ThaiPublica > สัมมนาเด่น > 3 กูรู “วิชิต-ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย” ชี้ช่องกลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก

3 กูรู “วิชิต-ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย” ชี้ช่องกลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก

21 พฤศจิกายน 2012


สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2556
สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2556

3 กูรูเศรษฐกิจ มั่นใจไทยรับมือภัยเศรษฐกิจโลกได้ พร้อมชี้ช่องฝ่าวิกฤติ โดย “ดร.วิชิต” แนะธุรกิจกู้เงินต่างประเทศดอกเบี้ยต่ำลดต้นทุน ด้าน“หม่อมอุ๋ย” หนุนฉวยโอกาสเออีซีขยายลงทุน-การค้า ขณะที่ “ดร.ณรงค์ชัย” ให้คาถากันภัย “เลี่ยงตะวันตก วกมาตะวันออก”

การสัมมนาภายใต้หัวข้อ “กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก” ในวันที่ 20 พ.ย. 2555 มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) และดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินรายการโดย ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภัยวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ อาจเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ยากต่อการ “ถอดสลัก” เพราะจุดกำเนิดของปัญหาเกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักของโลก ดังนั้น การแพร่กระจายของปัญหาอาจขยายวงกว้างกระทบทุกประเทศทั่วโลก จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวรองรับเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

4 ประเทศหลัก กดค่าเงินอ่อน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ดร.วิชิต ได้วาดภาพภัยเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทย โดยแบ่งภัยเศรษฐกิจโลกเป็น 4 เขต หรือ 4 ประเทศหลักๆ คือ สหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ดร.วิชิตกล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจ “สหรัฐฯ “ ตั้งแต่เจอวิกฤติซับไพรม์ในปี 2007-2008 รัฐบาลก็พยายามอัดออกซิเจนหรือออกมาตรการ QE1 และ QE2 (Quantitative Easing) เพื่ออัดฉีดเงินให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ แต่ไม่สำเร็จ และปีนี้ทำมาตรการ QE3 และยังมีเป้าหมายอัดฉีดเงินอีกเดือนละ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไม่มีกำหนดจนกว่าเศรษฐกิจจะขยับขึ้นมาเป็น 4% หรือการว่างงานต่ำกว่า 5.5-5.6% ถึงจะหยุด ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะหยุดเมื่อไร นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังประกาศจะใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี

“ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิมพ์เงินเพิ่มปริมาณเงินอย่างไม่อั้นในระบบ แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปล่อยกู้ต่อ เพราะไม่มีใครกู้ เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่มีวี่แววและยังขยายตัวต่ำอยู่ที่ประมาณ 1.52% “ดร.วิชิตกล่าว

พร้อมกับกล่าวอีกว่า เงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ พิมพ์เข้าไปในระบบจำนวนมากมีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้ามาในเอเชีย เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง จนทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ บ้าน ที่ดิน ปรับราคาสูงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยเงินคงไม่ไหลเข้าตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น เพราะตลาดเราไม่ใหญ่มาก แต่เงินจะไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งไม่มีความเสี่ยง และอัตราดอกเบี้ยดี

“อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ถือว่าถูกมาก เมื่อต้นทุนถูกเขาก็มองไปที่ที่มีดอกเบี้ยสูง ซึ่งดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ระดับ 2-3% ก็ถือว่ายังสูง” ดร.วิชิตกล่าว

สิ่งที่สหรัฐฯ ดำเนินมาตรการนั้น ดร.วิชิตฟันธงว่า สหรัฐฯ กำลัง “ลดค่าเงินดอลลาร์” ทำให้ประเทศอื่นเดือดร้อน และ “ก่อกวน” ตลาดโดยไม่สนใจใคร เพราะต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องคนตกงาน และเรื่องเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น กรณีประเทศไทยคิดว่าต้องมีการแทรกแซง ไม่เช่นนั้นเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาก และอัตราดอกเบี้ยต้องถูกลง ไม่เช่นนั้นส่วนต่างจะกว้างขึ้น

ส่วน “ยุโรป” ก็มีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคล้ายสหรัฐฯ แต่ทำได้ไม่มาก เพราะเยอรมันไม่ค่อยเห็นด้วยกับการพิมพ์เงินเข้าระบบ แต่ก็มีการพิมพ์เงิน และอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อน นอกจากนี้ยุโรปทางใต้ อาทิ อิตาลี กรีซ สเปน ยังมีปัญหาหนี้สาธารณะ ต้องรัดเข็มขัด ไม่เช่นนั้นรัฐบาลจะถังแตก ผลกระทบนี้ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าจากไทยลดลง

“ญี่ปุ่น” แม้จะมีวินัยการเงินอย่างเคร่งครัด แต่ก็มีการทำมาตรการแบบ QE ในสหรัฐฯ เพียงแต่ยังไม่ทำเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีแนวคิดเดียวกันกับสหรัฐฯ และยุโรป คือ กดให้เงินเยนต่ำที่สุด

ส่วน “จีน” การส่งออก 20% ของจีนไปยุโรป แต่ยุโรปเศรษฐกิจชะลอตัว คงได้รับผลกระทบ และในช่วงกำลังเปลี่ยนแปลงผู้นำ กว่าจะตั้งตัวต้องใช้เวลาปรับ

“ทุกคนแย่งกันลดดอกเบี้ยลดค่าเงินในตลาดใหญ่ของโลก เพราะฉะนั้นประเทศไทยโดนกระทบอยู่แล้ว” ดร.วิชิตกล่าว

แนะเอกชนกู้ต่างประเทศ ลดต้นทุน

สำหรับผลกระทบต่อไทย ดร.วิชิตกล่าวว่า จะทำให้ความต้องการซื้อสินค้าของไทยลดลง แต่เศรษฐกิจไทยที่โต 4-5% มาจากอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากส่งออกลดลง

ส่วนภาคธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ดร.วิชิตแนะนำว่า ควรออกไปกู้เงินในต่างประเทศ เพราะตอนนี้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินยูโรและเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ก็เพิ่งออกไปกู้ต่างประเทศ ได้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดที่ไม่เคยได้มาก่อน

มั่นใจไทยรับมือภัยเศรษฐกิจโลกได้

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ประเมินเรื่องเงินทุนไหลเข้าเหมือน ดร.วิชิต คือ ชัดเจนว่าจะมีเงินไหลเข้ามา และจะส่งผลกระทบรุนแรง แต่มั่นใจว่า ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) รับมือเรื่องนี้ได้ดี

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

“ต้องชมผู้ว่าฯ ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล) เขารับมือเรื่องนี้ได้ดีมาก ดูจากตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้ามา เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 29.50 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจุบันก็เคลื่อนไหวประมาณ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ ไม่ได้แข็งค่าขึ้นไปจากเดิม เขาอยู่มา 2-3 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเขารับมือได้ดี”

สำหรับเศรษฐกิจยุโรป ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมีความเห็นว่า มีความเสี่ยงที่จะล่มสลายได้ และผลกระทบจะรุนแรงกว่านี้ การแก้ปัญหาของยุโรปตอนนี้เป็นการประคองปัญหา ทำให้การแก้ไขปัญหาช้า แต่ระหว่างนี้ไม่รู้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไร ไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาการเมือง เกิดการประท้วงหรือไม่ เพราะมีคนตกงานจำนวนมาก ถ้าเกิดความรุนแรง บางประเทศอาจหลุดจากยุโรป ซึ่งโอกาสน้อยมาก

แต่ถ้ามีปัญหารุนแรง ม.ร.ว.ปรีดิยาธรประเมินว่า จะกระทบตลาดเงินตลาดทุนยุโรป ทำให้สถาบันการเงินใหญ่ๆ ของยุโรปและสหรัฐฯ ที่มาลงทุนในเอเชียดึงเงินกลับไปช่วยตัวเอง แต่กรณีประเทศไทยมั่นใจว่าสามารถรับมือได้ ดูจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีจำนวน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นจริง ต่างชาติขายหุ้นออกทั้งหมดก็ยังรับได้ แต่ไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้นแบบนั้น

“เศรษฐกิจไทยมี resilience (ความยืดหยุ่น) พอสมควร ภัยมารับได้โดยอัตโนมัติ” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ไทยต้องฉวยโอกาสเออีซี ขยายการค้า-การลงทุน

สำหรับข้อแนะนำฝ่าภัยเศรษฐกิจโลกจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรคือ ต้องฉวยโอกาสทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อีก โดยมองว่าเออีซีคือโอกาสการค้าและการลงทุนของไทย เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นแชมป์เปียนในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว จึงคิดว่ามีโอกาสทางการค้าที่จะขยายได้เพิ่มขึ้น

และประเทศไทยเองควรขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้า ขยายท่าเรือทางฝั่งตะวันตก เช่น ท่าเรือปากบารา เนื่องจากขณะนี้ท่าเรือแหลมฉบังไม่เพียงพอจะรองรับการขนส่งสินค้าแล้ว เพราะหากจะรอท่าเรือทวายที่พูดๆ กัน ก็จะเป็นการยืมจมูกเขาหายใจ และอาจต้อรอไปอีกเป็น 10 ปี นอกจากนี้ ภาครัฐควรแก้กฎเกณฑ์ทางการค้าที่จะเอื้ออำนวยให้คนไทยไปลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น โดยการลงทุนในอาเซียนน่าจะเป็นโอกาสมากกว่าในภาวะที่สหรัฐฯ และยุโรปกำลังมีปัญหา

คาถากันภัย “เลี่ยงตะวันตก วกมาตะวันออก”

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย ให้คาถาสำหรับท่องป้องกันภัยเศรษฐกิจโลกว่า “เลี่ยงตะวันตก วกมาตะวันออก” โดยคำว่า “เลี่ยง” ไม่ได้แปลว่า หนี แต่แปลว่า “หลบ”

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

“ตะวันออกมีปัญหาเยอะแยะที่เราต้องเลี่ยง ตอนนี้โอกาสอยู่ทางตะวันออก ก็วกมาที่ตะวันออก” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ดร.ณรงค์ชัยประเมินว่า สหรัฐฯ กำลังจะตกหน้าผาทางการคลังในอีก 6 สัปดาห์ เนื่องจากสร้างภาระหนี้ไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนยุโรปก็กำลังกระจองอแงอยู่ในอ่างหนี้ เพราะเสพติดประชานิยม ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นโรค “old age syndrome” เพราะฉะนั้น เราต้องเลี่ยงตะวันตกรวมถึงญี่ปุ่นด้วย

โดยธุรกิจตะวันตกกำลังอยู่ในโหมดความเสี่ยงสูง มีเงินก็ไม่ใช้ ทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศก็ขายกลับบ้าน ซื้อสินค้าน้อยลง ขณะที่ธุรกิจตะวันออกกำลังเฟื่องฟูอยู่ในโหมดขยายตัว

“ดังนั้น กลยุทธ์ของไทยเราต้องบริหารจัดการให้ถูกทาง คือ ถ้ามีหุ้นส่วนเป็นตะวันตก เป็นต่างชาติ ถ้าซื้อทรัพย์สินของเขาได้ก็ซื้อ และต้องมองหาลูกค้าทางตะวันออกเพิ่มขึ้น กลยุทธ์เหล่านี้คิดว่าบริษัทไทยทำอยู่แล้ว”