ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหาวิทยาลัยนอกระบบ (4): ปัญหาของมหาวิทยาลัยทักษิณ

มหาวิทยาลัยนอกระบบ (4): ปัญหาของมหาวิทยาลัยทักษิณ

26 พฤศจิกายน 2012


มหาวิทยาลัยทักษิณ ก่อตั้งเมื่อปี 2539 โดยพัฒนามาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา ที่ก่อตั้งในปี 2511 จากการขยายโอกาสทางการศึกษาส่วนภูมิภาคในระดับอุดมศึกษา และเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒในปี 2517 ต่อมาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 มหาวิทยาลัยทักษิณจึงเปลี่ยนเป็นหน่วยงานในกํากับของรัฐหรือออกนอกระบบ

มหาวิทยาลัยแห่งนี้มี 2 วิทยาเขต 8 คณะ คือ วิทยาเขตสงขลา ได้แก่ คณะศึกษาศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ซึ่งมีทั้ง 2 วิทยาเขต วิทยาเขตพัทลุง ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา และคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน

สำหรับความเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นได้ชัดในมหาวิทยาลัยภายหลังการออกนอกระบบคือ ค่าเทอมแพงขึ้นเช่นเดียวกันกับมหาวิทยาลัยนอกระบบแห่งอื่น โดยเริ่มใช้ระบบค่าเทอมแบบเหมาจ่ายตั้งแต่นักศึกษารหัส 53 เป็นต้นมา ส่วนนักศึกษารหัสก่อนหน้านี้ยังคงจ่ายค่าเทอมตามหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนอยู่

การจ่ายค่าเทอมแบบเดิมนั้น อยู่ที่ราคาหน่วยกิตละ 150 บาทสำหรับรายวิชาบรรยาย ส่วนรายวิชาปฏิบัติราคาหน่วยกิตละ 200-400 บาท แล้วแต่วิชา โดยจะลงทะเบียนเรียนได้เทอมละไม่เกิน 22 หน่วยกิต และค่าบำรุงต่างๆ อีก 7,550 บาท รวมแล้วค่าเทอมจะไม่เกิน 11,000 บาท

ในขณะที่การจ่ายค่าเทอมแบบเหมาจ่ายมีราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท และต่ำกว่า 11,000 บาท เพียง 6 สาขาวิชา จากทั้งหมด 32 สาขาวิชา

แต่สำหรับนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์หลักสูตร 5 ปี ก่อนรหัส 51 นั้น จ่ายค่าเทอมที่แตกต่างจากคณะอื่นๆ คือ ช่วง 4 ปีแรกจ่ายตามหน่วยกิตรวมค่าบำรุงต่างๆ ตามปกติ แต่ในปีที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงฝึกสอนนั้น ต้องเสียค่าเรียนแบบเหมาจ่ายทั้งปี รวมเป็นเงิน 27,550 บาท โดยแบ่งเป็นค่าวิชาฝึกสอน 18,000 บาท ค่าบำรุงต่างๆ 7,550 บาท และค่ารักษาสภาพนิสิต 2,000 บาท ในขณะที่ 2-3 รุ่นก่อนนี้ราคาเหมาจ่ายจะถูกกว่า

ดังนั้นจึงเกิดเพจเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “ม.ทักษิณนี้ดี ไม่ใช่ลูกเศรษฐีเรียนไม่ได้” ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกมหาวิทยาลัยเอาเปรียบ เนื่องจากในปีที่ 5 นักศึกษาต้องไปฝึกสอนที่โรงเรียนตลอด แทบไม่ได้ใช้ทรัพยากรหรือได้รับสวัสดิการใดๆ ของมหาวิทยาลัยเลย

“สวัสดีครับ เพจนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเฉพาะกลุ่มปี 5 คณะศึกษาศาสตร์ แต่ให้รวมทุกเอก ทุกคณะ ทุกชั้นปีด้วย เพราะว่าทุกเอกค่าเทอมก็แพงเหมือนกัน อยากให้ทุกคนมาแชร์ปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยในฐานะนิสิตที่โดนเอาเปรียบกัน ไม่ว่าจะเรื่องค่าเทอมแพง, ระบบงานทะเบียนที่ไม่ได้เรื่อง หรือเรื่องต่าง ๆ ที่ทางมหาวิทยาลัยควรนำเงินพัฒนามาในส่วนที่ไม่จำเป็น แต่ส่วนที่จำเป็นและต้องได้รับการสนับสนุนกลับเพิกเฉย อยากให้เพจนี้เป็นเพจสำหรับนิสิต ม.ทักษิณทุก ๆ คนครับ” ผู้ก่อตั้งเพจเขียนไว้ในวันที่ก่อตั้งเพจ

ด้านค่าเทอมภาคปกติในระดับปริญญาตรีจะอยู่ระหว่าง 10,000-15,000 บาท แล้วแต่ความนิยมและการใช้ทรัพยากรของแต่ละคณะ

สำหรับภาคสมทบระดับปริญญาตรีหลักสูตร 3 และ 4 ปี มีเพียงคณะนิติศาสตร์เท่านั้น ส่วนปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี มีเฉพาะคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ

ส่วนเรื่องความแตกต่างของค่าเทอมนักศึกษาภาคปกติและภาคสมทบนั้น สำหรับคณะนิติศาสตร์ หากดูจากค่าใช้จ่ายต่อเทอม จะต่างกันประมาณ 3 พันบาท แต่หากคิดดูจากค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรจะต่างกันประมาณ 4 หมื่นบาทสำหรับหลักสูตร 4 ปี ส่วนหลักสูตร 3 ปี ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรจะใกล้เคียงกับภาคปกติ สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ฯ ค่าเทอมจะต่างกันประมาณ 1,500 บาท ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรต่างกันประมาณ 1 หมื่นบาท เพราะตามระเบียบของมหาวิทยาลัย นักศึกษาภาคสมทบจะต้องเรียน 3 เทอมต่อปี คือ ต้องเรียนภาคฤดูร้อนด้วย

สำหรับปริญญาตรี 2 ปี ซึ่งมีทั้งภาคปกติและภาคสมทบ ค่าเทอมของนักศึกษาทั้ง 2 แบบ ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก

ที่น่าสนใจคือ เมื่อนำค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตรมาเปรียบเทียบกับค่าเทอม พบว่า ปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี จะจ่ายค่าเทอมประมาณ 8 หรือ 10 เทอม ขึ้นอยู่กับว่าเรียน 4 หรือ 5 ปี ยกเว้นภาคสมทบคณะนิติศาสตร์ 3 ปี และ 4 ปี ที่จ่าย 7 เทอมและ 9.5 เทอมตามลำดับ และคณะศิลปกรรมศาสตร์สาขาศิลปะการแสดง ที่จ่าย 8.5 เทอม แต่ปริญญาตรีหลักสูตร 2 ปี กลับต้องจ่ายค่าเทอมเฉลี่ย 4.5 เทอม ยกเว้นภาคปกติของสาขาบริหารธุรกิจ-การจัดการการค้าปลีก ที่จ่ายเฉลี่ย 4 เทอม และภาคสมทบสาขาการบัญชีจ่ายเฉลี่ย 5 เทอม

ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยทักษิณรับนักศึกษาปริญญาตรีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลังจากปี 2551 มีนักศึกษาเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 คน ปัจจุบันมีนักศึกษาปริญญาตรีกว่า 12,000 คน ในขณะที่ได้รับงบประมาณจากรัฐน้อยลงในช่วง 3 ปีแรกที่ออกนอกระบบ แต่หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ได้รับมากขึ้น

สัดส่วนระหว่างจำนวนนักศึกษากับจำนวนอาจารย์จะสูงมากในบางคณะ แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ยังคงสามารถจัดตารางเรียนได้เพียงพอกับนักศึกษา อย่างเช่น คณะนิติศาสตร์แทบทุกวิชาการสอนร้อยละ 90 เป็นอาจารย์พิเศษมาสอน ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอาจารย์ไม่พอสอนจะเกิดขึ้นกับวิทยาเขตพัทลุงมากกว่า เนื่องจากไม่ค่อยมีอาจารย์พิเศษ

ด้านอาคารเรียนตั้งแต่ปี 2551 ก่อสร้างทั้งสิ้น 3 อาคาร คือ หอประชุม และอาคารเรียนรวม 2 ตึก แต่อาคารเรียนรวมตึกหนึ่งสร้างมาปีที่ 6 แล้วยังไม่เสร็จ สำหรับอาคารเรียนรวมที่สร้างเสร็จแล้วนั้น สามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 2,500 คนต่อช่วงเวลา ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้บางรายวิชานักศึกษาต้องเรียนที่หอประชุมที่สร้างใหม่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาลานจอดรถไม่เพียงพอแม้จะสร้างเพิ่มแล้ว 1 แห่ง หรือโรงอาหารที่ขยายพื้นที่เพิ่มแล้วแต่ก็ยังไม่เพียงพอ ทำให้นักศึกษาบางคนต้องไปทานอาหารข้างนอก เพื่อให้ทันเรียนต่อในช่วงบ่าย

อีกปัญหาหนึ่งคือ เรื่องหอพักในมหาวิทยาลัยไม่เพียงพอ เพราะมีแค่ 3 หอ สามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 1,000 คนเท่านั้น นักศึกษาที่เหลือจึงต้องพักหอภายนอก หรืออยู่บ้านที่หาดใหญ่ ซึ่งห่างจากมหาวิทยาลัยประมาณ 16 กิโลเมตร เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น ซึ่งจะเกิดปัญหาการคมนาคมมากโดยเฉพาะในตอนเช้าและเย็นของวันราชการ ทำให้บางครั้งอาจารย์และนักศึกษาต้องตกลงเลื่อนเวลาเรียนในคาบเช้า เช่น จาก 8.00 น. เป็น 8.30 น. เพื่อให้นักศึกษาบางส่วนมาเรียนทัน

เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การจัดสรรงบประมาณของมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไป จากที่เคยอุดหนุนโดยตรงที่นักศึกษามาเป็นมหาวิทยาลัยสามารถจัดสรรใช้งบฯ ได้เอง ซึ่งหลังจากออกนอกระบบมา มหาวิทยาลัยทักษิณใช้งบฯ ส่วนใหญ่ไปที่ด้านบุคลากร ล่าสุดในปี 2555 รายจ่ายงบฯ บุคลากรมากถึงร้อยละ 43.6 เฉพาะอุดหนุนค่าใช้จ่ายบุคลากรคิดเป็นร้อยละ 36.89 รองลงมาคืองบดำเนินการร้อยละ 22.81 เช่น ค่าน้ำค่าไฟ งบเงินอุดหนุนร้อยละ 18.53 ซึ่งจ่ายให้กับโครงการต่างๆ งบลงทุนร้อยละ 12.88 เช่น การก่อสร้างอาคาร และงบรายจ่ายอื่นๆ ร้อยละ 2.72 ซึ่งไม่มีงบก้อนไหนที่ไปอุดหนุนที่ตัวนักศึกษาเลย

ดังนั้น นักศึกษาจึงต้องจ่ายค่าเรียนเอง และต้องจ่ายเงินเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนด้วย