ThaiPublica > คนในข่าว > หมอ (ประเวศ) ตรวจโรคหมอ ‘หมอเอาแต่เรียนจากศพ ศพคือคนตาย คนตายไม่สอนเราเหมือนคนเป็น’

หมอ (ประเวศ) ตรวจโรคหมอ ‘หมอเอาแต่เรียนจากศพ ศพคือคนตาย คนตายไม่สอนเราเหมือนคนเป็น’

8 ตุลาคม 2012


สัมภาษณ์โดยทีมงาน V-Reformer
http://www.v-reform.org

หมอเป็นวิชาชีพที่ได้รับความยกย่องนับถือจากผู้คนในสังคม แต่ปัจจุบัน แนวโน้มหนึ่งที่ชัดเจนคือความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ อันเนื่องมาจากความเสียหายจากการเข้ารับบริการ ได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง แก้ไม่ตก และมีแนวโน้มย่ำแย่ลงเรื่อยๆ เห็นได้จากสถิติการฟ้องร้องแพทย์ที่สูงขึ้นในทุกปี ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้งผู้ให้และรับบริการ เพราะความเชื่อถือศรัทธาที่หมอและคนไข้เคยมีต่อกัน ถูกแทนที่ด้วยความไม่ไว้วางใจ และความหวาดกลัว

คนไข้กลัวที่จะไปหาหมอ ส่วนหมอก็กลัวที่จะรักษาคนไข้

แน่นอนว่าที่มาของความขัดแย้งส่วนหนึ่งเกิดจากสำนึกของผู้คนที่เปลี่ยนไป กล่าวคือคนที่ไปหาหมอ ไม่รู้สึกว่าเขากำลังขอความช่วยเหลือจากหมอเช่นในอดีต แต่รู้สึกเป็นสิทธิหรือเป็นบริการที่ตนจ่ายเงินซื้อมา ดังนั้นเมื่อผลการรักษาไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จึงไม่พอใจและเรียกร้องสิทธิ์ของตน อย่างไรก็ตามการที่ผู้คนตระหนักในสิทธิของตนเช่นนี้ย่อมไม่ใช่เรื่องผิด

ดังนั้นทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ อาจอยู่ที่การทำความเข้าใจและปรับตัวจากฝั่งผู้ให้บริการ ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจนไปกว่าหมอด้วยกันเอง ทีมงาน V-Reformer จึงขออนุญาตสัมภาษณ์คุณหมอประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส และ ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.) ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทั้งหมอรักษาคนไข้ เป็นอาจารย์หมอ และเป็นหมอรักษาสังคม

เพื่อให้หมอ (ประเวศ) ช่วยตรวจโรคหมอ

นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส และ ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.)
นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส และ ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.)

ปัจจุบันหมอทำงานได้สมกับที่สังคมคาดหวังหรือไม่?

ทุกวันนี้หมอทำงานกันหนัก แต่ก็มีปัญหาเรื่องความขัดแย้ง เพราะตอนหลังประชาชนตื่นตัวขึ้นก็เลยมีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น บางทีมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มแล้วก็เกลียดหมอไปเลย รู้สึกว่าหมอปกป้องกันเอง เชื่อไม่ได้ ฝ่ายแพทย์ทั่วไปก็ล้า เพราะมองว่าตัวเองเหนื่อย ทำงานหนักแล้วยังถูกกล่าวหาดำเนินคดีอีก เวลาโรงพยาบาลถูกกล่าวหาว่าเป็นโรงฆ่าสัตว์หมอก็จะเสียใจ แล้วถ้าเกิดการฟ้องร้องขึ้นบ่อยๆ มันก็จะมีผลกระทบกลับมา เพราะหมอจะไม่กล้ารักษาคนไข้ ค่าทนาย ค่าใช้จ่ายต่างๆ มันก็แพงขึ้น ยิ่งช่วงหลังมีหมอถูกฟ้องว่าทำคนไข้ตายแล้วถูกตัดสินจำคุก สถานการณ์ก็เลยคุกรุ่น หมอพากันโกรธ จริงๆ ไม่รู้ด้วยว่าจะโกรธอะไร จะโกรธคนไข้หรือโกรธระบบยุติธรรมดี

ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?

โดยทั่วไปหมอถูกฝึกมาให้สนใจโรค ไม่ได้สนใจคน ทั้งที่คนไข้แต่ละคนมีเบื้องหลังของตัวเอง มีตัวอย่างจากเรื่องจริง คือมีคนเป็นมะเร็งตับมาหาหมอ หมอก็สนใจแต่มะเร็งตับ เจาะดูเซลล์อะไรพวกนี้ไป แต่ไม่ได้พูดคุย ไม่ได้สนใจเลยว่า คนไข้เป็นใครมาจากไหน ครอบครัวเป็นอย่างไร สุดท้ายสองเดือนผ่านไปคนไข้ตาย หมอเพิ่งรู้ว่าคนไข้ขายนามาฝากไข้ นี่ถ้ารู้ก่อนจะได้บอกเขาแต่ต้นว่าโรคนี้ทุ่มหมดตัวมันก็รักษาไม่หาย

ปัญหาแบบนี้มีที่มาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ ทุกวันนี้พอสอบเข้าเรียนหมอได้ เริ่มคาบแรกก็เรียนอนาโตมี เรียนร่างกาย แล้วต่อมาก็เรียนเรื่องสรีระวิทยา หมอเอาแต่เรียนจากศพ ศพคือคนตาย คนตายไม่สอนเราเหมือนคนเป็น คนเรียนเลยไม่ได้ฝึกเรื่องการสื่อสารหรือทำความเข้าใจเบื้องหลังของคน ทั้งที่เรื่องเหล่านี้สำคัญมาก

การที่หมอไม่ค่อยได้เรียนรู้จากคนเป็น เชื่อมโยงกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ที่แย่ลงในปัจจุบันอย่างไร?

จริงๆ แล้ว หมอต้องรักษาคน ไม่ใช่รักษาโรค ทีนี้พอไม่ได้เริ่มเรียนจากคนก็เลยขาดเรื่องสำคัญไปสองเรื่อง เรื่องแรกคือหมอไม่ตระหนักว่าในกระบวนการรักษาโรค การสื่อสารคือสิ่งสำคัญที่สุด คุณเชื่อไหม บางทีคนไข้มาหา แค่ตั้งใจฟังเขาดีๆ โรคเขาก็หายนะ เพราะเขาแค่ต้องการคนฟัง แต่ทุกวันนี้หมอกลับทำตรงนี้น้อย เรื่องนี้พูดไปมันก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจด้วย คือถ้าคนเท่ากัน เวลาคุยกันมันจะฟังกัน แต่หมอโดยทั่วไปก็เป็นหมอ (หัวเราะ) เขาก็ทำงานของเขาไป แล้วจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจในการช่วยชีวิตคนจึงเหนือกว่าคนไข้ ก็เลยไม่ใส่ใจที่จะฟัง การสื่อสารก็เลยล้มเหลว มันก็ไม่เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน นี่ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทย ที่อเมริกามีนักวิชาการเคยมาเล่า ว่าความนิยมนับถือแพทย์ในอเมริกาเมื่อก่อนได้คะแนนอยู่ที่ 75 ตอนนี้ลดลงมาเท่านักการเมืองแล้ว

จะเล่าตัวอย่างให้ฟัง เคยมีหมอที่ดีมากท่านหนึ่งถูกชาวบ้านมาชุมนุมขับไล่เพราะไม่พอใจผลการรักษา พวกหมอก็จะออกแถลงการณ์กันว่าหมอได้ทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ได้แค่นี้ ผมค้านเขาว่าแถลงอย่างนี้ไม่ได้ มันเป็นการสื่อสารที่ไม่ดี ชาวบ้านไม่รับฟังหรอก ควรแถลงโดยเริ่มจากการบอกว่าเราเห็นใจเขานะ จากนั้นค่อยอธิบายว่ามันมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นอย่างไร แล้วชี้ให้เห็นว่าถ้าคุณหมอท่านนี้ถูกไล่ไปจะน่าเสียดายแค่ไหน

ที่เล่าเพราะต้องการจะบอกว่า ถ้าความผิดพลาดมันเกิดจากความไม่ตั้งใจ หมอก็ทำดีที่สุดแล้ว การสื่อสารจะช่วยได้ อย่างเรื่องหมอที่โรงพยาบาลขอนแก่นผ่าตัดตาคนไข้ตาบอดไปสิบคน ไปไล่หาสาเหตุดูพบว่าไม่ได้เป็นเพราะหมอทำผิดพลาด แต่เกิดจากน้ำยาล้างเครื่องมือมีเชื้อปนอยู่ เมื่อสื่อสารกันดีคนไข้ก็เข้าใจว่าหมอตั้งใจดีมาก ความสัมพันธ์กลับมาดีด้วยซ้ำ

คุณหมอบอกว่ามีอยู่สองเรื่องใหญ่ที่หมอละเลยไป นอกจากเรื่องการสื่อสารระหว่างหมอกับคนไข้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งคืออะไร?

เรื่องที่สองคือหมอขาดความเข้าใจในเชิงระบบ แม้แต่หมอที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการบริหารปกครองหมอด้วยกันก็ยังไม่มี เพราะหมอถูกฝึกมาให้มีความรู้ในเชิงเทคนิค เช่นรู้เรื่องโรค รู้เรื่องหัวใจ แต่ไม่ได้ถูกฝึกมาให้มีความรู้ในเชิงระบบ ซึ่งการพยายามปรับปรุงระบบสุขภาพ มันทำไม่ได้ถ้าเราขาดความรู้เชิงระบบ เช่น การเข้าใจว่าทุกวันนี้เงินหมุนเวียนในระบบสาธารณสุขอย่างไร ก็จะช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมคนมากขึ้น เพราะรูปแบบการหมุนเวียนของเงินส่งผลต่อพฤติกรรมของคนแน่นอน ถ้าจะทำอะไรอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจริงจัง เราต้องรู้เรื่องเชิงระบบพวกนี้

ถ้าจะลดความผิดพลาดในการให้บริการ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการฟ้องร้องลงอีกต่อหนึ่ง หมอก็จะต้องเข้าใจภาพรวมของระบบ แล้วก็มีบทบาทเชิงนโยบาย ว่าจะต้องปรับปรุงระบบอย่างไรถึงจะลดความผิดพลาดลงได้ เช่น ถ้าความเสียหายเกิดจากความผิดพลาดของน้ำยาล้างอุปกรณ์อย่างกรณีขอนแก่น ก็ต้องมีการออกแบบระบบเฝ้าระวังยี่สิบสี่ชั่วโมง คอยตรวจสอบสิ่งผิดพลาด หรือถ้าเกิดจากการที่หมอต้องทำงานหนักเกินไปเพราะมีคนไข้เยอะมาก ก็ควรมีการสนับสนุนระบบสาธารณสุขมูลฐาน (Primary health care) เพื่อแบ่งเบาภาระจากระบบที่มันเป็นอยู่ แต่หมอไม่เข้าใจตรงนี้ บางคนเสนอให้ยุบโรงพยาบาลชุมชนด้วยซ้ำ ทั้งที่ถ้าโรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็งก็จะช่วยกรองคนไข้ ลดความวุ่นวาย ความแน่นของโรงพยาบาลทั่วไป ที่เสนอให้ยุบแปลว่าไม่เข้าใจเชิงระบบ

สรุปแล้ว ทุกวันนี้เรารู้แค่ว่ายาตัวไหนใช้ทำอะไร ก็เลยรักษาคนไข้ไปเรื่อยๆ ทีละคนๆ (One to one care)

อะไรคือทางออกของปัญหาที่คุณหมอกล่าวมา?

การศึกษาแพทย์ต้องปรับปรุง ต้องเรียนที่จะเข้าใจคนไข้ เพราะถ้าหมอเข้าใจก็จะรักษาด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ถ้าให้ผมสรุป ตอนนี้เป็นยุคที่สองของการแพทย์ ยุคร้อยปีแรก เรียกว่าเป็นยุคสร้างการแพทย์ให้ทันสมัย (Modernizing medicine) มุ่งพัฒนาความรู้และเทคนิคต่างๆ ส่วนปัจจุบันเป็นยุคที่สอง ยุคสร้างการแพทย์ให้มีความเป็นมนุษย์ (Humanizing medicine) ซึ่งมุ่งสร้างแพทย์ที่ใส่ใจในหัวจิตหัวใจของคน ฝึกผู้ให้ให้รู้จักเคารพผู้รับ ถ้าทำตรงนี้ได้จะไม่มีการฟ้องร้องเลย ที่ผ่านมาหลักสูตรสอนแต่เรื่องวัตถุ มันก็เลยหยาบกร้าน เคยมีคนแนะว่าการไปเรียนกวีนิพนธ์บ้างจะทำให้จิตใจหมอเปลี่ยนไป เข้าใจความเป็นมนุษย์ เข้าใจมนุษย์สัมพันธ์มากขึ้น

นอกจากนี้ หมอต้องเข้าใจว่า การสร้างสุขภาพที่ดีไม่ใช่แค่การรักษาเชิงตั้งรับไปเรื่อยๆ ทีละคน นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพดี (Healthy public policy) ก็ไม่ใช่แค่เรื่องระบบสาธารณสุข (Public health) ถ้าเป็นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนจะครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการออกกำลังกาย การมีชุมชนที่ดี หมอมีความสามารถที่จะทำอะไรเหล่านี้ได้ เช่น ในกรณีของแพทยสภา ช่วงปี 2530 ทำเรื่องการรณรงค์งดสูบบุหรี่ก็ทำได้สำเร็จมาก หลวงพ่อคูณ นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีก็ดึงเข้ามาร่วมรณรงค์ได้หมด ในเรื่องสามสิบบาท หมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ก็ศึกษาไว้ดีมาก พอนักการเมืองเอาไปเป็นนโยบายก็ช่วยคนได้เยอะ ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาให้ใส่ใจหลายเรื่อง เช่น เรื่องการแก้ปัญหายาฆ่าแมลง เหมืองแร่ที่ปล่อยสารหนู ตะกั่วแคดเมียมกระทบชาวบ้าน ก็ต้องช่วยกัน มิเช่นนั้นประเทศไทยก็จะกลายเป็นแผ่นดินอาบยาพิษไป

สรุปคือแพทย์ต้องปรับแนวคิดจาก ‘Science-Based’ มาเป็น ‘System-Based’ ซึ่งมีหัวใจอยู่ที่การมองเชิงระบบ พอเห็นภาพรวม แนวทางของหมอก็จะเปลี่ยนจากการรักษาเชิงตั้งรับหรือการมุ่งรักษาโรค มาเป็นการมุ่งปรับปรุงระบบเพื่อสร้างการป้องกัน (Prevention) ตั้งแต่ต้น

ในอดีต อับราฮัม เฟลกซ์เนอร์ (Abraham Flexner 1866-1959) เคยเสนอไว้ในช่วงทศวรรษ 1910 ว่าแนวทางการรักษาควรจะมีลักษณะอิงวิทยาศาสตร์มากกว่าจะสะเปะสะปะต่างคนต่างไป โรงเรียนแพทย์ทั่วโลกก็เลยปรับตัวกลายเป็นอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน จนกระทั่งทุกวันนี้ก็พูดกันแล้วว่ามันไม่พอ ต้องเปลี่ยนเป็น System-Based

ส่วนเรื่องการปรับเนื้อหาการเรียนให้เกิดความเข้าใจเชิงระบบก็มีหลายแนวทาง ตอนปี1979 ผมไปประชุมมีอาจารย์มหาวิทยาลัยในอเมริกาเล่าให้ฟังว่าหมอคือผู้ที่มีอิทธิพลต่อสังคมแต่กลับไม่มีความรู้เชิงระบบเลย ทำได้แค่รักษาคนไข้แบบตัวต่อตัวไปเรื่อยๆ เขาเลยเสนอให้เรียนเรื่องระบาดวิทยา ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษาในภาพกว้างคือศึกษาเรื่องฐานประชากร (Population-based) ตอนสมัยผมเป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ที่ศิริราช ก็เคยจัดการประชุมปฏิบัติการ Clinical decision analysis ซึ่งสอนว่าเวลาหมอส่งตรวจส่งรักษาอะไร ควรจะผ่านการตัดสินใจบนพื้นฐานความรู้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง แต่ละทางคุ้มค่าทางต้นทุนแค่ไหน อันนี้ก็คือการสอนให้หมอคำนึงถึงมิติเชิงระบบทางเศรษฐศาสตร์

ปัจจุบันความรู้ทางเทคนิคพัฒนาไปกว่าแต่ก่อนมาก นั่นหมายความว่าหมอจะต้องฝึกฝนทักษะทางเทคนิคจนมีเวลาใส่ใจความรู้เชิงระบบน้อยลงหรือเปล่า?

ปัจจุบันการแพทย์ใช้เทคโนโลยีซับซ้อนขึ้น แล้วมันก็มีปัญหาสมัยใหม่ที่ยาก แต่เพราะอย่างนี้ความรู้เชิงระบบจึงยิ่งจำเป็น เช่นตอนนี้มีประเด็นเรื่อง ‘ELSI’ (Ethical, Legal and Social Impacts) ซึ่งเป็นประเด็นทางจริยธรรม กฎหมาย นโยบาย ที่ตัดสินใจยากมาก และการตัดสินใจจะส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างสูง คราวหนึ่งผมไปประชุมที่ไคโร มีหมอตั้งประเด็นว่าสมมติเด็กเกิดมามีน้ำหนักตัว 500 กรัม ถ้าไม่ทำอะไรเลยเขาจะตาย แต่ถ้าช่วยก็จะต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล แบบนี้เราควรช่วยชีวิตเขาหรือไม่ หมอมุสลิมก็บอกว่าปล่อยให้ตายไม่ได้เพราะเราไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจแทนพระผู้เป็นเจ้า หมอจีนก็บอกว่าไม่ช่วยเพราะประชากรที่มีอยู่นี่ก็เลี้ยงไม่ไหวแล้ว เป็นเรื่องเศรษฐกิจไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องการถ่ายยีน (Gene transfer) เรื่องฝากคนอื่นตั้งท้อง พอลูกออกมาก็เถียงกันว่าเป็นลูกใครอะไรพวกนี้ มันเข้ามาร้อยแปดปัญหา

ถ้าหมอไทยมีความเข้าใจเชิงระบบ เขาก็จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในภาพกว้าง และจะสามารถรับมือประเด็นเหล่านี้ได้

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร์อาวุโส และ ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.)

ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามในการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนแพทย์ เพื่อให้หมอได้เรียนรู้จากคนเป็น หรือเรียนรู้ในเชิงระบบตามที่คุณหมอกล่าวมาบ้างหรือไม่?

ถ้าในอดีต สมัยผมยังหนุ่มทำงานอยู่ในแพทยสภา ก็เคยเสนอว่าถ้าจะทำอะไรก็ควรเริ่มจากการทำความเข้าใจระบบในภาพรวมก่อน อย่างตอนนั้นมีการเถียงกันภายในว่าเราควรปล่อยเสรีให้โรงเรียนแพทย์ฝึกหัดหมออย่างไรก็ได้หรือควรจะมีการกำหนดหลักสูตรส่วนกลาง กรรมการส่วนใหญ่เขาก็อยากปล่อยให้ฝึกอะไรก็ได้ แต่พวกเรามองว่าไม่ได้ การฝึกแพทย์ควรเริ่มจากการทบทวนสภาพจริงของระบบสาธารณสุขและความต้องการของประชาชน ผมก็เลยไปเป็นอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอ เริ่มจากการศึกษาสภาพจริงของระบบ สุดท้ายก็ได้ข้อเสนอออกมาว่าเราควรโน้มน้าวใจให้แพทย์เป็นแพทย์ทั่วไปมากกว่าแพทย์เฉพาะทาง เพราะประชาชนต้องการ ดังนั้นแพทยสภาที่มีอำนาจกำหนดเงินเดือนให้กับแพทย์ จึงควรตีราคาแพทย์ทั่วไปให้สูงกว่าแพทย์เฉพาะทาง แต่ข้อเสนอฝั่งเราก็แพ้แนวคิดอนุรักษ์นิยมในหมู่อาจารย์แพทย์สมัยนั้นไป

อีกเรื่องก็คือ ตอนนั้นมีความคิดจะทำโรงเรียนแพทย์ชุมชน เพราะรู้สึกว่าโรงเรียนแพทย์ที่มีอยู่ไม่สนองตอบต่อความต้องการของชุมชน เราคิดกันว่าก่อนที่จะเข้ามาเป็นนักเรียนแพทย์ ควรให้ผ่านการทำงานชุมชนมาก่อน พอชุมชนเห็นว่าเขาเป็นคนดี เข้าใจชาวบ้าน จึงค่อยเลือกให้คนนั้นเรียนแพทย์ แล้วการเรียนก็จะไม่เริ่มจากอนาโตมี แต่เริ่มจากเรื่องคนยากคนจน แต่เพราะเสนออย่างนี้ ตอนนั้นก็เลยถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ มีคนไปเขียนลงหนังสือพิมพ์ เขาเปลี่ยนคำว่า ‘Community medical school’ ให้เป็น ‘Commune medical school’ (หัวเราะ) ถ้ามาดูทุกวันนี้หลักสูตรก็จะกลับหัวกลับหางไปจากที่ผมคิดไว้ตอนนั้น

ประเด็นเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์ก็ควรจะเข้มงวด ไม่ปกป้องกันเอง ไม่ต่อต้านการทำอะไรที่ถูกต้อง จากประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมา ในอดีตผมเคยเสนอให้ลงโทษหมอคนหนึ่งเพราะแกไปหลอกรักษาคนไข้จนหมดเนื้อหมดตัว คนไข้มาเจอผมที่ศิริราชก็ร้องห่มร้องไห้ เราก็ทนไม่ไหว ไปฟ้องแพทยสภาให้ถอนใบประกอบวิชาชีพ สุดท้ายก็มีมติออกมาให้ถอน แต่หมอท่านนั้นเป็นอาจารย์หมอผู้ใหญ่ พวกผู้ใหญ่ก็เลยพากันเดือดร้อน รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในฐานะสภานายกพิเศษเลยระงับเรื่องไว้ ตัวอาจารย์หมอที่ถูกฟ้องก็เขียนจดหมายถึงผมว่านี่เป็นครั้งแรกนะที่มีน้องฟ้องพี่ ตอนนั้นผมกับเพื่อนอีกสี่คนเลยไปยื่นใบลาออกจากแพทยสภาเพื่อประท้วง แล้วก็ชนะเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ แต่ถ้าเราไปดูในต่างประเทศ โรงเรียนแพทย์ที่อเมริกาเขาไล่นักเรียนแพทย์คนหนึ่งออกเพราะโกหกเรื่องนิดเดียว คือแต่งงานแล้วโกหกว่ายังไม่แต่ง เขาก็บอกว่าหมอโกหกไม่ได้ คือถ้ามีความเข้มงวดแบบนี้ความน่าเชื่อถือจะตามมา

กระแสการปฏิรูประบบสาธารณสุขในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา มีส่วนช่วยพัฒนาเรื่องเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน?

ก็มีการตั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ตอน พ.ศ. 2535 ทำงานวิชาการงานวิจัยในเชิงระบบ แล้วก็ทำหน้าที่ผลักดันเชิงนโยบาย เพราะตามที่บอกไปว่าถ้าเราขาดความรู้เชิงระบบจะทำโน่นทำนี่ลำบาก

ส่วนตอนนี้ก็มีความพยายามที่จะส่งนักศึกษาไปฝึกงานที่โรงพยาบาลชุมชน อันนี้เราไม่ได้รอระบบ หวังด้วยยาก ต้องไปเจรจาคนโน้นคนนี้ เขาจะเข้าใจไม่เข้าใจก็ไม่รู้ (หัวเราะ) ตอนนี้พวกที่ทำก็ทำกันเองในนามส่วนตัว เพราะเรื่องแบบนี้เป็นรูปธรรมที่ทำได้ทันที ก็คือมหาวิทยาลัยไปเสริมความเข้มแข็งให้โรงพยาบาลชุมชน แล้วก็ส่งนักศึกษาไปเรียนในชุมชนนั้น พอไปอยู่กับชุมชน ชุมชนจะสอนเรื่องทั้งหมดที่ผมกล่าวไปให้นักเรียนแพทย์ ตอนนี้ก็กำลังพยายามรวมตัวโรงเรียนแพทย์แล้วทำอะไรแบบนี้ โจทย์ของเราคือการสร้างภาวะผู้นำในหมู่นักเรียนแพทย์ให้เขาสามารถออกมาทำเรื่องโน้นเรื่องนี้ ซึ่งภาวะผู้นำนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีผู้เรียนมีสำนึก และมีความรู้ความเข้าใจเชิงระบบเป็นพื้นฐาน

มีความหวังไหม?

เอาเข้าจริงตอนนี้องค์กรต่างๆ ของหมอทำอะไรได้ลำบาก แต่ถ้าไม่ทำอะไรโรงเรียนแพทย์จะกลายเป็นปัญหาในวิกฤตของระบบเหมือนที่บางประเทศเผชิญอยู่ จึงต้องมีการปฏิรูป แต่ก็ยาก ถ้าไปคุยกับต่างประเทศเขาก็จะบอกว่าประเทศเขาก็มีปัญหาเหมือนกัน

แต่ปัญหาเหล่านี้แก้ได้ถ้าโรงเรียนแพทย์สร้างสำนึกใหม่ให้นักเรียนแพทย์ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่โรงเรียนแพทย์ที่ต้องทำแบบนี้ แต่มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องช่วยกัน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศรวมศูนย์อำนาจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาต่างๆ จึงมีอยู่ในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องหมอ ถ้ามหาวิทยาลัยลงไปช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน นักศึกษาจะเกิดสำนึกใหม่ ประเทศไทยก็จะเปลี่ยน แต่การศึกษาไทยเดินผิดทางมาร้อยกว่าปีแล้ว เราไม่ได้เริ่มเรียนจากความเป็นจริง เอาแต่ท่องหนังสือกัน ถ้าเริ่มจากการลงไปสัมผัสความจริงข้างล่างจะได้พบสิ่งดีๆ ที่ยกจิตเราสูงขึ้น ตอนนี้ผมทำเรื่องระบบสุขภาพชุมชน จัดประชุมเดือนละครั้ง เชิญคนเล็กคนน้อยมาเล่าเรื่องที่พวกเขาทำ เพื่อช่วยกันหาทางว่าจะนำสิ่งดีๆ ที่เขาทำกันมาขยายผลในวงกว้างได้อย่างไร ก็ได้พบเรื่องดีๆ มากมาย เช่นเจอพยาบาลระดับตำบลที่ทุ่มเทดูแลคนแก่คนพิการ

เรื่องสำนึกใหม่นี้ ผมขอยกตัวอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนแรกท่านเรียนศิลปะวิทยาทั้งสิบแปดซึ่งเป็นวิชาทั้งหมดของสมัยนั้นจบสิ้น แต่หลังจากนั้นได้ไปสัมผัสคนจน ความทุกข์นอกวัง ก็เกิดสำนึกใหม่ที่มีพลังแรงมาก เป็นพลังที่ความรู้ที่เรียนมาให้ไม่ได้ ทำให้ท่านเกิดฉันทะวิริยะที่จะช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ สุดท้ายพลังนี้ก็ทำให้คนธรรมดากลายเป็นพระพุทธเจ้า ผมเรียกพลังนี้ว่า ‘Human nuclear energy’

อย่างไรก็ตาม กำแพงกรุงกบิลพัสดุ์กั้นเจ้าชายสิทธัตถะจากความจริงของชีวิตฉันใด กำแพงมหาวิทยาลัยก็กั้นนักศึกษา อาจารย์ไว้จากความจริงฉันนั้น

มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยน ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนอิสระที่อำนาจเงิน อำนาจการเมืองเข้าไม่ถึง นักศึกษามีเป็นแสนคน ถ้าทุกแห่งมีวิชาชุมชนศึกษาภาคปฏิบัติ ส่งนักศึกษาไปอยู่กับชาวบ้านสักสี่สัปดาห์ ไม่เอาแบบตั้งค่ายสร้างโรงเรียนนะ แบบนั้นคือเอาวัฒนธรรมเราไปใส่เขา แต่ไปอยู่กับชาวบ้าน ไปสัมผัสกับชีวิตเขาจริงๆ สมองคนเรามีความไวต่อการรับความรู้สึก อารมณ์ของคนอื่น จะจากสีหน้า แววตา หรืออะไรก็ตาม พอรับไปแล้วก็จะเกิดสำนึก เกิดความเห็นใจ และความต้องการทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ แล้วนักศึกษาจะเข้าร่วมทำแผนพัฒนาชุมชนกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะสอนนักศึกษาว่าต้องทำอย่างไร ส่วนนักศึกษาก็ได้ใช้ความรู้ เทคโนโลยีที่เรียนมาไปเสริมชาวบ้าน ได้ช่วยกันไปมา เกิดความรักกันขึ้น เหล่านี้เริ่มต้นจากสำนึกใหม่ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีที่เดิมมีอยู่ในตัวทุกคน ถ้าเราไม่เอาอะไรไปขวางกั้นไว้ก็จะงอกงามออกมา

ถ้าถามว่าเรื่องที่พูดมาทั้งหมดจะเป็นยังไงต่อไป ก็ต้องตอบว่าขึ้นอยู่กับคนรุ่นหลังผมแล้ว ตอนนี้ผมแก่แล้ว (หัวเราะ)

ที่มา : http://v-reform.org/v-report/praves-vasi_humanized-doctor/