ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ประมูล 3G ถูก ค่าโทรอาจไม่ถูก นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เป็น “ต้นทุนจม”

ประมูล 3G ถูก ค่าโทรอาจไม่ถูก นักเศรษฐศาสตร์ชี้ เป็น “ต้นทุนจม”

17 ธันวาคม 2012


งานเสวนา “NBTC Watch Forum: ประมูล 3G ถูก ค่าโทรถูกจริงหรือ?”
งานเสวนา “NBTC Watch Forum: ประมูล 3G ถูก ค่าโทรถูกจริงหรือ?”

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ การประมูล 3G ผู้ได้ใบอนุญาตได้ไปในราคาถูก แต่ค่าโทรที่ผู้บริโภคต้องจ่ายในอนาคตอาจจะไม่ถูกลงไปด้วย เนื่องจากค่าประมูล 3G ที่ได้จ่ายไปเป็น “ต้นทุนจม” ในทางเศรษฐศาสตร์ ถือว่าไม่เป็นปัจจัยในการคิดอัตราค่าบริการในอนาคต ระบุ ต้องทำให้ตลาดแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพ ค่าโทรจึงจะถูกลงได้จริง

วันที่ 14 ธันวาคม 2555 คณะทำงานติดตามการทำงาน กสทช. และศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา จัดเสวนา “NBTC Watch Forum: ประมูล 3G ถูก ค่าโทรถูกจริงหรือ?” โดยมีวิทยากรคือ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, ดร.ดุษณี เกศวยุธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คน เห็นตรงกันว่า การที่ผู้ประกอบการประมูลใบอนุญาต 3G ได้ถูก อาจไม่ทำให้ค่าโทรถูกลงไปด้วย เนื่องจากเงินที่ใช้ในการประมูลใบอนุญาต ในทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็น “ต้นทุนจม” (sunk cost) คือ ต้นทุนที่เมื่อจ่ายไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนมาได้ และเมื่อต้นทุนจมเกิดขึ้นมาแล้ว จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น เมื่อจ่ายค่าประมูลไปแล้วจึงไม่มีผลต่อการตั้งราคา

“ก่อนการประมูล ผู้ให้บริการต้องคิดมาก่อนแล้ว ว่าเงินที่จะจ่ายในการประมูลคุ้มค่ากับรายรับที่จะได้หรือไม่ เมื่อประมูลได้แล้ว ค่าใบอนุญาตที่ถูกหรือแพงจะไม่ส่งผลต่อค่าบริการ เพราะผู้ให้บริการจะคิดราคาตามที่ผู้บริโภคสามารถจ่ายได้ในตลาด ทุกวันนี้คิดค่าบริการเท่านี้ก็มีคนใช้อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องไปลดราคาอีก ถึงแม้จะมีการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการไปฟรีๆ ค่าบริการก็จะไม่ลดลงไปกว่านี้” รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว

ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ด้าน ดร.พรเทพเห็นว่า ราคาการให้บริการจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1. อุปสงค์ในตลาด 2. ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ที่ไม่ใช่ต้นทุนจม และ 3. โครงสร้างของตลาด ที่หากมีผู้ให้บริการมากราคาก็จะต่ำ จึงต้องดูว่า การประมูลจะส่งผลกระทบต่อทั้ง 3 ปัจจัยนี้อย่างไร เนื่องจากประเทศไทย ก่อนการประมูลก็รู้ว่าจะมีคู่แข่งเพียงแค่ 3 ราย และหลังการประมูลก็รู้ว่าจะมีเท่านี้ การประมูลนี้จึงไม่ทำให้โครงสร้างตลาดมีการเปลี่ยนแปลง

“ในการประมูล สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ ประสิทธิภาพ การแข่งขัน และการจัดสรรทรัพยากร สังคมไทยไม่จำเป็นต้องเลือก หากราคาที่ได้จากการประมูลจะสูงขึ้นโดยที่ยังคงมีการแข่งขันและมีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างการมี 3G ใช้กับมีการประมูลที่โปร่งใส” ดร.พรเทพกล่าว

ดร.พรเทพยังกล่าวอีกว่า จำนวนผู้เข้าแข่งขันในตลาดคือตัวกำหนดราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย โดยในต่างประเทศ ยิ่งมีผู้แข่งขันมาก ราคาการให้บริการในท้องตลาดก็จะยิ่งถูกลง โดยไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่า ราคาประมูลที่สูงจะทำให้ค่าบริการสูงไปด้วย ดังนั้น เรื่องราคาตั้งต้นในการประมูล สังคมจึงยังต้องให้ความสนใจ เพราะในอนาคตจะมีการประมูลอื่นๆ อีก และต้องสนใจทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นไปด้วย

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ขณะที่ รศ.ดร.วรากรณ์ชี้ว่า สิ่งที่สังคมไทยจะต้องให้ความสนใจต่อจากนี้คือ การกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน จากการที่ กสทช. ได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการให้คิดค่าโทรที่ถูกลงอีก 15% จากราคาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการกำหนดกติกาให้ชัดเจน เนื่องจากเป็นการขอความร่วมมือ ซึ่งไม่ใช่เป็นการบังคับ หากผู้ให้บริการไม่สามารถทำได้ จะทำอย่างไร

“ต้องมีความชัดเจนว่าลด 15% ภายในกี่ปี และการลดราคาดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน เพราะหากราคาถูกลง แต่คุณภาพการให้บริการแย่ลงไปด้วย ก็เหมือนกับผู้บริโภคได้ของแพงขึ้น ไม่ใช่ลดราคาให้แต่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ช้ากว่าเดิม” รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว

ด้าน ดร.ดุษณีเสริมว่า สำหรับประเทศไทย เป็นเรื่องยากที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาในเร็วๆ นี้ แต่การมีผู้ประกอบการเพียงแค่ 3 รายในประเทศก็สามารถทำให้เกิดการแข่งขันได้ หากมีการตั้งกติกาที่ชัดเจน ที่ทำให้เกิดการแข่งขัน โดยผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันในบ้านเราคือกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องดูว่าผู้ประกอบการมีการฮั้วตั้งราคากันหรือไม่ เพราะมีกรณีตลาดแข่งขันน้อยรายที่มีผู้แข่งขันในตลาดเพียง 2-3 ราย มีผู้ยอมจ่ายเงินประมูลสูงเพื่อหวังชนะแล้วจะใช้อำนาจเหนือตลาดในการกำหนดราคา หรือฮั้วตั้งราคากับผู้ประกอบการรายอื่น การบังคับใช้กฎหมายกำกับการฮั้วตั้งราคาจึงต้องทำอย่างจริงจัง

ดร.ดุษณี เกศวยุธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.ดุษณี เกศวยุธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย