ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ถกนโยบายรับจำนำข้าว วงเสวนาชี้โครงการ “เจ๋ง” แต่ประเทศ “เจ๊ง”

ถกนโยบายรับจำนำข้าว วงเสวนาชี้โครงการ “เจ๋ง” แต่ประเทศ “เจ๊ง”

20 พฤศจิกายน 2012


การอภิปราย “นโยบายจำนำข้าว เจ๋ง เจ๊า เจ๊ง?” – ที่มาภาพ: สถาบันอิศราฯ
การอภิปราย “นโยบายจำนำข้าว เจ๋ง เจ๊า เจ๊ง?” – ที่มาภาพ: สถาบันอิศราฯ

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 สถาบันอิศราฯ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ได้จัดอภิปราย “นโยบายจำนำข้าว เจ๋ง เจ๊า เจ๊ง?” โดยมีผู้เข้าร่วมงานเสวนาคือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI และ ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในช่วงต้นการเสวนา ดร.นิพนธ์ได้เปิดประเด็นว่า โครงการรับจำนำข้าว ดูเหมือนจะมีข้อดีที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกแพง แต่ราคาข้าวสารถูก ทำให้ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน โรงสีได้ประโยชน์ และนักการเมืองได้คะแนน แต่ในความเป็นจริงโครงการนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อภาษีของประชาชน และเป็นผลเสียต่ออุตสาหกรรมข้าวไทย

แผนภาพจากหนังสือ "รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว" โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)
แผนภาพจากหนังสือ “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” โดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.)

ดร.นิพนธ์ได้วิพากษ์แผนภาพจากหนังสือ “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เพื่ออธิบายภาพรวมโครงการรับจำนำข้าว และชี้แจงกรณีความไม่โปร่งใสของนโยบายต่อประชาชนทั่วไป โดยได้ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่และความเสียหายจากนโยบายนี้ เริ่มตั้งแต่การทุจริตในการจดทะเบียน ที่พบว่ามีการนำพื้นที่พืชอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง มาจดทะเบียนเป็นข้าว โดยมีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรู้เห็นเป็นใจ ส่วนในขั้นตอนการรับใบประทวนมีการซื้อขายใบประทวน เมื่อไปถึงโรงสี มีเกษตรกรที่ได้รับเงินช้า ทำให้ต้องขายข้าวให้โรงสีในราคาต่ำกว่า 15,000 บาท เพื่อให้ได้รับเงินในทันที โรงสีที่ทำแบบนี้จึงได้ประโยชน์จากส่วนต่างของราคาในลักษณะนี้

“ในการระบายข้าวจากโกดัง โรงสีข้าวอาจได้ประโยชน์อีก เนื่องจากมีนายหน้านำข้าวใหม่ที่ต้องส่งเข้าโกดังของรัฐไปส่งให้ผู้ส่งออกโดยตรง โดยมีการออกเอกสารรับรองว่ามีการส่งข้าวเข้าโกดังของรัฐแบบไม่ถูกต้อง ทั้งที่ความเป็นจริงกลับส่งให้ผู้ส่งออกโดยตรง ทำให้ข้าวใหม่อยู่ที่ผู้ส่งออก แต่ข้าวเก่าอยู่ที่โกดังของรัฐ โดยในขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพข้าวที่อยู่ในโกดังยังคงมีปัญหา เนื่องจากเซอร์เวเยอร์ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทำการตรวจสอบไม่ละเอียดและมีการรับสินบน ประชาชนจึงเป็นผู้เสียประโยชน์” ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีรัฐมนตรีบางคนออกมาบอกว่าจะไม่มีการนำข้าวออกมาขายในราคาที่ต่ำ แต่จะเก็บข้าวไว้จนกว่าราคาจะสูงขึ้น ก็พบว่าการเก็บข้าวไว้ในโกดังเป็นเวลานานจะทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพและเน่าเสียในที่สุด ในส่วนนี้จึงเป็นต้นทุนที่รัฐต้องแบกรับ นอกจากนี้ ในขั้นตอนการจ่ายเงินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รัฐบาลจะต้องเสียค่าบริหารจัดการประมาณ 3% และต้องจ่ายดอกเบี้ย เนื่องจาก ธ.ก.ส. เป็นผู้จ่ายเงินค่าข้าวให้เกษตรกร จึงมีค่าใช้จ่ายอีกเป็นจำนวนมาก

“ส่วนเรื่องการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ถ้ามีจริง จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นมากกว่านี้ เนื่องจากตลาดข้าวทั่วโลกมีปริมาณไม่มาก เป็นตลาดที่บาง หากมีรายใหญ่เข้ามาซื้อข้าวราคาจะพุ่งสูงขึ้นแน่นอน โดยรัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ได้ แม้ขณะที่ยังไม่มีการส่งมอบสินค้า เรื่องราคาซื้อขายจะถูกปิดเป็นความลับ แต่หลังจากที่ส่งมอบสินค้าแล้วรัฐบาลจะต้องออกมาเปิดเผยราคาที่ทำการซื้อขาย และอธิบายให้ได้ว่าขายราคานี้ด้วยเหตุผลอะไร มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชน” ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ได้ให้ความเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวจะไม่เจ๊ง แต่ประเทศชาติจะเจ๊ง เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้หยิบข้อมูลรับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2554/2555 ที่ใช้เงินในการรับจำนำกว่า 3.3 แสนล้านบาท โดยจะมีความเสียหายที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท จากรายได้ และต้นทุนคือเงินที่ใช้ในการรับจำนำ การแปรสภาพ การขนส่ง การเก็บ และดอกเบี้ย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวย้ำว่า การระบายข้าวในจำนวนสูงเช่นนี้ ในอดีตใช้เวลา 3 ปี และมีต้นทุนที่เกิดจากดอกเบี้ย คุณภาพของข้าวที่ลดลง และค่าเก็บรักษา ดังนั้น ผลสูญเสียที่เกิดจากข้าวนาปีที่รับจำนำในปี 54/55 จำนวน 6.95 ล้านตัน จะมีอย่างน้อย 4.5 หมื่นล้านบาท เมื่อคำนวณตัวเลขข้าวที่รับจำนำทั้งปี 54/55 จำนวน 21.64 ล้านตัน จะเกิดความสูญเสีย 1.4 แสนล้านบาท และหากเป็นข้าวจำนวน 33 ล้านตัน จะสูญเสียเป็นเงินถึง 2.1 แสนล้านบาท

“ซึ่งการใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวในอนาคต ที่จะต้องมีความสูญเสียไม่ต่ำกว่าปีละ 2.1 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศไทยสูงขึ้นถึง 61% ในปี 2562 ในกรณีที่รัฐวางแผนจะไม่ขาดดุลงบประมาณ และ GDP โตขึ้นปีละ 4.5% แต่หากเกิดการขาดดุลปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้หนี้สาธารณะของไทยสูงขึ้นถึง 65.7% ของ GDP ทั้งที่รัฐบาลนี้ตอนเข้ามามีหนี้อยู่ที่ประมาณ 42% ของ GDP ซึ่งหากประเทศมีหนี้สูงเกิน 60% ของ GDP จะถือว่าไม่ดี ไม่รักษาวินัยทางการคลัง และอาจทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีหนี้ล้นตัว ซึ่งความกลัวเรื่องหนี้จะส่งผลกระทบไปยังเรื่องอื่นๆ โดยเฉพาะค่าของเงิน” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) – ที่มาภาพ: สถาบันอิศราฯ
ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) – ที่มาภาพ: สถาบันอิศราฯ

และผู้อภิปรายคนสุดท้ายในเวทีคือ ดร.สิริลักษณา ซึ่งได้กล่าวถึงประเด็นการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการตรวจสอบดูแลและแก้ไขปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวว่า ที่ผ่านมามีคดีที่เกี่ยวข้องกับการรับจำนำข้าวเข้าสู่ ป.ป.ช. เป็นจำนวนมาก และมีการตรวจพบการทุจริตทุกขั้นตอนของโครงการ การที่รัฐบาลออกมาบอกว่าจะอุดรูรั่ว จึงเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ออกมายอมรับว่าเกิดการออกเอกสารไม่ถูกต้อง มีการสวมสิทธิ์ และจำนำข้าวข้ามเขตเกิดขึ้น โดยข้อร้องเรียนที่ ป.ป.ช. ได้รับมากที่สุด ผู้ถูกร้องเรียนจะอยู่ในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

“จากเครื่องมือของ ป.ป.ช. คือกฎหมายฉบับใหม่ ที่ออกเมื่อปีที่แล้ว จะทำให้ ป.ป.ช. มีอำนาจในการตรวจสอบดูแลเรื่องนี้มากขึ้น โดย ป.ป.ช. จะดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ขณะนี้ ป.ป.ช. ได้มีการเสนอรัฐบาลให้มีการจำกัดปริมาณข้าวที่จะเข้าโครงการ แทนที่จะเป็นการจำนำทุกเมล็ด เพราะการรับจำนำทุกเมล็ดทำให้คนที่มีฐานะดีได้รับประโยชน์ไปด้วย ซึ่ง ป.ป.ช. ได้เสนอไปแล้ว” ดร.สิริลักษณากล่าว