ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเป็นเยาวชนของวรรณกรรมเยาวชน

ความเป็นเยาวชนของวรรณกรรมเยาวชน

12 ตุลาคม 2012


โตมร ศุขปรีชา

คุณเคยสงสัยเหมือนผมไหม, ว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เยาวชน’ นั้น แท้จริงคือใคร

ถ้าดู ‘นิยาม’ ของคำว่า ‘เยาวชน’ เราจะพบว่าคำคำนี้มีนิยามที่หลากหลายความหมายมาก ตัวอย่างเช่น ถ้าดูตามพจนานุกรม เยาวชนจะหมายถึง ‘วัยรุ่น’ ที่มีอายุ 14-18 ปี (จริงๆคือเกิน 14 ปี แต่ไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์) ทว่าถ้าดูตามความหมายของสหประชาชาติ จะพบว่าเยาวชนหมายถึงคนในวัย ‘หนุ่มสาว’ หมายถึงคนที่มีอายุ 15-25 ปี แต่ถ้าคุณจะไปร่วมโครงการ ‘เรือเยาวชน’ คุณจะพบว่าคนที่ได้ขึ้นเรือเยาวชน จะต้องมีข้อกำหนดเรื่องอายุอยู่ด้วย นั่นคือต้องมีอายุระหว่าง 18-30 ปี

นั่นแปลว่านิยามของคำว่า ‘เยาวชน’ นั้น เอาเข้าจริงยังมีนิยามที่หลากหลายเอามากๆ แต่ถ้าเรายึดความหมายตามคำพูดของโรเบิร์ต เคนเนดี้ เราจะพบว่าโดยเนื้อแท้แล้ว คำว่า ‘เยาวชน’ นั้น-ไม่ค่อยเกี่ยวกับอายุสักเท่าไหร่

เขาเคยบอกว่า

“โลกนี้ต้องการคุณสมบัติของเยาวชน ไม่ใช่ช่วงเวลาของชีวิต แต่คือสภาวะทางจิต นั่นคือมีเจตจำนงอันร้อนแรง มีคุณภาพแห่งจินตนาการ มีความกล้าหาญมากกว่าระย่อ กระหายการผจญภัยแทนที่จะมีชีวิตอยู่อย่างสบายๆ”

ผมมีโอกาสเป็นกรรมการรางวัลวรรณกรรมเยาวชนอยู่บ้าง และทุกครั้งที่ต้องนั่งลงอ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘วรรณกรรมเยาวชน’ โดยเฉพาะในสาขาสารคดีตามที่ได้รับมอบหมาย ผมมักต้อง ‘จินตนาการ’ ภาพของผู้อ่าน ว่าเขาหรือเธอคือใคร อยู่ในวัยไหน มีหน้าตาอย่างไร และปรารถนาจะอ่านอะไร

ผมชอบคิดถึงเดวิด โบห์ม ตรงที่เขาบอกว่า มนุษย์เรามักมีแนวโน้มจะคิดเชิงกลไก อะไรที่เป็นกลไกนั้น เรามักเห็นว่ามันคือ ‘แบบแผน’ ที่สมบูรณ์แบบ แต่ที่จริงแล้ว ความสมบูรณ์แบบของกลไกนั้นมีข้อจำกัด มันสมบูรณ์แบบได้เฉพาะใน ‘จักรวาลของกฎเกณฑ์’ ของมันเท่านั้น เลยพ้นไปจากจักรวาลนั้นแล้ว กลไกไม่อาจทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือนำมารับใช้กรอบที่ใหญ่กว่าจักรวาลของมันได้อีก

โบห์มยกตัวอย่างความคิดเชิงกลไกที่เขาเรียกว่าเป็น ‘ระเบียบเชิงกลไก’ ให้ฟังว่า มันมีที่ทางที่เหมาะสมของมันอยู่ อาทิเช่น เราต้องขับรถบนถนนด้านเดียวกัน นั่นเป็นเรื่องจำเป็น แต่ไม่ได้แปลว่านั่นจะเป็นกฎเกณฑ์ที่นำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆได้ทั้งหมด ถ้าเรา ‘ขยาย’ ระเบียบนี้ไปเกินกว่าขอบข่ายที่เหมาะสม มันก็จะทำงานไม่ได้

เขาบอกว่า พ่อแม่มักชอบใช้ระเบียบเชิงกลไกพวกนี้ไป ‘กำกับ’ ลูก อาทิเช่น มักจะบอกลูกว่าเขาควรเป็นคน ‘แบบไหน’ เช่นบอกว่า “เด็กๆต้องเป็น ‘คนดี’ นะ” นั่นแปลว่าพ่อแม่มี ‘ระเบียบเชิงกลไก’ บางอย่างอยู่ในมโนสำนึกอยู่แล้ว และพยายามปลูกฝังหรือ ‘ยัดเยียด’ กลไกนี้เข้าไปในตัวลูก เป็นการบอกว่าลูกควรจะ ‘คิดอะไร’ และแม้แต่ ‘รู้สึกอะไร’ แต่จิตใจไม่ใช่กลไก หลายครั้งวิธีการแบบนี้จึงสร้างผลในแง่ลบขึ้น เช่นทำให้เด็กต่อต้าน หรือแม้แต่เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อพ่อแม่

ผมคิดว่าการเป็น ‘กรรมการ’ รางวัลเกี่ยวกับเยาวชนก็เป็นคล้ายๆกับที่โบห์มเตือนมา เมื่อได้รับ ‘สิทธิอำนาจ’ ในการ ‘ตัดสิน’ (ซึ่งก็คือการ ‘พิพากษา’) แล้ว เรามักทึกทักเอาว่าเราสามารถตัดสินได้โดยมีอำนาจเด็ดขาด แต่บ่อยครั้งผมพบว่าตัวเองกลับใช้ ‘ระเบียบเชิงกลไก’ ในการตัดสิน ซึ่งแน่นอน ระเบียบเชิงกลไกหลายอย่างใช้ได้ผล อาทิเช่น เมื่อดูลีลาหรือรูปแบบการเขียนซึ่งต้องมี ‘ขนบ’ บางอย่างอยู่ แต่หลายครั้งผมก็ตั้งคำถามกับระเบียบเชิงกลไกของตัวเองเหมือนกัน โดยเฉพาะระเบียบเชิงกลไกที่เกี่ยวข้องกับ ‘ช่วงอายุ’ ของคำว่า ‘เยาวชน’ อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น

ระเบียบเชิงกลไกที่ว่านี้ ไม่ได้ส่งออกมาจากตัวกรรมการเพื่อตัดสินชิ้นงานเท่านั้น แต่มันยังแผ่พลุ่งออกมาจากสังคม แล้วส่งเส้นใยบางๆที่มองไม่เห็นออกมาล้อมกรอบตัวกรรมการอีกด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กรรมการเองก็ถูก ‘กำกับ’ โดยระเบียบเชิงกลไกที่มาจากสังคมด้วยเช่นเดียวกัน และเมื่อถูกกำกับแล้ว ก็มีโอกาสมากทีเดียวที่จะส่งผ่านวิธีกำกับนั้นไปยังการตัดสินพิพากษาในชิ้นงานอีกทีหนึ่ง

สมัยก่อน คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้ใหญ่มักจะคิดว่า ‘เยาวชน’ คือกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ถ้าจำกันได้ หลายคนบอกว่าพวกเขาคือ ‘วัยรุ่น’ ที่เป็น ‘เด็กฮาร์ด’ ซึ่งถ้ามองในแง่ประชากรแล้ว ต้องยอมรับว่าผู้ใหญ่สมัยก่อนมีช่วงอายุขัยเฉลี่ยน้อยกว่าสมัยนี้ นั่นทำให้ปริมาณของผู้ใหญ่มีน้อย แต่เด็กๆเกิดมาก โดยเฉพาะคนรุ่นเอ็กซ์ที่เป็นลูกของรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ดังนั้นคนรุ่นนี้จึงเป็นเหมือน ‘คลื่น’ ขนาดใหญ่ ที่คนสูงวัยกว่าจับตามองด้วยความกังวล ในเวลาเดียวกัน แม้ความอาวุโสจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เพราะ ‘ปริมาณ’ ของผู้อาวุโสน้อยกว่าเยาวชน สมดุลของ ‘อำนาจระหว่างวัย’ (หรือจะเรียกว่าการเมืองเรื่องวัย) ที่เกิดขึ้นจึงมีรูปแบบอย่างหนึ่ง

แต่ในปัจจุบัน สมดุลอำนาจนี้ไม่เหมือนเดิม เพราะ ‘ผู้ใหญ่’ กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยผู้ใหญ่ที่ว่า ก็คือคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์และคนรุ่นเอ็กซ์ ที่กำลังจับตาดูคนรุ่นวายและมิลเลนเนียม ที่มีอัตราการเติบโตลดลง เพราะฉะนั้นสมดุลอำนาจในการเมืองเรื่องวัยจึงเปลี่ยนไปด้วย สมัยก่อนเราบูชาผู้ใหญ่ว่าเป็นผู้รู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า ผ่านโลกมามากกว่า แต่ในปัจจุบัน นอกจากผู้ใหญ่จะอยากเป็นเด็ก พยายามเหนี่ยวรั้งวันวัยและใบหน้าด้วยกรรมวิธีต่างๆแล้ว ก็ยังเริ่มหันมา ‘นับถือ’ เด็กด้วย โดยเฉพาะในแง่ผู้นำแนวโน้มต่างๆของสังคม เพราะเด็กคือผู้ ‘เข้าถึง’ และเป็น ‘ผู้สร้าง’ ข้อมูลข่าวสารผ่านโลกอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคม สร้างความต้องการ ตอบสนองความต้องการ และส่งต่อข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องสนใจ ‘ประสบการณ์’ แบบเก่าๆในโลกใบเก่าที่ผู้ใหญ่ต้องค่อยๆสั่งสม ยกตัวอย่างง่ายๆเช่นว่า อินเตอร์แอ็คทีฟหรืออินโฟกราฟิกสักเรื่องหนึ่งอาจให้ข้อมูลด้านภาพและเสียงได้มากเท่ากับการปะติดปะต่อข้อมูลจากการอ่านหนังสือหลายๆเล่มก็ได้ สมดุลอำนาจระหว่างโลกของ ‘เยาวชน’ กับโลกของ ‘ผู้ใหญ่’ จึงกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงแบบสวนทางกลับข้าง

เมื่อเป็นอย่างนี้ คำถามต่อการตัดสิน ‘วรรณกรรมเยาวชน’ จึงเป็นคำถามสำคัญ เพราะเราไม่อาจใช้ ‘ระเบียบเชิงกลไก’ แบบเดิมๆที่ใช้กันมาต่อเนื่องเป็นสิบๆปี เพื่อนำมา ‘จินตนาการ’ ภาพของผู้อ่านว่าจะอยากอ่านอะไรแล้วก็ตัดสินไปตามระเบียบเชิงกลไกเดิมๆได้อีกแล้ว แต่เป็นตัว ‘จินตนาการ’ ของกรรมการเองต่างหากที่ต้องยิ่งกว้างไกลและร้อนแรงมากขึ้นกว่าผู้สร้างและเสพงานนั้นๆ

สมัยก่อน งานอย่าง The Catcher in the Rye ของเจ.ดี. ซาลิงเจอร์ ย่อมไม่อาจถูกจัดให้เป็น ‘วรรณกรรมเยาวชน’ ไปได้ เพราะเนื้อหาที่ล่อแหลม ภาษาที่ท้าทาย และเผลอๆหลายคนก็คิดว่าจะทำให้เด็กอยากหนีออกจากบ้าน โดยเฉพาะในช่วงที่ชีวิตปั่นป่วนเหลือแสนอย่างในช่วงวัยรุ่น

ที่จริงแล้ว คำว่า ‘วรรณกรรมเยาวชน’ นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1802 เมื่อซาราห์ ทริมเมอร์ นักเขียนและนักวิจารณ์วรรณกรรมสำหรับเด็กชาวอังกฤษ ได้พูดถึง Young Adulthood ขึ้นโดยให้นิยามว่าเป็นคนที่อยู่ในช่วงอายุ 14-21 ปี ซึ่งคนในช่วงวัยนี้ต้องการหนังสือของตัวเองแยกออกมาจากหนังสือสำหรับเด็ก (Books for Children) และหนังสือของผู้ใหญ่ นั่นทำให้เกิดลักษณะของ ‘วรรณกรรมเยาวชน’ ขึ้นมา

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วเกณฑ์ในการวัดว่าอะไรเป็นวรรณกรรมเยาวชนหรือไม่ใช่นั้นคืออะไรกันเล่า เรื่องนี้ต้องถกเถียงกันไปไม่สิ้นสุด อาทิเช่น เป็นเรื่องที่ใช้เกณฑ์ทางศีลธรรมอันดีงามมาวัดขนาดไหน หรือเนื้อหาต้องเกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมากขนาดไหนหรือไม่ งานอย่าง The Jungle Book หรือเมาคลีลูกหมาป่า ที่เคยเป็นงานวรรณกรรมเยาวชนชั้นดีในยุคอาณานิคมน้น เมื่อมาถึงยุค ‘หลังอาณานิคม’ แล้ว ยังเหมาะสมที่จะเป็นวรรณกรรมเยาวชนอยู่อีกหรือไม่ รวมไปถึงการตั้งคำถามว่า แล้วงานอย่าง The Catcher in the Rye นั้น จริงๆแล้วเป็น ‘วรรณกรรมเยาวชน’ บ้างไม่ได้หรือ เพราะเนื้อหาของมันพูดถึงความปั่นป่วนในจิตใจเยาวชนโดยแท้

ต้องยอมรับว่า เกณฑ์การตัดสินในเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามยุคสมัยไม่มีอะไรตายตัว เพราะไม่ว่าเราจะพยายามใช้ ‘ระเบียบเชิงกลไก’ กับมันแค่ไหน แต่ที่สุดแล้วยุคสมัยก็จะค่อยๆล้อมกรอบและพาตัวกฎเกณฑ์ให้เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยได้เอง ดังนั้น ผมจึงอยากลองมองงานประเภท ‘สารคดีสำหรับเยาวชน’ จากมุมมองของผู้อ่านที่เป็นเยาวชนดูบ้าง ด้วยการเข้าไปดูงานประเภท Nonfiction อันน่าจะเข้าแก๊ปกับคำว่าสารคดีในเว็บ goodreads.com เพื่อดูว่างานที่เป็น Popular Young Adult Nonfiction Books หรือได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่านที่เป็นเยาวชนนั้นมีเรื่องอะไรบ้าง

เห็นแล้วก็ต้องทึ่งครับ เพราะมันไมได้มีแต่งานสำหรับเยาวชนอย่างที่กฎเกณฑ์ทั้งหลายคิด แต่เยาวชนนั้น ‘อ่าน’ อะไรๆกว้างไกลกว่านั้นมาก บางเล่มเป็นหนังสือยอดนิยมตลอดกาลอย่างบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ แต่บางเล่มเป็นเรื่องที่ ‘ลึก’ และ ‘หนัก’ จนไม่น่าเชื่อว่า ‘เยาวชน’ จะอ่าน อาทิเช่น Murder, Moonshine, and the Lawless Years of Prohibition ของ Karen Blumenthal ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ยุคที่อเมริกาห้ามขายและดื่มเหล้า หรือ Sugar Changed the World : A Story of Magic, Spice, Slavery, Freedom, and Science โดย Marc Aronson อันเป็นประวัติศาสตร์น้ำตาล หรือ The Notorious Benedict Arnold: A True Story of Adventure, Heroism & Treachery โดย Steve Sheinkin และเรื่องของจักรยานกับผู้หญิงอย่าง Wheels of Change : How Women Rode the Bicycle to Freedom (With a Few Flat Tires Along the Way) โดย Sue Macy เป็นต้น

จะเห็นว่า ‘ขอบข่าย’ ของการอ่านนั้นกว้างไกลยิ่งกว่าที่เราคิด และเมื่อนึกถึงตัวเองในวัยเด็ก จำได้ว่าตอนสี่ห้าขวบ ผมอ่านงานเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ป่าแล้วนอนร้องไห้เพราะแม่สิงโตถูกฆ่าตายอยู่ที่บ้าน และตอนประถมสามก็อ่านเพชรพระอุมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถ ‘ดูเบา’ สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘เยาวชน’ ได้ด้วยการยัดเยียด ‘ความเป็นเยาวชน’ ลงไปในคำว่า ‘วรรณกรรมเยาวชน’ เหมือนที่เราเคยคุ้นมาหลายสิบปีได้อีกต่อไป

มีแต่ต้องเปิดใจให้กว้างยิ่งกว่าที่เคยกว้างมาแล้วชั่วชีวิต