ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตในโซเชียลมีเดียรอบสัปดาห์ — “สรยุทธ” กับข้อหายักยอก 138 ล้าน และ การมาของพายุ “แกมี”

ประเด็นฮอตในโซเชียลมีเดียรอบสัปดาห์ — “สรยุทธ” กับข้อหายักยอก 138 ล้าน และ การมาของพายุ “แกมี”

6 ตุลาคม 2012


ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากสุดในโซเชียลมีเดียในรอบสัปดาห์ 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 2555

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ น้องกระแต น.ส.อาทิตยา เอี่ยมใหญ่ พริตตี้สาววัย 33 ปี ที่เคยเป็นหนึ่งในประเด็นฮอตเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากไปฉีดสารฟิลเลอร์ที่สะโพกแล้วเกิดอาการช็อคหมดสติ จนกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรานอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล จนล่าสุดได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา และจะมีพิธีฌาปนกิจในช่วงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคมนี้

มาที่ เรื่องแรก ของสัปดาห์นี้ มีเสียงบ่นเซ็งแซ่กันทั้งกรุงเทพมหานคร กับปัญหา “รถติดหนึบ” ของคนกรุง เพราะต้องใช้เวลาอยู่บนท้องถนนตั้งแต่ 1-3 ชั่วโมง กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะในเวลาเร่งรีบในตอนเช้าและหลังเลิกงาน

ซึ่งความจริงแล้ว ส่วนมากเราจะเห็นปัญหาการจราจรติดขัดได้ชัดเมื่อเวลาเกิดฝนตกหนักน้ำท่วม อีกทั้งยังเกิดจากการไร้ระเบียบวินัยของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะรถแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง ทั้งรถเมล์ รถตู้ และผู้ขับรถทั่วไป ที่ชอบปาด จอดไม่เป็นที่ ไม่นับรวมการรุกล้ำทางเท้าของแม่ค้าพ่อค้าที่ล้นมาบนถนน ล้วนก่อให้เกิดปัญหาและอุบัติเหตุการจราจร และอีกปัญหาที่คนส่วนมากเล็งเห็นว่าเกี่ยวโยงกัน คือจำนวนรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็มาจาก “นโยบายรถคันแรก” ของรัฐบาล

ที่มาภาพ: http://www.pantip.comcaferatchadatopicV12672759V12672759.html
ที่มาภาพ: http://www.pantip.comcaferatchadatopicV12672759V12672759.html

ทั้งๆ ที่กรุงเทพมหานคร มีปัญหาการจราจรติดขัดมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนมีนโยบายรถคันแรกแล้ว และก็ยังไม่มีรัฐบาลใด แก้ปัญหานี้สำเร็จ ยิ่งมีนโยบายรถคันแรกเกิดขึ้น จำนวนผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ทำให้การจราจรที่เคยติดขัด กลายเป็นการจราจรที่หยุดชะงัก รถจอดแน่นิ่งไปในที่สุด

โดยเสียงบ่นปัญหาการจราจรติดขัดนี้ผ่านพื้นที่สาธารณะ ที่สามารถระบายความรู้สึกและถ้อยคำต่างๆ ออกมาได้ แม้กระทั่งฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังมีการออกมาโต้ตอบว่า ไม่ใช่ปัจจัยจากนโยบายรถคันแรกอย่างเดียว แต่เพราะหลายปัจจัยประกอบกันต่างหาก แต่ถึงอย่างไรเรื่องนี้ก็ต้องเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลควรหาข้อสรุปให้ได้ เพื่อปัญหาสุขภาพจิตของชาวกรุงเทพมหานคร ที่ดีขึ้นกว่าในปัจจุบัน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.comphoto.phpfbid=438909349479246&set=a.204044066299110.44147.113053042064880&type=1&theater
ที่มาภาพ : https://www.facebook.comphoto.phpfbid=438909349479246&set=a.204044066299110.44147.113053042064880&type=1&theater

“รัฐบาลควรเพิ่มรถขนส่งสาธารณะที่ไม่ทำให้เพิ่มจำนวนรถยนต์ในท้องถนน ซึ่งสามารถขนคนได้จำนวนมากและประหยัดค่าใช้จ่าย อย่าง รถรางลอยฟ้า และไฟใต้ดิน ควบคู่ไปกับนโยบายรถคันแรก”

“ประเทศที่เค้าเจริญแล้วอย่าง ญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ เค้าใช้ขนส่งมวลชนทั้งนั้น ไม่ค่อยซื้อรถหรอก เพราะระบบขนส่งเค้าดี คนเลยไม่จำเป็นต้องมีรถก็ได้ ไม่เหมือนไทย รถไฟไทยกี่ปีกี่ชาติ ก็เหมือนเดิม รถเมล์ก็นะ บางคันก็โอเคอยู่ บางคันก็ไม่ไหวเลย ขึ้นแล้วคันจริงๆ เชื้อโรคเยอะ คนที่มีเงินหน่อยเลยต้องซื้อรถไง พ่อแม่ก็ห่วงลูกหลานไม่อยากให้ลำบากเลยต้องซื้อรถให้ ”

“ตามสถิติกรมขนส่งทางบก ปี 2554 มีรถจดทะเบียนทั้งหมด 31599852 เฉพาะ กทม .811352 ปี 2555 ตั้งแต่ มค. ถึง กย. จดทะเบียนทั้งหมด 2757652 เฉพาะ กทม. 759895 แสดงให้เห็นว่าการจดทะเบียนรถใหม่ของปี 2554 กับ 2555 ไม่ต่างกันมากนัก แสดงให้เห็นว่าโครงการรถคันแรกไม่ได้ทำให้รถเพิ่มขึ้นจากปกติ คนที่คิดจะซื้อ ก็คงซื้ออยู่แล้วเพียงแต่ทำให้ตัดสินใจซื้อเร็วขึ้นเพราะจะได้ ลดภาษี”

“นโยบายรถคันแรกไม่ใช้เฉพาะคนกรุงเทพเท่านั้น คนต่างจังหวัดอีก 76 จังหวัดก็มีสิทธิ์ซื้อ เพราะฉะนั้นจำนวนรถที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ห้าแสนคันตอนนี้ไม่รู้ว่ามีคนซื้อไปแล้วกี่คัน และออกรถได้จริง ๆ กี่คัน ได้ยินว่าคนซื้รถปัจจุบันใครอยากได้รถต้องจองไว้ก่อนอีกสามสี่เดือนจึงจะได้รถ แล้วรถที่ซื้อใช้เฉพาะในกรุงเทพก็ไม่รู้กี่คันและคนที่ไม่ซื้อรถจากโครงการนี้ก็มีมาก จะไปโทษว่ารถติดเพราะโครงการนี้ผมว่าไม่ยุติธรรม ”

“นโยบายรถคันแรก เป็นเหมือนโปรโมชั่นกระตุ้นให้ซื้อ กระตุ้นยอดขายรถซึ่งช่วยทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจโดยรวมดูดี โดยส่วนตัวคัดค้านนโยบายนี้ เพราะเอาเงินภาษีของคนทั้งประเทศไปให้ประโยชน์กับบริษัทรถยนต์และคนชั้นกลางที่ต้องการรถส่วนตัว ในแง่ของปัญหารถติด แน่นอนครับว่าการเพิ่มจำนวนรถบนถนนก็เท่ากับเพิ่มปัญหารถติด”

“มันติดเพราะรถเยอะขึ้นแน่นอน รถเพิ่มขึ้นทุกปีต่อให้ไม่มีโครงการนี้ก็ตาม แต่โครงการนี้ย่อมมีส่วนบ้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีโครงการนี้คนก็จะซื้อรถน้อยลง หรือไม่ต้องรีบซื้อในปีนี้ แต่ถ้าคุณปฏิเสธ มันก็จะบอกว่าโครงการนี้ล้มเหลวเพราะจะคืนหรือไม่คืนประชาชนก็มีกำลังซื้ออยู่แล้ว ฉะนั้น ยอมรับบ้างบางส่วนไม่ใช่ปฏิเสธทั้งหมดแล้วหาทางแก้ไขดีกว่ามั้ย ทุกโครงการมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ก็ยอมรับบ้างหาทางแก้ไขบ้าง“

เรื่องที่สอง ประเด็นที่ต้องพูดถึงเพราะเป็นสิ่งที่มีความหมาย รวมถึงเกี่ยวข้องกับการสื่อสารในชีวิตประจำวันของคนไทยทุกช่วงวัย กรณีที่ราชบัณฑิตยสถานมีข้อเสนอให้เปลี่ยนคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ หรือคำยืม ในพจนานุกรม จำนวน 176 คำ โดยเฉพาะการเติมวรรณยุกต์เพื่อแสดงเสียงสูง-ต่ำ หรืออักษรสูง หรือใช้ ห นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ เช่น

กิโลเมตร – กิโลเม้ตร / ยีราฟ – ยีร้าฟ
กอล์ฟ – ก๊อล์ฟ / แบดมินตัน – แบ็ดมินตั้น
เมนต์ – ซีเม็นต์ / แบคทีเรีย – แบ็คทีเรีย
คอร์ด – ขอร์ด / เทคโนโลยี – เท็คโนโลยี่
กะรัต – กะหรัต / แอสไพริน – แอ๊สไพริน
คอนเสิร์ต – ค็อนเสิร์ต / คอมพิวเตอร์ – ค็อมพิ้วเต้อร์
คอมมานโด – ค็อมมานโด / คอมมิวนิสต์ – ค็อมมิวนิสต์
คูปอง – คูป็อง / เซนติเมตร – เซ็นติเม้ตร
อัลตราไวโอเลต – อัลตร้าไวโอเหล็ต

เป็นต้น

ก็มีผู้แสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยบอกว่า “ไม่ควร” เพราะจะเป็นการสร้าง “ความสับสน” ในการเขียนภาษาไทยของคนรุ่นใหม่ เพราะปัจจุบัน ขนาดภาษาไทยแท้ๆ ยังเขียนกันไม่ค่อยจะถูก

หลังจากที่มีกระแสตอบกลับจากประชาชนในเชิงไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมาก ทางราชบัณฑิตฯ ก็ออกมาอธิบายโดยให้เหตุผลว่า เรื่องนี้เป็นเพียงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะส่วนหนึ่ง ไม่ใช้ข้อยุติ เพราะการเปลี่ยนแปลงคำทับศัพท์นั้นถือว่าเป็นเรื่องยากและเรื่องใหญ่ มีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน และยืนยันว่าในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ จะไม่มีการนำศัพท์ทั้ง 176 คำ ไปบรรจุแน่นอน เพราะกระบวนการจัดพิมพ์ได้ส่งต้นฉบับไปยังโรงพิมพ์เรียบร้อยแล้ว

อีกทั้งยังมีการเปิดเผยว่า ทางราชบัณฑิตยสถานกำลังจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ ที่รวบรวมคำศัพท์ใหม่ คำศัพท์วัยรุ่น และคำศัพท์สแลง รวมไปถึงสำนวนที่ใช้กันอย่างติดปากอย่างแพร่หลาย ที่ยังไม่ได้ถูกบรรจุในพจนานุกรมฉบับ 2542 เพื่อนำมาเพิ่มเติมในพจนานุกรม ให้เป็นแหล่งค้นคว้าใหม่ที่เป็นประโยชน์ในอนาคต โดยจัดทำเป็นคู่มือภาษาสำหรับวัยรุ่นที่ต้องการทราบความหมายของคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตไม่มีการเก็บบันทึกคำศัพท์ที่เกิดใหม่ไว้ จนทำให้คำใหม่สูญหายไป ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบันทึก และแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านภาษาในแต่ละยุคสมัยของไทย

โดยเบื้องต้น ทางราชบัณฑิตยสถานได้ทำการคัดเลือกคำศัพท์ไว้บางแล้ว ซึ่งเมื่อรวบเสร็จสิ้น คาดว่าจะมีประมาณ 1,000 คำ ก็จะตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2555 ทันที โดยตัวอย่างคำที่ได้ถูกคัดเลือกไว้แล้ว (ที่มาจากมติชน) อาทิ คำว่า

กรรมสะสมไมล์: เป็นการเปรียบเทียบคนที่ชอบทำบาปกรรมว่าเป็นการสะสมไมล์ เหมือนที่สายการบินให้ลูกค้าสะสมไมล์เมื่อเดินทาง

กระบือบำบัด: คำนี้มาจากโครงการใช้ควายบำบัดเด็กออทิสติกจนประสบความสำเร็จ

กองร้อยน้ำหวาน: คือตำรวจจราจรหญิงในยุคบุกเบิก เป็นกองกำลังหนึ่งของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

กอดเสาเข่าทรุด: เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากประชาชนกลับเข้าไปบ้าน เมื่อเห็นสภาพความเสียหายมากมายถึงขั้นเกิดอาการกอดเสาเข่าทรุด

กากๆ: คำศัพท์ที่วัยรุ่นนิยมใช้ในอินเทอร์เน็ต โดยเป็นการดูถูกว่าเป็นคนที่ทำตัวไม่ค่อยมีประโยชน์

กิจกาม: เป็นคำที่ใช้เลียนแบบคำว่า กิจกรรม ซึ่งแทนที่จะไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็มุ่งไปเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียว

กินตับ: ซึ่งมาจากเพลงกินตับ

กินอิ่มนอนอุ่น: แทนที่วัยรุ่นจะพูดว่ากินอิ่มนอนหลับ เพื่อความเท่และทันสมัยก็จะพูดคำดังกล่าว

เกรียน: เป็นคำสแลงของคนที่มีพฤติกรรมก่อกวนคนอื่นและก้าวร้าวทางคำพูด

ขนแขนสแตนอัพ: พูดเมื่อเวลาเจอเรื่องน่าตื่นเต้น

ขออภัยมณีศรีสุวรรณ: แทนที่จะพูดว่าขออภัยคำเดียว ก็จะเติมสร้อยให้ดูทันสมัย

ครูตู้: คือทีวีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

จอนูน, จอแบน: เป็นการพูดถึงลักษณะของผู้หญิง

จัดชุดใหญ่, จัดเต็ม, จัดแน่น, จัดหนัก, จัดใหญ่: เป็นคำที่ใช้พูดในสถานการณ์ที่ต้องการทำอะไรบางอย่างแบบเต็มที่

แพล้งกิ้ง: ท่าฮิตแปลกๆ คล้ายคนที่ตาย

แท็บเล็ต: หนึ่งในนโยบายของ รัฐบาลชุดปัจจุบันที่แจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียน ป.1

ท็อปฟอร์ม: รูปแบบ หรือลักษณะที่ดีที่สุด (ใช้กับการเล่นกีฬา) เช่น เขากำลังอยู่ในช่วงท็อปฟอร์ม แข่งขันสนามไหนก็ชนะหมด

เฟซบุ๊ก: โปรแกรมที่คนทั่วโลกกำลังนิยมเล่น

ชะโงกทัวร์: มาจากการได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ แต่ทำได้แค่ยืนมองโดยไม่ได้ลงไปชมความงามอย่างเต็มที่

แต๊งกิ้วหลาย: เป็นคำที่วัยรุ่นทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษแล้วใช้ภาษาอีสานเติมเป็นสร้อย

ตีขอร์ดหยอดสาว: พฤติกรรมของผู้ชายที่ใช้เวลาในการเล่นกีฬาไปจีบผู้หญิง

นักปั้นน้ำ: คำนี้ใช้สำหรับคนที่ชอบโกหกไปเรื่อยๆ

ซ่อนดาบในรอยยิ้ม: ใบหน้ายิ้มแย้มแต่ในใจลึกๆ กำลังคิดร้าย

เม้าท์มอย: เป็นการนินทาหรือกล่าวหาผู้อื่น

มีหัวไว้คั่นหู: ใช้ด่าและประชดประชันคนที่ถูกมองว่าโง่

สมใจนึกบางลำพู: มาจากร้านขายเสื้อผ้าย่านบางลำพู ใครๆ ก็รู้จัก เวลาพูดว่าจะไปซื้อเสื้อผ้าที่บางลำพู ก็จะบอกว่าไปร้านนี้

เคลียร์คัตชัดเจน: ใช้พูดเวลาที่ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นจนชัดเจนกระจ่างแจ้งแล้ว

โนเวย์สเตชั่น: แทนที่จะใช้คำว่า ไม่ ก็จะใช้คำนี้แทน

ฟ้ามีตา: ใช้พูดเตือนสติคนที่คิดว่าทำชั่วแล้วจะไม่มีใครรู้เห็น

“อ่านแล้วปรี๊ดดดด…ครับ ถ้าจะอ่านให้ถูกต้องตามอังกฤษ เอาสำเนียงไหน เอาให้แน่!! ถ้าอ่านตามคำที่คนไทยออกเสียง แน่ใจว่าแก้ครบทุกคำนะครับ ว่าแต่ว่า “ร้าดช๊ะบันดิ่ด” ว่างมากนักหรือไงครับ คิดแต่ละเรื่อง ปล. ยังฉุนกับพวกคำที่แปลจากภาษาอังกฤษครั้งก่อน + อย่างงี้หนังสือทั้งห้องสมุดก็พิมพ์ผิดเกือบหมดเลยสิครับ ฉุนนะเนี่ย คนแก่ที่ไม่ยอมฟังใครน่ะ”

“ที่จริงควรจะเปลี่ยนคำไปเลย เช่น มอนิเตอร์ – จอดู , สนุกเกอร์ – ลูกดีดลงรู , เคเอฟซี – ไก่ทอดลุงหงอก , สลัด – รวมมิตรเศษผัก อย่างนี้จะดีกว่า”

“ไม่เห็นว่าการแก้ไขไม่ค่อยจำเป็นเท่าใดนัก ส่วนตัวไม่ค่อยอยากให้แก้ครับ แต่เหตุผลที่ราชบัณฑิตยกขึ้นมา ว่าต้องการให้เป็นไปตามหลักการสะกดคำ ก็เป็นเหตุผลที่ดีนะครับ”

“ ถ้าจะแก้จริงๆ รบกวนแก้ให้หมดทุกคำเลยนะครับ อย่าแก้แต่เฉพาะคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ มันจะได้ดูเป็นมาตรฐานเดียวกันไปเลย เพราะเดี๋ยวเด็กรุ่นใหม่ มันสงสัยอีก ก็ต้องมานั่งแก้กันอีก เช่น สมมติ แก้ด้วยเป็น สมมุติ , ศีรษะ แก้เป็น ศรีษะ , เพชร แก้เป็น เพ็ชร เพราะดูแล้วน้อยใจแทนภาษาอังกฤษ เหมือนถูกเลือกปฏิบัติเลย”

“ผมเห็นด้วยที่ราชบัณฑิตยสถาน จะดำเนินการแก้ไขครับ ต่างชาติที่ต้องการเรียนภาษาไทย มันยากเกินไป หากคุณคิดว่า ภาษาไทยเพื่อสำหรับคนไทยอย่างเดียว ก็ไม่ต้องแก้ แต่หากคุณคิดว่า ภาษาไทยเป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่ “แค่” สำหรับคนไทยชาติเดียว ต้องดำเนินการแก้ครับ ขึ้นอยู่กับว่า คุณคิด หรือมองในมุมไหน”

“ไหนๆ ก็จะ AEC กันอีกไม่กี่ปี เปลี่ยนไปใช้ภาษาอังกฤษไปเลยครับ ใช้ภาษาอังกฤษแบบที่เขียนใน คาราโอเก้ะ พวกฝรั่ง จะได้อ่านออกได้ทันที ลงเครื่องมาก็ sa wad dee krub fa rang ”

เรื่องที่สาม กำลังเร่งสืบสวนหาต้นตอของภาพที่น่าสลดใจและไม่ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เมื่อมีการโพสต์ภาพและแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมากในเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียต่างๆ กับภาพที่มีการสอนให้เด็กเล็กอายุเพียง 3 ขวบ เสพยาเสพติด โดยมีผู้ปกครองเป็นผู้ทำการสอนและจุดไฟให้ โดยหลังจากที่ภาพถูกกระจายไปทั่ว ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

“น่าสงสารเด็กสามขวบคะ ส่วนคนที่บังคับเด็กให้มันโดนเหมือนที่มันทำ เป็นล้านๆ เท่า”

“คนแบบนี้ก็มีด้วย ใช่พ่อใช่แม่หรือเปล่าถึงสอนเด็กในทางที่ไม่ดี คนไร้สติขาดความคิด ไม่สมควรเป็นพ่อแม่จริงๆ ถึงเป็นญาติก็ขอบอกว่าแย่มาก”

“ทำแบบนี้ได้ไง ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ ไม่ใช่นิสัยของพ่อแม่ เขาทำกันหรอก”

“พ่อแม่ติดยาด้วยแน่ๆเลย แต่จะถ่ายไว้เป็นหลักฐานมัดตัวเองทำไม ไม่ใช่เรื่อง”

“ไม่ใช่เฉลยออกมา เป็นเพียงฉากหนึ่งในหนังสั้น หนังยาว สะท้อนสังคมเท่านั้นนะ”

“เด็กคือผ้าขาว จริงๆ สอนอย่างไรได้อย่างนั้น ลูกเราอยู่กับเราแค่วันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เค้าเริ่มพูด จนปัจจุบันอายุ2 ขวบ2เดือน ท่องคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้แล้ว 200 คำ แต่ไปอยู่บ้านแฟน ที่เลิกกันจันทร์-ศุกร์ ด่าแม่เป็น พูดได้หมด วะ เว้ย คุณ *** เ..ย สัตว์ _วย พอเราขอลูกกลับมาเลี้ยงเอง เค้าไม่คืนให้ อ้างรักหลาน ทุกวันนี้เลยรีบเก็บเงินให้ได้เยอะๆ จะพาลูกหนีอ่ะ รับไม่ได้ ผู้ใหญ่ทางนั้นสั่งสอนไม่ดี เด็กเป็นผ้าขาวจริงๆ”

เรื่องที่สี่ เป็นเรื่องสืบเนื่อง จากคดีความในการฟ้องร้อง ของ “คนข่าว” พิธีกรข่าวชื่อดัง ค่าตัวหลักล้าน นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรณีที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดทางอาญา ฐานร่วมกันยักยอกเงินโฆษณาที่ได้รับ เกินกว่าสัญญาที่บริษัท ไร่ส้ม ทำไว้กับบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ทำให้ อสมท. ได้รับความเสียหาย 138,790,000 บาท และให้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางกฎหมาย ในฐานะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ต้องอาศัยความเชื่อถือ ไว้วางใจของประชาชนเป็นสำคัญ

แต่ล่าสุด มีรายงานข่าวจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ระบุว่า นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ได้มีการยื่นจดหมายถึง นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพื่อขอลาออกจากสมาชิกของสมาคมฯ แล้ว

นายสรยุทธ  สุทัศนะจินดา  ที่มาภาพ: http://board.postjung.com633655.html
นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่มาภาพ: http://board.postjung.com633655.html

ทั้งนี้ จดหมายขอลาออกลงวันที่ 5 ตุลาคม 2555 มีเนื้อหาระบุว่า

“กระผม นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรและผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ สมาชิกวิสามัญ 2 ของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอลาออกจากสมาคมฯ โดยขอให้มีผลทันที จึงเรียนมาเพื่อทราบ” พร้อมลงนาม สรยุทธ สุทัศนะจินดา

สำหรับนายสรยุทธนั้นเป็นสมาชิกของสมาคมนักข่าวฯ ในประเภทวิสามัญสมาชิก ประเภทที่ 2 ในสังกัดของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 โดยคุณสมบัติของวิสามัญสมาชิกประเภทที่ 2 คือ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในฝ่ายข่าวของสถานีวิทยุกระจายเสียงสถานีวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสารมวลชนประเภทอื่น ที่เสนอข่าวต่อสาธารณชนสม่ำเสมอตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร และมีคุณสมบัติอื่นเหมือนสมาชิกสามัญโดยอนุโลม”

“โกงค่าโฆษณามากมายขนาดนั้นและยังเป็นตัวการบ่งการให้พนักงานของรัฐร่วมโกง ปกปิด ทำลายหลักฐาน วันนี้ยังทำหน้าที่สื่อตามปกติถือได้ว่ากฎเกณฑ์ระเบียบสังคมไทย เสื่อมลงทุกวัน ที่ฝรั่งเศส พิธีกรชายดัง (ข่าวภาคค่ำ) ของทีวีรัฐช่องหนึ่ง ทำผิดกฎจริยธรรมแค่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากลูกค้า เช่น ให้ยืมเรือยอร์ชและรับของกำนัลตามโอกาสครั้งคราว เขาถูกปลดออกจากงานและหายหน้าไปจากวงการสื่อทีวี แต่กรณีของไทย เป็นเรื่องโกง/คอรัปชันความผิดร้ายแรง ! กว่า ยังอยู่ได้อีก”

“ผมว่า ถ้าเราดูแลคุณสรยุทธให้ดี เขายังให้ประโยชน์ต่อสังคมได้ อย่างเช่น ตอนมีภัยน้ำท่วม ภัยพิบัติ. เขายังเป็นผู้นำการช่วยเหลือสังคมได้. ผมว่าเขายังรักษาได้ เรายังต้องดูแลสังคมต่อไป ยังมีผู้สื่อข่าว หรือหลายๆ ท่าน ที่สามารถทำงานเช่นนี้ แต่ยังไม่ออกมาช่วยเลย หรืออาจยังไม่สามารถทำได้ ตอนนั่นถ้ายังจำได้ เราไม่บริจาคให้รัฐบาล แต่บริจาค ผ่านช่อง 3 คนเรา ชั่วมี ดีมี”

“วิธีการเอาใจคนดูข่าวของสรยุทธ เล่าข่าวให้คนเข้าใจง่าย เล่นข่าวที่คนดูชอบ เสริฟข่าวที่สบายๆ ทำให้คนดูไม่เครียด ข่าวที่ไม่อยากให้คนดูก็อ่านให้นิดนึง ข่าวที่ต้องการสนับสนุนก็บรรยายในช่วงเวลาที่เหมาะสม รู้ใจคนดูว่าต้องการอะไรก็เสริฟให้แบบที่คนดูชอบ เหมือนคนทำกับข้าวให้อร่อย ก็ต้องมีให้ครบรส มีสีสันชวนรับประทาน อาหารที่ให้คุณค่าและมีรสชาติอร่อย คนทานก็ติดใจ ไปดูช่องอื่นๆ ก็ไม่ครบรส วิธีการง่ายๆ ไม่เห็นจะยากเลยถ้านักข่าวช่องอื่นจะปรับปรุงให้คนดู”

“อยากรู้จังคนที่ว่าสรยุทธิ์เนี่ยเคยทำผิดบ้างมั๊ย แล้วเคยทำดีอะไรบ้าง เค้าไม่ได้หนีแต่ขอสู้ในชั้นศาล แค่นี้ก็เพียงพอแล้วทางกฏหมาย เมื่อศาลยังไม่ตัดสินก็ดำเนินชีวิตต่อไปไง พอศาลตัดสินชัดเจนแล้วก็เป็นไปตามนั้น. แล้วไงคนไทยนี่ทันมีชีวิตยากเย็นเนอะ เอาเป็นเอาตายเนี่ย อยากได้อะไร ถามตัวเองดีกว่า อ้างถูก อ้างผิด แล้วเค้าจะมีศาลทำไม นักการเมืองทั่วประเทศก็ทำแบบนี้ ไปจี้มันซี่ มันเอาเป็นหมื่นล้านยังลอยนวลได้เลย”

“สังคมขณะนี้น่าเป็นห่วง บกพร่องการแยกแยะ เขาพูดเรื่องจรรยาบรรณของวิชาชีพ แม้เรื่องยังไม่สิ้นสุดก็ตาม เขาพบว่านายสรยุทธิ์ บกพร่องเรื่องจรรยาบรรณ การที่นายสรยุทธิ์ ลาออกจากสมาคม ไม่ได้แปลว่านายสรยุทธิ์ จะหมดปัญหาเรื่องจรรยาบรรณ สังคมต้องกระทุ้งและติดตามเพื่อให้กรณีนายสรยุทธิ์ เป็นแบบอย่าง ส่วนเรื่องท่านที่เห็นว่านายสรยุทธิ์ ทำดี เรื่องอื่นๆ ก็เป็นคนละกรณีกันไป ต่างกรรมต่างวาระ ”

เรื่องที่ห้า ใครๆ ก็พากันหวาดหวั่น หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาเตือนให้ระวังพายุที่ชื่อว่า “GAEMI” (แกมี) ในช่วงสุดสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 6–7 ตุลาคม ที่พายุจะเคลื่อนตัวมาทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม และมีผลกระทบทางภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย ส่วนในวันที่ 6 ตุลาคม พายุลูกนี้จะผ่านเข้าลาวกับกัมพูชา ทำให้มีฝนตกหนักใน 12 จังหวัดของไทย คือ อำนาจเจริญ, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, มุกดาหาร, สระแก้ว, จันทบุรี, ตราด, ระนอง, สตูล, กระบี่ และตรัง
แต่ทั้งนี้ พายุแกมีจะลดความรุนแรงลงเมื่อพายุลูกนี้เข้าไทยในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งอาจทำให้ช่วงค่ำวันอาทิตย์ กลุ่มฝนอาจจะเต็มพื้นที่ประเทศไทย เพราะพายุนี้จะอยู่ตรงกลางประเทศไทย อิทธิพลจะครอบคลุมหลายร้อยกิโลเมตร
จากนั้นวันที่ 8 ตุลาคม พายุจะเริ่มเคลื่อนตัวออกไปยังอ่าวเมาะตะมะ และขยับไปในภาคตะวันตกของไทย โดยพื้นที่ในช่วงข้างต้นที่กล่าวมาแล้วจะพ้นจากพายุนี้ จากนั้นวันที่ 9 ตุลาคม ประเทศไทยจะพ้นจากพายุแกมี

ที่มาภาพ: http://www.innnews.co.thshownewsshownewscode=407912
ที่มาภาพ: http://www.innnews.co.thshownewsshownewscode=407912

อีกทั้งทางด้าน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ก็ออกมาเตือนประชาชนว่าอย่าออกจากบ้านเรือนถ้าไม่จำเป็น รวมทั้งกำหนดแผนอพยพประชาชน เพื่อเปิดพื้นที่ในการรับมือพายุแกมี ในวันที่ 7-9 ตุลาคม ไว้แล้วด้วย (เรียบเรียงจากไทยรัฐ)

ทำให้เมื่อเย็นวันศุกร์แห่งชาติ ประชาชนส่วนมากเปลี่ยนเป้าหมาย จากที่ปกติออกไปรื่นเริงตามสถานที่ต่างๆ เป็นการมุ่งตรงกลับเข้าบ้าน ซึ่งก็มีเพียงฝนตกบ้างในบางพื้นที่เท่านั้น จึงมีการออกประกาศตามมาว่า พายุแกมีจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตามที่คาดการณ์ เนื่องจากมีการวิเคราะห์ว่า พายุจะเริ่มเข้าไทยในวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งทำให้มีฝนตกหนักที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทั้งนี้จะต้องพิจารณาจากความเร็วลมพายุเป็นหลัก เพราะหากมีความกดอากาศต่ำ หรือ ร่องฝนรวมอยู่ด้วย ก็อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อ่าวไทยได้ เนื่องด้วยอัตราความเร็วและการเคลื่อนตัวของพายุมีความแตกต่างกันตลอดเวลา ซึ่งต้องใช้การคาดการณ์แบบวันต่อวัน โดยให้ทุกจังหวัดเตรียมศูนย์บัญชาการส่วนหน้า ซึ่งมีศูนย์ให้ข้อมูล 24 ชั่วโมง และประชาชนควรติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง

“ระวังจะเป็นแบบเดียวกันกับพายุ “เกย์” ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพราะเคยมีบทเรียนมาแล้ว”

“ชื่อดันมาใกล้ กันอีก นิสัย ก็เกเร วิ่งไปเรื่อย ขึ้นบกมาไกลแล้ว แรงไม่ตก แถม ท่าจะมีพวกมาช่วยอีก ขอให้ ผ่านพ้นไปด้วยดีกันนะครับ ที่บ้าน ที่ ศรีสะเกษ ก็เตรียมกันบ้างแล้ว เห็นบอกจะเฉียด ปลาย ๆ”

“ปลอดประสพ ตื่นอีกแล้ว ทำอะไรเอ๋อๆ ตลอด”

“น่ากลัวจัง แต่ขออย่าให้เกิดอะไรรุนแรงอีกเลย สงสารคนไทย คนที่เขาไม่ค่อยดี ยังไม่ได้ฟื้นฟูอะไรเลย”

“น้องน้ำจะมาใหม่แล้วเหรอ ครั้งที่แล้ว เงินชดเชยยังไม่ได้เลย รัฐบาลจะทำอะไรอยู่นะ ทั้งรถติด ทั้งพายุ ทั้งน้ำทั่ว โอ๊ย ประเทศไทย!!”