ThaiPublica > คนในข่าว > คนนอก “แลรี่ แอชมัน” มอง “ราชบัณฑิตไทย” หลังถูก “สามัคคีสกรัม” แก้ไขคำทับศัพท์ “อิงลิช-ไทย”

คนนอก “แลรี่ แอชมัน” มอง “ราชบัณฑิตไทย” หลังถูก “สามัคคีสกรัม” แก้ไขคำทับศัพท์ “อิงลิช-ไทย”

17 ตุลาคม 2012


“แลรี่ แอชมัน” บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ดูแลหนังสือในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และม้งคดีศึกษา
“แลรี่ แอชมัน” บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ดูแลหนังสือในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และม้งคดีศึกษา

“…สิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานต้องพยายามคือให้มันสอดคล้องกับที่คนไทยจะอ่านได้ เพราะฝรั่งจะอ่านหรือ มันไม่ใช่ ต้องเป็นคนไทยอ่านทั้งนั้น ฝรั่งไม่ควรเป็นคนกำหนด อย่าพยายามนึกถึงฝรั่ง ควรนึกถึงคนไทยเอง ให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย นึกถึงฝรั่งแค่ว่า โอเค… มันไม่มีศัพท์จะใช้ ก็ยืมมาใช้ แต่การออกเสียงควรขึ้นอยู่กับว่าคนไทยจะอ่านสะดวกหรือไม่…”

เปิดประเด็นเรียกเสียงฮือฮา ก่อนปิดฉากลงในชั่วข้ามคืน สำหรับข้อเสนอของ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล” ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ที่ให้แก้ไขรูปแบบการเขียน “คำยืม” จากภาษาอังกฤษจำนวน 176 คำ โดยเฉพาะการเติมวรรณยุกต์เพื่อแสดงเสียงสูง-ต่ำ

จนถูก “คนหัวดำ” ตั้งคำถามว่าไม่มีอะไรทำแล้วหรือ?

ก่อนจะ “สามัคคีต่อต้าน” นำ “ศัพท์ใหม่” ประดิษฐ์ “ประโยคใหม่” ย้อนกลับไป “กระทบ-กระแทก” เจ้าของไอเดียตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

สร้างแรง “กระเทือน” ต่อศูนย์รวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตของไทย “องค์กร” ที่เกิดขึ้นจากความมุ่งหมายของรัฐบาลหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าจะช่วยชาติให้ก้าวหน้าแบบอารยะ

เป็นผลให้“ราชบัณฑิตยสถาน”ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา อัญเชิญพระราชดำริของ “พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ขึ้นหักล้างพวกเดียวกันเลยทีเดียว

น่าสนใจว่า “เจ้าของภาษา” มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร?

“แลรี่ แอชมัน” บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งดูแลหนังสือในหมวดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และม้งคดีศึกษา และยังเป็นอดีตอาจารย์พิเศษ และผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยพายัพ ปิดห้องสนทนากับ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ณ มุมหนึ่งของ “หอสมุดกลางของมหาวิทยาลัย”

ความคิด-ความเห็นของ “คนหัวทอง” ที่สามารถฟัง-พูด-อ่าน-เขียนภาษาไทยได้คล่องแคล่วไม่แพ้เจ้าของภาษา หลั่งไหลพรั่งพรู ย้อนกลับมาท้าทายความคิดผู้คนในอีกซีกโลก…

ไทยพับลิก้า : เวลาฟังคนไทยพูดภาษาอังกฤษ เข้าใจทั้งหมดหรือไม่ หรือถ้ามีปัญหาในการสื่อสาร คิดว่าเกิดจากจุดไหน

อันนี้ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษเขาเรียนที่ไหน เรียนอย่างไร เรียนตั้งแต่อายุเท่าไร เพราะถ้าเป็นเด็กที่โตเมืองไทย เรียนโรงเรียนไทย แทนที่จะเรียนโรงเรียนอินเตอร์ (นานาชาติ) ก็จะได้เรียนภาษาแค่วันละชั่วโมง ถ้าไม่มีอะไรสนับสนุนมากกว่านั้น เช่น ที่บ้านพ่อแม่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ หรือไม่มีโอกาสฟังทีวีภาษาอังกฤษ มันจะมีเวลาไม่มาก และเพื่อนก็พูดแต่ภาษาไทย เขาก็ไม่มีโอกาสพูดภาษาอังกฤษ แต่ถ้าให้เด็กเข้าโรงเรียนอินเตอร์ตั้งแต่เล็ก พ่อแม่จะเป็นคนไทย จะใช้ภาษาอะไรก็แล้วแต่ โอกาสจะมีบรรยากาศภาษาอังกฤษทั้งวันที่โรงเรียน มันจะช่วยให้เขารู้สึกว่าใช้ได้

ไทยพับลิก้า : ในทัศนะของคุณแลรี่คือ การจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้ดี ต้องเริ่มต้นที่การสร้างบรรยากาศ

(พยักหน้า) ใช่ มันต้องมีบรรยากาศแน่นอน ตรงกันข้าม เหมือนแลรี่จะพูดภาษาไทย ถ้าไม่ไปเมืองไทย ก็คงจะพูดไม่ดีเท่าที่ผ่านเมืองไทยใช่ไหม นอกจากเราเป็นคนเก่งภาษาจริงๆ ซึ่งอาจจะมีไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่เป็นอย่างนั้น

ไทยพับลิกา : จุดสำคัญที่ทำให้ฝรั่งไม่เข้าใจเวลาคนไทยพูดภาษาอังกฤษคืออะไร

บางทีคือการออกเสียงนะ ไม่ต้องพูดถึงคนไทยอย่างเดียว ญี่ปุ่น เวลาออกเสียง ฟังก็รู้ว่านี่คนญี่ปุ่นหรือคนฝรั่งเศสออกเสียง เราก็รู้ มันเหมือนกับคนต่างชาติจะมองเรา ถ้าเราพูดภาษาของเขา

ไทยพับลิก้า : มีหางเสียงที่บ่งบอกความเป็นไทยเลย

คือ…ภาษาอังกฤษ การออกเสียง ถ้าเทียบตรงไปตรงมา บางทีเสียงไม่เหมือนกัน เช่น “ง. งู” อันนี้ภาษาอังกฤษก็ไม่ใช้เริ่มต้น มีแต่ลงท้าย เช่น ซิง (sing) ซอง (song) อะไรอย่างนี้ เริ่มต้นฝรั่งไม่พูด ตรงกันข้ามกับคนไทย หรือคนไทยที่สอนภาษาอังกฤษ จะเรียก “ซี (Z)” ว่า “แซด” เพราะได้อิทธิพลจากอังกฤษ แต่อเมริกาใช้ “ซี” นี่คือเรื่องอิทธิพลจากภาษาอังกฤษ
“แลรี่ แอชมัน” บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

อีกอันหนึ่งก็คือเรื่องไวยากรณ์ (grammar) ถ้าพูดแล้วไวยากรณ์ถูกต้องเป๊ะ ก็รู้ว่าคนนี้เก่ง ได้ภาษา แต่บางทีไม่ตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์ มันพูดเข้าใจ แต่ไวยากรณ์อาจจะไม่ถูกต้อง เลือกศัพท์เมื่อวาน ถ้าเลือก tense (โครงสร้างคำกิริยาแสดงเวลา) ผิด ก็อาจจะเข้าใจ แต่ไม่ถูก เราจะไม่ใช้ มันเป็น sense (ความรู้สึก) ของภาษา

ไทยพับลิก้า : ข้อเสนอของราชบัณฑิตที่ให้เติมวรรณยุกต์ลงไปในคำยืมจากภาษาอังกฤษ จะช่วยให้การออกเสียงถูกต้องขึ้นหรือไม่

การออกเสียงมันไม่มีการออกเสียงโดยแท้จริงหรอก ที่จะมีคือเมื่อเราจะเน้นถึงอะไร หรือจะ เอ๊ะ! ตกใจ หรือเราโกรธ ฮึ่ม! เราโมโห แต่เสียงขึ้นลงอะไรไม่เกี่ยวโดยตรง ไม่มี เราเลือกเอง เช่น ฮาว อาร์ ยู ดู๊อิ้ง (How are you doing?) อาจจะถาม ฟังเหมือนมีสำเนียงหวานๆ หรือ ฮาว อาร์ ยู ดู่อิ่ง (พูดเสียงต่ำ) มันต่างกันอย่างนั้นน่ะ คล้ายๆ กับตัวคนพูดเป็นผู้กำหนดเอง

ไทยพับลิก้า : ขึ้นอยู่กับรูปประโยคมากกว่า เป็นประโยคคำถาม หรือประโยคบอกเล่า หรือผู้พูดอยู่ในอารมณ์ไหน

ใช่ๆๆ สมมุติเราเป็นคนธรรมดาๆ ก็ ฮาว อาร์ ยู ดู๊อิ้ง ทูเดย์ (How are you doing today?) แต่ถ้าเราโกรธคนๆ นั้นก็อาจจะ ฮาว อาร์ ยู ดู่อิ้ง ทูเดย์ (พูดเสียงห้วน) คนที่ฟังก็จะรู้ทันทีว่าคนนี้ผิดปกติวันนี้ เพราะออกเสียงไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าวรรณยุกต์ไทยที่ใส่ลงไปในคำยืมจากภาษาอังกฤษ อาจทำหน้าที่เพียงเครื่องแสดงอารมณ์เท่านั้น

แสดงอารมณ์

ไทยพับลิก้า : ไม่ควรมีการบัญญัติตายตัวลงไปว่าคำนี้ต้องใส่ไม้เอก ไม้โท ไม่ว่าจะพูดตอนไหน

(ส่ายศีรษะ) คือ… มันไม่ควรกำหนด

ไทยพับลิก้า : ถ้าลองยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ตามข้อเสนอแก้ไข 176 คำศัพท์ที่ถูกโยนขึ้นมา เช่น เติมไม้ไต่คู้เพื่อแสดงเสียงสั้น และใส่วรรณยุกต์เอก อย่างคำว่า “เทคโนโลยี” เปลี่ยนเป็น “เท็คโนโลยี่” อย่างนี้ฝรั่งฟังแล้วเข้าใจหรือไม่

ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ อ่านว่า “เท็ค-นอ-ลอ-จี้” แต่คนไทยเปลี่ยนให้เป็น “เท็ค-โน-โล-ยี่” อะไรก็ไม่รู้ เราก็เอ๊ะ! พูดอย่างนี้ทำไม ก็เลยรู้ว่า อ้อ! เพราะเป็นคนไทย เพราะไม่ใช่เจ้าของภาษา คือ…ต้องเทียบกับเจ้าของภาษาที่มาจากประเทศอื่นด้วย ญี่ปุ่นอาจจะพูดอีกอย่าง ฝรั่งเศสพูดอีกอย่าง หรืออาจพูดเหมือนคนไทยก็ได้ แต่ละภาษาจะมีสำเนียงสักอย่าง อย่างที่พูดว่าการได้ภาษาตั้งแต่ต้น เราไม่ได้คิด เราแค่ได้ภาษา เราไม่ได้คิดเสียงขึ้นลงอะไร ก็จับมาเรียน แล้วใช้ภาษาไปเลย อย่างตอนไปสอนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย ก็มีเด็กถามว่าทำไมเสียงนี้อ่านอย่างนี้ เสียงนั้นอ่านอย่างนั้น เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าทำไม แต่รู้ว่า เออ…อันนี้ใช่ อันนั้นไม่ใช่ เซนส์น่ะ

หอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา
หอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

ไทยพับลิก้า : ถ้าให้ครูสอนจากเซนส์ อะไรจะเป็นมาตรวัดกลางที่ชี้ว่าการออกเสียงแบบไหนถูกหรือผิด

คือ…ถ้าพูดถึงการสอน ครูไม่ว่าจะเป็นเจ้าของภาษา หรือไม่ใช่เจ้าของภาษา ต้องสอนตามตัวหนังสือที่มีในบทเรียน เพื่อเด็กจะสอบผ่านได้ พวกเราที่เป็นฝรั่งสอนเมืองไทยก็เคยบ่นกันว่าเด็กพูดยังไม่เป็น เพราะไม่มีใครแสดงให้เห็นว่ามีโอกาสพูดฟรีๆ สอนเพื่อจะให้สอบให้ผ่านมากกว่า และถ้าเป็นครูคนไทย พูดไทยเก่ง แต่อังกฤษยังอ่อน ก็เลยไม่ค่อยชวนสนทนาในห้องเรียนเท่าไร ก็เลยให้อ่าน-เขียน โอเค…ผ่าน ก็เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : ถ้าอยากให้ภาษาดี ควรเน้นที่การอ่าน-เขียนก่อน หรือฟัง-พูดก่อน

ถ้าเอาตัวอย่างของแลรี่ เขาสอนให้เราพูดก่อน เพราะเดิมเราจะเป็นพัฒนากร ออกไปสู่ชนบท ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนประจำ ต้องไปสื่อสารกับชาวบ้าน ก็เลยเน้นพูดก่อน แล้วค่อยอ่าน

ไทยพับลิก้า :ถ้าให้วิจารณ์ตรงๆ คิดว่าระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยกลับด้านหรือไม่ เพราะมาเน้นการอ่าน-เขียน

ก็แล้วแต่ว่าเราจะใช้ภาษาเพื่ออะไร ถ้าเราจะใช้ในวงวิชาการก็เป็นอย่างหนึ่ง ใช้ในวงธุรกิจก็อีกอย่าง ถ้าเราแค่จะเป็นคนแสวงหาประโยชน์ เช่น พ่อค้าตามฟูดคอร์ท เขาอาจใช้ภาษาเพื่อคุยกับลูกค้าเท่านั้น เขียนป้ายด้วยคำสั้นๆ มันไม่ต้องอะไรมากไง

ไทยพับลิก้า : ที่อเมริกา หน่วยงานไหนเป็นผู้กำหนดเรื่องการถอดคำ ถอดเสียงคำศัพท์จากภาษาต่างประเทศ

เราจะมีโรมาไนซ์ เทเบิล (Romanization Table: ตารางกฎการถอดคำจากภาษาต่างประเทศให้เป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง) ซึ่งตารางนี้มันอยู่ในนาม “เอแอลเอ-แอลซี (ALA-LC: American Library Association หรือบรรณารักษ์แห่งอเมริกา และ Library of Congress หรือหอสมุดประจำรัฐสภา) อยู่ในนามของทั้ง 2 สถาบัน เขาจะปรึกษาหารือกับใครก็ได้ แล้วแต่ ซึ่งแอลซีจะเทียบเท่าได้กับกับหอสมุดแห่งชาติ แต่เราไม่ได้เรียกอย่างนั้น เพราะตามชื่อคือหอสมุดประจำรัฐสภา

ส่วนเอแอลเอก็เป็นวงของพวกบรรณารักษ์ ที่อเมริกาไม่มีราชบัณฑิตยสถานโดยตรง ศัพท์ของภูมิศาสตร์ก็มีต่างหาก ศัพท์เฉพาะก็มีต่างหาก แต่แอลซีจะมี quality field กำหนด เช่น “ไบเบิล” ถ้าแปลเป็นภาษาไทยจะใช้คำว่า “พระคัมภีร์” แต่เวลาเขียนหนังสือก็ให้เขียนทับศัพท์ “ไบเบิล” หรือเวลาเราอยู่เมืองไทย ใครๆ จะพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” ใช้คำภาษาอังกฤษว่า “sufficiency economy” เราเข้าใจชัดเจน แต่แอลซียังไม่ได้กำหนด ก็ต้องเสนอไปว่าให้ใช้คำนี้ในกรณีพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงได้ไหม ซึ่งคนเสนอจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของภาษา แต่ต้องมีหลักฐาน

ทีนี้ ในส่วนของการโรมาไนซ์ ภาษาไทยก็มีกฎมากถึง 43 ข้อ ถ้าเราจะพูดถึงตารางโรมาไนซ์จะไม่มีการปรับตัวเฉพาะ สิ่งที่ปรับคือการแยกคำ นี่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะมันจะเดี๋ยวติดกัน เดี๋ยวแยกกัน สิ่งที่อาจจะพูดถึง ย้อนไปถึงอดีต คือ ไทย ลาว เขมร ในสมัยก่อนตารางโรมาไนซ์จะใช้ตัว “คิว (Q)” แทนตัว “อ. อ่าง” เพราะเขานึกไม่ออกว่าจะใช้ตัวไหนเป็น “อ. อ่าง” ทำให้คนสับสน เพราะคิวไม่มีความหมาย อ่านออกก็ไม่เป็น เช่น คำว่า “อาจารย์” แต่ก่อนใช้ “QA” แทน “อา” เราเลยบอกให้เขาตัด เพราะมันไม่เมคเซนส์ นี่เขาก็เลยปรับเป็น “achan” พอไทยปรับ ลาวปรับ ล่าสุดเขมรก็เพิ่งปรับปีก่อน เพราะพี่น้องกัน ในที่สุดแอลซีก็ต้องยอม เพราะมันไม่เมคเซนส์ ในที่สุดก็ปรับภาษาเขมรได้แล้ว

ไทยพับลิก้า : ในแต่ละครั้งเวลามีคนลุกขึ้นมาเสนอให้ปรับปรุงคำศัพท์ต่างๆ มีแรงต้านของคนที่เคยบัญญัติศัพท์ไว้ก่อนหน้านั้นบ้างหรือไม่

ก็…ตอนนั้นไม่เหมือนสมัยนี้ เขาต้องปรึกษากับเจ้าของภาษาส่วนหนึ่ง และคนที่ใช้ในการงาน เช่น แลรี่เป็นบรรณารักษ์ แต่ในที่สุดขึ้นอยู่กับแอลซีว่าเขาจะโอเคไหม เราเสนอให้เขาแก้นั่นแก้นี่ เปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ ถ้าเขาไม่ขัดข้อง เขาจะยอมเปลี่ยน ไม่ถึงกับต้องมานั่งประชุม มาเปิดโหวต แค่เขียนอีเมล์ไปบอกว่าเราเห็นด้วย เราไม่เห็นด้วย เราขอแก้ เช่น “คนไทย” ตอนแรกแอลซีให้เขียนติดกันว่า “KhonThai” แต่ถ้า “คนจีน” และ “คนอเมริกัน” ไม่ติดกัน อย่างคำว่า “ประเทศไทย” ก็แยก “ประเทศ” คำหนึ่ง “ไทย” คำหนึ่ง ถ้าอย่างนั้นทำไม “คนไทย” ในทำนองเดียวกันถึงไม่แยกแต่ต้น มันไม่เมคเซนส์ มันจึงเมคเซนส์อย่างเดียวเวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเราบอกว่า “ไทย พีเพิล (Thai people)” พีเพิลกับไทยต้องแยกกัน ในที่สุดแอลซีก็ยอมเขียน “Khon Thai” แต่กว่าเขาจะยอมเปลี่ยนในตารางก็นาน จริงๆ เขาเริ่มเปลี่ยนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ยอมประกาศว่าโอเคแล้วนะ เขารอให้เราเสนออีกทีว่าควรจะแก้ เพราะเราเสนอเรื่องนี้มานานแล้ว

ไทยพับลิก้า : บางครั้งคนเราก็อยากถอย แต่อาจต้องหาใครช่วยกันรักษาหน้าตานิดหนึ่ง

ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาด้วย ในที่สุดเขาก็โอเค แต่กว่าจะโอเคก็ใช้เวลาหลายปี

ไทยพับลิก้า : คิดว่าภาษาสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ตามแต่ยุคสมัย

ก็มันไม่ใช่ที่จะกำหนดอย่างนี้อย่างนั้นตลอดไป ไม่ใช่ (เสียงสูง) ไม่ใช่แน่นอน ภาษาไม่ใช่ science (วิทยาศาสตร์) นะ ยิ่งพจนานุกรมที่ไหนเขาก็ปรับปรุงเรื่อยๆ สิ่งที่อาจจะไม่ทำคือคำที่ไม่นิยมใช้ เหมือนกับทิ้ง แต่จริงๆ ไม่ใช่การทิ้ง เพียงแต่เขาไม่นิยมใช้เท่านั้น อเมริกาก็ปรับปรุงพจนานุกรม (dictionary) บ่อย เพราะมีหลายเจ้า อย่างเจ้าหลัก เว็บสเตอร์ (Webster) ก็อันหนึ่ง ไม่ทราบเขาจะปรับมากน้อยแค่ไหน สมัยนี้ปรับไปเรื่อยๆ ก็ได้

“แลรี่ แอชมัน” บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

ไทยพับลิก้า : ปรับแต่ละทีมีเสียงบ่นก่นด่าจากคนอเมริกันบ้างหรือไม่

ก็ไม่ เพียงแต่คนจะตามทันหรือไม่เท่านั้น อันนี้ไม่เหมือนกับไทย เพราะพจนานุกรมที่ไทยใช้กำหนดโดยราชบัณฑิตยสถาน แต่ของอเมริกาไม่มี ขึ้นอยู่กับบริษัท รัฐบาลอาจมีส่วนหนึ่งที่ดูแลเรื่องภาษา แต่เขาไม่ได้กำหนด ไม่มีราชบัณฑิตยสถานโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้อาจต้องย้อนดูประวัติศาสตร์ของอเมริกาที่พยายามเป็นตัวของตัวเอง ไม่ตามรอยอังกฤษ แล้วปล่อยให้รัฐแต่ละรัฐดูแลกันเอง รัฐแต่ละรัฐมีอิทธิพล บางทีกฎหมายแต่ละรัฐก็ไม่เหมือนกัน

ไทยพับลิก้า : มองปรากฏการณ์ในไทยที่ราชบัณฑิตถูกวิจารณ์อย่างไร หลังเสนอให้ปรับการเขียนคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ

เราเป็นฝรั่ง ไม่ใช่คนไทย ก็เลยแล้วแต่ เจ้าของภาษาจะปรับจะเปลี่ยนก็มีสิทธิ แต่ถ้าภาษาอังกฤษ ใครเป็นเจ้าของ บางคำ อังกฤษก็สะกดแบบหนึ่ง อเมริกาสะกดอีกแบบ เป็นอันว่าเจ้าของภาษามีสิทธิจะปรับปรุงได้ เพียงแต่จะเอาแนวไหน อิทธิพลของภาษาอื่นมันจะมากน้อยแค่ไหน บางคนก็เถียงกันว่าไทยยืมคำมาใช้มากเกินไปไหม ทำไมไม่กำหนดเอง เพื่ออะไร ก็แล้วแต่ ถ้าเป็นศัพท์วิทยาศาสตร์มันกำหนดเองได้ไหม ก็อาจจะได้ แต่ยืมมาจะง่ายกว่า แต่พูดง่ายๆ คนที่ใช้ภาษาไทยจำนวนน้อยกว่าคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ

ที่จริงผมเห็นด้วยกับคนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษานะ ที่คนออกเสียงภาษาอังกฤษไม่ถูก เพราะตัวสะกดไม่ช่วยให้เขาออกเสียงถูก เช่น “เอ (A)” จะเป็นเอ หรืออา หรือแอ อย่างบางครั้งที่นักภาษาศาสตร์พยายามกำหนดอันนั้นอันนี้ให้สวยๆ ก็โอเคนะ แต่ว่าพูดได้ไหม (ลากเสียงยาวพลางหัวเราะ) ขอพูดหน่อย ขอเราพูดหน่อย เราเคยเจอหลายครั้ง ยิ่งตอนไปเมืองไทยใหม่ๆ อ้าว! คำยืมจากภาษาอังกฤษ แต่ฝรั่งอ่านแล้วงง เพราะดูการสะกดแล้วไม่ค่อยใจ

สิ่งที่ราชบัณฑิตยสถานต้องพยายามคือให้มันสอดคล้องกับที่คนไทยจะอ่านได้ เพราะฝรั่งจะอ่านหรือ มันไม่ใช่ ต้องเป็นคนไทยอ่านทั้งนั้น ฝรั่งไม่ควรเป็นคนกำหนด อย่าพยายามนึกถึงฝรั่ง ควรนึกถึงคนไทยเอง ให้เป็นประโยชน์แก่คนไทย นึกถึงฝรั่งแค่ว่า โอเค…มันไม่มีศัพท์จะใช้ ก็ยืมมาใช้ แต่การออกเสียงควรขึ้นอยู่กับว่าคนไทยจะอ่านสะดวกไหม

อเมริกันชนเล่านาที “กลัว” และ “อาย” นิยาม “ภาษา” แบบ “แลรี่”

“แลรี่ แอชมัน” บรรณารักษ์ประจำหอสมุดเมมโมเรียล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา

แม้อยู่ในชาติมหาอำนาจที่มี “ภาษา” เป็น “สื่อสากลของโลก”

เกิดและเติบโตกลางชุมชนที่ผู้คนพูดภาษาอังกฤษล้วน ไร้เงาชนชาติอื่น

แต่ใครเลยจะคาดคิดว่า “แลรี่ แอชมัน” ผู้เป็นทั้งบรรณารักษ์มา 10 ปี และเคยผ่านงานอาจารย์สอนภาษาอีก 10 ปี จะเคยเป็นใบ้กลางอเมริกา!

“ตอนเด็กไม่มีใครแนะนำให้เรียนภาษา เพราะผมเป็นลูกคนโต ไม่มีใครแนะนำ และสมัยนั้นมันไม่จำเป็น ผมอยู่ในชุมชนที่ใครๆ ก็พูดภาษาอังกฤษ ไม่มีสแปนิช ไม่มีเอเชียน จนอายุ 13-14 ปี ก็ลองไปเข้าเรียนภาษาฝรั่งเศส รู้สึกว่าฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย ก็กลัว พอเข้าไฮสคูล (ชั้นมัธยมปลาย) แล้วต้องเรียนภาษาอะไรสักอย่าง ก็เลยเลือกเรียนละติน คนที่กลัวภาษาจะเลือกละติน เพราะมันไม่ต้องพูด ไม่ยุ่งยากว่าต้องไปสนทนากับใคร แค่อ่าน เขียน แล้วก็ได้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ พอจะเข้าวิทยาลัย การสอบภาษาละตินมาตรฐาน เขาว่ายูก็โอเคแล้ว ไม่ต้องเรียนภาษา ผมก็ไชโย ไม่ต้องเรียนภาษาๆๆ”

ทว่า ด้วย “ภาษา” คือเครื่องมือ “สื่อความ” ของทุกชนชาติ เมื่อ “แลรี่” ต้องย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยในอีกทวีป ไปใช้ชีวิตที่ฟินแลนด์ ดินแดนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน

“พอไปถึงยุโรป อายมากทีเดียว เพราะใครๆ ก็พูด 2-3 ภาษา ชัดเจนเลย คนธรรมด๊า… ธรรมดา คนเดินถนนก็พูดได้ 2-3 ภาษา แล้วเราพูดอะไร อังกฤษอย่างเดียว แล้วยิ่งเป็นภาษาอังกฤษอเมริกา ไม่ใช่อังกฤษแบบอังกฤษ เขาฟังเขาก็รู้ทันทีเลย พอขึ้นเทอม 2 ผมเลยขออยู่ยุโรปต่อ ไปทำงานอาสาสมัครช่วยเด็กพิเศษที่เยอรมัน แล้วพอกลับมาปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยก็ลงเรียนภาษาเยอรมัน แล้วก็สมัครพิชออน (pitch on) เลือกภาษาไทย พอเขาส่งตัวอย่างให้ดูก็ อ้าว! นี่มันอะไรกัน เขาให้เรียนวันละ 4 ชั่วโมง โอเค ตอนอยู่ในห้อง พูดภาษาไทย พอออกมา พูดภาษาอังกฤษ บรรยากาศมันไม่อำนวย”

หลังผ่านความรู้สึก “กลัว” และ “อาย” หนุ่มมะกันต้องใช้ชีวิตต่างถิ่นในอีกครั้งในประเทศไทย ทุกประสบการณ์-ทุกความรู้ในห้องเรียนภาษา จึงถูกนำมาทดลองใช้ในชีวิตจริง

การออกไปทำงานแต่ละวันของ “พัฒนากรชุมชนในจังหวัดนครพนม” รายนี้ จึงเป็นการเรียนรู้-ฝึกฝนภาษาเพิ่มเติม

“ตอนแรกผมเน้นพูด แต่พออยู่ๆ ไปสักพัก ก็มาเน้นที่การอ่านด้วย พอนั่งอยู่ในร้านข้าวคนเดียว เห็นอะไรก็เลยหยิบมาอ่าน ในที่สุดก็มาเข้ากัน พอเราอ่านคำหนึ่ง ก็นึกว่าได้ว่า อ้าว! เราเคยฟัง เราเคยพูด ก็ค่อยๆ ได้ภาษาเขามา นอกจากนี้ก็พยายามเรียนภาษาอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า ม้ง อย่างละนิดหนึ่ง”

แต่ภาษาของ “แลรี่” มาลื่นไหลก็หลังได้ “แม่หญิงเชียงใหม่” เป็นศรีภริยา ปัจจุบันมีบุตรสาวร่วมกัน 1 คน ซึ่งพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสเปนอีกหนึ่งภาษา

“บางทีคนอเมริกันหลายคนก็ถือตัว คิดว่าภาษาอังกฤษก็พอแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ที่อเมริกา คนพูดภาษาสเปนกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่วิสคอนซิน ถ้าเป็นทางการ ออกประกาศเทศบาล ก็จะมีภาษาอังกฤษ สเปน และม้ง เพราะมีม้งมาอยู่แยะ”

“ภาษาคือสิ่งสำคัญ และควรจะพยายามเอาภาษามากกว่าภาษาหนึ่ง นอกจากภาษากำเนิด ควรจะกว้างกว่านั้น เพราะโลกเราเดี๋ยวนี้ใช้หลายภาษา”

คือ “นิยาม” ความหมายของคำว่า “ภาษา” ในแบบฉบับ “แลรี่ แอชมัน”!!!

สัมภาษณ์โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ [email protected]