ThaiPublica > เกาะกระแส > เช็คระดับความขยัน “ส.ส” สมัยประชุมที่ผ่านมาผ่านกฎหมาย 11 ฉบับ

เช็คระดับความขยัน “ส.ส” สมัยประชุมที่ผ่านมาผ่านกฎหมาย 11 ฉบับ

28 พฤศจิกายน 2012


การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2555
การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2555 ที่มาภาพ: http://www.siamrath.co.th

ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี

หลายคนมองว่า “ศึกซักฟอก” ที่พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ผู้นำฝ่ายค้าน ถือธงนำในการ “ออกหมัด” ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล ความไม่โปร่งใส หรือการส่อว่ามีการทุจริตในนโยบายของรัฐบาล คือ “ไฮไลต์” สำคัญที่สุดในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป

เพราะนอกจากจะได้ “เนื้อ” ที่เป็น “ข้อมูลเชิงลึก” แล้ว หลายครั้งหลายคราวยังสัมผัสได้ถึง “น้ำ” และ “อารมณ์” ของผู้อภิปรายและผู้ถูกอภิปรายตลอด 3 วันของการประชุม

อย่างไรก็ตามเหนือไปจากการทำหน้าที่ของ “ส.ส.รัฐบาล” และ “ส.ส.ฝ่ายค้าน” ที่ “เข้มแข็ง” ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคือการทำหน้าที่ในฐานะ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพับลิก้า รายงานว่า ตลอดการประชุมสมัยสามัญทั่วไป ที่มี “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 28 พฤศจิกายนนั้น มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 35 ครั้ง โดยสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาร่างกฎหมายดังต่อไปนี้ คือ มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน 1 ฉบับ

ส่วนร่าง พ.ร.บ. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณานั้นมีจำนวน 85 ฉบับ แบ่งเป็น ร่าง พ.ร.บ. ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จำนวน 11 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เป็นต้น ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาแล้วเสร็จและรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 3 ฉบับ

ร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน จำนวน 1 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของวุฒิสภา จำนวน 8 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่คณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแล้วเสร็จ จำนวน 6 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 21 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ. ที่รอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 29 ฉบับ

สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอตามหมวด 3 หรือหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญนั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาจำนวน 11 ฉบับ โดยเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมกัน จำนวน 1 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จำนวน 1 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่รอการพิจารณากรณีวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ. ที่รอการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 5 ฉบับ

การพิจารณาญัตติของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมที่ผ่านมามีจำนวน 10 ญัตติ ได้แก่ ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจจำนวน 2 ญัตติ ญัตติที่พิจารณาแล้วเสร็จจำนวน 2 ญัตติ รายงานของคณะกรรมาธิการที่พิจารณาแล้ว 1 เรื่อง และรายงานของคณะกรรมาธิการที่รอการพิจารณาจำนวน 5 เรื่อง

การพิจารณากระทู้ถามมีจำนวน 224 กระทู้ เป็นกระทู้ถามสด 43 กระทู้ กระทู้ถามทั่วไปตอบในที่ประชุมสภา 43 กระทู้ และกระทู้ทั่วไปตอบในราชกิจจานุเบกษา จำนวน 138 กระทู้

สำหรับการพิจารณาเรื่องอื่นๆ นั้น ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาแล้ว 17 เรื่อง และได้ส่งให้คณะกรรมาธิการพิจารณา 2 เรื่อง และได้บรรจุระเบียบวาระการประชุม และรอการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะได้นำไปพิจารณาในสมัยประชุมสามัญทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 3 ต่อไปจำนวน 26 เรื่อง เรื่องเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 12 เรื่อง และการให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง จำนวน 1 เรื่อง

ส่วนข้อหารือที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอปรึกษาหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีจำนวน 1,969 ข้อหารือ

ขณะที่การประชุมร่วมกันของรัฐสภามีจำนวน 3 ครั้ง ประกอบด้วย 1. การเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 จำนวน 1 เรื่อง 2. การให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จำนวน 11 เรื่อง โดยยังมีระเบียบวาระที่รอการพิจารณาของรัฐสภาอีก 17 เรื่อง และ 3. สมาชิกรัฐสภาขอปรึกษาหารือในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จำนวน 161 ข้อหารือ