ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอระดมสมองวิเคราะห์อนาคตข้าวไทย

ทีดีอาร์ไอระดมสมองวิเคราะห์อนาคตข้าวไทย

1 พฤศจิกายน 2012


สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

วานนี้ (31 ตุลาคม 2555) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนาระดมสมองหัวข้อ “ภาพอนาคตเศรษฐกิจข้าวไทย” ภายใต้โครงการยุทธศาสตร์ข้าวไทย การวิจัยและพัฒนาข้าวไทย และการมองไปข้างหน้า นำโดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตและการค้าข้าวจากหลายฝ่ายเข้าร่วม เช่น ผู้แทนเกษตรกร ผู้ผลิตปัจจัยการผลิต โรงสี หยง ผู้ส่งออก และนักวิชาการ ร่วมกันระดมสมองวิเคราะห์อนาคตและทิศทาง อุตสาหกรรมข้าวไทย

ดร. นิพนธ์ได้นำเสนอภาพรวมและแนวโน้มระบบเศรษฐกิจข้าวไทยโดยมีสาระสำคัญ คือ

การบริโภค: แนวโน้มการบริโภคข้าวต่อหัวลดลงทั่วโลก โดยเฉพาะชาวเอเชียซึ่งหันไปบริโภคอาหารอื่นแทนข้าว และได้รับวัฒนธรรมการบริโภคจากตะวันตกมากขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่า ในทศวรรษที่ผ่านมา อัตราเพิ่มประชากรสูงกว่าอัตราเพิ่มของผลผลิตต่อไร่ ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น

ในส่วนของประเทศไทย การบริโภคข้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2554 คนในเมืองบริโภคข้าวเพียง 84 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับ 93 กิโลกรัมต่อคนในปี 2545 (ส่วนคนในชนบทบริโภคข้าวจาก 114 กิโลกรัมต่อคนในปี 2545 ลดลงเหลือ 99 กิโลกรัมต่อคนในปี 2554)

นอกจากนี้ งานวิจัยของ ดร.นิพนธ์แสดงให้เห็นว่า คนไทยที่กินข้าวหอมให้ความสำคัญกับองค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1) คุณภาพข้าวที่หุง 2) แหล่งที่มา และ 3) ตราสินค้า ในขณะที่ผู้บริโภคข้าวขาวเน้น 1) สีเมล็ดขาว 2) ขนาดบรรจุ และ 3) แหล่งที่มา

การผลิต: ผลวิจัยของทีดีอาร์ไอสรุปข้อมูลสถิติการผลิตข้าวว่ามีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 24% ต่อปีสำหรับข้าวนาปี และ 3.58% ต่อปีสำหรับข้าวนาปรัง

สาเหตุสำคัญของการเพิ่มผลผลิตตลอดระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมา คือ 1) เพิ่มผลผลิตต่อไร่ของพื้นที่เพาะปลูก (เพิ่มขึ้นกว่า 43.4%) 2) เพิ่มพื้นที่กว่า 35% 3) เพิ่มรอบการเพาะปลูกกว่า 14.6% และ 4) ผลผลิตต่อไร่เพิ่มจากการเปลี่ยนเวลาเพาะปลูก 6.7% ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะมีผลต่ออนาคตการผลิตคือราคาข้าวในตลาด

การส่งออก: ในตลาดโลก แนวโน้มการส่งออกข้าวยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศผู้ส่งออกอย่างเวียดนามและปากีสถานมีแนวโน้มการส่งออกข้าวที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (เวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 21% ของปริมาณข้าวส่งออกทั้งหมด และปากีสถานส่งออกข้าวเพิ่มจาก 6% เป็น 12.8% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด)

ในขณะที่ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงจาก 32.2% เป็น 27.3% ของปริมาณข้าวส่งออกในตลาดโลก ไทยส่งออกข้าวขาวเป็นอันดับหนึ่ง (44.3%) รองลงมาคือข้าวนึ่ง (31.8%) และข้าวหักหอมมะลิ (7.3%)

ทั้งนี้ ดร.นิพนธ์มีความเห็นว่า การส่งออกข้าวขาวใน 15 ปีข้างหน้า จะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ข้าวหอมและข้าวนึ่งที่มีราคาสูงและคุณภาพดีจะยังคงมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีอยู่

สิ่งท้าทาย: อย่างไรก็ตาม ดร.นิพนธ์ทิ้งท้ายว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวขาวของไทยอาจประสบภาวะขาดทุนด้วยสาเหตุ 2 ประการ คือ

1) ต้นทุนส่งออกต่ำกว่าราคาส่งออก เนื่องจากราคาที่พ่อค้าซื้อข้าวจากชาวนาหลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกประเภทต่ำกว่าต้นทุนของชาวนา

2) ในอนาคต ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงเพราะการบริโภคลดลง แต่การผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ทางเลือกของเกษตรกรไทยในอนาคต: ดร.นิพนธ์ระบุว่ามี 3 ทางเลือกของเกษตรกรชาวนาและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้าวดังนี้

• เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพ และสามารถช่วย เพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ เช่น ข้าวพันธุ์สุพรรณ 1 ให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าชัยนาท 1 และ 2 ประมาณ 56-76 กิโลกรัมต่อไร่

• เพิ่มผลผลิตต่อชาวนา (รายได้ต่อหัว) เกษตรกรไทยยังมีแรงงานส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ในหลายประเทศที่มีที่ดินน้อยกลับมีผลผลิตต่อชาวนาและพื้นที่เพาะปลูกสูง (เช่น ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น) ในขณะที่ไทยยังมีผลผลิตต่อเกษตรกรต่ำ นัยยะเชิงนโยบายต่อประเด็นนี้คือ ควรมีการโยกย้ายแรงงานออกจากเกษตรที่ยังมีเกือบ 40% และควรมีการเพิ่มขนาดฟาร์มเหมือนประเทศแถบยุโรป/อเมริกา และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น

• เพิ่มมูลค่าข้าว/ราคาข้าว ควรปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมที่ได้รับความนิยมในตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณภาพในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรอาจแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่ากับวัตถุดิบที่มีอยู่ (value-added)

บทสรุป: อนาคตของอุตสาหกรรมข้าวไทยมีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ในปัจจุบัน ไทยยังมีแรงงานในภาคเกษตรอยู่กว่า 40% และไทยควรสร้างการเจริญเติบโตแบบทั่วถึงและครอบคลุมภาคเกษตรทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตข้าวไทยคือการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต่อชาวนา และเพิ่มมูลค่าข้าวไทยให้สูงขึ้น

ข้อสรุปที่ได้จากงานระดมสมองคือ ตลาดข้าวไทยยังคงต้องพัฒนาข้าวที่มีคุณภาพดีก่อนและเน้นในเรื่องของปริมาณใน ภายหลัง ซึ่งในปัจจุบันคู่แข่งส่งออกข้าวของไทยสามารถพัฒนาคุณภาพข้าวของตนให้มีคุณภาพสูงขึ้นมาก ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร รัฐบาล โรงสี และผู้วิจัยพันธุ์ข้าว ควรหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้าวไทยในเชิงคุณภาพตั้งแต่ต้นธารการผลิต การบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม บริการในเรื่องข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาเทคโนโลยี/การใช้เครื่องจักรมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในการสร้างมาตรฐานข้าวไทยและส่งเสริมกลุ่มเกษตรไทยที่ถูกต้อง