ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รับผิดชอบ (2): การเปิดเผยเงื่อนไขสินเชื่อ

ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รับผิดชอบ (2): การเปิดเผยเงื่อนไขสินเชื่อ

1 พฤศจิกายน 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

ในเมื่อผลิตภัณฑ์ทางการเงินสมัยใหม่มักจะซับซ้อนเสียจนผู้บริโภคไม่อาจเข้าใจได้โดยสามัญสำนึก แม้แต่นักการเงินก็ยังงงเป็นไก่ตาแตกได้เวลาเลือกสินเชื่อบ้านหรือบัตรเครดิต วิธีคุ้มครองผู้บริโภคในระบบการเงินสมัยใหม่ที่ได้ผลจึงต้องใช้ทั้ง “ไม้อ่อน” และ “ไม้แข็ง” ประกอบกัน นั่นคือ ใช้ทั้งมาตรการสนับสนุนการแข่งขันในระบบการเงิน และกำหนดกฏการเปิดเผยข้อมูลขั้นต่ำ

การสนับสนุนการแข่งขันจะทำให้ลูกค้าสถาบันการเงินมีทางเลือกมาก ยิ่งมากยิ่งดี แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ กฏการเปิดเผยข้อมูลจะช่วยให้ลูกค้าที่คิดเลขไม่เก่ง สามารถ “รู้ทัน” ผู้ให้บริการ และเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตัวเองได้ หรือที่ ริชาร์ด เธเลอร์ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดัง เรียกว่า “ค่าตั้งต้น” ที่ทำให้คน “รู้เรื่องทางการเงิน” (financially literate) (อ่านรายละเอียดได้ในตอนที่แล้ว)

ในแง่กฏการเปิดเผยเงื่อนไขสินเชื่อ หลายประเทศอาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป กำหนดไว้ในกฎหมายให้สถาบันการเงินทุกแห่งคำนวณและเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นตัวเลขตัวเดียวที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน คือสะท้อนต้นทุนจริงรายปีที่ลูกหนี้ต้องจ่าย เรียกว่า Annual Percentage Rate (เอพีอาร์) จุดประสงค์คือช่วยให้คนธรรมดาสามารถ “มองเห็น” ค่าใช้จ่ายที่แท้จริงของบัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และแพ็คเกจต่างๆ ข้ามสถาบันการเงินได้ง่ายดายกว่าเดิม

เอพีอาร์นั้นสำคัญไฉน? ลองมาดูตัวอย่างกัน

สมมุติว่าเราไปกู้สินเชื่อส่วนบุคคลมา 100,000 บาท ต้องชำระคืนเงินต้นในหนึ่งเดือน บวกดอกเบี้ยร้อยละ 5 และค่าธรรมเนียมการปล่อยสินเชื่ออีก 5,000 บาท ถ้าเราไม่นับรวมค่าธรรมเนียม สินเชื่อก้อนนี้ก็เท่ากับว่ามีเอพีอาร์ (ปกติจะคำนวณเป็นรายปี หรือ effective rate) ประมาณ 80% (1.05^12 = 1.7958, คิดเฉพาะดอกเบี้ยต้องลบ 100% หรือ 1.00 ได้ 0.7958) แต่ถ้าเรารวมค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายจริงอีก 5,000 บาท ก็เท่ากับว่าเราต้องเสียดอกเบี้ยรายเดือนเพิ่มอีกร้อยละ 5 (5,000 / 100,000 = 5%) เท่ากับเสียดอกเบี้ยรวมร้อยละ 5+5 = ร้อยละ 10 ต่อเดือน และเอพีอาร์ก็จะปูดขึ้นเป็น 213% ต่อปีทันที! (1.10^12 = 3.1384)

การคำนวณ APR
การคำนวณ APR

สินเชื่อที่มีเอพีอาร์เท่ากันอาจมียอดการชำระในแต่ละงวด และยอดดอกเบี้ยรวมที่ต้องจ่ายตลอดอายุสินเชื่อแตกต่างกัน เนื่องจากมีระยะเวลาไม่เท่ากัน สมมุติว่าเรากำลังเปรียบเทียบสินเชื่อที่อยู่อาศัย 30 ปี กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย 15 ปี ที่มีเอพีอาร์เท่ากัน สินเชื่อที่มีระยะเวลานานกว่าคือ 30 ปีนั้น มีเวลาให้ “กระจาย” เงินต้นไปโปะมากกว่าสินเชื่อ 15 ปี (ผ่อนแบบลดต้นลดดอกทุกเดือน) จึงทำให้ยอดผ่อนในแต่ละเดือนน้อยกว่า แต่เนื่องจากมีจำนวนเดือนให้เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยมากกว่า ยอดดอกเบี้ยทั้งหมดที่เราต้องจ่ายจึงสูงกว่าสินเชื่อ 15 ปีมาก

ด้วยเหตุนี้เอพีอาร์จึงไม่เหมาะที่จะเปรียบเทียบสินเชื่อที่มีระยะเวลาต่างกัน แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างสินเชื่อที่มีกำหนดเวลาชำระคืนเท่ากัน เอพีอาร์ก็เป็น “เครื่องมือ” ที่มีประโยชน์มากสำหรับผู้ใช้บริการทางการเงิน เพราะมันรวมค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ เช่น ค่าใช้จ่ายการจัดการเงินกู้ ค่าเอกสารสัญญา ฯลฯ เอาไว้หมดแล้ว (แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของธนาคารที่ไม่ใช่ต้นทุนทางการเงินในการปล่อยสินเชื่อ เช่น ค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ที่ผิดนัดชำระ) รวมถึงสะท้อนดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในอัตรา “รายปี” ที่ทบต้นอย่างถูกต้อง ผู้ใช้บริการจะได้ไม่สับสนกับโฆษณาทำนอง “ผ่อน 0% สามเดือน” (แต่ไม่บอกว่าหลังจากนั้นดอกเบี้ยจะเท่ากับ 1% ทบต้นรายวัน) หรือ “ดอกเบี้ยพิเศษ 5% เท่านั้น!” (แต่ไม่บอกว่า 5% นั้นทบต้นรายเดือน เอพีอาร์หรืออัตรารายปีจริงจึงเท่ากับ 80%)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ยิ่งทางการบังคับให้สถาบันการเงินคำนวณและเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเป็นมาตรฐานเดียวกันเท่าใด อย่างเช่นเอพีอาร์ ลูกค้ายิ่งสามารถ “เข้าใจ” และ “เปรียบเทียบ” ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ดีเพียงนั้น

นอกจากกฏเอพีอาร์ ความคิดริเริ่มในภาคเอกชนก็สำคัญไม่แพ้กันในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ปัจจุบันมีเว็บไซต์มากมายที่ช่วยเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ InfoChoice ในออสเตรเลีย ซึ่งให้เราเลือกชนิดและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ที่สนใจ แล้วก็สรุปเงื่อนไขของแต่ละเจ้าอย่างเข้าใจง่ายและเปรียบเทียบกันง่าย

การเปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคลบนเว็บ InfoChoice ออสเตรเลีย
การเปรียบเทียบสินเชื่อส่วนบุคคลบนเว็บ InfoChoice ออสเตรเลีย

หันมาดูเมืองไทย เว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินลักษณะนี้ยังไม่ปรากฏ มีแต่ silkspan.com ซึ่งเป็นเพียงแหล่งรวมโฆษณาและโปรโมชั่นบัตรต่างๆ ของสถาบันการเงิน พูดง่ายๆ คือเป็นแค่ช่องทางการขายอีกช่องหนึ่งเท่านั้น ส่วนในระดับกฎหมาย ปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ที่บังคับให้สถาบันการเงินคำนวณและเปิดเผยเอพีอาร์ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ สนส. 73/2551 เรื่อง “การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับสถาบันการเงิน” ข้อ 5.2.8 กำหนดเพียงให้สถาบันการเงินที่ใช้สื่อทางการตลาด “…ต้องสื่อความให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่าย ไม่ชวนเชื่อเกินความจริง และต้องชี้แจงข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน รวมทั้งระบุอัตราดอกเบี้ย ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับ ของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับแต่ละประเภทให้ชัดเจน” เท่านั้น

ในแง่หนึ่ง กฎการคำนวณและเปิดเผยเอพีอาร์อาจยัง “ไม่จำเป็น” เท่าไรนักในไทย เพราะ ธปท. ยังกำหนดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าธรรมเนียมและเบี้ยปรับต่างๆ สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคล ไว้สูงสุดที่ร้อยละ 28 ต่อปี พูดอีกอย่างคือ เราในฐานะลูกค้าสามารถคิดง่ายๆ ได้เลยว่า สถาบันการเงินทุกแห่งจะเก็บเรา 28% เท่ากันหมด นอกจากนี้ ธปท. ยังกำหนดให้สถาบันการเงินแยกแยะประเภทดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ ตามแบบฟอร์มที่กำหนด และประกาศรายละเอียดให้ทราบโดยทั่วกัน (ดูตัวอย่างของธนาคารกสิกรไทย)

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเอกสารสมัครบัตรเครดิตและบัตรเงินสดรายใหญ่ในไทย 12 แห่ง ผู้เขียนพบว่าสถาบันการเงินบางแห่งยังมีข้อกำหนดที่ไม่เป็นธรรมกับลูกค้า ยกตัวอย่างเช่น เอกสารสมัครของอีซี่บาย อิออน ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารยูโอบี ระบุว่าผู้สมัครยินยอมที่จะไม่เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าชดเชยใดๆ จากธนาคารหรือบริษัท นอกจากนี้ มีสถาบันการเงินเพียง 3 แห่งเท่านั้นที่ระบุว่าจะแจ้งการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้ทราบภายในกี่วัน ได้แก่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารธนชาต และธนาคารกรุงเทพ ทั้งสามแห่งนี้ต่างระบุว่าจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน (กฏ ธปท. ระบุแต่เพียงว่าให้แจ้ง “ภายในเวลาอันควร”) (ดูตารางประกอบ)

ตารางเปรียบเทียบเงื่อนไขบางประการของบัตรเครดิต/บัตรเงินสด
ตารางเปรียบเทียบเงื่อนไขบางประการของบัตรเครดิต/บัตรเงินสด

ในยุคที่ผู้บริโภคร้องหา “ความรับผิดชอบ” จากสถาบันการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนักการเงินและสถาบันการเงินจำนวนมากก็เรียกร้องให้ ธปท. ยกเลิกประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 28% เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างแท้จริง (ซึ่งเป็นแนวคิดที่ผู้เขียนเห็นด้วย) น่าจะถึงเวลาแล้วที่การคำนวณและเปิดเผยเงื่อนไขสินเชื่อ รวมถึง “มาตรฐานขั้นต่ำ” ในการปล่อยสินเชื่อ จะได้รับการอภิปรายอย่างกว้างขวางในสังคมและบัญญัติเป็นกฏเกณฑ์ต่อไป ในฐานะ “กลไกคุ้มครอง” ผู้ใช้บริการทางการเงินซึ่งทวีความจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 21

สัญญาสินเชื่อที่ “เข้าใจง่าย” : ความพยายามของ CFPB

สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงิน (Consumer Financial Protection Bureau: CFPB) หน่วยงานใหม่เอี่ยมของรัฐบาลอเมริกาซึ่งก่อตั้งหลังเกิดวิกฤตการเงินรอบล่าสุดปี 2008 และเพิ่งมีผู้อำนวยการคนแรกเมื่อต้นปี 2012 กำลังศึกษารูปแบบสัญญาสินเชื่อบัตรเครดิตโฉมใหม่ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินเข้าใจมากขึ้นว่าตัวเองต้องจ่ายอะไรเมื่อไร ในฐานะลูกหนี้มีสิทธิอะไร เจ้าหนี้มีสิทธิอะไร ผู้เขียนคิดว่ารูปแบบสัญญาใหม่ที่ CFPB กำลังศึกษาอยู่นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง จึงแปลจากต้นฉบับบนเว็บไซต์ CFPB มาเผยแพร่สำหรับผู้สนใจโดยทั่วกัน (อนึ่ง ฐานข้อมูลสัญญาบัตรเครดิตของ CFPB รวบรวมตัวอย่างสัญญาบัตรเครดิตปัจจุบันจากสถาบันการเงินต่างๆ กว่า 300 แห่ง)

(คลิกที่รูปเพื่ออ่าน)

ต้นแบบสัญญาบัตรเครดิตชนิด "เข้าใจง่าย" ออกแบบโดย CFPB (1)
ต้นแบบสัญญาบัตรเครดิตชนิด “เข้าใจง่าย” ออกแบบโดย CFPB (1)
ต้นแบบสัญญาบัตรเครดิตชนิด "เข้าใจง่าย" ออกแบบโดย CFPB (2)
ต้นแบบสัญญาบัตรเครดิตชนิด “เข้าใจง่าย” ออกแบบโดย CFPB (2)