ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมศุลกากร (7): 6 ปี กฏพิเศษ อุ้มคนกรมศุลอู้ฟู้ แจกค่าต๋ง 1.2 หมื่นล้านบาทรับกันถ้วนหน้า

กรมศุลกากร (7): 6 ปี กฏพิเศษ อุ้มคนกรมศุลอู้ฟู้ แจกค่าต๋ง 1.2 หมื่นล้านบาทรับกันถ้วนหน้า

24 ตุลาคม 2012


หลังจากกระทรวงการคลังออกกฎหมาย ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บ“ค่าธรรมเนียมผ่านพิธีการศุลกากร”จากผู้นำเข้า-ส่งออกในราคาฉบับละ 270 บาท ในปี 2547 นอกเหนือจากค่าภาษีอากรที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายให้กับรัฐตามปกติ

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา มีเงินรายได้ที่เก็บมาจากผู้ประกอบการ ประมาณ 85% ของค่าธรรมเนียมศุลกากร ถูกนำมาจัดสรรปันส่วนเป็นรายได้พิเศษให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำทุกเดือน ตั้งแต่นักการภารโรงยันอธิบดีได้รับเงินก้อนนี้กันอย่างทั่วถึง

เดิมผู้มีสิทธิรับเงินส่วนแบ่งรายเดือนนี้ มีเฉพาะ”กลุ่มข้าราชการกรมศุลกากร”เท่านั้น ต่อมา เพื่อให้เกิดความเสมอภาค สมัยนายสมชัย สัจจพงษ์ เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ได้ออกระเบียบใหม่ นอกจากจะจ่ายให้กับข้าราชการแล้ว ยังกำหนดให้นำเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมศุลกากรดังกล่าวไปจัดสรรให้กับ”เจ้าพนักงานข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว”ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 6,781 คน

อัตรากำลังพลคนกรมศุลกากร

แต่มีข้อแม้ว่า เจ้าหน้าที่ที่มีสิทธิรับเงินพิเศษดังกล่าว ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ที่ผ่านช่วงทดลองงาน 3 เดือนไปแล้ว แต่ละคนได้รับเงินส่วนแบ่งรายเดือนในสัดส่วนที่ไม่เท่ากัน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ “ตำแหน่ง” และต้องเป็นไปตามระเบียบกรมศุลกากร ว่าด้วยการจัดสรรเงินค่าธรรมเนียมศุลกากร พ.ศ. 2553 (อ่าน “กรมศุลกากร (6): เอกชนร้อง “ยิ่งลักษณ์” เลิกตั้งโต๊ะเก็บค่าธรรมเนียม “ผู้นำเข้า-ส่งออก” 270 บาท/รายการ เงินไม่เข้าหลวงแต่ใช้แจกคนกรมศุลฯ”) ส่วนเงินค่าธรรมเนียมอีก 10% ถูกเก็บสะสมไว้เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินรางวัลให้กับเจ้าหน้าที่ที่มีผลงานดีเด่น และที่เหลืออีก 5% เก็บเอาไว้ซื้อเครื่องอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และค่าบำรุงรักษา

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า ผู้บริหารของกรมศุลกากรบางคนรับเงินเดือนข้าราชการ 15,000 บาท ก็ยังได้รับส่วนแบ่งพิเศษจากเงินค่าธรรมเนียมศุลกากรอีก 8,000 บาทต่อเดือน และบางเดือนได้เกือบ 10,000 บาท นอกจากนี้ในบางปีค่าธรรมเนียมศุลกากรมีเศษเหลือ ก็เอามาแบ่งกันอีกรอบ อย่างในปี 2554 ได้รับเงินตกเบิกพิเศษอีก 3,000-4,000 บาท/คน

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สอบถามนางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากรว่า กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมศุลกากรปีละเท่าไหร่

นางเบญจาตอบว่า “ตนเพิ่งมารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเมื่อไม่นานมานี้ จึงยังไม่ได้ลงไปศึกษาในรายละเอียดมากนัก แต่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลมานำเสนอแล้ว”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2555 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้เดินทางไปยังฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมศุลกากร เพื่อยื่นแบบฟอร์มขอใช้บริการข้อมูลข่าวสารของราชการ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 โดยขอให้กรมศุลกากรเปิดเผยข้อมูลภาพรวมผลการจัดเก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมศุลกากรเป็นรายปี เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน

รายได้ค่าธรรมเนียมศุลกากร

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากข้อมูลในรายงานประจำปีของกรมศุลกากร ตั้งแต่ปี 2548-2553 กรมศุลกากรมีรายได้ค่าธรรมเนียมศุลกากรและการให้บริการแก่บุคคลภายนอกรวมทั้งสิ้น 12,732 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 95% ของรายได้ค่าธรรมเนียมศุลกากร หรือประมาณ 12,095 ล้านบาท ถูกนำมาจัดสรรเป็นรายได้พิเศษให้คนกรมศุลฯ เป็นรายเดือน

ล่าสุด ครม. มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศุลกากร สำหรับใบขนสินค้าขาเข้าหรือขาออกภายในประเทศ สำหรับสินค้าหรือวัตถุดิบที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ

ทั้งนี้ เนื่องจากการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ปกติผู้นำเข้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการนำเข้าให้กับรัฐอยู่แล้ว หากต้องมาเสียค่าธรรมเนียมศุลกากรให้กับเจ้าหน้าที่ศุลกากรอีก ถือว่าเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการลงทุน และลดต้นทุนการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงฯ ใหม่ โดยกำหนดให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังรายการต่อไปนี้

1. ใบขนสินค้าขาเข้า หรือใบขนสินค้าขาออก สำหรับสินค้าที่ขนย้าย หรือโอนระหว่างผู้ประกอบการภายในประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรภายในประเทศ

2. ใบขนสินค้าที่นำของออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากร เขตประกอบการค้าเสรี โดยผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 หรือกฎหมายอื่น

3. ใบขนสินค้าขาเข้าที่นำของซึ่งผลิต ผสม ประกอบ หรือบรรจุ ตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พุทธศักราช 2482 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2543 จำหน่ายให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับยกเว้นอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 หรือ กฎหมายอื่น

สำหรับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั่วไป ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศุลกากรและค่าคีย์ข้อมูลใบขนสินค้าฉบับละ 270 บาทต่อไป อ่านรายละเอียดกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร พ.ศ. 2552

เนื่องจากกรมศุลกากรไม่เปิดเผยข้อมูลใบขนสินค้าทั้งหมด แต่ถ้าดูจากข้อมูลรายงานประจำปี 2553 ของกรมศุลกากร หน้าที่ 71 ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2553 ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีมายื่นใบขนสินค้าทั้งสิ้น 2,885,521 ฉบับ หากนำไปคูณกับอัตราค่าธรรมเนียมศุลกากรฉบับละ 270 บาท ในปี2553 กรมศุลกากรจะมีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมศุลกากรเพิ่มอีกประมาณ 779 ล้านบาท

จากนั้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานพิธีการทางศุลกากร ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานพิธีการทางศุลกากร ที่มีนายยุทธนา หยิมการุณ เป็นประธานคณะทำงานฯ เพื่อจัดหาผู้ทำการประเมินผลโครงการนี้

แต่ตามระเบียบข้อบังคับกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการหักเงินค่าธรรมเนียมศุลกากร 2547 ระยะที่ 2 กำหนดให้กรมศุลกากรต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกมาทำการประเมินผลโครงการภายใน 2 ปี นับจากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 สมัยนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ดังนั้น ตามระเบียบข้อบังคับกระทรวงการคลังฯ ต้องจ้างบุคคลภายนอกมาทำการประเมินผลโครงการก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 แต่อธิบดีกรมศุลกากรเพิ่งมาลงนามแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อจัดหาบุคคลภายนอกมาทำการประเมินโครงการเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555

ทางคณะทำงานฯ ที่มีนายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานฯ ได้ว่าจ้าง ดร.สุรศักดิ์ อมรรัตนศักดิ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ประเมินผลการดำเนินงานพิธีการทางศุลกากรตามข้อบังคับกระทรวงการคลังว่าด้วยการหักเงินค่าธรรมเนียมศุลกากร 2547 ระยะที่ 2 ซึ่งการประเมินผลงานได้ข้อสรุปว่า

“ความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ผ่านเกณฑ์ในระดับที่ค่อนข้างสูงทุกตัวชี้วัด โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.91-4.02 และการเรียกร้องผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกลดลง ผู้รับบริการระบุว่า ค่าธรรมเนียมศุลกากรมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาทุจริตได้มาก และเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีความโปร่งใสในการปฏิบัติงานในระดับมาก” (อ่านรายงานคณะกรรมการประเมินผล)

สุดท้าย รายงานของ ดร.สุรศักดิ์ได้ทำข้อเสนอแนะต่อกรมศุลกากรดังนี้

1. ควรเพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ในการดำเนินงานพิธีการทางศุลกากรให้เพียงพอและมีความทันสมัย

2. ควรนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาให้บริการอย่างเต็มระบบ และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ

3. ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่ล้าสมัยและไม่ชัดเจน

4. ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ไม่จำเป็นลง เพื่อความรวดเร็วในการทำงาน

5. เพิ่มจุดให้บริการศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service)

6. ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่