ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การจัดการน้ำกับการสร้างเขื่อน (2)

การจัดการน้ำกับการสร้างเขื่อน (2)

5 ตุลาคม 2012


การจัดการน้ำกับการสร้างเขื่อน

นายหาญณรงค์ เยาวเลิส ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย)กล่าวว่า ทุกวันนี้แต่ละลุ่มน้ำของไทยมีทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนขนาดกลาง เขื่อนขนาดเล็ก และฝายต่างๆ จำนวนมาก เฉพาะลุ่มน้ำยมก็มีฝายยางซึ่งเป็นฝายขนาดกลางกั้นถึง 60 ฝาย แต่สิ่งที่สังคมรับรู้ก็คือลุ่มน้ำยมไม่มีเขื่อนใหญ่เลย

เช่น ฝายแม่สองในลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ก็มีการจัดการมากกว่าเขื่อนใหญ่ๆ เสียอีก เพราะน้ำในฝายนี้ถูกนำไปใช้กว่าพันล้าน ลบ.ม. ต่อปี เพื่อใช้อุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรที่ปลูกพืชปีละ 2 ครั้ง รวมพื้นที่ชลประทานประมาณ 2.4 แสนไร่ ในขณะที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านฝายสองปีละ 1,100 ล้าน ลบ.ม. นั่นคือ พื้นที่ต้นน้ำใช้น้ำไปเกือบหมดแล้ว จึงส่งผลให้ชาวบ้านที่สุโขทัย ที่พิจิตร ไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง แต่กลับไปโทษภาวะขาดแคลนน้ำนี้ว่าเพราะไม่ได้สร้างเขื่อน

เช่นเดียวกับเขื่อนบนลำน้ำโขงในประเทศจีน ที่ไม่ยอมปล่อยน้ำออกจากเขื่อน อีกทั้งเขื่อนบนลำน้ำสาขาก็ไม่ยอมปล่อยน้ำด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงท้ายเขื่อนแห้ง

นายหาญณรงค์กล่าวว่าการวางแผนแต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ โดยไม่คิดถึงลำน้ำสาขา เช่น หลังจากสร้างเขื่อนภูมิพลเสร็จ ก็ไปสร้างเขื่อนแม่แตงซึ่งจุน้ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่งัดซึ่งจุน้ำกว่า 200 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแม่กวงซึ่งจุน้ำกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ฯลฯ รวมแล้วเราสร้างเขื่อนตัดน้ำที่จะไหลเข้าเขื่อนภูมิพลไปกว่าพันล้าน ลบ.ม. จากเดิมที่ต้องมีน้ำไหลเข้าเขื่อนภูมิพล 5 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งรัฐไม่เคยบอกให้ประชาชนรับรู้

ด้านข้อมูลที่รัฐบาลบอกบริษัทที่ปรึกษา ก็ไม่ได้บอกจุดอ่อนให้เขาทราบ บอกแต่เพียงจุดด้อยเพราะต้องการโครงการ อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในเขตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก็ไม่เคยมารับรู้ซึ่งกันและกันว่า ในแต่ละช่วงลำน้ำนั้นเป็นอย่างไร และจะบริหารจัดการรวมกันได้อย่างไร ถ้าหากชาวบ้านเขาได้เห็นและรับรู้เขาก็เข้าใจกันเอง

ในขณะที่ชาวบ้านเข้าใจแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงคิดแบบเดิมว่า “เขื่อนคือคำตอบ”

เมื่อชาวบ้านคิดต่าง รัฐก็ไม่มีงบประมาณให้ ตั้งงบฯ สนับสนุนโครงการใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะรัฐบาลไทยขาดนักการเมืองที่เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างลึกซึ้ง และมีข้าราชการที่ตอบโจทย์ปัญหาให้แต่นักการเมือง ไม่มีใครมาตอบโจทย์ของชาวบ้าน

ฝายแม่ยม ที่มาภาพ : http://sphotos.xx.fbcdn.net
ฝายแม่ยม ที่มาภาพ : http://sphotos.xx.fbcdn.net

เช่น โครงการผันน้ำโขง ชี มูล ซึ่งเคยล้มเหลวมาแล้ว เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะที่จะทำโครงการขนาดใหญ่อย่างนี้ หรือโครงการแก้ไขวิกฤติน้ำในภาคอีสาน ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นล้านล้านบาท รัฐก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอ

“ผมมองว่างบ 3.5 แสนล้านบาทของ กบอ. นั้นไม่ใช่การจัดการน้ำในภาพรวม เป็นเพียงการจัดการน้ำเฉพาะกิจตามสถานการณ์น้ำท่วม เพราะปัญหาไม่ถูกแก้ไข สุดท้ายเมื่องบก้อนนี้หมดลงก็ยังต้องแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอีกเหมือนเดิม และอาจจะหนักกว่าเดิมด้วย เพราะมีแต่สิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ”

โครงการขุดลอกคูคลองก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจัง เป็นเพียงการเอาโคลนขึ้นมาแปะข้างตลิ่งเท่านั้น อีกไม่เกิน 2 ปี โคลนนี้ก็ไหลลงน้ำตามเดิม อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศตลิ่งด้วย เพราะขุดลอกเอาต้นไม้ริมตลิ่งและดินแข็งที่เสถียรแล้วออกหมด ตลิ่งจึงกลายเป็นตลิ่งอ่อน ถือเป็นแก้ปัญหาที่ขาดความยั่งยืน

การจัดการเรื่องทรัพยากรเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ไม่ใช่เอางบประมาณ อายุรัฐบาล หรือแผนงานของรัฐมนตรีเป็นตัวตั้ง ปัจจุบันประเทศก็ไปดูงานจากต่างประเทศมากมาย และหลายประเทศก็ยอมรับถึงความล้มเหลวของการสร้างเขื่อนแล้ว

ในวันนี้ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ไหนที่เหมาะสมจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกแล้ว อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น จุน้ำได้ 1,175 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนอื่นๆ ก็มีความจุประมาณ 100-200 ล้าน ลบ. ม. เท่านั้น และถึงแม้จะสร้างทุกเขื่อนได้สำเร็จปัญหาก็ยังคงมีอยู่เหมือนเดิม

ดังนั้น ก่อนที่จะไปสร้างเขื่อนต่อ ตนอยากให้กลับมาดูก่อนว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และเอาบทเรียนในอดีตมาวางแผนแก้ไขปัญหาในอนาคต

สิ่งที่ชุมชนต้องการในวันนี้คือลำน้ำที่สุขภาพสมบูรณ์ คือ มีแหล่งต้นน้ำดี มีกลางน้ำที่ดี มีระบบเกษตรที่เหมาะสม เช่น ไม่มีสิ่งก่อสร้างขวางในลำน้ำหรือไม่ปลูกพืชประชิดริมน้ำ ต้องเว้นอย่างน้อย 10 เมตร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และไม่ควรปลูกข้าวโพดหรือพืชที่ต้องเปิดหน้าดิน และมีท้ายน้ำที่ดี คือไม่ปล่อยของเสียลงแหล่งน้ำ

เขื่อนสร้างเพื่ออะไร?

โดยหลักของสมาคมเขื่อนใหญ่นานาชาติ (ICOLD) แล้ว การสร้างเขื่อนมีวัตถุประสงค์อยู่ 6 ข้อ คือ 1. เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 2. เพื่อการชลประทาน 3. เพื่อป้องกันน้ำท่วม 4. เพื่อการประมง 5. เพื่อการท่องเที่ยว 6. เพื่อการขนส่ง

ในประเทศไทยไม่สร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้วตั้งแต่สร้างเขื่อนปากมูลใน พ.ศ. 2537 มีแต่จะเสริมเขื่อนเดิมที่มีอยู่โดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เรียกว่า มินิไฮโดรเพาเวอร์ หรือไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เกิน 10 เมกะวัตต์เท่านั้น

แต่เขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ได้ไหมนั้น จริงๆ แล้วพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาถึงกรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่ม ดังนั้นหากจะกันน้ำท่วมได้จะต้องแผ่กระจายน้ำลงมาในแนวนอนด้วย แต่การจัดการน้ำทุกวันนี้ยังคงมีแต่แนวตั้งเหมือนเดิม

อย่างจังหวัดสมุทรสงคราม ที่น้ำไม่ท่วมก็เพราะเขามีคลองในแนวราบให้น้ำกระจายออกไปได้ แต่ที่รัฐบาลทำคือ ปิดประตูคลองในแนวราบหมดเพื่อให้น้ำลงมาในแนวดิ่งอย่างเดียว อีกทั้งการขุดลอกคูคลองจะยังทำไห้น้ำวิ่งมาท่วมยังท้ายน้ำเร็วขึ้นด้วย บางครั้งในช่วงฤดูฝนบางพื้นที่ก็เจอปัญหาภัยแล้ง เพราะว่ารัฐบาลรีบไล่น้ำออกทะเลหมด

ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดการน้ำในแนวราบด้วย เพื่อแก้ปัญหาท่วม เช่น เอาน้ำเข้าสู่คลองหรือระบบชลประทาน เสริมกับห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติกล่าวคือ การสร้างเขื่อนในแผนของ กยน. ไม่ใช่เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ เลย ถ้าอยากแก้ปัญหานี้ รัฐจะต้องมีโครงการขุดลอกคลองระหว่างแม่น้ำจากตอนกลางและตอนท้ายผ่านกรุงเทพมหานครในบางจุดด้วย ไม่ใช่กั้นทางน้ำให้ไหลอ้อมกรุงเทพฯ เช่นนี้

สำหรับกรณีเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าไซยะบุรี ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าแล้ว เพราะไฟฟ้าสำรองในประเทศมีเกินร้อยละ 30 แล้ว ถ้าประเทศคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน คำนึงถึงระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงแล้ว ก็ควรที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบให้ชัดเจนก่อนคือ

1. ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน แม้ประเทศไทยจะศึกษาแต่ก็ไม่ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทยให้คนไทยรับรู้

2. ศึกษาผลกระทบให้ครบทั้งต้นเขื่อน ท้ายเขื่อน และผลกระทบข้ามพรมแดน เพราะในรายงานศึกษาเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน

3. มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นให้ครบถ้วน เพราะประเทศลาวไม่ได้ฟัง

4. โครงการนี้ดำเนินการก่อนที่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจะเสร็จ ซึ่งไม่ถูกต้อง

นายหาญณรงค์กล่าวต่อว่าคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงต้องกลับไปคำนึงถึงประเด็นการซื้อไฟฟ้า ผลกระทบที่เกิดขึ้น อำนาจอธิปไตย และผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรีใหม่ เพราะจะกลายบรรทัดฐานเพื่อสร้างเขื่อนอีก 11 แห่งที่จะตามมา

“ผมคิดว่าลำน้ำโขงเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการสร้างเขื่อนใดๆ เพราะธรรมชาติในแม่น้ำโขงสามารถพัฒนาศักยภาพแบบอื่นอีกได้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหารหรือแหล่งท่องเที่ยว”

หากมองไปไกลๆ อีกสัก 50-100 ปีข้างหน้า เมื่อเขื่อนในลุ่มน้ำโขงทั้ง 12 แห่งสร้างสำเร็จ สุดท้ายแม่น้ำโขงถูกทำลาย ซึ่งถ้าเราใช้พลังงานกันโดยขาดการควบคุม ก็คงไม่มีทางหาพลังงานมาใช้พอ เพราะถ้าเอาความต้องการโดยไม่มีขอบเขตเป็นตัวตั้ง ทรัพยากรจะถูกทำลายหมด

ประเทศไทยรวมถึงเอเชียกำลังเติบโตแบบไร้การควบคุม เมื่อขาดการควบคุม จึงทำให้คนที่มีกำลังมากกว่าไปแย่งทรัพยากรจากคนที่อ่อนแอกว่า โดยเฉพาะประเทศจีนที่กระหายพลังงานมากที่สุด อย่าคิดว่าถ้าประเทศเราไม่สร้างเขื่อนประเทศอื่นก็สร้างแทน เราต้องช่วยกันรักษาแม่น้ำโขงไว้ ถ้าจะสร้างเขื่อนที่แม่น้ำโขง ผมว่าไปสร้างที่ลำน้ำสาขายังดีเสียกว่าอีก เพราะถือว่านั่นเป็นอธิปไตยของประเทศนั้นๆ แต่แม่น้ำโขงเป็นเส้นพรมแดนของหลายประเทศ ดังนั้นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงโดยที่ประเทศอื่นไม่ยินยอมถือว่าละเมิดอำนาจอธิปไตยประเทศอื่น

อีกทั้งการสร้างเขื่อนเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยและทำลายทรัพยากรมากที่สุด อ่านต่อตอน3