ThaiPublica > เกาะกระแส > สศช. ประเมินค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ดันค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่ม 10% แต่ต้นทุนเอสเอ็มอีพุ่ง 65%

สศช. ประเมินค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ดันค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่ม 10% แต่ต้นทุนเอสเอ็มอีพุ่ง 65%

27 พฤศจิกายน 2012


การรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา พบว่า รายได้แท้จริงของแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 10%

นางสุวรรณี คำมั่น รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ แถลงชี้แจงว่า ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่ได้รวมค่าล่วงเวลาและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2555 เพิ่มขึ้น 13.3% จากที่เพิ่มขึ้น 7.2% ในช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 39.5% เมื่อวันที 1 เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3% จึงทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ถึง10%

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 2556 เมื่อเทียบการปรับครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยของทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 22.4% และค่าเฉลี่ยของ 70 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาท จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 25.2%

โดยจังหวัดชลบุรี มีค่าจ้างเพิ่มขึ้นต่ำสุด 97% หรือ 27 บาท และจังหวัดพะเยา มีค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นสูงสุด 35.2% หรือ 78 บาท และจังหวัดที่มีค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30% หรือประมาณ 70 บาท มีจำนวน 18 จังหวัด และเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค. 2556 กับเดือน ม.ค. 2554 ยิ่งทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำใน 70 จังหวัด ปรับเพิ่มขึ้น 60-70% (รายละเอียดอัตราการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากับ 300 บาท ของแต่ละจังหวัดในปี 2556 )

เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ใน 70 จังหวัด จะอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะผลกระทบจะรุนแรงมาก

สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลดลง โดยค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นสูง 2 ปีต่อเนื่องรวมประมาณ 65% จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันจากที่เคยได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานในพื้นที่ซึ่งสามารถชดเชยกับต้นทุนค่าขนส่งได้ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา และผู้ประกอบการบางรายยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการภาครัฐได้อย่างเต็มที่ เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากข้อจำกัดที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล และบางรายมีการกู้ยืมเต็มเพดานมาก่อนแล้ว

หลายปัจจัยดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ของเอสเอ็มอีมีความ “เปราะบาง” โดยเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงต่อภาระการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำที่จะเพิ่มขึ้นเพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ การป่าไม้ ผู้ประกอบการเกษตร ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย การบริหารอาหารและเครื่องดื่ม และ ก่อสร้าง

สภาพัฒน์ฯ ยังประเมินว่า การปรับค่าจ้างแรงงานในอัตราเท่ากันทั่วประเทศจะทำให้แรงงานมีทางเลือกมากขึ้น และจูงใจให้แรงงานกลับคืนภูมิลำเนา ซึ่งอาจซ้ำเติมการขาดแคลนแรงงานที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในสาขาการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ อัญมณี เฟอร์นิเจอร์ ขนส่ง ก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร และการค้าส่งค้าปลีก

ดังนั้นภาคเอกชนต้องรีบปรับตัว เช่น เพิ่มการใช้เครื่องจักรในการทำงาน การย้ายฐานการผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนด้านอื่นๆ เป็นต้น โดยมาตรการของภาครัฐจะต้องเอื้อและสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาประสิทธิภาพแรงงาน สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานยังช้า และไม่สอดคล้องกับผลตอบแทนที่แรงงานได้รับ ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 ปี 2555 ผลิตภาพแรงงานเท่ากับ 2.5% เทียบกับ 2.1% ในไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว และ 2.7% ในไตรมาสที่ผ่านมา

แผนภาพแสดงดัชนีค่าจ้างเฉลี่ยและดัชนีราคาผู้บริโภค
แผนภาพแสดงดัชนีค่าจ้างเฉลี่ยและดัชนีราคาผู้บริโภค

สภาพัฒน์ฯ ยังประเมินว่า ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านราคาสินค้าไปยังผู้บริโภค ซึ่งจะกระทบต่อกลุ่มแรงงานอื่นๆ ที่มิใช่ลูกจ้าง และไม่ได้รับการปรับเพิ่มผลตอบแทน เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแรงงานประมาณ 5.37 ล้านคน ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท

ผลกระทบการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศที่เห็นได้ชัดอีกประเด็นคือ เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ดังนั้น จะจูงใจให้มีแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดประเทศไทย

เปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในภูมิภาคอาเซียน
เปรียบเทียบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในภูมิภาคอาเซียน

นางสุวรรณีกล่าวว่า ภาครัฐจะต้องเผ้าระวังในการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่อาจจะมีมากขึ้น รวมถึงต้องเข้มงวดในการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2555 มีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 172,942 คน เป็นชนกลุ่มน้อย 25,523 คน และคนสัญชาติพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ขยายระยะเวลาในการพิสูจน์สัญชาติและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาญาจักรไปจนถึงวันที่ 14 ธ.ค. 2555 มีประมาณ 147,419 คน ซึ่งมีอาชีพกรรมกรและคนทำงานบ้าน

“แม้การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงาน แต่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางแนวทางบรรเทาผลกระทบด้านอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย” รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ กล่าว

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ฯ ประเมินว่า ในภาพรวมการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศจะไม่ส่งผลให้อัตราการว่างงานของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เนื่องจากสภาพตลาดแรงงานยังอยู่ในภาวะตึงตัว ประกอบกับภาคเกษตรยังสามารถรองรับแรงงานเมื่อมีการเคลื่อนย้ายออกภาคการผลิตต่างๆ ได้

แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ จะทำให้แรงงานรอฤดูกาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น ชั่วโมงการทำงานของแรงงานมีแนวโน้มต่ำลง และแรงงานที่ทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมง มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งมีนัยต่อรายได้และคุณภาพชีวิตของแรงงาน นอกจากนั้น โอกาสในการหางานทำของผู้ที่จบการศึกษาใหม่จะยากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะชะลอการจ้างงานเพิ่ม หรือรับเฉพาะผู้ที่มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการเท่านั้น

ทั้งนี้ ภาวะการมีงานทำในไตรมาส 3 ปี 2555 รองเลขาธิการสภาพัฒน์ฯ รายงานว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้น และการว่างงานลดลง

โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.58% คิดเป็นผู้ว่างงานจำนวน 232,400 คน ลดลงจากอัตราการว่างงาน 0.65% ในช่วงเดียวกันในปีก่อน หรือลดลง 24,795 คน แต่พบว่ามีการว่างงานแฝง หรือทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ประมาณ 78,800 คน

“ตัวเลขการว่างงาน และการว่างงานแฝง เมื่อรวมกันแล้วยังมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ถือว่าสถานการณ์แรงงานตึงตัว” นางสุวรรณีกล่าว

สำหรับภาวะการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้น 0.6% ภาคเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 3.6% เนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่วนนอกภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง 1.4% สาขาที่ลดลงมาก ได้แก่ การค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม และภัตตาคาร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดสรรแรงงานของผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการปรับตัวอันเนื่องมาจากการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ

ส่วนสาขาการผลิตและก่อสร้างมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.5% และ 7.0% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากภาคการผลิตกลับมาจ้างงานได้เต็มที่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลังประสบน้ำท่วม

นางสุวรรณีกล่าวว่า การจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการว่างงานที่ลดลง ไม่สอดคล้องกับผลผลิตในไตรมาส 3 ปี 2555 โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่มีผลผลิตลดลง แต่การจ้างงานยังเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการยังรักษาการจ้างแรงงานเดิมไว้ แต่ปรับตัวโดยลดชั่วโมงการทำงานลงแทน

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2555 กำลังแรงงานมีจำนวน 39.5 ล้านคน

ดาวโหลดรายละเอียดการแถลงข่าวเศรษฐกิจและสังคม