ThaiPublica > เกาะกระแส > “เศรษฐศาสตร์อมาตย์” ว่าด้วย “เอกสิทธิ์ของคนที่ร่ำรวยและซูเปอร์การผูกขาด”

“เศรษฐศาสตร์อมาตย์” ว่าด้วย “เอกสิทธิ์ของคนที่ร่ำรวยและซูเปอร์การผูกขาด”

22 พฤศจิกายน 2012


ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ ที่มา www.viocetv.co.th

โครงการการเสวนาสาธารณะเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้(Economy of Tomorrow) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ Friedrich-Ebert-Stiftung Thailand (FES) ได้จัดเวทีเสวนาสาธารณะโดยมีกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นผู้นำทางความคิดของสังคม ทั้งนักวิชาการในมหาวิทยาลัย นักวิจัย ข้าราชการ และนักเศรษฐศาสตร์ในภาคเอกชน ร่วมเสวนาเกี่ยวกับการวิเคราะห์หาโอกาสและความเสี่ยงต่างๆ ของเศรษฐกิจไทยภายในปี 2560

เป้าหมายของการระดมสมองกลุ่มผู้นำทางความคิดของสังคมที่กล่าวมาข้างต้น ก็เพื่อต้องการหา “โมเดลเศรษฐกิจใหม่” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะโมเดลเศรษฐกิจปัจจุบันที่เน้นพึ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรม เน้นการส่งออก และการใช้แรงงานราคาถูก เป็นโมเดลที่ประเทศไทยใช้มานาน 30-40 ปี แต่ตอนนี้กำลังมาถึง “ทางตัน” แล้ว

เนื่องจากโมเดลเศรษฐกิจเดิม แม้สามารถทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับจากประเทศยากจนมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง แต่ไม่สามารถยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศมีรายได้ระดับสูงได้ แถมยังทำให้ติด “กับดัก” ประเทศที่มีรายได้ปานกลางด้วย

และแม้ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โมเดลเศรษฐกิจเดิมจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และเกิดการกระจายความมั่งคั่ง ทำให้คนจนลดน้อยลง แต่ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยไม่ได้ดีขึ้นเลย ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมา

ดังนั้น เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2555 ที่ผ่านมา โครงการเสวนาสาธารณะเศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้ จึงจัดเสวนาครั้งแรกขึ้นโดยใช้หัวข้อว่า “สู่เศรษฐกิจไทย 2560: โอกาสและความสี่ยง” ซึ่งประเด็นที่พูดถึงคือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและเศรษฐกิจไทย เรื่องกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมและทั่วถึง และนโยบายประชานิยมและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมระดมสมองในเวทีนี้ ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การกระจายรายได้ในระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา แย่ลงมาก อย่างน้อยหลังปี 2540 แต่หลังจากนั้นก็แย่ลงไปอีก ส่วนจะมากหรือไม่มากนั้นไม่กล้าพูด

ดร.อัมมารบอกว่า สนใจเรื่องปัญหาการกระจายรายได้ เพราะไปเกี่ยวเนื่องกับ “เศรษฐศาสตร์แห่งอมาตย์” หรือชนชั้นอมาตย์

ปัจจุบันนี้ “อมาตย์” คือ เหล่านักการเมืองที่ลงเลือกตั้ง และจะเห็นได้ว่าการเมืองของไทยนั้นแพงขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏการณ์ของไทยไม่ต่างไปจากสหรัฐฯ

“ผมคิดว่าถ้าการเมืองของเรามันแพงขึ้นไปเรื่อยๆ ของอเมริกันกลไกการเมืองทำให้แพงขึ้นไปเรื่อยๆ ไปอีกแนวหนึ่งกับของเรา”

เพราะฉะนั้น คนที่จะเป็นผู้นำประเทศของไทย จะต้องเป็นคนที่มีทรัพย์สินค่อนข้างมาก โอกาสที่คนของคนที่มีฐานะธรรมดาๆ เป็นคนชั้นกลางที่จะเข้ามาสู่วงการเมืองน้อยลงทุกวันๆ เพราะอย่างน้อย ในระดับผู้นำจะต้องมีสตางค์ค่อนข้างเยอะ

“เรื่องนี้ผมคิดว่า น่าเอาไปคิดต่อว่า จะมีผลกระทบต่อโครงสร้าง หรือแนวนโยบายของประเทศอย่างไร”

ดร.อัมมารมีความคิดว่า เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาหนึ่งคือ ทำให้การเมืองของไทยเป็นประชานิยมในลักษณะมองรัฐบาลเป็นผู้อุปถัมภ์ คือ การปฏิวัติทางการเมืองที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำมาสู่ประเทศไทยในการที่นำประชานิยมเข้ามามีข้อดีบางอย่าง แต่ก็มีข้อเสียอยู่หลายอย่าง

ข้อดีของประชานิยม คือ ในเรื่องสัญญาที่นักการเมืองให้กับประชาชน ทำให้นักการเมืองมีความรับผิดรับชอบ (accountability) ในบางส่วนของสัญญานั้นๆ หรือมีเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

อาทิ นโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ประกาศออกไปแล้วจับต้องได้ ประชาชนเห็นว่ามีผลจริง “จำนำข้าว 15,000 บาทต่อเกวียน สำหรับข้าวเปลือก” ก็จับต้องได้ แต่กรณีจำนำข้าวในแง่หนึ่งแล้วเป็น “ระบบอุปถัมภ์” อย่างหนึ่ง เป็นการ “แจกเงิน”

กรณีโครงการรับจำนำข้าว ก็ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลจะหาเงินมาจากไหน จะขายข้าวอย่างไร จะเก็บข้าวไปถึงไหน และจะมีผลกระทบต่อเนื่องอย่างไร อะไรทำนองนี้ ไม่ได้พูดถึง ตรงกันข้าม รัฐบาลพยายามเลี่ยงตอบคำถามมาโดยตลอด และอันนั้นเป็นเรื่องที่ในที่สุดเขาไม่ได้มีความรับผิดรับชอบตรงนั้น คือไม่มีความยั่งยืนของนโยบาย

แต่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค “บังเอิญ” ยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลสมควรได้รับการสนับสนุนและยกย่องจากนโยบายอันนั้น

“ผมมองว่า นโยบายของทักษิณสมัยแรกเป็นนโยบายที่มีความยั่งยืน แต่สมัยสุดท้ายนี่ผมรู้สึกว่าฉาบฉวยมากกว่า และมีโอกาสจะสร้างปัญหาใหม่”

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ดร.อัมมารระบุว่า มาจากคนที่ร่ำรวยมหาศาลซื้อคะแนนเสียง แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาซื้อคะแนนเสียง 500 บาท 1,000 บาท แต่เป็นการ “ซื้อหมู่” หมายความว่า เขาจัดการระบบการเมือง การหาเสียงต่างๆ การสัญญาอะไรต่างๆ อย่างมีระบบขึ้น

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

แล้วประชานิยมไม่ได้เป็น “เอกสิทธิ์” ของพรรคทักษิณต่อไป ทุกพรรคเล่นเกมเดียวกัน และปัญหานี้ก็มาจากความเหลื่อมล้ำ ซึ่ง ดร.อัมมารคิดว่ามาจาก “ความเหลื่อมล้ำโดยพื้นฐาน” ตรงนี้ตนยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจน เป็นเพียงสมมติฐานว่า มันเป็นลักษณะการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองไทย

การเมืองไทยกำลังเป็น “เอกสิทธิ์ของคนที่ร่ำรวย” มากขึ้นเรื่อยๆ

“ปัญหาที่ตามมาอีกคือว่า ทำไมผู้ลงคะแนนเสียงไม่เป็นห่วงกับสิ่งที่เราเป็นห่วง อันนี้ก็อมาตย์ เป็นอมาตย์อีกก๊กหนึ่งที่เป็นห่วง ก็คือเหล่าบรรดาผู้ที่เป็นเทคโนแครตสมัยก่อน ซึ่งบัดนี้ว่างงานกันหมด หรือไม่ก็มาทำงานกับทีดีอาร์ไอกันหมด เหล่านี้เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าต้องคำนึงถึง”

ดร.อัมมารบอกว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดีมากๆ แล้วอันนี้เราถูก “Spoil” มากๆ ด้วยโชคลาภของเรา เราเป็นประเทศที่มีระดับภาษีค่อนข้างต่ำ คนไม่รู้สึกว่าตัวเองเสียภาษีมาก ที่อเมริกาเวลาโอบามามีนโยบายอะไร ถ้าเป็นประชานิยมที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก จะมีเสียงค้านมากมายจากผู้เสียภาษี แต่กรณีของเราไม่มี

อาทิ เวลาพูดว่า นโยบายจำนำข้าวใช้เงินจำนวนมากอย่างนั้นอย่างนี้ แต่รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกลับพูดออกมาได้ในทีวีว่าจริงๆ แล้วคนเสียภาษีในเมืองไทยมีไม่กี่คน เพราะเขาคิดถึงเฉพาะภาษีเงินได้ แต่ระบบภาษีของเราพึ่งภาษีทางอ้อมเป็นหลัก คนไม่รู้สึกว่า เวลาไปซื้อของต้องเสีย 7% เป็นเงินของเขา เป็นความรู้สึกว่า เราเป็นเจ้าของประเทศเพราะเราเป็นผู้เสียภาษี จึงเป็นความรู้สึกของคนชั้นกลางที่เสียภาษีเงินได้ แม้กระทั่งคนชั้นกลางก็ไม่เสียเท่าไร
ประเทศเราอยู่ได้ด้วยเงินภาษีที่ค่อนข้างต่ำ และอยู่มานานแล้วด้วย

ดร.อัมมารให้ข้อสังเกตอีกว่า ประชานิยมที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นประมาณปี ค.ศ. 1960 เป็นประชานิยมที่เอาระบบสวัสดิการสังคมเข้ามา แต่ของเรานโยบายประชานิยมไม่เคยเอ่ยถึงเรื่องนี้ เคยมีพรรคประชาธิปัตย์พูดบ้างว่าจะแจกเงินให้ผู้สูงอายุ 500 บาท 1,000 บาท นั่นก็เป็นการแจกเงิน ไม่ใช่ระบบสวัสดิการ

แต่การที่จะจัดระบบให้คนมีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจในลักษณะที่เป็นคำตอบระยะยาว ไม่ใช่แจกเงินระยะสั้น จึงไม่เคยเกิดขึ้นในกลไกการเมืองของประเทศไทย ทุกอย่างเป็นการลด แลก แจก แถม

“การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เป็นการแสดงถึงความทุเรศของการเมืองไทยอย่างชัดเจน ทุกพรรคเหมือนกัน เพียงแต่พรรคหนึ่งหน่อมแน้มกว่าพรรคหนึ่ง อีกพรรคหนึ่งจึงเกทับ เสร็จแล้วก็ชนะเลือกตั้ง”

การจะหลุดออกจากกับดับประชานิยม ดร.อัมมารบอกว่าพอมีความหวัง แต่เป็นความหวังที่ค่อนข้าง “เหี้ยม” คืออยากให้รัฐบาลนี้เจ๊งจากโครงการจำนำข้าว เจ๊งภายในก่อนอายุของรัฐบาลนี้จะหมด เพราะเมื่อจำเป็นต้องเลิกล้มจากที่โครงการนี้อยู่ไม่ได้ รัฐบาลจะได้มีความรับผิดรับชอบ จะได้แก้ปัญหาเอง

“นักหนังสือพิมพ์มาถามผมเสมอว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร ผมไม่ถือว่าเป็นหน้าที่ เรื่องนี้รัฐบาลก่อขึ้นมาเอง รัฐบาลจงแก้เอง เพราะว่าผมเสนออะไรขึ้นมา ก็ทราบดีว่าราคาข้าวต้องตก รัฐบาลจะแก้อย่างไรราคาข้าวก็คงต้องตก ผมอยากให้เขาแก้เอง ผมอยากให้เขารับผิดชอบ คือเขาจะได้เรียนรู้ ประชาชนจะได้เรียนรู้ นี่คือการเรียนรู้จากประสบการณ์”

ดร.อัมมารมีมุมมองว่า ระบบประชานิยมไม่ได้สร้างการเรียนรู้ ถ้าคุยกับนักวิชาการที่สนับสนุนเสื้อแดง เขาก็บอกว่าประชาชนเรียนรู้หลายอย่าง เรียนรู้ไม่ใช่ที่เขาได้จาก 30 บาทรักษาทุกโรคหรืออะไรทั้งสิ้น แต่เรียนรู้จากการที่มี “ปฏิวัติ 2549” ที่ “กระชาก” เอาคนที่เขารักออกไปจากประเทศไทย

ประชาชนเราต้องเรียนรู้จาก “ด้านลบ” ของประชานิยม เขาอาจเรียนรู้ได้ว่าการเมืองให้เขาได้ในด้านสิ่งดีๆ ที่เขาต้องการ เช่น 30 บาท หรือแม้แต่ 15,000 บาท เขาได้เรียนรู้จากตรงนั้น

“แต่ผมอยากให้เขาเรียนรู้อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ซึ่งมืดมนไม่น้อยกว่านั้น”

นอกจากอธิบายเรื่องปัญหาการเมืองไทยราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ และนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งคือเหล่าอมาตย์ นำมาซึ่งการเมืองของไทยแบบประชานิยมที่มองรัฐบาลเป็นผู้อุปถัมภ์แล้ว ดร.อัมมารยังนำเศรษฐศาสตร์อมาตย์มาอธิบายปัญหาระบบความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาพื้นฐาน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการศึกษา ที่น่าเป็นห่วงมาก

โดยอธิบายให้เห็นภาพว่า ในกรุงเทพฯ มีระดับคุณภาพการศึกษาสูงกว่าที่อื่น แม้แต่โรงเรียนรัฐก็เป็นโรงเรียนที่มีระดับคุณภาพสูงกว่าที่อื่น ทำให้ใครๆ ก็แห่มาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเรื่องนี้เคยพูดว่าเป็น “การผลิตซ้ำของระบบชนชั้น” ที่จะปรากฏในระบบการศึกษา

แล้วเดี๋ยวนี้มีระดับขั้น “ซูเปอร์” ไปกว่านั้นก็คือ ระบบการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ

ดร.อัมมารยกตัวอย่างใกล้ตัวว่า หลานผมก็ไปโรงเรียนนานาชาติ สมัยผมไปเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เพื่อนๆ ผมที่อัสสัมชัญเป็นลูกพ่อค้า รวยบ้าง จนบ้าง ตามวิสัยของเขา คือค่อนข้างมีความเหลื่อมล้ำ แต่มีระดับแคบ ส่วนเดี๋ยวนี้เด็กที่มีฐานะดีหลายคนกระโดดไปโรงเรียนนานาชาติ ความแตกต่างในระดับการศึกษาก็จะตามมา เรื่องนี้ก็จะเป็นปัญหาของการศึกษา

“ผมคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในการศึกษา ในความรู้อะไรต่างๆ นั้น เป็นตัวที่จะทำให้ระบบการเมืองของเรามีปัญหาเยอะขึ้น คือ ถ้าถามถึงการเปลี่ยนแปลงการเมืองของเมริกัน ช่วงหลังๆ มานี้ที่แตกแยกกันขนาดหนัก ก็เพราะว่าความเหลื่อมล้ำต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ”

นอกจากการเมืองไทยมีแนวโน้มจะเต็มไปด้วยเหล่าอมาตย์ที่รวยเป็นมหาเศรษฐีแล้ว ดร.อัมมารมองว่า การเมืองไทยยังถูกผูกขาดโดย “ชนชั้นผูกขาด”

เมื่อก่อนนี้การเมืองไทยก็ถูกผูกขาดโดยชนชั้นผูกขาดเหมือนกัน แต่ผูกขาดในระดับท้องถิ่น เป็นผู้รับเหมา แต่ขณะนี้เป็นการผูกขาดระดับประเทศ

“คุณก็รู้ว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาจากธุรกิจอะไร เขารวยจากการผูกขาด ก็ภาคบริการของเรานี่แหละ คุณต้องการเงินขนาดนั้นที่จะสามารถมาขับเคลื่อนประเทศได้ เพราะฉะนั้น ระบบการเมืองของเราเป๋ไปเยอะ” ดร.อัมมารกล่าว

หรือคำตอบของ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้”

จะขึ้นอยู่กับ “การเมืองแห่งวันพรุ่งนี้”