่างๆ อีก 50-60 องค์กร หรือนักธุรกิจก็ดี ที่พยายามต่อต้านคอร์รัปชันนั้น ต้องขอบอกว่า “ไม่มีผล”

“เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ผมอยากจะพูดคือว่า การต่อต้านคอร์รัปชัน การปราบปรามคอร์รัปชันก็ต้องทำต่อไป แต่สิ่งที่พวกเราจะทำได้คือ การรวมพลัง การผนึกกำลัง มียุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง ต่อต้านปราบปรามบวกกับการป้องกัน” นายอานันท์กล่าว

คอร์รัปชันแบบบูรณาการ “กินเมือง” พาชาติหายนะ

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย
นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย

อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันนี้คนโกงกินมีมากเหลือเกิน มีมากเสียจนกระทั่งคนอย่างผมที่เป็นคนไทยที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย ที่เกิดมาในพื้นแผ่นดินไทย บางครั้งบางคราวมี “ความละอายใจ”

ไม่ใช่ละอายใจต่อเพื่อนฝูงที่เป็นคนไทยเท่านั้น แต่ละอายใจต่อคนที่มาจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มาจากต่างประเทศเขาจะพ้นภัยจากคอร์รัปชัน ประเทศเขาก็มีมากเหมือนกัน นั่นก็เป็นปัญหาของเขา แต่นี่ก็เป็นปัญหาของเรา

“การที่ปัญหาของเราจะได้รับการปรับปรุงให้มันมีประสิทธิภาพได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ เงินที่โกงกินนั้น อย่างที่อาจารย์อัมมารท่านพูด มันเป็นเงินของเรา จริงอยู่มีคนไทยอีกจำนวนมากที่ไม่เสียภาษี หรือที่เสียภาษีก็ไม่ควรจะเสียภาษีน้อยเท่านั้น ควรจะเสียภาษีมากกว่านั้นตามอัตราที่เป็นปกติขณะนี้” นายอนันต์กล่าวและย้ำอีกว่า

ตราบใดที่เรายังสร้างจิตสำนักไม่ได้ว่า เงินโกงกินนั้นเป็นของเรา เราก็ไม่มีทางจะแก้ปัญหานั้นได้ เพราะต้องมีส่วนเป็นเจ้าของ เราต้องมีความเดือดร้อน ต้องมีความเร่าร้อนในการที่จะแก้ปัญหานี้ โดยการรวมพลังกัน รวมความคิดกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ แต่ต้องบูรณาการของคนทุกกลุ่ม

“นโยบายปัจจุบันจะนำความหายนะมาสู่ประเทศ และผมก็เศร้าที่คนดีๆ ที่มีความรู้ก็ตกหลุมติดกับอยู่กับนโยบายพวกนี้” นายอานันท์กล่าว

คำภาษาอังกฤษว่า “corruption” นั้น นายอานันท์กล่าวว่า มีความหมายกว้างขวางกว่าการทุจริตและฉ้อราษฎร์บังหลวง คนที่คอร์รัปต์นั้น ไม่ได้คอร์รัปต์เรื่องเงินอย่างเดียว แต่จิตใจคอร์รัปต์ด้วย

เพราะคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องของการเงินอย่างเดียว การโกหกประชาชนก็เป็นแบบหนึ่งของคอร์รัปชัน ตราบใดที่เรายังเห็นบุคคลต่างๆ ที่มีอำนาจ มีความรับผิดชอบ ออกมาโกหกประชาชนทุกวัน วันละ 3 มื้อ เราอย่าไปคิดเลยว่าจะต่อต้านป้องกันคอร์รัปชันได้

คอร์รัปชัน เรื่องการเงิน เรื่องสินทรัพย์ เป็นปลายเหตุ

นายอานันท์กล่าวว่า ทุกวันเปิดหนังสือพิมพ์มาทำให้ต้องเลิกอ่าน เพราะข่าวแต่ละข่าวที่หนังสือพิมพ์ลงนั้นเห็นได้อย่างแน่ชัดว่าเป็นข่าวโกหก เป็นข่าวอำพราง เป็นข่าวหลอกหลวงประชาชน เป็นข่าวที่เขานึกว่าเขาสามารถที่จะหลอกลวงประชาชนต่อไปได้ เป็นความผิดของพวกเราทั้งหมด ทุกคน ทั้งที่อยู่ในห้องนี้ และอยู่นอกห้องอีก 65 ล้านคน ที่ยังไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีความเดือดแค้น ที่เรายังไม่รู้สึกแม้กระทั่งทุกวันนี้ว่า “ความหายนะ” นั้นมันใกล้ตัวเราเข้ามาเรื่อย

“ความหายนะอันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน แต่ตอนนี้ปรากฏการณ์มันมี ถ้าเราจะงมงายที่จะบ่นอย่างเดียว งมงายว่าประเทศอื่นก็มีคอร์รัปชันเหมือนกัน งมงายว่ารับแต่ความเก่ง แต่ไม่ยอมเห็นความเลวของเขา” อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย กล่าวและมองว่า

อนาคตเมืองไทยนั้นจะ “มืดมน” มาก ทั้งๆ ที่ประเทศนี้เป็นประเทศที่มีความสมบูรณ์ มีความสงบสุขมาเป็นเวลาช้านาน และถ้าจะตายก็ตายเพราะคนไทยด้วยกัน คนไทยที่มองเห็นประโยชน์ส่วนตัว มองเห็นเงินเป็นพระเจ้า มองเห็นเมืองไทยเป็น “ตุ๊กตา” ผลัดกันรับผลัดกันส่ง

“เราคงไม่อยากเห็นที่วันหนึ่งเมืองไทยจะอยู่ในสภาพเช่นนั้น เพราะถ้าอยู่ในสภาพเช่นนั้นแล้วคนรับบาปไม่ใช่พวกเรา แต่เป็นลูกหลานของเรา” นายอานันท์กล่าว

หยุดคอร์รัปชันต้องผสมผสานใช้วิธีแบบ “หมอ-วิศวะ”

นายอานันท์กล่าวว่า เรื่องคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่ทุกประเทศมีปัญหาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเศษหนึ่งส่วนสิบของใบก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น เรื่องของคอร์รัปชัน ไม่ใช่เรื่องของตัวระบบอย่างเดียว เป็นเรื่องของตัวบุคคล

สังคมใดที่มีพลเมืองที่มีความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนเสียส่วนได้ในเรื่องของการจับจ่ายเงินของรัฐบาลก็ดี หรือของหน่วยธุรกิจก็ดี ถ้าหากมีความสนใจ มีความเดือดร้อน และแค้นอย่างที่อาจารย์อัมมารพูด แต่อยากจะใช้ว่า ต้องมี “ความเร่าร้อน” ด้วย “เดือดร้อน” อย่างเดียวไม่ได้

เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะเดือดร้อนอยู่ในใจ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้วยการพูด ด้วยการบ่น เสร็จแล้วก็จบกันไป แล้วก็อีกอาทิตย์หนึ่งต่อมา อีก 2 เดือนต่อมาก็มาบ่นกันอีก

การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องประสบ เหมือนกับการลักขโมย การฆ่าคน การทำมิจฉากรรมต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่จะปรากฏค่อนข้างเด่นชัดมากขึ้นๆ ทุกวันก็คือว่า ตราบใดที่การต่อต้านคอร์รัปชันก็ดี การปราบปรามคอร์รัปชันก็ดี เป็นไปในลักษณะเหมือน “ตำรวจจับผู้ร้าย” จำนวนผู้ร้ายก็ไม่ได้น้อยลงเท่าไร

เพราะฉะนั้น มาตรการต่อต้านคอร์รัปชันคงไม่ได้อยู่ที่การปราบหรือการจับแต่เพียงเท่านั้น แต่ต้องมีมาตรการอื่นๆ ควบคู่กันไปเป็นอย่างมาก

“ถ้าเราเพียงแต่ถือว่า คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่เป็นภัยต่อสังคม แล้วประชาชนควรได้รับการดูแล และต้องมีการปราบปรามอย่างของตำรวจ ปัญหาก็จะไม่หมดไป มีคนเขียนหนังสือเมื่อเร็วๆ นี้ว่า การต่อต้านคอร์รัปชันจะต้องไม่เป็นไปในลักษณะที่ตำรวจจับขโมยหรือจับผู้ร้ายเท่านั้น แต่ควรจะเป็นเรื่องของการที่ใช้ความผสมผสาน ของการดูแลปัญหานี้ การจัดการปัญหานี้ ในลักษณะเป็นแพทย์ และเป็นวิศวกรด้วย” นายอานันท์กล่าวและขยายความว่า

ถ้าใช้วิธีการของ “แพทย์” เขาก็จะมองว่าคอร์รัปชันเป็นโรค และจริงๆ แล้วคอร์รัปชันก็เป็นโรคของสังคม แต่สำหรับเมืองไทยนั้น นอกจากจะเป็นโรคเนื้อร้ายแล้ว ยังเป็นเนื้อร้ายเรื้อรัง และเนื้อร้ายที่อาจนำมาสู่ความหายนะของประเทศได้

ทั้งนี้ การดูแลในลักษณะที่เป็นหมอ ต้องหาสมมติฐานของเรื่อง เหตุของการมีคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเรื่องความไม่ยุติธรรมในสังคม การเข้าไม่ถึงระบบยุติธรรม การเข้าไม่ถึงโอกาสมีการศึกษาที่ดี เข้าไม่ถึงระบบการพัฒนาที่มีความทั่วถึงและเป็นธรรมต่อบุคคลในชุมชนนั้น การเข้าไม่ถึงระบบตุลาการ การเข้าไม่ถึงโอกาสที่จะไปเรียนหนังสือ การเข้าไม่ถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ และการเข้าไม่ถึงสิ่งต่างๆ นานา ที่เป็นสิทธิของบุคคลของประชาชนที่ควรจะได้ อันนั้นก็ต้องทำไป

ขณะเดียวกัน ในการป้องกันก็ต้องอาศัยแบบการของ “วิศวะ” คือ ใช้ระบบทำนุบำรุงรักษา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษาก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลตรวจสอบให้ดี การสร้างจริยธรรม พยายามหาบุคคลที่มีคุณธรรม และเป็นคนซื่อตรง เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การปลูกฝังจิตสำนึกนี้ในสื่อต่างๆ ของเมืองไทย

“ผมต้องขอโทษที่ต้องพูดในที่นี้ เพราะมีผู้แทนสื่ออยู่หลายคน จำนวนผู้แทนสื่อที่ดีที่ซื่อตรงก็มีมาก แต่ผมเป็นห่วงเจ้าของธุรกิจ เพราะสื่อปัจจุบันอยู่ภายใต้อำนาจ ภายใต้การคุ้มกันหรือการครอบครองของนักธุรกิจที่มองสื่อเป็นเครื่องมือการหารายได้ มากกว่าที่จะเป็นเครื่องมือในการที่จะปราบ หรือที่จะป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประเทศ” นายอานันท์กล่าว

อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย เล่าย้อนอดีตว่า หากยังจำได้ เขาเป็นคนตั้งคำไทยคำหนึ่งขึ้นมา คำว่า “โปร่งใส” ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีการแปลคำว่า Transparency

“ผมยังจำได้ ผมพูดในที่ต่างๆ ซึ่งบางคนพอพูดไปแล้วคนเขาก็ยิ้มกัน จริงๆ มีความหมายมาก ผมบอกว่าความโปร่งใสคืออะไร ผมเปรียบเสมือนคนที่อยู่ในบ้าน และมีเพื่อนบ้าน มีคนเดินถนน แล้วเห็นบ้านเรา” นายอานันท์กล่าวและอธิบายว่า

ถ้าบ้านเราปิดประตูหน้าต่างหมดในเวลากลางวัน และในเวลากลางคืนก็ไม่เปิดไฟ คนข้างนอกจะไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเราเปิดบ้านนั้นให้โปร่งใส เปิดประตู เปิดหน้าต่าง ให้คนข้างนอกเห็นเราได้มากขึ้น และตอนกลางคืนก็เปิดไฟให้คนเห็นได้ ความพยายามที่จะทำอะไรที่ไม่อยากให้คนเห็นก็จะลดน้อยลงไป คนเราถ้าจะโกงกินแล้ว อย่างน้อยก็มีความเกรงใจ มีความเป็นห่วงว่าใครจะเห็นหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น การจะเปิดบ้านเราให้สว่างไสวให้โปร่งใส ไม่ใช่จะทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่จะต้องปรับระบบต่างๆ ของเมืองไทย

“ไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายที่ไม่ใช่มีแต่ความยุติธรรมอย่างเดียว แต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับระบบตุลาการให้มีความเที่ยงธรรมมากกว่านี้ ปรับปรุงระบบสื่อให้มีจิตสำนึกมากขึ้น ปรับปรุงระบบการศึกษา ดูแลการพัฒนาของประเทศชาติ และการใช้งบประมาณของประเทศชาติไปในลักษณะเป็นประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และยังมีอะไรอีกตั้งหลายอย่างต้องทำ และต้องย้ำถึงมาตรการที่จะป้องกัน” นายอานันท์กล่าว

ทั้งนี้ สามารถฟังข้อคิดเห็นของ นายอานันท์ ปันยารชุน ทั้งหมดได้จากคลิปวีดีโอข้างล่างนี้

[youtube http://www.youtube.com/watch?v=GS8A6MlSnBM&w=420&h=315]