ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 วิกฤติปี 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (5): ถอดบทเรียนเอเอ็มซี ภารกิจช่วยชาติ

ซีรีส์ 15 วิกฤติปี 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (5): ถอดบทเรียนเอเอ็มซี ภารกิจช่วยชาติ

17 ตุลาคม 2012


นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้คุณบรรยงถอดบทเรียนการบริหารหนี้เน่า 15 ปีที่ผ่านมา จะสรุปว่าอย่างไร

บรรยง : หนี้เน่าช่วงนั้น แบ่งการประมูลออกมาก็จะมีผู้ที่ประมูลได้แบ่งเป็น 2 กลุ่มแล้วกันนะครับ เป็นเอกชนและเอเอ็มซีของรัฐ เอเอ็มซีของรัฐก็มีการจัดการทุกๆ กลุ่ม ถือว่าการบริหารจัดการได้ผลลัพธ์ที่เป็นตัวเงินที่ดี คือ มีผลกำไร เอกชนก็ได้กำไรของเขาไป รัฐบาลก็ได้เงินกลับของเขาเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นข้อคิดเห็นนะครับ ก็อยากให้เห็นว่ามีการเตรียมพร้อมเพื่อลดความสูญเสียตัวนั้นแทนที่จะต้องไปประมูลขายที่มีจำนวนเยอะๆ ก็อยากให้มีการเตรียม โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นรัฐบาล หรือมีแนวคิดที่จะบริหารจัดการเพื่อประโยชน์ของระบบเศรษฐกิจ ให้เข้าไปมีส่วนในการดูแลตัวนั้นก็จะดีครับ

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้วิกฤติเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นหลายที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือว่ายุโรป มองว่าไทยมีโอกาสที่จะเจอวิกฤติอย่างนั้นไหม

บรรยง : คือถ้าเราฟังจากผู้ดูแล ผู้ใหญ่ทั้งหมดนะครับ ก็จะมีความมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลังหรือตัวแบงก์ชาติ ก็จะมีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแรงพอที่จะรองรับ แต่ผมอยากให้นึกถึงเมื่อปี 2540 นะครับ ว่าเราก็มั่นใจเหมือนกัน แต่เหตุการณ์มันเร็ว และบางครั้งเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดมันค่อนข้างจะเหนือความคาดหมาย อย่างวันนี้เราบอกว่าส่งออกไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ผมว่าก็ไม่แน่หรอกครับ เพราะว่าส่งออกไทยถ้าดูโครงสร้างมันก็ต้องพึ่งไปยังยุโรป เราบอกว่ามีปัญหา อเมริกามีปัญหา เราก็ขายกันเอง ขายอาเซียน ขายจีน แต่ผมเชื่อว่ามันโยงกันหมด เพราะจีนเองก็คู่ค้าของยูโรหรือของอเมริกาเหมือนกัน

ฉะนั้น ก็อยากให้มองลบสักนิดหนึ่งว่า ส่งออกไทยอาจจะไม่บวกอย่างที่คิดก็ได้ เวลาส่งออกไม่บวกนะครับ มันจะมีผลลบต่อหนี้สาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจีดีพีไม่โต หนี้สาธารณะต่อจีดีพีมันก็จะไม่เป็นอย่างที่คิด พอวันนี้มัน 40% นิดๆ นโยบายทางการคลังเราบอกว่าถ้าไม่เกิน 60% ก็ถือว่าเราปลอดภัย แต่เวลา GDP มันหด มัน 40-60% มันเร็ว ก็ยังเป็นห่วงอยู่เหมือนกันในภาวะที่เราคาดไม่ถึง แต่ไม่อยากให้ประมาท

แต่ว่าถึงเรื่องการปล่อยสินเชื่อสมัยนั้นนะครับ เรื่องของธรรมาภิบาลในก่อน 2540 นะครับ ทุกคนจะบอกว่าเราปล่อยสินเชื่อแบบขาดธรรมาภิบาล เวลาเราปล่อยสินเชื่อ เวลาเราบริหารหนี้เสีย เราจะเห็นว่าตอนมันมามันไม่ดี ตอนมันปล่อยมันไม่ดี เพราะว่าเราก็ไม่คิด ไม่คิดว่าการทำอย่างนั้นมันจะเป็นผลเสียต่อระบบของไทย เป็นธรรมชาติ ผมว่าคนจะลืม ผมไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์นักว่า ในอนาคต การดูแลเรื่องของสินเชื่อเราจะมีธรรมาภิบาลเหมือนอย่างที่เราพูด

ผมว่า คนทั่วๆ ไปผ่านอะไรไปได้แล้วเราก็มักจะลืมบทเรียนนั้นไป แล้วพอเราเผลอหน่อยมันก็จะกลับมาอีก เป็นวัฏจักรมัน ดังนั้น ธรรมาภิบาลเอง การขาดธรรมาภิบาลในทุกระบบนี่ผมเชื่อว่ามันยังมีอยู่ เมื่อหลายๆ ปัญหาเกิดขึ้นเราจึงยังประมาทไม่ได้ว่า 15 ปีมาแล้วหลังเกิดวิกฤติปี 40 โอกาสจะเกิดกับระบบเศรษฐกิจไทยอีกจะไม่มีหรือมีแต่น้อย ผมไม่ค่อยไว้วางใจเท่าไหร่

ไทยพับลิก้า : เพราะฉะนั้น เอเอ็มซีจะต้องเตรียมพร้อม

บรรยง : ในส่วนที่เรารับผิดชอบเราก็ต้องเตรียมให้เป็นเอเอ็มซีที่แข็งแรงที่สุดที่มีส่วนรองรับหนี้เสียให้ได้มากสุด แม้ว่าในระบบปกติก็ตาม ซึ่งเราเองก็ภูมิใจตลอดว่าอย่างน้อยเราก็มีส่วน ก็ถือว่าเยอะพอสมควร ตั้ง 30% ของหนี้ที่มันลดไป แล้วแนวการทำงานเราเองก็มีส่วนช่วยระบบเศรษฐกิจ ช่วยความเป็นอยู่ของคน มีการใส่แนวคิดเรื่องการทำประโยชน์ให้กับสาธารณะ ในการแก้ไขหนี้เราคิดว่าเราจะช่วยลูกหนี้ผู้สุจริตให้เขาฟื้นอีกครั้งหนึ่ง เรามีโอกาสได้ช่วยทั้งระบบใหญ่แล้วยังมีส่วนช่วยในตัวย่อยๆ อีก ซึ่งเป็นความภูมิใจของเอเอ็มซี แล้วก็อยากเห็นเอเอ็มซีตัวนี้มีความพร้อมเรื่องเงินทุน เพื่อรองรับวิกฤติที่มันจะเกิดหรือแม้แต่ปกติก็มีส่วนช่วยแล้วครับ

แนวคิดการที่จะนำเอเอ็มซีไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ได้ทำเพื่อให้ บสก. มีความใหญ่โตขยายธุรกิจ ไม่ใช่ครับ มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องเตรียมเงินทุน เพราะทุกครั้งที่เราซื้อหนี้เสีย เราจะต้องไปใช้เงินทุนจากระบบการเงิน คือ ระบบธนาคารพาณิชย์ แต่ตัวนั้นอย่างที่เรียนว่าเวลาเกิดวิกฤติขึ้นมา ระบบการเงินก็ไม่มีสตางค์ ตอนนั้นเราก็ต้องพึ่งอย่างอื่น ซึ่งการที่วันนี้เราอยู่แค่ในตลาดเงิน ถ้าเกิดทำให้เอเอ็มซีมันอยู่ในตลาดทุนได้อีกขาหนึ่ง เหมือนเรามีขา 2 ขา เราไปทั้งตลาดเงิน ตลาดทุนทำให้เรามีโอกาสระดมเงินทุนต่างๆ ได้หลายช่องทางขึ้น เวลาเกิดวิกฤติขึ้นมา บางครั้งมันไม่มีเงินอยู่ตรงหนึ่งมันก็มีเงินอยู่อีกตรงหนึ่ง เงินไม่ได้หายไปไหน บางครั้งเงินนั้นอาจอยู่ต่างประเทศก็ได้ถ้าเรามีเครื่องมือที่จะใช้เงินตอนนั้นมารับซื้อรับโอนหนี้เสีย มันก็เป็นการทำให้เรามีกำลังที่จะรองรับวิกฤติข้างหน้าได้ อ่านต่อตอน 6 ผลสำเร็จของเอเอ็มซี “ลูกหนี้ต้องรอด”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)