ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมศุลกากร (4): เปิดตำนานพื้นที่ต้องห้าม “สายลับเทียม” โกยเงินสินบนรางวัลนำจับ

กรมศุลกากร (4): เปิดตำนานพื้นที่ต้องห้าม “สายลับเทียม” โกยเงินสินบนรางวัลนำจับ

3 ตุลาคม 2012


นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากรคนใหม่

ขบวนการสร้างพยานเท็จ ตั้งเรื่องขอเบิกเงินสินบนออกจากท้องพระคลังหลวง ไปจ่ายให้กับ “สายลับเทียม” เป็นตำนานที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมา ในหมู่ข้าราชการกรมศุลกากร

ที่มาของปัญหาความไม่โปร่งใสของการเบิกจ่ายเงินสินบนและรางวัล มีต้นเหตุมาจาก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 กำหนดว่า ในกรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้จับกุมได้รับเงินรางวัล 30% ของค่าปรับหรือมูลค่าสินค้าที่จับกุมได้

ส่วนกรณีที่มีผู้แจ้งความนำจับ เงินรางวัลในส่วนที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้จับกุมได้รับลดลงเป็น 25% ส่วนสายสืบจะได้รับเงินสินบน 30% ของค่าปรับหรือมูลค่าสินค้าที่จับกุมได้ รวมแล้วทั้งเจ้าหน้าที่และสายลับได้เงินส่วนแบ่งรวมกันถึง 55% จึงเป็นเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริต

สายลับ “ของแท้” หรือ “ของเทียม” เป็นเรื่องที่ตรวจสอบยากมาก เพราะรายชื่อผู้แจ้งเบาะแสต้องเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด หากปล่อยให้ข้อมูลสายสืบหลุดออกไปภายนอก อาจจะมีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสายสืบ กฎหมายศุลกากรจึงต้องให้ความคุ้มครอง

สายลับไม่มีชื่อปรากฏในเอกสาร มีเพียงแต่ลายนิ้วมือเท่านั้น

ข้อมูลความลับนี้ไม่มีใครเข้าถึงได้ รู้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในกรมศุลกากร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช. ) ก็ไม่มีสิทธิจะมาขอดู หรือ ตรวจสอบว่าลายนิ้วมือที่พิมพ์บนเอกสารขอเบิกเงินสินบนและรางวัลเป็นใคร

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรกล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมา ลายนิ้วมือที่พิมพ์ลงบนเอกสารขอเบิกเงินสินบนและรางวัล เป็นของเจ้าหน้าที่หน้าห้องผู้บริหารกรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ธุรการ หรือเด็กเดินเอกสาร

เมื่อข้อมูลทั้งผลประโยชน์จากเงินสินบนรางวัล 55% และข้อมูลสายลับที่ไม่ต้องเปิดเผย จึงเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสร้างสายลับเทียมขึ้นมาขอเบิกเงิน

เพียงแค่เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้จับกุมไปเอาลายนิ้วมือ (ของผู้ใดก็ได้) มาพิมพ์ลงบนเอกสารขอเบิกเงินสินบน สายสืบจะได้รับเงินสินบน 30% ภายใน 5 วันทำการ

ในงานวิจัยระบบการจ่ายเงินสินบนและรางวัลของ ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ และคณะ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูง สำนักงานคณะกรรมการ ปปช. ที่เคยจับเจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินคดีอาญา ฐานสร้างหลักฐานเป็นเท็จ ขอเบิกเงินค่าสินบนจ่ายให้สายสืบ

คำว่า “สายลับเทียม” จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงคำบอกเล่าในหมู่ข้าราชการกรมศุลกากรอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องจริงที่ปรากฏและตรวจสอบได้

ผู้บริหารระดับสูงของ ปปช. รายนี้ให้สัมภาษณ์ว่า คดีนี้ ปปช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร โดยขอให้ ปปช. เข้าไปตรวจสอบคดีเจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมชาวต่างชาติลักลอบขนทองคำผ่านด่านศุลกากรไปยังประเทศมาเลเซีย

ขณะที่กำลังผ่านด่านศุลกากร เจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกคนขับและผู้โดยสารลงจากรถ เพื่อตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย บังเอิญคนขับรถแท็กซี่ไปเดินชนชาวต่างชาติ พบสิ่งของต้องสงสัยเป็นของแข็งพันอยู่รอบลำตัวชาวต่างชาติ จึงมากระซิบบอกเจ้าหน้าที่ศุลกากร จึงเข้าตรวจค้นตัวชาวต่างชาติคนดังกล่าว พบว่าสิ่งของที่พันอยู่รอบตัวเป็นทองคำแท่ง จึงเข้าจับกุมดำเนินคดีและยึดทองคำเป็นของกลาง

ต่อมา คณะกรรมการ ปปช. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ ปปช. ได้ทำการตรวจสอบเอกสารขอเบิกเงินไปจ่ายให้สายลับ พบลายนิ้วของสายลับ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงได้

จากนั้น ปปช. ได้ขยายผลการสอบสวน ไปตรวจสอบเอกสารบันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ศุลกากรรายนี้ ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรรายนี้ได้รับแจ้งจากสายลับว่า ในเวลา 07.20 น. จะมีการลักลอบนำทองคำแท่งผ่านด่านศุลกากรไปยังประเทศมาเลเซีย โดยใช้รถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน xxxx เป็นยานพาหนะ

ประเด็นนี้ ปปช. ระบุว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะรถแท็กซี่ที่อำเภอหาดใหญ่เป็นรถรับจ้างประเภทที่ต้องรอให้ผู้โดยสารขึ้นจนครบก่อนถึงจะออกเดินทางได้ ดังนั้น ในความเป็นจริง จึงไม่สามารถระบุเวลาที่รถแท็กซี่จะออกเดินทางได้อย่างชัดเจน และไม่สามารถกำหนดล่วงหน้าได้ว่าจะใช้รถแท็กซี่หมายเลขทะเบียนใด ลักลอบขนทองคำออกนอกราชอาณาจักร

ดูโดยภาพรวมแล้ว คดีนี้น่าจะเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า สายลับที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรอ้างถึงไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะเข้าทำการตรวจค้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ไม่น่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างขอเบิกเงินไปจ่ายให้สายลับได้

ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่ทำการตรวจค้น บังเอิญคนขับรถแท็กซี่ไปเดินชนกับผู้โดยสารชาวต่างชาติ พบว่ามีสิ่งของพันอยู่รอบตัว จึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นและจับกุม แต่ปรากฏว่าคนขับรถแท็กซี่กลับไม่ได้รับเงินสินบนเป็นค่าตอบแทน

คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ จึงรวบรวมพยานหลักฐานสรุปผลสอบข้อเท็จจริงส่งให้คณะกรรมการ ปปช. ชี้มูลความผิด ทั้งทางอาญาและทางวินัย จากนั้น ปปช. ได้ทำสำนวนส่งให้อัยการฟ้องศาลอาญา ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าหน้าที่ศุลกากรรายนี้ ฐานทุจริตต่อหน้าที่ สร้างหลักฐานเท็จ ขอเบิกเงินสินบนจ่ายให้กับสายลับเทียม

การสร้าง “สายลับเทียม” ขึ้นมารับเงินสินบน 30% จึงกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่าในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ที่กรมศุลกากรมีการสั่งจ่ายเงินสินบนและรางวัลไปกว่า 10,000 ล้านบาทนั้น มีการสั่งจ่ายเงินสินบนให้กับสายลับเทียมปะปนอยู่ด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะกระบวนการจ่ายเงินให้กับสายลับทุกขั้นตอน จะอยู่ในความดูแลของกรมศุลกากรอย่างเบ็ดเสร็จ แม้แต่กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด มีหน้าที่กำกับดูแลกรมศุลกากร ก็ยังไม่สามารถขอดูข้อมูลดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ ดร.ประธานระบุว่า การสร้างสายลับเทียมขึ้นมารับเงินสินบน เป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ศุลกากรเป็นการเฉพาะบุคคล

ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาทุจริตการจ่ายเงินสินบนและรางวัลนำจับดังนี้

1. กำหนดให้ผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายเงินสินบนให้กับสายสืบ ต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อนจ่ายเงิน โดยเฉพาะกรณีที่มีสายลับมาแจ้งเบาะแส หากตรวจพบในภายหลังว่า การจ่ายเงินสินบนดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการจ่ายโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้สั่งจ่ายเงินต้องรับผิดชอบ ถูกดำเนินคดีทางอาญา ทางวินัย และต้องรับผิดทางแพ่งด้วย

2. ปัญหาการสร้างพยานหลักฐานเท็จเบิกจ่ายเงินสินบนให้กับสายเทียม ต้นเหตุเกิดจากกฎหมายศุลกากรกำหนดว่า กรณีที่ไม่มีสายลับแจ้งเบาะแส เจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้จับกุมได้รับเงินรางวัล 30% แต่ถ้ามีผู้แจ้งเบาะแส ทั้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรและสายสืบจะได้รับเงินสินบนและรางวัลรวมกับ 55% คือต้นเหตุของปัญหา

ดังนั้น คณะผู้วิจัยเสนอให้แก้ไขกฎหมายศุลกากร โดยเฉพาะระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินสินบน กรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ ควรกำหนดให้นำเงินสินบนมาจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรผู้จับกุมทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อลดแรงจูงใจในการสร้างหลักฐานปลอม ไม่ว่าจะมีสายสืบหรือไม่มีสายสืบ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะได้รับเงินรางวัลเท่ากัน

มาตรการสุดท้าย คณะผู้วิจัยเสนอให้มีการรณรงค์เพื่อยุติกระบวนการทุจริตในการเบิกจ่ายเงินสินบนและรางวัล โดยเชิญหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงยุติธรรม, กรมศุลกากร สำนักงาน, ปปช. และสำนักงาน ปปท. เข้าร่วมงานรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันการจ่ายเงินสินบนรางวัล

ข้อเสนอของคณะผู้วิจัยทั้งหมดนี้ ทางคณะกรรมการ ปปช. ได้ทำเรื่องเสนอรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ปรับปรุงแก้ไขเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 คาดว่าเร็วๆ นี้รัฐบาลจะส่งเรื่องให้นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากรคนใหม่รับไปดำเนินการต่อไป