ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปรียบเทียบข้อเท็จจริง “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ฉบับรัฐบาล VS “รู้ (ไม่) ลึก รู้ (ไม่) จริง จำนำข้าว” ฉบับทีดีอาร์ไอ

เปรียบเทียบข้อเท็จจริง “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” ฉบับรัฐบาล VS “รู้ (ไม่) ลึก รู้ (ไม่) จริง จำนำข้าว” ฉบับทีดีอาร์ไอ

25 พฤศจิกายน 2012


ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้าน และทักท้วงให้ยกเลิกนโยบายจำนำข้าว ประกอบกับอุณหภูมิการเมืองกำลังร้อนระอุจากการที่พรรคฝ่ายค้านเตรียมเปิดอภิปรายไม่วางใจ และหนึ่งในประเด็นเด็ดของการอภิปรายนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในครั้งนี้คือ นโยบายจำนำข้าว

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลจึงออกหนังสือ “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” จำนวน 20 หน้า ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดส่งหนังสือ รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว ที่จัดทำโดยกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ออกเผยแพร่สู่สาธารณะชน เพื่อชี้แจงถึงนโยบายดังกล่าว ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในขณะนี้ว่า “ถูกต้อง โปร่งใส และชาวนาพึงพอใจ”

แต่มีข้อสังเกตว่า การออกหนังสือฉบับนี้ นอกจากจะออกมาเพื่อรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านแล้ว ยังเป็นการ “หลบเลี่ยง” ที่จะตอบคำถามข้อกังขาในหลายๆ เรื่อง ทั้งการทุจริต การระบายข้าว การใช้เงินภาษีจำนวนมาก จนถึงหายนะอุตสาหกรรมข้าวไทย เป็นต้น

หนังสือ “รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว” จึงเป็นเพียงการ “ประชาสัมพันธ์” นโยบายที่ให้ข้อมูลด้านเดียวของรัฐบาล และที่สำคัญคือ เป็นการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และ ดร.อัมมาร สยามวาลา สองนักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ จึงออกแรงทำข้อมูลอีกชุดหนึ่ง เพื่อชี้ประเด็น “ขาดตกบกพร่อง” ของหนังสือ รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว และนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นเนื้อหาพูดคุยกับผู้สื่อข่าวในหัวข้อ “จำนำข้าว: อบรมผู้สื่อข่าว”

“หนังสือเล่มนี้ รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว ข้อมูลถูกต้อง แต่อยู่ที่ว่าวิธีการนำเสนอ ซึ่งให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน” ดร.นิพนธ์กล่าว

ตัวอย่างข้อมูลที่หนังสือ รู้ลึก รู้จริง ให้ข้อมูลไม่ครบ คือ เหตุผลที่รัฐบาลอ้างว่า ต้องทำโครงการจำนำข้าวเพราะ “หากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด พี่น้องเกษตรกรไทยคงหนีไม่พ้นวัฏจักรความยากจน”

ดร.นิพนธ์บอกว่า ไปเช็คดูแล้ว ข้อมูลที่รัฐบาลอ้างนั้นถูกต้อง ไม่มีตรงไหนผิดเลย ใช้ได้ แต่เป็นการให้ข้อมูลที่รัฐบาลตีความด้านเดียว ไม่ครบถ้วน

ทีดีอาร์ไอได้ทำข้อมูลส่วนที่ขาดหายไปมาแสดงให้เห็นว่า ชาวนาไม่มีทางหลุดพ้นจากวัฏจักรความยากจน ความจริงแล้วเกษตรกรและชาวนาไทยมีทางหลุดพ้นจากหนี้และวัฏจักรความยากจนได้ โดยมีวิธีหลุดพ้นที่สำคัญก็คือ ไปหารายได้อื่น และรายได้อื่นมากกว่าทำนา

ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2554 พบว่า สัดส่วนรายได้ของชาวนาที่ยากจนที่สุด 20% มีรายได้จากภาคเกษตรน้อยมากเพียง 15.6% แต่มีรายได้นอกภาคเกษตรถึง 84.4% ขณะที่ชาวนารวยที่สุด 20% สัดส่วนรายได้มาจากภาคเกษตรค่อนข้างมากถึง 57% แต่ก็ยังมีรายได้นอกภาคเกษตรด้วยถึง 43%

ดร.อัมมารอธิบายเพิ่มเติมว่า รายได้ส่วนใหญ่นอกภาคเกษตรมาจากลูกหลานที่ออกไปทำงาน และที่ออกไปทำงานได้ก็มาจากนโยบายรัฐบาลหลายอย่าง เช่น การศึกษา และอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้เขามีงาน จะสังเกตว่า คนที่ทำเกษตรล้วนๆ จะมีรายได้น้อยกว่าพวกที่ทำเกษตรและมีรายได้นอกภาคเกษตร

ดร.นิพนธ์สรุปว่า ชาวนายิ่งจนก็ยิ่งพยายามหารายได้จากนอกภาคเกษตร นี่คือทางออกของเขา ไม่ใช่อยู่ให้ติดวัฏจักรความยากจนเพราะฉะนั้นข้อมูลถูก แต่การให้ข้อมูลบิดเบือน ตีความไม่ครบ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลของข้าราชการ กรุณาอย่าบิดเบือนข้อมูล

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

“นี่คือรู้ลึกรู้จริงหรือครับ ลึกก็ไม่ลึก จริงก็ไม่จริง” ดร.นิพนธ์กล่าว

อีกตัวอย่างที่หนังสือ รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนคือ กรณีที่รัฐบาลพยายามบอกว่า “ไทยไม่เสียแชมป์ในด้านมูลค่าการส่งออก” ทีดีอาร์ไอโต้แย้งกรณีนี้ว่าไม่ถูกต้อง

ทีดีอาร์ไอ ได้นำข้อมูลของ International Trade Center (ITC) and Vietnam Food Association มาโต้แย้ง “ยืนยัน” กับข้อมูลในหนังสือรู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว ว่า มูลค่าส่งออกข้าวของไทยหลังดำเนินโครงการรับจำนำ 15,000 บาทต่อตัน ประเทศไทย “เสียแชมป์” ให้กับเวียดนามและอินเดียแล้ว

ทีดีอาร์ไอนำข้อมูล “มูลค่าการส่งออกข้าว” และ “ปริมาณการส่งออกข้าว” จากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมาตอกย้ำว่า มูลค่าการส่งออกและปริมาณการส่งออกข้าวของไทยลดลง เมื่อเทียบกับอดีตย้อนหลัง 3 ปี

ดร.นิพนธ์อธิบายว่า ทีดีอาร์ไอได้นำข้อมูลมูลค่าการส่งออกข้าว และประมาณการส่งออกข้าว เริ่มต้นจากเดือนตุลาคม 2554 ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2555 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2554/55 มาเปรียบเทียบย้อนหลังกับข้อมูลในระยะเดียวกัน คือ ปีการผลิต 2553/54 และปีการผลิต 2552/53 ซึ่งเป็นข้อมูลที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ยอมเปิดเผย

จากข้อมูลที่ทีดีอาร์ไอนำเสนอ ปรากฏว่า ในปี 2554/55 การส่งออกของไทยทั้งด้านมูลค่าและปริมาณลดลงทั้งตัวเลขรายเดือน และตัวเลขรวม 12 เดือน

“การส่งออกของไทย ดูทั้งรายเดือน ดูทั้งปริมาณ เทียบทั้งกับตัวเอง และประเทศอื่นๆ มีข้อสรุปชัดเจนว่า เราแย่ลง ดังนั้น การใช้ตัวเลขต้องระวัง ท่านข้าราชการที่รักของผม โดยเฉพาะลูกศิษย์ผม”ดร.นิพนธ์กล่าว

อีกตัวอย่างที่สำคัญคือ หนังสือ รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว ระบุว่า “วงเงินงบประมาณ และการใช้เงินในโครงการรับจำนำ ปีการผลิต 2554/55 มีจำนวน 313,910 ล้านบาท” ทีดีอาร์ไอแย้งว่า ตัวเลขต่ำกว่ารายจ่ายจริง เพราะรัฐบาลคำนวณเฉพาะวงเงินที่จ่ายไปเพื่อจำนำเท่านั้น แต่โครงการจำนำข้าวมีรายจ่ายอื่นอีกเป็นจำนวนมาก

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า จริงๆ การใช้เงินในโครงการควรเป็น 448,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 172,902 ล้านบาท โดยเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มาจาก 3 ส่วนหลักๆ

1 ค่าใช้จ่ายทันทีที่เริ่มโครงการ ได้แก่ ค่าจ้างโรงสีแปรสภาพ ค่ากระสอบ และค่าขนส่งข้าวสารเข้าโกดัง ค่าจ้างเซอร์เวเยอร์ในการตรวจสอบคุณภาพข้าว ต้นทุนส่วนนี้อยู่ที่ประมาณ 43,764 ล้านบาท

2 ค่าใช้จ่ายเมื่อมีการเก็บรักษา ได้แก่ ค่าเช่าโกดัง ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเสื่อมราคาข้าว ในส่วนนี้มีต้นทุนประมาณ 28,719 ล้านบาท

3. การขาดทุนเมื่อขายข้าว ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก หรือราคาที่รัฐบาลสามารถประมูลข้าวได้ ทีดีอาร์ไอประเมินตรงนี้ว่า เมื่อรัฐบาลขายข้าวจะขาดทุนทันที 100,419 ล้านบาท

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ทีดีอาร์ไอโต้แย้งหนังสือ รู้ลึก รู้จริง จำนำข้าว ใน 3 ประเด็นหลักที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้เห็นการเปรียบเทียบข้อมูลที่ชัดเจนระหว่างข้อมูลของรัฐบาลกับข้อมูลของทีดีอาร์ไอ สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงทำสรุปเป็นเอกสาร “รู้ (ไม่) ลึก รู้ (ไม่จริง) จำนำข้าว” ฉบับทีดีอาร์ไอ (อ่านรายละเอียดข้างล่าง)

ทั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มากยิ่งขึ้น สามารถอ่านรายละเอียดได้จากบทความของ ดร.นิพนธ์ ซึ่งเขียนไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เรื่อง “ผลดีผลเสียของโครงการจำนำข้าวทุกเม็ด”

[gview file=’https://thaipublica.org/wp-content/uploads/2012/11/รู้ไม่ลึก-รู้ไม่จริง-จำนำข้าวแก้ไข1.pdf’]