ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เพื่อไทยคุ้ย ‘ประมูลลับ’ ย้อนรอย ปชป. โยง 3 บริษัทยักษ์วงการค้าข้าว

เพื่อไทยคุ้ย ‘ประมูลลับ’ ย้อนรอย ปชป. โยง 3 บริษัทยักษ์วงการค้าข้าว

24 พฤศจิกายน 2012


ข้าว ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com
ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com

การอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 25-28 พ.ย.นี้ มีไฮไลต์สำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจนำไปเชือดเฉือนให้เห็นการทุจริตในการดำเนินนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ก็คือเรื่องของโครงการรับจำนำข้าว ที่ถูกตีตราว่าทุจริตทุกขั้นตอน

โดยจะมีการเปิดข้อมูลตีแสกหน้าว่า มีการใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วเฉียด 3 แสนล้านบาท แต่เงินกลับไม่ได้ถึงมือชาวนาอย่างที่เคยหาเสียงไว้ สุดท้ายไปตกหล่นที่ “หน้าตัก” ของบรรดานายหน้า พรรคพวก โรงสี โกดัง เซอร์เวเยอร์ และนักการเมือง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุลินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าทีมอภิปราย มีการเชิญทีมเชือดของพรรคประชาธิปัตย์ไปติวเข้มหนึ่งต่อหนึ่งเมื่อวันพุธที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีการย้ำไม่ให้เอกสารหรือประเด็นหลุดรอดไปถึงรัฐบาลเป็นอันขาด

อย่างไรก็ตาม มีความเคลื่อนไหวจากซีกรัฐบาล ที่ส่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดงและทีมงาน เข้าไปนั่งเป็น รมช.พาณิชย์ ประกบคู่เป็นเทรนเนอร์ให้กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยขุดคุ้ยไปเจอก็คือ การขายข้าวในยุคของนางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมช.พาณิชย์ จากพรรคภูมิใจไทย ก็มีจุดรั่วไหลที่น่ากังขา และอาจใช้วิธีการที่คล้ายคลึงกับที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมจะนำไปอภิปรายพอดี

เมื่อการขายข้าวทุกลอตให้กับเอกชนในรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ซึ่งนายอภิสิทธิ์มอบให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ดังนั้น หากมีการทุจริตที่กระทรวงพาณิชย์จริง รัฐบาลประชาธิปัตย์จะอ้างว่าไม่รู้เรื่องไม่เกี่ยวข้องไม่ได้

ถือเป็นการ battle ใช้ข้อมูลย้อนเกล็ดแบบหมัดต่อหมัด อีกทั้งยังอาศัยความเป็นนักพูด นักปราศรัย ของนายณัฐวุฒิ ย่อมทำให้เกมการเมืองครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่เป็นรอง นอกจากจะเจอแฉหลักฐานจะๆ เท่านั้น

ย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มีข้าวในสต็อกที่ “รับไม้ต่อ” มาจากยุคนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ประมาณ 5 ล้านตัน แต่ก็ทยอยระบายออกไปโดยให้ผู้ส่งออกมาประมูลได้ราว 3 ล้านตัน ซึ่งนางพรทิวาจะต้องชงเรื่องเสนอประธาน กขช. หรือก็คือนายไตรรงค์ทุกครั้ง

ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวในวงการค้าข้าวกล่าวว่า ในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็มีการเปิดประมูลลับเช่นเดียวกับในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อถูกโจมตีมากก็เริ่มออกประกาศเปิดประมูลเป็นการทั่วไป จนกระทั่งมีลอตหนึ่งที่ขายให้กับบริษัท สยามอินดิก้า ซึ่งอดีตก็คือบริษัท เพรสซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง ที่เคยมีปัญหาการทุจริตในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ

“ข้าวลอตที่สยามอินดิก้าได้ไป 3 แสนตัน จะต้องส่งออกไปยังประเทศอินโดนีเซีย แต่ปรากฏว่ายังส่งออกไม่ได้จนตกค้างมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปี 2554 เนื่องจากในขณะนั้นมีความขัดแย้งกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย” แหล่งข่าวระบุ

โดยเป็นที่ทราบกันดีในวงการค้าข้าวว่า บริษัท สยามอินดิก้า ก็คือนายหน้าที่วิ่งเจรจาขายข้าวและส่งออกให้กับนักการเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือในจังหวัดพิจิตรและสุโขทัย แม้จะมีบริษัทพ่อค้าข้าวรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมูลขายข้าวในรัฐบาลประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยอีก 2 บริษัท แต่ทั้ง 2 ราย ก็ยังไม่กล้าได้กล้าเสียเท่ากับสยามอินดิก้า

ดังนั้น ข้อมูลที่พรรคเพื่อไทยมีอยู่ในมือคือโจทย์สำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังคิดไม่ตกในการแก้ข้อกล่าวหาครั้งนี้ ไม่นับรวมข้อมูลการทุจริต “โครงการประกันรายได้เกษตรกร” ที่พรรคประชาธิปัตย์นำมาเป็นข้ออ้างว่าเงินถึงมือชาวนามากกว่าโครงการจำนำข้าว แต่ในความเป็นจริงก็คือ โครงการประกันรายได้ก็มีการทุจริตเช่นเดียวกัน

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำมาขยายแผลพรรคเพื่อไทยคือ ขณะนี้มี “นายหน้า” มาวิ่งรับออร์เดอร์จากพ่อค้าไปซื้อข้าวจากโรงสีที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาลในราคาถูกๆ โดยมีนักการเมืองหนุนหลัง เป็นการลักลอบนำข้าวใหม่ออกมาขาย ทั้งๆ ที่ประกาศขององค์การคลังสินค้า (อคส.) กำหนดว่าต้องสีแปรเพื่อเก็บสต็อก

โดยเมื่อถึงเวลาที่โรงสีต้องส่งมอบข้าวให้รัฐ ก็ค่อยไปหาข้าวมาคืนโกดัง ถือเป็นวิธีการเวียนเทียนสต็อก ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการว่าโรงสีมีแต่ได้ เพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและไม่ต้องแบกต้นทุนทางการเงินใดๆ เลย ขณะที่คนเสียประโยชน์จริงๆ คือชาวนา

“มีการระบายข้าวอยู่ลอตหนึ่ง เป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งราคาตลาดอยู่ที่ 23 บาทต่อกิโลกรัม แต่พ่อค้าแอบย่องมาซื้อไปแค่ 8 บาทต่อกิโลกรัม โดยอ้างว่าเป็นข้าวเก่า ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นข้าวใหม่” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่ข้าวลอตใหญ่ๆ นั้น ทางกระทรวงพาณิชย์เคยนำไปขายให้พ่อค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศเพื่อนำไปทำข้าวถุงจำนวน 2 แสนถุง แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครรู้ว่าข้าวถุงนั้นออกสู่ตลาดจริงหรือไม่ รวมถึงข้าวที่ออกจากโกดังไปเข้าโครงการธงฟ้า ซึ่งมีทีมที่ปรึกษารัฐมนตรีดูแลอยู่ ก็ไม่ทราบว่าได้กระจายถึงมือประชาชนหรือไม่อย่างไร และใครเป็นคนตรวจสอบ

ส่วนบริษัทที่คาดว่าได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด คือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรของประเทศ เพราะมีการกว้านซื้อข้าวในตลาดก่อนการเลือกตั้งใหญ่เมื่อเดือน ก.ค. 2554 เพื่อกักตุนไว้ในมือ เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศนโยบายจำนำข้าวในราคาสูง ก็มีการแนะนำให้รัฐบาลจำนำข้าวแล้วเก็บสต็อกตุนไว้อย่าเพิ่งขาย สุดท้าย พ่อค้าข้าวก็ต้องไปซื้อข้าวจากบริษัทยักษ์ที่มีสินค้าอยู่ในมือเพียงรายเดียวในตลาด

ด้าน ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เชื่อว่า อาจจะมีการลักลอบนำข้าวในโกดังไปขายภายในประเทศ เนื่องจากเมื่อคำนวณตามหลักเศรษฐศาสตร์ การที่รัฐบาลรับซื้อข้าวสารมาเก็บสต็อกไว้ทั้งหมด และเป็นผู้ผูกขาดกุมตลาดรายเดียว ราคาก็ควรสูงขึ้นแล้ว

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีการระบายออกไปเพียง 1.46 ล้านตัน จากทั้งหมดประมาณ 12-13 ล้านตัน แต่ปรากฏว่าราคาข้าวสารในตลาดกลับไม่กระเตื้องหรือเคลื่อนไหว ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีทางเป็นไปได้ แปลว่าโรงสีน่าจะมีการนำข้าวสารที่แปรสภาพแล้วออกมาขาย

ตามเอกสารของกระทรวงการคลัง ที่เสนอต่อ ครม. เมื่อเดือน ก.ย. 2555 ได้ระบุให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวในปี 2555/56 ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยเมื่อรวมๆ แล้วรัฐบาลใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการรับจำนำถึง 3 แสนล้านบาท ทั้งที่ยังไม่มีการระบายขายข้าวในสต็อก ทำให้ยังไม่สามารถคืนเงินให้ ธ.ก.ส. ได้ครบจำนวน

ดังนั้น กระทรงการคลังจึงต้องย้ำให้รัฐบาลต้องเป็นผู้รับภาระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นกับ ธ.ก.ส. ด้วย ตรงนี้ถือเป็นหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ สุดท้ายตัวเลขอาจไปทะลุ 60% ของจีดีพี

ดร.นิพนธ์เห็นด้วยกับกระทรวงการคลังที่เสนอว่า รัฐจะต้องปิดบัญชีโครงการจำนำทุกสิ้นปีงบประมาณ โดยให้มีการตีราคามูลค่าสต็อกตามราคาตลาด (Mark to Market) เพื่อให้รู้ว่าบัญชีโครงการกำไรหรือขาดทุนอย่างไร

“หมายความว่า กระทรวงการคลังไม่ยินยอมให้กระทรวงพาณิชย์ทำเหมือนเดิม คือคำนวณผลกำไรขาดทุนเมื่อปิดโครงการหรือระบายผลผลิตเสร็จสิ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ ธ.ก.ส. ต้องแบกรับภาระต้นทุนเหมือนที่ผ่านมา” ดร.นิพนธ์กล่าว

นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังบีบให้หน่วยงานที่ดูแลนโยบายจำนำข้าว ต้องนำเงินจากการที่จำหน่ายข้าวได้ ส่งเข้าคลังภายใน 3 วันนับตั้งแต่วันรับเงิน หากส่งเงินคืนล่าช้าจะต้องถูกปรับดอกเบี้ย 15% ตรงนี้เพื่อป้องกันเล่ห์กลของพ่อค้าข้าว ที่อาจขายข้าวแล้วไม่ยอมส่งเงินคืนกระทรวงพาณิชย์ทันที แต่เอาเงินไปหมุนก่อน คาดว่าพ่อค้าพวกนี้เป็นพวก “เส้นใหญ่” ที่รู้จักนักการเมืองทั้งนั้น

นักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไอเรียกร้องให้สื่อมวลชนเกาะติดข้อเสนอของคลัง ที่บอกให้กระทรวงพาณิชย์ต้องรายงานการติดตามสต็อก การระบายข้าว สินค้าคงเหลือ ทุกอย่างในโครงการจำนำข้าว ให้ ครม. ทราบทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะปิดโครงการและใช้หนี้ได้หมด ซึ่งขณะนี้ครบกำหนดเดือนแรกแล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีการตามเอกสารบัญชีที่กระทรวงพาณิชย์ต้องรายงานหรือไม่อย่างไร