ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (3): เบื้องหลังไอเอ็มเอฟเคยออกกฎเหล็ก สั่งแก้หนี้ให้ “บังคับจำนองไม่ผ่านศาล”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “บรรยง วิเศษมงคลชัย” (3): เบื้องหลังไอเอ็มเอฟเคยออกกฎเหล็ก สั่งแก้หนี้ให้ “บังคับจำนองไม่ผ่านศาล”

17 ตุลาคม 2012


นายบรรยง วิเศษมงคลชัย
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย

ไทยพับลิก้า : ช่วงนั้นที่แก้ปัญหาของหนี้ ทราบว่ามีการเซ็นสัญญากับไอเอ็มเอฟด้วย เรื่อง LOI (Letter Of Intent) ฉบับที่ 4

บรรยง : ครับ มันเกี่ยวโยงกับการตั้งเอเอ็มซีด้วย ช่วงนั้นไอเอ็มเอฟก็ให้รัฐบาลไทยเซ็น Letter Of Intent หลายฉบับนะครับ ก็ให้เราแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ทั้งเรื่องภาษี ทั้งเรื่องกฎหมายต่างๆ ก็หลายฉบับ มีฉบับที่ 4 ให้เราแก้กฎหมายเรื่องการบังคับจำนองนะครับ เพราะเขาถือว่ากฎหมายบังคับจำนองทำให้กระบวนการติดตามหนี้ล่าช้า ก็คือ กฎหมายบ้านเราใช้กฎหมายแพ่งพาณิชย์ การบังคับจำนองโดยระบบกฎหมายไทยต้องผ่านศาล คือต้องฟ้องคดี และก็ไปพิสูจน์กันว่ามีหนี้จริงไหม แล้วก็ก่อนจะบังคับยังต้องแจ้งลูกค้า มีวิธีการ ก็ทำให้ถ้ามองอีกซีกหนึ่งก็คือ ใช้เวลานานเกินไป ไอเอ็มเอฟเขาต้องการให้เราแก้กฎหมายตัวนี้เป็นการบังคับจำนองแบบไม่ผ่านศาล

ก็คือว่า ถ้าเป็นหนี้แล้วเป็นหนี้เสีย แล้วก็มีตัวกลางตัวหนึ่ง แล้วเจ้าหนี้ก็แจ้งตัวกลางซึ่งภาษาเขาเรียกว่า นายทะเบียน หรือ register แจ้งว่ามีหนี้อยู่แล้วก็สามารถบังคับเปลี่ยนชื่อโฉนดเลย เปลี่ยนชื่อหลักประกัน เปลี่ยนชื่อเจ้าหนี้เลย ซึ่งตัวนี้ถือว่าถ้ามีการแก้ไขในแนวคิดสมัยนั้นนะ ก็รัฐบาลไทยไปเซ็นแล้วก็เหมือนไปผูกผัน แต่ถ้าแก้ไขจะมีผลกระทบต่อระบบสังคมเราค่อนข้างเยอะ

เพราะว่าโดยพื้นฐานบางประเทศที่เขาใช้กฎหมายตัวนี้ ประชาชนเขามีความรู้ค่อนข้างดี มีการรักษาสิทธิประโยชน์ตัวเองได้ดี แต่สังคมไทยอย่างระบบยุติธรรมทั่วๆ ไปยังไม่ดีพอ ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะใช้กฎหมายตัวนี้ วันนั้นโชคดีครับที่คณะทำงานเขาได้เห็นตัวนี้แล้วล่ะ แต่เนื่องจากมีการเซ็น LOI ไปก็คงจะต้องทำ ทำเพียงแต่ว่าอยู่ในขั้นตอนการทำแต่ไม่จบ เราใช้หนี้จบซะก่อนมันก็เลยเหมือนกับว่าไม่มีผลสำเร็จตัวนี้ขึ้นมา

แต่กฎหมายตัวนี้ก็ไปปรากฏอยู่ในเอเอ็มซีตัวหนึ่ง คือตัวบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย คือ บสท. เขาจะมีอำนาจพิเศษตามกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมาตรา 58 และมาตรา 74 ตัวนี้ให้อำนาจเจ้าหนี้ที่จะบังคับจำนองโดยไม่ผ่านศาลได้ แต่ก็ยังดีที่ว่า บสท. เป็นองค์กรของรัฐบาล คือการสร้างหนี้ขึ้นมาสร้างหนี้เท็จอะไรต่างๆ ไม่เกิดแน่นอน เพราะฉะนั้นยังมีการให้ความเป็นธรรมได้ดีส่วนหนึ่ง ดีกว่าไปแก้กฎหมายทั้งระบบ

ในความเห็นส่วนตัวผม แม้ว่าในปัจจุบันเราก็ยังไม่ควรใช้กฎหมายตัวนี้ คือระบบกฎหมายปัจจุบันแม้ว่าจะล่าช้าไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมกับตัวลูกหนี้ และก็มีกระบวนการที่อย่างน้อยได้มีโอกาสให้ผู้เป็นหนี้ได้ตั้งตัว แล้วก็มีการตรวจเช็คได้ดี เหมาะกับสังคมในปัจจุบัน ยังเหมาะอยู่นะครับ

ส่วนอนาคตก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ตัวนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน ว่าจะทำให้ต้นทุนการเงินของไทยสูงกว่าปกตินิดหนึ่ง เพราะว่าเจ้าหนี้เองก็ต้องคิดตัวนี้เป็นความเสี่ยง แล้วก็ไปเพิ่มต้นทุนในการติดตามหนี้ ซึ่งก็อยู่ในต้นทุนกู้ยืมซึ่งลูกหนี้ดีต้องรับ อันนั้นคือข้อเสียของมันครับ อ่านต่อตอน 4 เอเอ็มซีที่ดี “ต้องไม่ซื้อมา ขายไป”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ2540 สนับสนุนโดย บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน)