ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (6): ผลสำเร็จของเอเอ็มซี “ลูกหนี้ต้องรอด”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (6): ผลสำเร็จของเอเอ็มซี “ลูกหนี้ต้องรอด”

17 ตุลาคม 2012


นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะให้ประเมินว่าเอเอ็มซีประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไร จะมีตัววัดอะไรบ้าง

บรรยง : ตัววัดเอเอ็มซีจริงๆ ถ้าเป็นเอเอ็มซีรัฐ ที่วัดกันมี 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นตัวเลขที่สามารถวัดได้จากผลการทำงานที่ผ่านมานะครับ คงไม่ได้บอกว่าเรารับโอนมาเท่าไหร่ แล้วผลงานเราดีไม่ดี กำไรเราเท่าไหร่ ไม่ใช่ เราวัดได้จากสิ่งที่เขาเรียกว่าผลลัพธ์ของการทำงาน ภาษาอังกฤษเรียกว่า recovery rate คือ เรารับโอนหนี้มา เราได้ทำอะไรลงไป แล้วมันมีผลลัพธ์ในการติดตามได้ดีไหม

เช่น เรารับโอนมาเป็นต้นเงินอยู่สัก 190,000 ล้านบาท มีการติดตามทำไม่ให้มันด้อยค่าลง นำเงินกลับมาเป็นเงินสักเท่าไหร่ ตัวนั้นเราเรียกว่า recovery rate จะเทียบกับต้นเงิน จะเทียบกับอะไรก็ตาม แต่ตัวนี้วัดเป็นตัวเลขได้แล้วก็มีประวัติที่จะติดตามได้

อีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นตัวสำคัญมาก ซึ่งเอเอ็มซีควรจะมีตัวนี้ เพราะว่าเอเอ็มซีมีส่วนเกี่ยวกับความสงบสุขของสังคมค่อนข้างเยอะ เพราะเกี่ยวกับหนี้สิน เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคน คนจะเป็นจะตาย คนธุรกิจจะอยู่รอดไม่รอดนี่เอเอ็มซีมีส่วนรับผิดชอบหมด ดังนั้น นโยบายที่จะเข้าไปดูแลเขามีส่วนสำคัญสูง การจะวัดผลเรื่องนี้ก็ดูว่า เอ๊ะ! เขาได้ช่วยลูกค้าไปเยอะไหม แล้วลูกค้าได้ฟื้นกลับมาทำประโยชน์ให้กับระบบได้ไหม เขาไปรับโอนหนี้จากระบบธนาคารพาณิชย์มาสักเท่าไหร่แล้ว ตัวนี้ก็วัดได้นะครับ

ถ้าเราบอกเราเป็นเอเอ็มซีที่ดี แต่เราไม่เคยรับโอนหนี้ใครเลย อย่างนี้ก็คงไปรองรับระบบเศรษฐกิจจริงๆ ไม่ได้ เพราะแบงก์พาณิชย์เขาไม่ได้ประโยชน์ ระบบการเงินไม่ได้ประโยชน์ แล้วตัวเราจะทำงานมีผลกำไร แต่เราไม่ได้ช่วยคนอื่นเลย อันนี้ก็ถือว่ายังขาดการเป็นเอเอ็มซีที่ดีไป

การวัดผลอีกตัวหนึ่งคือ สังคมได้อะไรจากเรา รายย่อยได้อะไรจากเรา แล้วแนวทางการทำงานเราไปทำร้ายเขาไหม ในการที่เราเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ เรามีนโยบายที่ให้โอกาสลูกหนี้หรือเปล่า อย่าง บสก. เราเคยตั้งแนวคิดว่า “เราเป็นองค์กรไทย เพื่อสังคมไทย” เราจะต้องเป็นองค์กรที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล เราเอื้อกับสังคมไทยให้สังคมไทยเราอยู่อย่างสงบร่มเย็น มีความแข็งแรง ตัวลูกหนี้เองเราก็บอกว่าเราจะช่วยคุณเสมอ เราให้โอกาสคุณเสมอ เป็นสโลแกนของ บสก. เราจะออกโครงการอะไรก็จะอิงตัวนี้ เป็นแนวคิดที่เขาเรียกว่า “วิญญาณ” หมายถึงว่า เราจะทำเพื่อลูกหนี้นะ ลูกหนี้เขามีอะไรมาคุยกับเราได้ อย่างสโลแกนของเราบอกว่าเราให้โอกาสคุณเสมอ

โครงการที่เราออกมา โครงการว่า “คืนทรัพย์ให้คุณ” เราบอกเลยว่าเราไม่ต้องการหลักประกันเขาหรอก เราต้องการคืนให้เขา อันนี้คือความรับผิดชอบในแนวคิดนโยบายการทำงานของเอเอ็มซี ซึ่งมันมีความสำคัญมากว่าตัวเงิน ตัว recovery rate ที่ผมว่านี่ยังเป็นตัวรองกว่าตัวนี้อีก

ไทยพับลิก้า : คือลูกหนี้รอด

บรรยง : แต่ตัวเราต้องไม่ขาดทุนนะครับ ตัวเราก็มีผลกำไร ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา ซึ่งได้แก่ พนักงาน ผู้ถือหุ้น บริษัท และอีกตัวหนึ่งที่ต้องลืมไม่ได้คือสังคมที่มีส่วน มี 4 ตัวที่เกี่ยวข้องกับเราทั้งหมด มีตัวบริษัท ตัวพนักงาน ตัวผู้ถือหุ้น และตัวสังคม ถ้าเราตอบว่าที่เราทำ 4 ตัวนี้ได้ประโยชน์หมด อันนั้นวัดผลเอเอ็มซีได้

ไทยพับลิก้า : แนวทางที่ผ่านมาของ บสก. ก็คือ แนวประนอมหนี้

บรรยง : ผมคิดว่าตอบโจทย์ได้หมด คือ เงินหลวงที่ใส่มาไม่ทำให้เขาขาดทุน ได้ผลกำไรกลับไปเป็นเงินปันผลบ้างนะครับ ตัวพนักงานก็มีงานทำ ไม่ถูกปิดไปเมื่อสมัยบีบีซีนะครับ ไม่ถูกปิดไป และมีการรับซื้อรับโอนหนี้จากแบงก์พาณิชย์ ทำให้แบงก์พาณิชย์มีสุขภาพดีขึ้น เศรษฐกิจฟื้นได้เร็วกว่าปกติหน่อยหนึ่ง อันนี้สังคมก็ได้ และมีส่วนช่วยลูกหนี้ให้เขาเป็นไทมากขึ้น หลายหมื่นรายนะครับที่ปลดหนี้จาก บสก. หลายหมื่นรายได้มีชีวิตใหม่ ตอนนี้เห็นว่า 4 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับ บสก. ได้ประโยชน์หมด ผมถือว่าการวัดผลสำเร็จของเอเอ็มซีวัดตรงนั้นนะครับ

ไทยพับลิก้า : วันนี้ลูกหนี้กลับมาเป็นลูกหนี้ที่แข็งแรง

บรรยง : เยอะ ก็มีบางส่วนก็ต้องทำงานกันไป แต่ผมว่าตั้งแต่ปี 40 นี้เกือบๆ แสนรายแล้วครับ ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่น สมัยผมอยู่ผมพ้นจากเอ็มดีมา 2 ปี สมัยผมอยู่ตัวเลขที่ลูกหนี้ปลดหนี้ไปตอนนั้น 4 หมื่นกว่าราย ผมเชื่อว่าตอนนี้ก็น่าจะ 5 หมื่นกว่ารายแล้ว ที่ลูกหนี้หลุดหนี้เลยนะ ไม่อยู่ในระหว่างผ่อน ปลดออกไปแล้วก็ประมาณ 5 หมื่นกว่าราย

ก็แนวคิดเอเอ็มซี ผมคิดว่าน่าจะคิดว่าตัวเองทำแล้วก็มีผลงานที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระทางการและยังตอบผู้มีส่วนได้เสีย 4 คนที่ว่าเมื่อกี้ ว่าถ้าเขาได้ประโยชน์หมดก็ถือว่าเป็นเอเอ็มซีที่ประสบความสำเร็จ แต่จะให้ดีจริงๆ คือสามารถรองรับวิกฤติข้างหน้าได้ อันนี้จะสมบูรณ์ครับ ไม่ต้องไปฟังว่า เฮ้ย ต่างประเทศเขามีเอเอ็มซีแบบเราหรือไม่ ผมเรียนว่าวันนี้เอเอ็มซีน่าจะเดินไกลไปแล้วครับ อ่านต่อตอน 7 ประเมินเอเอ็มซีไทยล้ำหน้าต่างประเทศ

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)