ThaiPublica > คอลัมน์ > แช่แข็งประเทศไทย: ใครเอาบ้าง ยกมือขึ้น

แช่แข็งประเทศไทย: ใครเอาบ้าง ยกมือขึ้น

27 พฤศจิกายน 2012


อภิชาต สถิตนิรามัย

แช่แข็งประเทศไทย ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th
แช่แข็งประเทศไทย ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th

การชุมนุมของกลุ่ม เสธ.อ้าย (พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์กรพิทักษ์สยาม) ในวันที่ 24 พ.ย. 2555 จบลงอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว โดยเสธ.อ้ายให้เหตุผลในการยุติการชุมนุมว่า มวลชนมาร่วมชุมนุมไม่ถึงเป้า (1 ล้านคน) ที่ตั้งไว้ เนื่องจากมวลชนถูกรัฐบาลสกัด แต่ไม่ว่าเหตุที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ทางการเมืองคงเห็นพ้องต้องกันว่า มีมวลชนเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการชุมนุมในอดีตของกลุ่มคนเสื้อเหลือง หลายท่านอาจวิเคราะห์ไปต่างๆ นานาว่า ทำไมคนเข้าร่วมชุมนุมน้อย เช่น ถูกสกัด เสธ.อ้ายไม่มีบารมีทางการเมืองพอ มวลชนเสื้อเหลืองอ่อนแรงแล้ว หรือกระทั่งการที่กลุ่มพันธมิตรฯ เสื้อเหลืองไม่ประกาศเข้าร่วมการชุมนุมโดยตรง ฯลฯ

แต่ผมขอเสนอว่า เหตุผลหลักที่คนมาชุมนุมน้อยนั้น เป็นเพราะแนวคิด “แช่แข็งประเทศไทย” ที่เสธ.อ้ายใช้เป็นธงนำในการเคลื่อนไหวนั่นเอง กล่าวคือ เสธ.อ้ายเสนอสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการทางการเมืองของกลุ่มคนจำนวนน้อยมากๆๆๆ ของสังคม จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะไม่ออกมาร่วมชุมนุม

หลักฐานขำๆ ชิ้นแรกที่ยืนยันข้ออ้างของผมคือ รูปข้างล่างนี้ ซึ่งนักข่าวประชาไทถ่ายจากที่ชุมนุมกลุ่มเสธ.อ้าย หากผมไม่บอกว่าถ่ายจากที่ไหน หลายท่านอาจคิดไปว่า นี่เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านทุกๆ 4 ปี (แทนที่จะอยู่จนครบอายุ 60 ปี แบบปัจจุบัน) หรือให้ยกเลิกตำแหน่งไปเลย เพราะท้องถิ่นมี อบต. – เทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งดูแลอยู่แล้ว สรุปคือ รูปนี้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นวาระสม่ำเสมอในทั้งสองสนาม ซึ่งขัดกับการแช่แข็งประเทศของเสธ.อ้าย ผมไม่รู้หรอกว่าทำไมกลุ่มนี้จึงมาร่วมชุมนุมกับเสธ. ทั้งๆ ที่ข้อเรียกร้องนี้ดูขัดกับหลักการใหญ่ของเสธ. ก็เป็นได้ว่ากลุ่มนี้เห็นว่า “ชาวบ้าน” มีความพร้อม (maturity) ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่ไม่มีความพร้อมในระดับชาติ ประเด็นของผมคือ แม้แต่ในหมู่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมบางส่วน ก็ยังเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ในบางระดับ ซึ่งแตกต่างจากเสธ.อ้ายที่เคยพูดว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว (แต่ก็อ้างเสรีภาพในการชุมนุม)

ที่มาภาพ: http://prachatai.com/journal/2012/11/43853
ที่มาภาพ: http://prachatai.com/journal/2012/11/43853

หลักฐานแบบซีเรียสที่สนับสนุนข้ออ้างของผมคือ การวิจัยของอาจารย์วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องเหลือง-แดงร่วมกับผม1 ผลการวิจัยพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองประเภทใด หรือผู้ไม่สังกัดสีเสื้อ หรือแม้กระทั่งผู้ที่เราจัดประเภททางการเมืองให้ไม่ได้ ต่างก็เห็นด้วยกับการเมืองแบบเลือกตั้ง กล่าวในรายละเอียดจากตารางข้างล่างนี้แล้ว คนทุกประเภทเห็นว่า ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งเห็นด้วยว่า ประชาธิปไตยคือการเคารพเสียงส่วนใหญ่ และแม้ว่าประชาธิปไตยอาจมีปัญหาในตัวเอง แต่ก็ดีกว่าการปกครองรูปแบบอื่นๆ (ดีกว่าการแช่แข็งด้วย?) ยิ่งกว่านั้น คนทุกประเภท ยกเว้นเสื้อเหลืองประเภทที่ 1 (Y1) เห็นว่าระดับการศึกษาของคนไทยไม่เป็นอุปสรรคสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

หากเราเดาว่า กำลังหลักของผู้ชุมนุมในกลุ่มเสธ.อ้ายเป็นคนเสื้อเหลืองแล้ว ผมขอเดาต่อว่า คนกลุ่มนี้เป็นเสื้อเหลืองประเภทสุดขั้ว (extreme) แบบสุดๆ ที่ปฏิเสธการเมืองในระบบเลือกตั้งแบบไม่เหลือเยื่อใย ซึ่งน่าจะไม่ใช่คนเสื้อเหลืองประเภท Y2 อย่างมากก็น่าจะเป็นแค่บางส่วนเท่านั้นของคนเสื้อเหลืองประเภท Y1 ตามการจัดประเภทของเรา (พูดแบบไม่เคร่งครัดคือ Y1 มีความเป็นเหลืองเข้มกว่า Y2 ) เนื่องจากข้อมูลของเราชี้ว่า แม้กลุ่ม Y1 อาจจะเห็นด้วยกับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ก็ตาม แต่รวมๆ แล้ว Y1 ก็ยังเห็นด้วยกับการเลือกตั้ง พูดอีกแบบคือผมเห็นว่า เสื้อเหลืองผู้เห็นด้วยกับการแช่แข็งประเทศนั้น น่าจะเป็นประเภทสุดขั้วยิ่งกว่าคนประเภท Y1 เสียอีก ดังนั้นจึงน่าจะสรุปได้ว่า หากถามว่าใครเห็นด้วยกับการแช่งแข็งประเทศแล้ว ผมเดาว่าคงมีผู้ยกมือขึ้นน้อยกว่า 4.43% ตามสัดส่วนตัวอย่างที่พวกเราได้สำรวจมาเสียอีก

ไม่ว่าใครจะวิจารณ์เสธ.อ้ายอย่างไรก็ตาม เช่น เป็นพวกขวาตกขอบ ไดโนเสาร์ยุคน้ำแข็ง ไม่ประสีประสาทางการเมือง ฯลฯ ส่วนตัวผมขอนับถือเสธ.ว่าเป็นชายชาติทหารที่ปากกับใจตรงกัน คิดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ไม่อ้อมค้อม ไม่ชอบประชาธิปไตย ไม่ชอบนักการเมือง ไม่ชอบระบบการเลือกตั้ง ก็บอกว่าไม่ชอบ โดยไม่สนใจว่าข้อเสนอของตนจะดึงดูดคนมาร่วมชุมนุมได้มากน้อยแค่ไหน ไม่เหมือนห้าแกนนำพันธมิตรฯ บางคน เช่น ยะใสและพ่อเปี๊ยกของวงการ NGOs ที่ปากอ้างประชาธิปไตยตลอดมา

หมายเหตุ

1 งานชิ้นนี้เก็บแบบสอบถามทั้งหมด 2,212 ชุด ใน 5 จังหวัด โดยกำหนดให้จังหวัดที่เลือกเก็บแบบสอบถามสะท้อนความหลากหลายทางด้านความคิดเห็นทางการเมือง และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ประกอบด้วย1) กรุงเทพมหานคร 2) พระนครศรีอยุธยา 3) พิษณุโลก 4) อุดรธานี ซึ่งเป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีสัดส่วนเสื้อแดงสูง และ 5) นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นตัวแทนของจังหวัดที่มีสัดส่วนเสื้อเหลืองสูง โดยเก็บแบบสอบถามจังหวัดละ 400 ชุด ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่เก็บ 600 ชุด เนื่องจากประชากรมีความหลากหลายมากกว่า ช่วงเวลาที่เก็บแบบสอบถามอยู่ระหว่างวันที่ 17 เมษายน ถึง 15 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ข้อควรระวังในการอ่านบทความนี้คือ เนื่องจากการเก็บตัวอย่างนี้ไม่ครอบคลุมคนทั้งประเทศ จึงอ้างไม่ได้ว่าเป็นตัวแทนของประชากรไทย