ThaiPublica > คอลัมน์ > ตื่นเถิดชาวไทย ถึงเวลาจะปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์กันหรือยัง

ตื่นเถิดชาวไทย ถึงเวลาจะปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์กันหรือยัง

16 พฤศจิกายน 2012


พิเศษ เสตเสถียร
[email protected]

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปดูหน้าเฟซบุ๊กที่ชื่อ Matra Law และพบรูปที่มีข้อความต่อไปนี้โพสต์อยู่

ข้อความในรูปดังกล่าวเป็นตลกร้าย เพราะแม้จะพูดเหมือนกับว่า การโพสต์รูปของคนอื่นบนเฟซบุ๊กสามารถทำได้ แต่ทว่าจะต้องรอให้เจ้าของรูปตายไปก่อนแล้วถึง 50 ปี เพราะลิขสิทธิ์ในรูปดังกล่าวถึงจะหมดไปตามกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการสะท้อนถึงข้อกฎหมายที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้เล่นเฟซบุ๊กเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ คือ การนำรูปของคนอื่นจากอินเทอร์เน็ตมาโพสต์บนวอลของตนบนเฟซบุ๊กอาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

เรื่องของลิขสิทธิ์ในโลกยุคดิจิทัลนี้มีความซับซ้อนขึ้นอย่างมากมาย เจ้าของสิทธิที่จะได้ผลประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการค้า ก็พยายามที่จะขยายขอบเขตการคุ้มครองงานของตัวเองออกไป และผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงหลักกฎหมายให้คุ้มครองสิทธิในรูปแบบใหม่ๆ ที่กว้างขวางขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตัวอย่างที่เห็นได้ในประเทศไทยล่าสุดก็คือ กรณีจอดำของฟุตบอลยูโร 2012 ที่มีประเด็นทั้งในด้านลิขสิทธิ์และกิจการโทรทัศน์

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา ศาลมลรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ตัดสินคดีที่นาย Joel Tenenbaum ถูกบริษัทค่ายเพลงฟ้องเป็นจำเลยว่า ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงโดยการดาวน์โหลดเพลงจากเว็บไซต์ชื่อ Kazaa และนำไปเผยแพร่ต่อจำนวน 30 เพลง ซึ่งในเวลาที่ทำการดาวน์โหลดนั้น นาย Tenenbaum ยังเป็นนักเรียนอยู่ และถึงแม้คดีนี้จะมีศาสตราจารย์ Charles Nesson จาก Harvard Law School เสนอตัวเข้ามาช่วยต่อสู้คดี (เนื่องจากอาจารย์ Nesson ไม่เห็นด้วยกับหลักกฎหมายที่โจทก์กล่าวหา) แต่ในที่สุดศาลก็ตัดสินว่า Tenenbaum เป็นฝ่ายผิด และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นจำนวนเงินถึง 675,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 20 ล้านบาท คิดแล้วการดาวน์โหลดเพลงครั้งนี้ตกเพลงละ 6 แสนกว่าบาท (คดี Sony BMG Music Entertainment, et al. v. Joel Tenenbaum)

ที่หนักกว่านั้นคือ ในปี 2550 มีคุณแม่คนหนึ่งชื่อนาง Stephanie Lenz ได้โพสต์วิดีโอที่เป็นภาพลูกชายวัย 1 ขวบ ของเธอบนยูทูบซึ่งในวิดีโอดังกล่าว พ่อหนูน้อยกำลังขย่มตัวไปตามเสียงเพลง Let’s Go Crazy ของวง Prince ที่เปิดอยู่ในบ้านเป็นเวลาเพียงแค่ 20 วินาที ต่อมา บริษัท Universal Music ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวได้แจ้งให้ยูทูบเอาวีดีโอของ Lenz ออก (take down) โดยอ้างว่า เป็นวิดีโอที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของตน ทำให้นาง Lenz เป็นฝ่ายต้องฟ้อง Universal Music ที่ไปเอาวิดีโอของนางออก โดยอ้างว่าเป็นการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม (fair use) คดีนี้โชคดีที่ศาล US District Court for Northern District of California ได้วินิจฉัยไม่รับข้อต่อสู้ของ Universal Music และให้ยกคำร้องของ Universal ที่ให้ศาลยกคำฟ้องของนาง Lenz และให้พิจารณาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับค่าเสียหายตามที่นาง Lenz เรียกร้องต่อไป (คดี Lenz v. Universal Music Corp)

ตัวอย่างคดีทั้งหลายดังกล่าวมาย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของบรรดาบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่ต้องการทั้งปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ที่ตนเป็นเจ้าของในทุกแง่มุม โดยเฉพาะในความซับซ้อนของสื่อรูปแบบต่างๆ ของโลกดิจิทัลอย่างทุกวันนี้

ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ หลายประเทศจึงกำลังดำเนินการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อมิให้มีความเคร่งครัดเกินไปจนทำให้บริษัทเจ้าของสื่อบันเทิงทั้งหลายมาดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ใช้ทั่วๆ ไป ที่มิได้นำมาใช้ในทางการค้าได้ นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2555ได้รายงานว่า ประเทศแคนาดาได้แก้ไขกฎหมายในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยได้ขยายความคำนิยามของ fair dealing (หรือ fair use) ให้กว้างขึ้น และกำหนดข้อยกเว้นให้สำหรับการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาหรือการเลียนรูปแบบ (parody) และให้บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องแจ้งเตือนผู้โพสต์บนอินเทอร์เน็ตให้ทราบถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ก่อน แทนที่จะไปแจ้งให้บริษัทอินเทอร์เน็ตเอางานที่ผู้ใช้โพสต์ออกได้ทันที อีกทั้งยังกำหนดจำนวนค่าเสียหายสูงสุดที่โจทก์อาจเรียกได้ในกรณีที่การละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อทางการค้า

ส่วนในประเทศอังกฤษ ก็เตรียมจะแก้ไขกฎหมายให้มีข้อยกเว้นสำหรับการใช้ที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อทางการค้าและเนื้อหาในส่วนที่ผู้ใช้เป็นผู้เผยแพร่ (non-commercial uses and user-generated content) นิตยสารดังกล่าวยังได้รายงานอีกว่า ยังมีประเทศอื่นๆ ที่กำลังพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์อีกหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ อินเดีย ไอร์แลนด์ เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เรื่อง big data หรือ cloud computing เป็นต้น

ในขณะนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายของประเทศออสเตรเลีย ก็กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นในการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเช่นกัน การปรับปรุงครั้งนี้ใช้ชื่อว่า Copyright and the Digital Economy ซึ่งแสดงถึงการเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

เห็นแบบนี้แล้ว ก็นึกถึงบ้านเราประเทศไทย สงสัยว่า ถ้าคนไทยโพสต์รูปบนเน็ต แล้วโดนฝรั่งมาเอาเรื่องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ เราจะอ้าง fair use ได้แค่ไหน การดาวน์โหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ในธัมบ์ไดรฟ์หรือฮาร์ดดิสก์เป็นการ “ทำซ้ำ” (copy) หรือไม่ ในยุคที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะเอาผลประโยชน์ทุกเม็ด กฎหมายของเราที่เขียนมาตั้งแต่ปี 2537 ยังดีพอที่จะปกป้องคุ้มครองคนไทย และรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เกี่ยวกับข้อมูลบนโลกดิจิทัลหรือไม่?

เหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลิขสิทธิ์จะต้องพิจารณา หากคำตอบคือเรายังไม่ได้ทำอะไรนัก หรือกฎหมายของเราก็ยังไม่มีความชัดเจนแล้วละก็ คงต้องเริ่มร้องเพลง “ตื่นเถิดชาวไทย” กันแล้วหรือเปล่าครับ