ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเหลื่่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ความเหลื่่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

2 ตุลาคม 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล

ในช่วงหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้อ่านรายงาน “สถานการณ์ความยากจน และความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2553” ที่จัดทำขึ้นโดยสำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรามักจะคุ้นเคยกันดีในชื่อของสภาพัฒน์ฯ นั่นเองครับ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่ารายงานฉบับนี้มีข้อมูลและเนื้อหาที่ค่อนข้างครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำดังกล่าว สาเหตุ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดีอีกด้วยครับ

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าใครอยากที่จะรับรู้สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน รายงานฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของท่าน

ในบทความนี้ ผมจะขอนำเอาข้อมูลและเนื้อหาบางส่วนของรายงานฉบับดังกล่าว มาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบอีกทอดหนึ่ง โดยอาจจะมีข้อมูลประกอบเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนขึ้นในบางส่วนนะครับ

ในปี 2553 ประเทศไทยเรามี “คนจน” อยู่ทั้งสิ้นราว 5.1 ล้านคน โดยนิยามของ “คนจน” เหล่านี้หมายถึงคนที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกิน 1,678 บาท/คน/เดือน หรืออาจคำนวณออกมาได้เป็นไม่เกินราว 56 บาท/คน/วัน ในปี 2553

ค่าใช้จ่าย 1,678 บาท/คน/เดือน ซึ่งเป็นตัวแบ่งว่าคนไหนเป็นคนจน คนไหนไม่ใช่คนจนนั้นคำนวณมาจากความต้องการพลังงานและสินค้าขั้นพื้นฐาน ที่จะทำให้คนปกติสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ในแต่ละวัน ส่วนตัวแล้วผมไม่รู้ว่าจะมีชีวิตรอดอยู่ได้อย่างไรถ้าหากต้องใช้จ่ายไม่เกินระดับ 1,678 บาท/เดือน แต่ประเทศไทยของพวกเราก็มีคนกลุ่มนี้อยู่ราว 5.1 ล้านคนในปี 2553

ยิ่งถ้าหากนับรวมกลุ่ม “คนเกือบจน” หรือ “คนเฉียดจน” ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกิน 2,014 บาท/คน/เดือน หรือราว 67 บาท/คน/วัน เข้าไปด้วยแล้ว ประเทศไทยในปี 2553 จะมีคนกลุ่มนี้รวมกันอยู่ราว 10 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียวครับ

ถ้าท่านเป็นคนที่กินข้าวนอกบ้านวันละ 2 มื้อ ราคามื้อละ 30 บาท บวกกับค่าเดินทางโดยรถเมล์ไปกลับที่ทำงานอีกวันละ 16 บาท ท่านไม่ใช่ “คนจน” หรือ “คนเกือบจน” แล้วครับ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่คนจนหรือคนเกือบจนตามความหมายของรายงานฉบับนี้

ค่าใช้จ่ายที่ผมพูดถึงข้างต้นนี้ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายจิปาถะ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ยิ่งถ้าหากท่านเป็นเจ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์สักเครื่อง หรืออาศัยอยู่ในหอพักระดับปานกลางในกรุงเทพฯ ท่านจะยิ่งไม่ใช่คนกลุ่มนี้เข้าไปใหญ่ โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าท่านที่สามารถเข้าถึงบทความนี้ของผมได้ค่อนข้างห่างไกลจากนิยามคนจนหรือคนเกือบจนในรายงานฉบับนี้ครับ

จะเห็นได้ว่า กลุ่มคน 10 ล้านคนข้างต้นนี้แทบจะไม่มีความสามารถในการดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน นี่ไม่ต้องพูดถึงกรณีฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ ฯลฯ นะครับ ผู้คนกลุ่มนี้ไม่มีทรัพยากรใดๆ มารองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้อยู่แล้ว

กลุ่มคนจนและคนเกือบจนข้างต้น ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท โดยที่กลุ่มใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องพึ่งพาการหาเลี้ยงชีพจากบุคคลอื่น เช่น เด็ก คนชรา คนพิการ หรือแม่บ้าน เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มที่ทำงานก็มักจะประกอบอาชีพด้านการเกษตรหรือเป็นแรงงานนอกระบบ

ไม่น่าแปลกใจครับ ที่คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถเข้าถึงบริการที่รัฐบาลจัดหาให้กับประชาชนได้ ถ้าท่านมีเงินใช้อยู่ราว 56 บาท/วัน และอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในกรณีที่ท่านเจ็บป่วยเล็กน้อย ท่านจะไม่มีวันเข้ามาใช้บริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลในเขตเมืองโดยเด็ดขาด เนื่องจากค่าเดินทางเพื่อเข้ามารับบริการคิดเป็นภาระที่หนักอึ้งของท่าน ยังไม่คิดรวมถึงรายได้ที่หดหายไปจากการหยุดทำงานเพื่อเข้ามารับบริการรักษาตัว

ไม่น่าแปลกใจครับที่ลูกหลานของคนกลุ่มนี้จะไม่สามารถเข้าถึงบริการการศึกษาคุณภาพสูงของรัฐบาลได้ เนื่องจากสถานศึกษาคุณภาพสูงโดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเมือง หรือในกรุงเทพฯ ในขณะที่ลูกหลานของคนจนส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายในระดับสูงกว่าเพื่อเข้ารับบริการจากสถานศึกษากลุ่มนี้ เช่น ค่าเช่าหอพัก ค่าเดินทาง รายได้ที่เสียไปจากการหยุดทำงาน เป็นต้น

หันมามองอีกฟากหนึ่งบ้างครับ กลุ่มคนร้อยละ 10 (หรือคิดเป็นจำนวนราว 6.7 ล้านคน) ที่รวยที่สุดในประเทศไทย เป็นเจ้าของรายได้คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 38.4 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ คนกลุ่มนี้มีความหลากหลายมากครับ ตามรายงานของสภาพัฒน์ฯ ข้างต้น ช่วงรายได้ของคนในกลุ่มนี้เริ่มต้นตั้งแต่ 12,407 บาท/คน/เดือน ไปจนถึง 886,790 บาท/คน/เดือน

หลายท่านคงจะรู้สึกแปลกใจเหมือนผมว่า คนที่มีรายได้ 12,407 บาท/เดือน ถือว่าอยู่ในกลุ่มรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกด้วย ในขณะที่พวกเรารู้จักกับคนหลายคน (ตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ) ที่น่าจะมีรายได้เกิน 1 ล้านบาท/เดือน นี่น่าจะหมายความว่าข้อมูลการสำรวจที่แสดงอยู่ในรายงานฉบับนี้อาจเข้าไม่ถึงกลุ่มคนที่รวยที่สุดของประเทศไทยจริงๆ อยู่ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เฉพาะกลุ่มคนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ตามรายงานของสภาพัฒน์ฯ ฉบับดังกล่าว ก็เป็นเจ้าของรายได้รวมคิดเป็น 22.8 เท่าของกลุ่มคนที่จนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ถ้าหากคิดว่า 22.8 เท่า ถือว่ามากแล้ว ลองคิดเทียบระหว่างคนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีรายได้เฉลี่ยราว 1,000 บาท/เดือน กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีรายได้ราว 1 ล้านบาท/เดือน คนสองกลุ่มนี้มีรายได้ต่างกันราว 1,000 เท่าครับ ผมคิดว่าเรายังไม่ได้พูดถึงคนที่จนที่สุดเทียบกับคนที่รวยที่สุดของประเทศไทยเสียด้วยซ้ำ

กลุ่มคนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์แรกมักจะอาศัยอยู่ในเขตเมืองและกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ต้องถามถึงความสามารถในการเข้าถึงบริการของทางภาครัฐครับ คนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการที่เหนือกว่าบริการของทางภาครัฐได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ยกตัวอย่างเช่น คุณแม่ของคุณหมอในโรงพยาบาลภาครัฐ น่าจะสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขคุณภาพสูงได้ โดยอาศัยต้นทุนทั้งในแง่ของเงินทองหรือเวลาในระดับต่ำกว่าปกติ

กลุ่มคนที่รวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์นี้ยังน่าจะเป็นกลุ่มที่ถือครองสินทรัพย์ของประเทศไทยในสัดส่วนที่สูงอีกต่างหากด้วย ยกตัวอย่างเช่น บัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปมีจำนวนทั้งสิ้นราว 7.3 หมื่นบัญชี คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 0.1 ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มูลค่าเงินฝากในบัญชีเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าเงินฝากทั้งหมดของทั้งระบบสถาบันการเงิน ไม่ต้องพูดถึงบัญชีเงินฝากของคนจำนวน 6.7 ล้านคนที่รวยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งหลายคนน่าจะมีบัญชีเงินฝากอยู่หลายบัญชีอีกด้วยครับ

ในส่วนของการถือครองที่ดิน จากข้อมูลในรายงานฉบับนี้ ซึ่งรวบรวมมาจากสำนักงานที่ดินจำนวน 399 แห่ง อีกทีหนึ่ง มีบุคคลธรรมดาจำนวนเพียง 4,613 ราย ที่ถือครองที่ดินเกิน 100 ไร่ (ในจำนวนนี้มี 121 ราย ที่ถือครองเกิน 500 ไร่) และมีนิติบุคคลจำนวน 2,205 ราย ที่ถือครองที่ดินเกิน 100 ไร่ (ในจำนวนนี้มี 42 ราย ที่ถือครองเกิน 1,000 ไร่) ส่วนข้อมูลที่ได้จากงานศึกษาของมูลนิธิสถาบันที่ดินพบว่า ที่ดินมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่ครอบครองโดยบุคคลทั่วไป กระจุกตัวอยู่ในมือของคนจำนวนราว 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ลองคิดถึงคนที่มีเงินฝากประจำ 10 ล้านบาท และเป็นเจ้าของที่ดิน 100 ไร่ ดูครับ เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากและค่าเช่าที่ดินก็น่าจะสามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน แล้ว คนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์ของประเทศในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กลุ่มคนจนหรือคนเกือบจนราว 1 ใน 6 ของประเทศ ไม่น่าจะมีส่วนในการฝันถึงการเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านี้แต่อย่างใดครับ

พัฒนาการในลักษณะนี้ ถ้าดำเนินอยู่ต่อไปก็อาจจะนำมาซึ่งสังคมที่มีความแตกต่างกันอย่างสูง ไม่น่าแปลกใจครับที่แนวความคิดของคนไทยหลากหลายกลุ่มจะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แค่ลองคิดถึงประสบการณ์ที่ผู้คนแต่ละกลุ่มได้เคยประสบพบเจอในชีวิต ก็อาจกล่าวได้ว่าคนกลุ่มหนึ่งอาจคิดไม่ถึงหรือนึกไม่ออกว่าประสบการณ์ของคนอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นเช่นไร เขากินอยู่อย่างไร ใช้ชีวิตไปกับการทำกิจกรรมอะไรบ้าง มีความสุขจากอะไร ฯลฯ

คนกลุ่มหนึ่งแทบจะไม่มีอะไรกินและต้องดิ้นรนกับชีวิตตลอดเวลา เพียงเพื่อให้สามารถประทังชีวิตของตนเองและครอบครัวให้อยู่ได้ไปอีกวันหนึ่ง ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือยไปวันๆ

ผมไม่เชื่อว่า ในระยะยาวแล้ว พวกเราจะมีความสุขอยู่ได้ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในระดับสูงลักษณะนี้ครับ