ThaiPublica > เกาะกระแส > ศึกภายในสภาอุตฯวุ่น “พยุงศักดิ์” งัดกฎหมายสู้ ชี้ปลดประธาน ส.อ.ท. ต้องผ่านครม. – ใช้เสียงที่ประชุมสามัญ 2 ใน 3

ศึกภายในสภาอุตฯวุ่น “พยุงศักดิ์” งัดกฎหมายสู้ ชี้ปลดประธาน ส.อ.ท. ต้องผ่านครม. – ใช้เสียงที่ประชุมสามัญ 2 ใน 3

28 พฤศจิกายน 2012


ปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกลุ่มสมาชิก ส.อ.ท. จำนวนหนึ่ง ไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ในฐานะประธาน ส.อ.ท. โดยอ้างเหตุผลว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. ยอมให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำวันละ 300 บาท ดังที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2556 นั้น

กลุ่มผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. และสมาชิก ส.อ.ท. จำนวนหนึ่ง ที่ไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายพยุงศักดิ์ในเรื่องดังกล่าว ได้ออกล่ารายชื่อสมาชิก ส.อ.ท. และนัดรวมพลที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะใช้เวทีการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กส.) ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ปลดนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.

หลังจากนายพยุงศักดิ์ทราบเรื่อง ศึกในสภาอุตฯ ก็เริ่มปะทุขึ้น วันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 นายพยุงศักดิ์ออก คำสั่งย้ายผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. และคำสั่งดึงอำนาจรองประธานและเลขาธิการ ส.อ.ท. กลับคืนสู่ประธาน ส.อ.ท.

ต่อมา นายพยุงศักดิ์ทำหนังสือเลื่อนการประชุม กส. ส่งผ่านอีเมล์และเอสเอ็มเอส โดยแจ้งเหตุผลต่อสมาชิก ส.อ.ท. ทั่วประเทศว่าเป็นช่วงที่มีการชุมนุมของ “กลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม” หรือ “ม็อบ เสธ.อ้าย” เกรงว่าผู้มาประชุมจะมีอันตราย และในวันเดียวกันนั้นเอง นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. ทำหนังสือแจ้งสมาชิก ส.อ.ท. ว่าไม่มีการเลื่อนการประชุม กส. ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ได้ส่งอีเมล์และเอสเอ็มเอสแจ้งให้กับสมาชิก ส.อ.ท. สวนสับสลับกันไปมาจนสมาชิก ส.อ.ท. เกิดความสับสน

นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. เปิดแถลงข่าวไม่เลื่อนการประชุม กส.
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. เปิดแถลงข่าวไม่เลื่อนการประชุม กส.

ช่วงบ่ายของวันที่ 25 พฤศจิกายน 2555 นายพยุงศักดิ์จึงเปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ยืนยันว่า “ไม่มีการประชุม กส. ในวันที่ 26 พฤศจิกายน2555” ขณะที่นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการ ส.อ.ท. เปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเดียวกัน ยืนยันว่า “ยังมีการประชุม กส. เหมือนเดิม”

จนกระทั่งถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เวลา 15.00 น. มีกรรมการ ส.อ.ท. เดินทางมาลงทะเบียนที่หน้าห้องประชุม ส.อ.ท. 182 คน จากจำนวนกรรมการทั้งหมด348 คน ซึ่งมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง อันเป็นเป็นตามระเบียบของ ส.อ.ท. ให้สามารถเปิดประชุมได้ แต่ห้องประชุมถูกปิด จึงใช้พื้นที่หน้าห้องประชุมและราวบันไดเปิดประชุม กส. โดยมอบหมายให้นายธนิต โสรัตน์ เป็นประธานการประชุม กส. แทนนายพยุงศักดิ์

บรรยากาศการประชุม กส. หน้าห้องประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555
บรรยากาศการประชุม กส. หน้าห้องประชุมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555

การประชุมวันนั้นมี 7 วาระ ส่วนใหญ่เป็นวาระเพื่อทราบ แต่พอถึงวาระที่ 7 ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระยองเสนอให้ปลดนายพยุงศักดิ์จากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. ฐานที่ไม่ทำหน้าที่คัดค้านการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จากนั้นขอให้กรรมการ กส. ลงคะแนนเสียงปลดนายพยุงศักดิ์และกรรมการบริหาร 70 คน พ้นจากตำแหน่งไปด้วยคะแนนเสียง 139 คน พร้อมกับเสนอให้แต่งตั้งนายสันติ วิลาสศักดานนท์ อดีตประธาน ส.อ.ท. 2 สมัย ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานแทนนายพยุงศักดิ์ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2557

หลังจากที่สื่ออมวลชนเกือบทุกแขนงออกข่าวเรื่องนายพยุงศักดิ์ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ในช่วงเช้าของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 นายพยุงศักดิ์ได้เดินทางไปขอพบนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่อาคารรัฐสภา โดยนายพยุงศักดิ์ ยืนยันว่า ตนยังดำรงตำแหน่งประธานส.อ.ท.ตามกฎหมายอย่างชอบธรรม หลังจากทางฝ่ายการเมืองรับฟังคำชี้แจงจบ สรุปว่ากลุ่มสมาชิกส.อ.ท.ที่ออกมาเคลื่อนไหว หยิบประเด็นขึ้นค่าแรง 300 บาทมาเป็นเหตุผลขับไล่นายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่ง กลุ่มนี้จึงถือเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลด้วย จากนั้นนายพยุงศักดิ์เดินทางกลับมาที่ส.อ.ท. เพื่อเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนพร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม กับ 8 คลัสเตอร์ที่ห้องประชุม ส.อ.ท. ในเวลา 11.00 น. การแถลงข่าวครั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ กล่าวอย่างมั่นใจว่า “ตนจะขอดำรงตำแหน่งประธานส.อ.ท.ไปจนครบวาระเดือนมีนาคม 2557”

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. พร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม กับ 8 คลัสเตอร์ เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีถูกปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. พร้อมกับกลุ่มอุตสาหกรรม 20 กลุ่ม กับ 8 คลัสเตอร์ ชี้แจงกรณีถูกปลดออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555

นายพยุงศักดิ์ชี้แจงว่า ประธาน ส.อ.ท. มีอำนาจสั่งเลื่อนประชุม กส. ได้ ที่ผ่านมาประธาน ส.อ.ท. มีการสั่งเลื่อนประชุมมาแล้วหลายครั้ง และการประชุม กส. ในวันที่ 26พฤศจิกายน 2555 อยู่ในช่วงที่มีการชุมนุมม็อบ เสธ.อ้ายพอดี เกรงว่าสมาชิกที่มาประชุมจะเป็นอันตราย ประกอบกับมีสมาชิกบางกลุ่มความเห็นไม่ตรงกัน ควรจะให้เวลาสมาชิกพิจารณาทบทวนไตร่ตรอง ความไม่เข้าใจกัน จึงสั่งเลื่อนการประชุม กส.

ส่วนการปลดประธาน ส.อ.ท. และกรรมการออกจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530แล้วจะทำได้ 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 เปิดประชุมใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิก ส.อ.ท. ทั้งหมด 7,871 คน และวิธีที่ 2 หากพบว่าประธาน ส.อ.ท. และกรรมการ กระทำความผิดอย่างร้ายแรงและมีหลักฐานชัดเจน เป็นอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องทำเรื่องปลดประธาน ส.อ.ท. หรือกรรมการเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติถึงจะมีผลบังคับใช้

พยุงศักดิ์

“วันนี้ผมยังเป็นประธาน ส.อ.ท. ถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และยังมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานตามปกติ และผมจะนั่งตำแหน่งนี้ไปจนครบวาระเดือนมีนาคม 2557 ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วยเป็นสิทธิของท่าน ซึ่งต้องทำตามขั้นตอน แต่ท่านต้องไปใช้กระบวนการอื่น ไม่ใช่มาใช้เวทีการประชุม กส.”นายพยุงศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงเหตุผลที่นายพยุงศักดิ์มีคำสั่งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงของ ส.อ.ท. นายพยุงศักดิ์ชี้แจงว่า คำสั่งโยกย้ายเป็นอำนาจการบริหารของประธาน ส.อ.ท. แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ถูกโยกย้ายมีความผิด ทั้งนี้เพื่อความเหมาะสม จึงย้ายไปรับผิดชอบงานด้านอื่น ส่วนการดึงอำนาจการบริหารของเลขาธิการ ส.อ.ท. กลับคืนมาที่ประธาน ส.อ.ท. ก็อยู่ในขอบเขตอำนาจของตน เมื่อเห็นว่ามีความไม่เหมาะสม ก็ต้องดึงอำนาจบริหารกลับมา

ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลปลดนายพยุงศักดิ์นั้น นายพยุงศักดิ์ชี้แจ้งว่า ที่ผ่านมาตนได้ทำเรื่องคัดค้านรัฐบาลมาโดยตลอด แต่เนื่องจากเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ประกาศต่อที่ประชุมรัฐสภา และเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปแล้ว ยากที่จะทัดทาน ในเมื่อคัดค้านไม่ได้ก็ต้องมาหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งทาง ส.อ.ท. ได้ทำเรื่องเสนอรัฐบาลไปแล้ว 4 มาตรการ อันประกอบไปด้วย

1. จัดตั้งกองทุนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้ผู้ประกอบการ

2. มาตรการลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด (Cash express) เช่น ลดอัตราการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้างเหลือ 2.5% เป็นเวลา 3 ปี, ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนคำนวณภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายไปจริง, เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีเป็นเวลา 3 ปี, ลดภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ 50% เป็นเวลา 3 ปี

3. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น จัดตั้งกองทุนร่วมทุน, พัฒนาและวิจัย

4. มาตรการด้านภาษี เช่น ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับเอสเอ็มอี และลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 0.1%

ตามกำหนดการ ทาง ส.อ.ท. จะนำข้อเสนอทั้งหมดไปประชุมร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555

ประเด็นการขึ้นค่าแรง 300 บาทที่ฝ่ายตรงข้ามหยิบขึ้นมาเป็นข้ออ้างปลดนายพยุงศักดิ์นั้น เบื้องลึกคนในสภาอุตฯมองว่าน่าจะเป็นเป้าลวง เพราะที่ผ่านมานายพยุงศักดิ์ออกมาคัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะขับไล่นายพยุงศักดิ์ออกไป ตั้งประธานส.อ.ท.คนใหม่เข้ามา ก็คงจะไปยกเลิกนโยบายนี้ไม่ได้ เพราะเป็นมติค.ร.ม.ออกมาแล้วให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

แต่ที่น่าสนใจในช่วงท้ายๆ ของการแถลงข่าว นายพยุงศักดิ์ได้พูดถึง“โครงการฝึกอบรมชะลอการเลิกจ้างวงเงิน 60 ล้านบาทฉาว เร่งอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน-ป.ป.ช.-ส.อ.ท. ตรวจสอบ”ว่า หลังจากที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสนำเสนอข่าวว่า มีผู้ประกอบการจังหวัดลพบุรีที่เข้าร่วมโครงการนี้ ได้รับเงินค่าจัดฝึกอบรมพนักงานไม่ครบตามจำนวน ทาง ส.อ.ท. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตนได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง”เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 ซึ่งในคำสั่งกำหนดให้คณะกรรมการฯ ต้องสรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายใน 30 วัน

ก่อนหน้านี้ ส.อ.ท. ขอให้ประธานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดลพบุรี ทำหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากที่ได้รับเอกสารชี้แจงพยานหลักฐานต่างๆ ส.อ.ท. ได้ส่งข้อมูลทั้งหมดไปให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรียบร้อยแล้ว แต่ในขณะนี้พ้นกำหนด 30 วัน ที่ระบุไว้ในคำสั่ง ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังไม่สามารถสรุปผลการสอบสวนได้ ซึ่งตนคงต้องไปติดตามคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท.
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.

“ปกติตามกฎหมาย ส.อ.ท. จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลเพียงผู้เดียว ดังนั้น ขั้นตอนในการดำเนินโครงการต่างๆ กับรัฐบาลจะต้องทำเรื่องผ่าน ส.อ.ท. จากนั้น ส.อ.ท. จะมอบหมายให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของ ส.อ.ท. รับไปดำเนินการต่อไป แต่โครงการนี้ไม่ได้ผ่าน ส.อ.ท. จึงไม่มีข้อมูลและไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน หากไม่มีคนไปร้องเรียนกับไทยพีบีเอส ทาง ส.อ.ท. ไม่มีทางที่จะทราบเรื่องนี้ได้ นอกจากที่ลพบุรีแล้วจะมีจังหวัดอื่นอีกหรือไม่ คงต้องไปถามคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง”นายพยุงศักดิ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า กรณีผู้ประกอบการจังหวัดลพบุรีได้รับเงินไม่ครบ เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวปลดนายพยุงศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.หรือไม่ นายพยุงศักดิ์ตอบสั้นๆ ว่า “ไม่ทราบ แต่นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”