ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหาวิทยาลัยนอกระบบ(3) : ผลสำรวจทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาที่มีต่อค่าเทอมเหมาจ่าย

มหาวิทยาลัยนอกระบบ(3) : ผลสำรวจทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาที่มีต่อค่าเทอมเหมาจ่าย

6 พฤศจิกายน 2012


ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น หลังจากมหาวิทยาลัยบูรพากลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือออกนอกระบบ คือ ค่าเทอมที่ปรับสูงขึ้น จนเกิดการต่อต้านจากนิสิตบางกลุ่มขึ้น และได้ตั้งกลุ่มเครือข่ายออนไลน์บนเฟซบุ๊กชื่อว่า “เด็กม.บู ไม่เอาค่าเทอมเหมาจ่าย”

นายสุรินทร์ ปัทมาสศนุพงศ์ และนางสาวพิมพ์กานต์ พลเยี่ยม นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงได้ทำวิจัยเรื่อง “ทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาต่อค่าเทอมเหมาจ่าย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาระเบียบวิธีวิจัยทางรัฐศาสตร์ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนิสิตในมหาวิทยาลัย และให้ทราบถึงปัญหา รวมถึงแนวทางในการแก้ไข เรื่องค่าเทอมเหมาจ่าย

โดยใช้แบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นจากนิสิตชั้นชั้นปีที่ 1-4 ภาคปกติและภาคพิเศษ ปริญญาตรี ในคณะที่มีการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายทั้งหมด 6 คณะ คือ 1. คณะเภสัชศาสตร์ 2. คณะสหเวชศาสตร์ (สาขาวิชากายภาพบำบัด) 3. วิทยาลัยนานาชาติ 4. คณะศึกษาศาสตร์ (สาขาภายใต้โครงการผลิตครูที่มีศักยภาพในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน) 5. คณะสาธารณสุขศาสตร์ (สาขาวิชาการจัดการชุมชน) และ 6. คณะสหเวชศาสตร์ (สาขาเทคนิคการแพทย์) จำนวน 374 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 10-27 กุมภาพันธ์ 2555 พบว่า

การเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายทำให้นิสิตมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และส่วนใหญ่เห็นว่าค่าเทอมสูงขึ้นแต่สวัสดิการการศึกษาไม่ดีขึ้นตาม อีกทั้งยังนำมาซึ่งการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้กับนิสิตด้วย

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์หรือสำรวจความคิดเห็นของนิสิตก่อน และนิสิตก็ไม่รับรู้มาก่อนว่าจะมีการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่าย และไม่ได้ชี้แจงเหตุผล ข้อดี ข้อเสีย รวมถึงผลที่จะตามมาในการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายด้วย

จำนวนนิสิตกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในชั้นปีที่ 1-2 กว่าร้อยละ 70 และชั้นปีที่ 4 ประมาณร้อยละ 7 ซึ่งเป็นนิสิตภาคปกติต่อภาคพิเศษ 9:1 ด้านฐานะทางเศรษฐกิจพบว่า นิสิตส่วนใหญ่มีฐานะดี ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีรายได้ต่อเดือนอยู่ในช่วง 5 หมื่น – 1 ล้านบาท

แต่ไม่ว่าจะเป็นนิสิตชั้นปีไหนหรือฐานะการเงินอย่างไร ต่างมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับค่าเทอมเหมาจ่ายน้อยมาก ส่วนใหญ่คือได้ยินว่าค่าเทอมจะขึ้นราคา แต่ไม่สนใจและไม่รับรู้ในรายละเอียด ทั้งนี้เป็นเพราะทางมหาวิทยาลัยไม่มีรายละเอียดของข้อมูลแจ้งให้นิสิตทราบด้วย ที่สำคัญคือ นิสิตไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของศักยภาพทางการศึกษาที่ดีขึ้น และนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากกว่า

ด้านผลการสำรวจทัศนคติต่อค่าเทอมเหมาจ่ายของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยบูรพา พบว่า โดยภาพรวม นิสิตมีทัศนคติต่อค่าเทอมเหมาจ่ายอยู่ในระดับปานกลาง แต่จะเห็นด้วย “มาก” ในประเด็น “การเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” และเห็นด้วย “น้อย” ในประเด็นที่ว่า “การเก็บค่าเทอมเหมาจ่ายส่งผลให้ท่านได้ใส่ใจในการศึกษามากขึ้น”

ดังที่นิสิตได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า“การเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายในอัตราที่สูงและไม่คุ้มกับการลงหน่วยกิต ทำให้คนที่มีรายได้น้อยไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม แต่คนที่มีเงินนั้นมีโอกาสที่จ่ายได้และสามารถเรียนได้”

“การเก็บค่าเทอมหมาจ่ายไม่ได้ส่งผลอะไรให้นิสิตใส่ใจหรือตั้งใจในการศึกษาเลย เนื่องจากผู้สอนก็ไม่ได้สนใจหรือใส่ใจนิสิตด้วย”

หากเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 จะยิ่งไม่เห็นด้วยกับการเก็บค่าเทอมแบบเหมาจ่ายมากขึ้น เนื่องจากเป็นปีการศึกษาที่พวกเขาลงทะเบียนน้อยหน่วยกิต อาจแค่ 1-2 รายวิชา ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองถูกเอาเปรียบ แม้ว่าบางคณะจะเก็บค่าเทอมปี 4 ถูกกว่าชั้นปีอื่นๆ แล้วก็ตาม

แม้แต่วิทยาลัยนานาชาติซึ่งมีค่าเทอมที่สูงอยู่แล้วก็ยังมีความรู้สึกว่า ค่าเทอมของพวกเขานั้นแพงเกินไป ไม่คุ้มค่ากับการศึกษาที่ได้รับ เมื่อเปรียบกับวิทยาลัยนานาชาติของมหาวิทยาลัยอื่นๆ

แต่สำหรับคณะเภสัชศาสตร์มีความคิดเห็นที่ต่างออกไป พวกเขารู้สึกพึงพอใจกับค่าเทอมที่ต้องจ่ายแม้ว่าจะสูงมาก เพราะรู้สึกถึงความคุ้มค่ากับการศึกษาที่ได้รับ และยังรู้สึกถึงความมั่นคงในอาชีพการงานที่จะได้รับเมื่อสำเร็จการศึกษาด้วย