ThaiPublica > คนในข่าว > “เฉลิม อยู่บำรุง” สวมบทมือปราบ “จับโกงจำนำข้าว” พิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล?

“เฉลิม อยู่บำรุง” สวมบทมือปราบ “จับโกงจำนำข้าว” พิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล?

19 ตุลาคม 2012


นายเฉลิม อยู่บำรุง
นายเฉลิม อยู่บำรุง

“ณ วันนี้จะไปบอกว่ากำไรขาดทุนไม่ได้ เพราะข้าวยังขายไม่หมด ถ้าสุดท้ายต้องขาดทุนก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมันขาดทุนโดยการช่วยชาวนา”

โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศรับจำนำข้าวขาวเปลือกในราคา 15,000 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิราคา 20,000 บาทต่อตัน โดยมีเป้าหมายให้ชาวนาสามารถลืมตาอ้าปากได้

โปรโมชั่นที่พรรคเพื่อไทยเสนอให้ประชาชนในครานั้น ทำให้พรรคการเมืองพรรคนี้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ตามคาด

แต่ทว่า เวลาผ่านไปไม่ถึงขวบปีที่รัฐบาลภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” บริหารประเทศ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึง “ข้อบกพร่อง” ของโครงการดังกล่าวจากทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นการทำลายกลไกตลาด การทำให้คุณภาพข้าวของไทยด้อยลง แต่ที่ร้ายที่สุดคือ การทุจริตคอร์รัปชันที่นำมาซึ่งความเสียหายให้กับประเทศชาติอย่างมหาศาล

จนกลายเป็นปมร้อนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก ในการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติของเหล่าวุฒิสภา รวมถึงการขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ของพรรคฝ่ายค้าน ที่จะเกิดขึ้นก่อนการปิดสมัยประชุมสภาในเดือนพฤศจิกายนนี้

กระแสคัดค้านโครงการดังกล่าว ทำให้คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการการประชุมติดตามความคืบหน้าผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าวขึ้น เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

“ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ให้สัมภาษณ์ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ถึงความคืบหน้าของคดีที่เกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าว 25 คดี และ คดีโกงจำนำข้าวอีก 2 คดีรวมเป็น 27 คดีดังต่อไปนี้

ไทยพับลิก้า : นอกจาก 27 คดีที่ปรากฏเป็นข่าว ความคืบหน้าต่อจากนี้มีอะไรบ้าง

คือ การรับจำนำข้าวนี่นะครับ ต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยในระหว่างการรณรงค์หาเสียง เพราะพรรคได้ตระหนักแล้วว่า เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้ประโยชน์ในการขายข้าว เพราะรัฐบาลประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า 15,000 บาทต่อเกวียน ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาท แต่หากเป็นกรณีประกันราคาชาวนาได้เงินน้อยเพราะพ่อค้าเป็นคนกำหนดราคา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้รณรงค์หาเสียงโดยมีผมเป็นคนปราศรัยบ่อยๆ ว่า ประเทศผู้ผลิตข้าวในโลกนี้ที่สำคัญมีประมาณ 4 ประเทศ คือ ไทย อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ถ้าวันหนึ่ง 4 ประเทศนี้ตกลงกันได้ แล้วกำหนดราคาข้าวในตลาดโลก มันก็จะเหมือนโอเปคที่กำหนดราคาน้ำมัน เราก็รณรงค์หาเสียงและท้าทายกันว่า ถ้าพี่น้องต้องการการประกันรายได้ก็ให้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ถ้าต้องการจำนำให้เลือกพรรคเพื่อไทย เราชนะถล่มทลาย 265 ที่นั่ง และก็เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา ก็ดำเนินการ

ปัญหาวันนี้ก็คือว่า พ่อค้าส่งออกเขาขาดทุนกำไร เดิมซื้อ 8,000-10,000 บาทต่อเกวียน ชาวนาก็ได้เงินน้อย ไม่สามารถไปดำเนินการอะไรได้ เรียกว่าลืมตาอ้าปากไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้รัฐบาลชุดนี้ทำให้ชาวนามีโอกาสขึ้น มีเงินมากขึ้น โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีท่านคิดเป็นระบบ ท่านคิดว่าเมื่อชาวนามีรายได้มาก ชาวนาก็ต้องไปจับจ่ายใช้สอยซื้อของในตลาด พ่อค้านักธุรกิจก็ขายของได้ เมื่อขายของต้องมีลูกจ้าง คนก็มีงานทำ เมื่อพ่อค้าในภูมิภาคต่างจังหวัดขายของได้ก็ต้องสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานผลิต เกิดการสร้างงานจ้างงาน สุดท้ายรัฐบาลเก็บภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ทีนี้ปัญหาก็คือว่า เมื่อคนจนรวยขึ้น คนรวยก็ไม่ได้จนลง แต่ความร่ำรวยก้าวกระโดดแบบเก่าไม่ได้ ซึ่งอันนี้พ่อค้าส่งออกดิ้นรนมาก และเป็นที่รู้กันว่าพ่อค้าส่งออกนี่สนับสนุนพรรคการเมืองพรรคไหน นักวิชาการที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีคอนเนคชั่นกับพ่อค้าส่งออกที่เรียกว่า 5 เสือส่งข้าว ซึ่งผูกขาดตลาดข้าวมาเป็นระยะเวลายาวนาน นายกฯ ได้กรุณามอบหมายผมเมื่อ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีมติ ครม. ตั้งแต่ผมเป็นประธานคณะทำงานอำนวยการตรวจสอบการทุจริตโครงการของรัฐบาล เช่น งบดูงานน้ำท่วม งบท้องถิ่น และการจำนำข้าว แสดงว่านายกฯ เอาจริงเอาจังกับการต่อต้านทุจริต และก็รู้ว่าคณะกรรมการชุดนี้ก็ต้องจับเจ้าหน้าที่ไม่ทำหน้าที่ ทำการทุจริต ซึ่งจะพูดไปทำไมฤา ส่วนหนึ่งก็เป็นคนของรัฐบาล ท่านเลยเน้นนโยบายว่าใครผิดก็ว่าตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก

ผมก็ตั้งทั้งหมด 11 กองบัญชาการ กองบัญชาการ 1-9 บวกด้วยกองบัญชาการนครบาลเพราะมีหนองจอก ลาดกระบัง ที่ยังทำนาอยู่ และอีกหนึ่งกองบัญชาการคือ ศชต. หรือ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำรวจก็บูรณาการกำลัง เอาผู้บังคับการจังหวัดทั่วประเทศที่มีหนังสือรับจำนำข้าว เขาตรวจสอบเรียบร้อย ส่งตำรวจไปอยู่กับโรงสีๆ ละ 4-5 นาย ในอดีตไม่เคยมี เมื่อประกันรายได้โกหกได้ มีที่นา 5 ไร่ บอก 10 ไร่ แต่จำนำต้องเท่าไหร่เท่านั้น

ที่มีการมากล่าวหาทั้งหมด 6 เรื่อง คือ 1. ใบประทวนปลอม 2. ข้าวสต็อกลม 3. สวมสิทธิ 4. ธ.ก.ส. มีเงินไม่พอ 5. องค์กรคลังสินค้าไม่มีการเก็บข้าวจริง และ 6. องค์การตลาดเพื่อการเกษตรกรเป็นสต็อกลม ซึ่งในการประชุมของคณะผมนั้น ปลัดกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงว่า ใบประทวนกว่าจะได้ต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบ 5 ขั้นตอน และบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยกับการที่วุฒิสภากล่าวหา จากการที่ฝ่ายค้าน หรือสื่อบางฉบับไปเขียนเรื่องใบประทวนปลอม จบไป

ส่วนเรื่องข้าวสต็อกลม ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) และผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อการเกษตร เชิญชวนตำรวจให้ไปตรวจในโกดัง ซึ่งปลายสัปดาห์นี้ (20 ตุลาคม 2555) ผมสั่งลงพื้นที่ทันทีเพื่อพิสูจน์ความจริง ถามว่ามีการสวมสิทธิไหม มีบ้างนิดหน่อย เป็นเรื่องนิดเดียว ไม่ถึงตัน ก็เป็นที่เข้าใจ ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. มาเอง บอกว่าไม่จริงที่มีข่าวว่าตัวแทนจาก ธ.ก.ส. ไปชี้แจงว่าเงินไม่พอ เงินไม่มี เป็นการเข้าใจผิด เงินเมื่อได้มาแล้วเวลาขายข้าวได้ เงินก็กลับไป ที่เหลือยังไม่ได้ก็กลับไป

ณ วันนี้จะไปบอกว่ากำไรขาดทุนไม่ได้ เพราะข้าวยังขายไม่หมด ถ้าสุดท้ายต้องขาดทุนก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมันขาดทุนโดยการช่วยชาวนา ประกันรายได้ก็ขาดทุนแต่ประกันขาดทุนแล้วให้เงินพ่อค้า แต่จำนำนี่ขาดทุนชาวนาได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เราได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมได้ไปแล้ว 27 ราย เป็นข้าราชการระดับซี 4 ซี 5 คดีฟ้องแล้วก็มีโรงสีอะไรต่างๆ พบความเสียหายประมาณ 307 ล้านบาท ไม่ได้เป็นแสนล้านหมื่นล้านตามที่เป็นข่าว

ไทยพับลิก้า : แม้คดีจะเป็นคดีเล็กๆ แต่ก็พิสูจน์ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงในโครงการรับจำนำข้าว

ก็…มีก็จับ เล็กใหญ่จับหมด แต่เราต้องเอาภาพรวมเป็นหลัก เอาส่วนที่ชาวนาได้รับประโยชน์เป็นหลัก ไอ้ภาพที่ว่าเจ้าหน้าที่ไปทุจริต ข้าราชการไปทุจริต ขณะนี้ไม่มี

ไทยพับลิก้า : ที่จับได้แต่รายเล็กๆ เพราะไม่สามารถสาวไปถึงรายใหญ่ได้?

ไม่ใช่…มันเป็นการกระทำเฉพาะต้นทาง รายใหญ่ๆ ต่อไปหากมีหลักฐานก็จับเหมือนกัน

นายเฉลิม อยู่บำรุง
นายเฉลิม อยู่บำรุง

ไทยพับลิก้า : มีการพูดถึงเจ๊ ด. คนใกล้ชิดรัฐบาล เป็นตัวจริงเสียงจริงในเรื่องนี้

ไม่มี ผมยืนยันเลย เป็นการออกข่าวทำลายกัน เหมือนภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขายชาติไปออกข่าวว่ามีการไปอายัดเงิน 1.6 หมื่นล้านที่ฮ่องกง พรรคประชาธิปัตย์ก็ออกข่าวว่ามีการไปใช้เงิน 1.6 หมื่นล้านที่นั่น ทีนี้ผมเป็นตำรวจเก่า ผมเร็ว ผมรู้ว่าไอซีเอซี (คณะกรรมการอิสระเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันของฮ่องกง) สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจากการตรวจสอบเขาก็ยืนยันแล้วว่าไม่มี เรื่องนี้จึงเป็นการออกข่าวเพื่อทำลายล้างพรรคเพื่อไทย เพราะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไปฮ่องกงกันบ่อยๆ เหมือนอย่างข่าว “เจ๊ ด.” ซึ่งไม่เป็นความจริง

ไทยพับลิก้า : ในฐานะคนใน เคยถามไถ่ “เจ๊ ด.” ถึงข่าวการรับจำนำข้าวไหม

ไม่มีเลย เป็นเพียงการออกข่าวทำลาย ไม่เป็นความจริง ท่านนายกฯ ยืนยันได้ ไม่ว่าใครถ้ามีส่วนร่วมการทุจริตก็จับเลย แล้วเรื่องนี้ผมดำเนินการโดยมติ ครม. รองรับ และโดยบัญชาท่านนายกฯ นะ

ไทยพับลิก้า : วิธีการสืบสวนสอบสวนแบ่งการทำงานออกเป็นอย่างไรบ้าง ในส่วนของการเวียนเทียน และสวมสิทธิ

อย่างที่มีการบอกว่าข้าวมาจากลาวนี่…ของลาวข้าวเหนียวนะ แต่เรารับจำนำข้าวเจ้า นี่คือประเด็นที่หนึ่ง ประเด็นที่บอกว่าเอาข้าวคุณภาพต่ำจากกัมพูชา ไอ้นี่ก็พูดเสมอ

เพราะข้าวไม่ใช่เพชรพลอย จะเอาข้าวมาจำนวนมากๆ มันต้องผ่านด่านทหาร ตำรวจ ตชด. ยืนยันว่ามีบ้าง แต่เป็นเพียงเล็กน้อย เอามาเป็นสัดส่วนจะล้มเลิกโครงการไม่ได้เลย ดังนั้น การสวมสิทธินี่มีเล็กๆ น้อยและไม่สามารถจะทำได้มาก ขณะนี้ได้สั่งผู้บัญชาการตำรวจในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ติดแนวชายแดนที่เข้มงวดเคร่งครัดและตรวจสอบข้อมูลรอบด้าน ยังไม่ปรากฏว่านำเข้ามาเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องที่เอาข้าวมาเวียนเทียนนั้น ใบประทวนเขาไม่ออกให้ เท่าไหร่เท่านั้น เพราะมีขั้นตอนในการกำหนดการออกใบประทวน และเราขอตรวจสอบเขาก็เต็มใจให้ตรวจสอบโดยไม่ต้องมีหมายค้น เขาโปร่งใส เปิดให้ตรวจเลย มันก็จะเห็นว่าที่นี่มีจำนวนกี่ตันๆ มันก็เวียนเทียนไม่ได้

คือสมัยก่อนนี่ รัฐบาลที่แล้วประกันราคาข้าวแล้วเคยมีกรรมการขึ้นมาควบคุมไหม…ก็ไม่มี เรามีเรียบร้อย และผมจะบอกให้นะเงินผันสมัยอาจารย์คึกฤทธิ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) นั้นได้ฟรีนะ ก็ยังทำมาช่วยคนจน ต่อมารัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็ทำเช็คช่วยชาติ และก็ให้คนมีเงินด้วย ไปทำทำไม

เอาละ อาจจะมีการขาดทุนแต่การขาดทุนแล้วคนยากคนจนได้เงินมันน่าทำ ประชานิยมแบบนี้คนจนได้ประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะชาวนา

ไทยพับลิก้า : รัฐรับจำนำแพงแต่ขายราคาถูก เกิดการขาดทุน ถ้าขาดทุนสะสมไปเรื่อยๆ แบบนี้รัฐบาลจะไหวหรือ

รัฐบาลประเมินแล้วว่าภายใน 3 ปี ไม่น่าจะขาดทุนถ้าหากหักลบกลบหนี้ เพราะถ้าเราเจรจากับอีก 3 ประเทศได้ เรากำหนดราคาเอง ทุกคนไม่กินข้าวตายหมดนะ ไม่กินน้ำมันไม่ตายนะ เราลดการใช้น้ำมันได้ แต่ลดการอุปโภคบริโภคไม่ได้ รัฐบาลพยายามทำให้ดีที่สุด แต่เอาละ..ถึงแม้จะขาดทุนแต่เมื่อเงินไปถึงชาวนา สุดท้ายเงินก็กลับมาสู่รัฐบาลโดยการเก็บภาษีการค้า ภาษีรายได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ดี

ไทยพับลิก้า : ชาวนาที่ได้ประโยชน์คือชาวนาที่ร่ำรวย

ผมยืนยัน ชาวนาที่ได้ประโยชน์คือชาวนาที่ยากจน เพราะคนทำนาไม่ได้มีเงิน ชาวนาที่ร่ำรวยคำจำกัดความคำนิยามคืออะไร คนที่ลงมือทำนาเองคือคนยากคนจน นักวิชาการที่พูดเรื่องแบบนี้ขาดความรับผิดชอบ อย่างทีดีอาร์ไอก็ไม่ชอบพวกผมมาทั้งชีวิต นิด้าก็ไม่ชอบพวกผมมาทั้งชีวิต นักวิชาการบางคนก็พูดง่ายๆ ดัดจริต ตกอกตกใจง่าย แล้วก็รู้กันอยู่ว่าพวกใครพวกใคร อย่าง คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) สุดท้ายก็คืนเวทีประชาธิปัตย์ คืนเวทีพันธมิตร ออกรายการบูลสกาย แล้วอย่างนี้มีความเป็นธรรมไหม

เอาอย่างนี้ ถ้านโยบายจำนำข้าวไม่ดีประชาชนไม่เลือกพรรคเพื่อไทยมาขนาดนี้หรอก มีแต่พวกเจ้าเก่าหน้าเดิมนั่นแหละที่ไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยเลือกตั้งรอบหน้าเพื่อไทยก็แพ้ ถ้าประชาชนเห็นด้วยเป็นนโยบายดี โครงการดี เราเน้นเรื่องการทุจริต ทุกคนยอมรับแล้ว โครงการดี แต่เอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มาล้มเรื่องใหญ่ รัฐบาลไม่ตกใจ

ไทยพับลิก้า : ยืนยันว่าโครงการนี้จะมีอายุเท่ากับรัฐบาลชุดนี้โดยไม่มีการทบทวน

นายกฯ ยืนยันแล้ว ไม่ทบทวน เสียงในพรรคเพื่อไทยเองก็เป็นเอกฉันท์

ไทยพับลิก้า : ในฐานะที่ถือธงนำหาเสียงเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา มองว่าโครงการนี้จะทำให้การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในอนาคตเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้นหรือไม่

คือ ผมไม่ได้ถือธงนำ คนที่ถือธงนำคือท่านทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) และท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ผมเดินตามใกล้ๆ เป็นคนปราศรัยและเป็นคนพูดตลอดว่า เรากำหนดราคาข้าวในตลาดโลก ขอให้พี่น้องเลือก ผมมั่นใจว่าเลือกตั้งรอบหน้าทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ จะได้น้อยลง เพื่อไทยจะได้เพิ่มขึ้น และยิ่งระยะนี้ผมได้กำกับกระทรวงมหาดไทย ถ้าได้ดูสัก 3-6 เดือน ผมจะไปต่างจังหวัด จะทำความเข้าใจกับเขาในเรื่องจำนำข้าว รอบหน้าจะนำเสนอนโยบายนี้อีกไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าผมยังมีสุขภาพดีก็จะเล่นการเมืองต่อไป

ไทยพับลิก้า : กุนซือด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลออกมาเตือนว่า รัฐบาลชุดนี้จะพังเพราะโครงการรับจำนำ

ผมว่าไม่มีมารยาท ผมพูดตรงๆ เพราะคนเป็นกุนซือรัฐบาลนี่ ถ้ามีเจตนาบริสุทธิ์จริงก็ต้องมาบอกกับรัฐบาลภายใน ถูกไหมครับ เอาไปพูดข้างนอกไม่มีมารยาท

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลควรฟังไว้บ้างหรือไม่

อ๋อ…มันเลยไปแล้วครับ รัฐบาลได้สรุปเป็นข้อสรุปไปแล้ว แค่คนที่เป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งมาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนโยบายพรรคนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาแล้วไม่ได้หรอก ผมจะบอกให้ว่าบางคนนี่คนไปเข้าใจว่าเก่ง แต่ผมเคยร่วมประชุม ครม. ด้วย ผมก็รู้ว่าไม่เก่ง

ไทยพับลิก้า : ยังมีข้อท้วงติงเรื่องการทำลายกลไกตลาด

จะไปทำลายกลไกอย่างไร เมื่อเรากำหนดการจำนำราคาเท่านี้ชาวนาได้ประโยชน์แล้ว เงินอยู่ในประเทศ แล้วกลไกตลาดถ้าหากต้องขาดทุนปีนี้ ปีหน้าอาจจะกำไรและเมื่อเป็นการขายจีทูจีหรือรัฐต่อรัฐ แสดงให้เห็นแล้วว่ารัฐสุจริตใจ ผ่านพ่อค้าๆ จ่ายใต้โต๊ะ นี่ไม่ได้มีใต้โต๊ะ ผมมั่นใจว่านโยบายนี้เป็นนโยบายโบว์แดงของรัฐบาล ซึ่งมีอีกหลายนโยบายที่เป็นโบว์แดง

ไทยพับลิก้า : เห็นอะไรในสถิติโครงการจำนำข้าวย้อนหลังไป 10 ปีบ้าง

กำลังดำเนินการอยู่ แต่มีตัวเลขที่น่าสนใจกำลังตรวจสอบ สมัยประกันราคาข้าว มีชาวนามาแจ้งแสดงความจำนง 4.5 ล้านราย แต่พอมาจำนำเหลือ 1.2 ล้านราย ไอ้นี่แหละผมจะตรวจสอบ ถ้าเป็นจริงแสดงให้เห็นเลยว่าไอ้ตอนประกันนี่โกหกมดเท็จว่ามี 4.5 ล้านราย ถ้ามี 4.5 ล้านรายจริงจำนวนของผู้จำนำก็ต้อง 4.5 ล้านรายด้วย บางคนอาจจะอ้างว่า 4.5 ล้านรายอาจจะผลิตบริโภคเอง เดี๋ยวผมจะพิสูจน์ให้ได้ เรื่องอย่างนี้ได้ตำรวจมาทำงานแล้วนี่มันจะพิสูจน์ทราบได้

ไทยพับลิก้า : สังคมตั้งคำถามว่า คณะทำงานชุดนี้ตั้งขึ้นโดยรัฐบาล แล้วจะดำเนินการจับทุจริตโครงการของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร

ไอ้นั่นมันเป็นการตั้งข้อสังเกตของฝ่ายตรงข้าม ก็มีสิทธิตั้ง แต่ผมเล่นการเมืองมานานไม่เคยมีเรื่องทุจริต ผมไม่เอาชีวิตบั้นปลายผมมาทำลายตัวเองหรอก ผมยืนยันตรงไปตรงมา และท่านายกฯก็ยืนยัน ขอให้สบายใจได้ ส่วนฝ่ายค้านไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของฝ่ายค้าน ถ้าทำงานไม่ดีไม่ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมาผมให้สลับเปลี่ยนผมและตั้งคณะกรรมการใหม่ แต่ถ้าทำงานดีท่านก็ใช้ต่อไป ขอให้พี่น้องประชาชนคนทั่วไปเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ผลาญงบประมาณของพี่น้องประชาชน
ล้อมกรอบ

เมื่อ…ตำรวจทิ้งปืน! “บิ๊กย้อย” เปิดตำราจับโกงข้าว

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา สบ.10

หลังคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการการประชุมติดตามความคืบหน้าผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 3,000 นาย ต้องทิ้งอาวุธปืนคู่กายหันมาจับเครื่องวัดความชื้นเป็นการชั่วคราว

“จริงๆ มันเป็นเรื่องของแผนประทุษกรรมของคนร้ายเหมือนกัน การที่คนจะทุจริตก็เป็นคนร้ายนั่นแหละ มันไม่ได้แตกต่างเลย เราก็ศึกษาว่ามันมีกรรมวิธีอะไรบ้าง เพราะการฉ้อโกงเป็นการกระทำความผิดทางอาญาที่ตำรวจรับผิดชอบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันก็ไม่ได้ยากอะไรเลย” พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา ที่ปรึกษา สบ.10 ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการการประชุมติดตามความคืบหน้าผลการปฏิบัติงานการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว บอกกับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า”

แม้ว่าจะเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างสุดขั้ว จากไล่จับผู้ร้ายมาเป็นการประจำอยู่โรงสี แต่ “บิ๊กย้อย” ยืนยันว่า ตำรวจเต็มใจที่จะบริการพี่น้องประชาชน

“เราทำได้ ตำรวจเองก็มีความสุขที่ได้ช่วยชาวนาไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางทีมันน่าเห็นใจนะ ชาวนามาถึงเอาข้าวมากอง สมมุติว่าชาวนาเอาข้าวใส่รถปิกอัพมา มาถึงก็มาเท เทเสร็จโรงสีบอกให้เท่านี้ ชาวนาเถียง โรงสีบอกไม่จำนำก็เอาข้าวกลับไปสิ ชาวนาก็ต้องโกยข้าวที่เทแล้วขึ้นรถกลับไป ถามว่ามันชอกช้ำแค่ไหน และส่วนใหญ่ก็จะยอมๆ ไป แต่ถ้ามีตำรวจอยู่ เราก็ช่วยตรงนี้”

กระนั้นเอง เมื่อภารกิจเรื่องของข้าวไม่ได้รับการบรรจุในหลักสูตรของโรงเรียนตำรวจ ทำให้บรรดาคนสีกากีต้องเรียนรู้วิธีการจับทุจริตจากส่วนราชการอื่น โดยเฉพาะสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน

การเอาเปรียบชาวนาที่มือปราบข้าวพบบ่อยมากที่สุดคือ การอ้าง “ความชื้น” ที่มีอยู่ในข้าวในระดับที่สูง ผ่านเล่ห์กลของบรรดาโรงสี

“เราจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจไปอยู่ที่โรงสีในจุดที่รับจำนำ เพื่อที่จะคอยดูว่าไม่ให้โรงสีเอาเปรียบชาวนา สิ่งที่เขาเอาเปรียบอันแรกเลยคือเรื่องของการวัดความชื้น เราก็ไปดูตัวนี้ เพราะวิธีการวัดความชื้นก็มีเทคนิค เราก็ให้คำแนะนำตำรวจไปว่า แค่เอามือไปกำข้าวแล้วใส่เครื่องวัด ความชื้นจะเพิ่มขึ้นเพราะความชื้นจากมือ วิธีที่ดีที่สุดคือต้องเอาถ้วยตวงข้าวใส่ไปในกระบอก”

“สอง ระเบียบที่ อคส. กำหนดไว้ว่า โรงสีหนึ่งต้องมีเครื่องวัความชื้นอย่างน้อย 2 เครื่อง และสลับกันใช้ เพราะถ้าใช้ไปเรื่อยๆ ความชื้นที่มันสะสมอยู่ที่เครื่องมันก็เพิ่มเติมเข้าไป และสาม เรื่องของเครื่องชั่งน้ำหนัก บางแห่งมันก็มีการโกง เหล่านี้ตำรวจต้องมีการช่วยไปดู”

ส่วนการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธินั้น “มือปราบข้าว” เล่าว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งด่านสกัดรถขนข้าวเถื่อน และให้ความสำคัญกับการทำใบประทวนปลอมขึ้นมาเพื่อเป็นการตัดต้นทางจากจุดรับจำนำ นอกจากนี้ ในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ จะนำกำลังเข้าตรวจโกดังกลางเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาข้าวหายไปกว่าล้านตัน

เมื่อถามถึงการจัดการกับผู้ทุจริตรายใหญ่! “บิ๊กย้อย” ยืนยันว่า การทุจริตอยู่ในระดับผู้ปฏิบัติเท่านั้น

“เรื่องนี้มันระดับปฏิบัติ ข้างบนจะมาสั่งหรือ ผมว่ามันไม่ถึงหรอก เพราะคนเหล่านี้ไปประจำที่โรงสีไง คือเจ้าหน้าที่อยู่ที่โรงสีตรงนั้น แล้วร่วมกับเจ้าของโรงสี หรือร่วมกับชาวนาปลอมเพื่อที่จะรับปลอมใบประทวน ซึ่งลักษณะของเจ้าหน้าเข้าเกี่ยวข้อง มี 4 คดี จาก 27 คดี”

ภารกิจของมือปราบข้าวในครั้งนี้จะสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเที่ยงธรรมของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่จะนำตัวคนโกงมาดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา