ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อแบงก์ชาติหักปากกาเซียน

เมื่อแบงก์ชาติหักปากกาเซียน

23 ตุลาคม 2012


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

อาทิตย์ที่ผ่านมา ปากกาเซียนหักกันไปตามๆ กัน เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 3% เหลือ 2.75% ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าการประชุม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่ารอบนี้ กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมรอบนี้ หลังการประกาศ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาวลดฮวบฮาบลงทั้งเส้น บอกให้รู้ว่านักลงทุนพันธบัตรประหลาดใจ (โดนหลอก?) กันอย่างจัง

แม้ว่าการลดดอกเบี้ยอาจจะไม่ได้ทำให้ตลาดประหลาดใจมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณย่ำแย่ขนาดนี้ ดอกเบี้ยคงไม่ขึ้นแน่ๆ แต่เวลาของการลดดอกเบี้ยรอบนี้น่าสนใจ เพราะเศรษฐกิจภายในและภายนอกไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากการประชุมคราวก่อนมากนัก

และปฏิบัติการหักปากกาเซียนคงไม่ได้น่าสนใจนัก หากก่อนหน้านี้ แบงก์ชาติไม่ได้ออกมาส่งสัญญาณเตือนแล้วเตือนอีกว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยในขณะนี้ เพราะเศรษฐกิจในประเทศยังคงขยายตัวได้ ผมเลยมีประเด็นมาขอให้ช่วยขบคิดกันสองเรื่องครับ

เรื่องแรก คือ การสื่อสารด้านนโยบายของธนาคารกลาง กับเรื่องที่สอง คือ ประสิทธิผลของการลดอัตราดอกเบี้ยในสถานการณ์ปัจจุบัน

มาว่ากันเรื่องแรกก่อนครับ ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการเงินเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่การควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อของภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายการเงิน การให้ข้อมูลที่โปร่งใสและการเปิดเผยแนวการคิดของธนาคารกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ทำให้ตลาดมีความผันผวนมากเกินไปจากการคาดเดา

ต่างจากภาพในอดีตที่การดำเนินนโยบายการเงินทำอย่างลับๆ ล่อๆ (เช่น ภายใต้นโยบายแบบเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน ที่บางประเทศบอกไม่ได้ว่ามีเงินสำรองอยู่เท่าไร อัตราแลกเปลี่ยนเป้าหมายคืออะไร เพราะกลัวโดนโจมตี)

หรือนักเศรษฐศาสตร์บางค่ายอาจจะชอบให้ธนาคารกลางพูดน้อยที่สุด คลุมเครือมากที่สุด และออกมา “surprise” ตลาดบ่อยๆ เพื่อการตัดสินใจของธนาคารกลางมี “impact” ต่อตลาดและระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าทำให้ทุกคนรู้หมดว่าจะทำอะไร จนการตัดสินใจของธนาคารกลางถูกคาดการณ์ไว้หมดแล้วจนไม่มีผลอะไรเลย

แต่เห็นได้ชัดว่า แบงก์ชาติเดินทางมาในทางแรกครับ ที่พยายามเพิ่มความโปร่งใสในการสื่อสารและการดำเนินนโยบาย มีการจัดแถลงข่าวเรื่องการตัดสินนโยบายของ กนง. มีการจัดทำรายงานภาวะเงินเฟ้อ มีการเปิดเผยผลการประชุมและคะแนนเสียงในการตัดสินใจนโยบายแต่ละครั้ง (ขาดก็แต่ว่าใครออกเสียงไปทางไหน แต่ก็พอเดาๆ กันได้ละครับ)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การสื่อสารเรื่องแนวนโยบายการเงินเป็นเรื่องของแบงก์ชาติ แต่การตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงินเป็นเรื่องของ กนง. ครับ และแนวนโยบายกับการตัดสินอาจจะขัดกันได้ ถ้าแบงก์ชาติไม่สามารถทำให้ กนง. เชื่อได้
ตามกฎหมาย กนง. ประกอบไปด้วยกรรมการทั้งหมดเจ็ดท่าน มีผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นประธาน และมีรองผู้ว่าฯ อีกสองท่านนั่งอยู่ และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีกสี่ท่าน โดยทั่วไปแบงก์ชาติพอจะสามารถกำหนดแนวทางการตัดสินใจของ กนง. ได้ เพราะถ้าเสียงฝั่งแบงก์ชาติเห็นตรงกัน เพียงแค่โน้มน้าวกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกแค่ท่านเดียว ก็จะสามารถได้เสียงส่วนใหญ่ของ กนง. แล้ว และฝ่ายเลขานุการของ กนง. ที่ทำหน้าที่ “ชงเรื่อง” ก็เป็นคนแบงก์ชาติ

ปกติแล้วแนวนโยบายที่สื่อสารโดยแบงก์ชาติจึงพอจะอนุมานได้ว่าเป็นแนวนโยบายที่ กนง. จะตัดสินใจด้วย
แต่รอบนี้ออกจะ “แปลก” อยู่สักหน่อย

ก่อนการประชุม กนง. รอบนี้ แบงก์ชาติส่งสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่า แม้ความเสี่ยงด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีสูงขึ้น จากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่อุปสงค์ภายในประเทศยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังออกมาเตือนว่าต้องจับตาดูหนี้สินภาคครัวเรือนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และอาจนำไปสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้ และมีการย้ำว่า การลดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดต่อตลาด

และท่านผู้ว่าฯ ก็พูดในสุนทรพจน์สองอาทิตย์ก่อนมีการประชุม กนง. ว่า “แบงก์ชาติคาดว่าปัจจัยต่างๆ จะช่วยให้เศรษฐกิจมีแรงส่งได้ต่อเนื่องในปีนี้ และคาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงินคาดไว้”

และ “สำหรับปีหน้าผมมองว่าแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง การดำเนินนโยบายจึงมีความยืดหยุ่นมากขึ้นทั้งในแง่จังหวะที่จะใช้และเครื่องมือต่างๆ เพื่อเตรียมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ กล่าวคือ นโยบายการเงินสามารถผ่อนปรนได้ในจังหวะที่เหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ หากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจทวีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น”

เป็นสัญญาณว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน แต่มีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ในปีหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น สามวันก่อนการประชุม มีข่าวพาดหัวในสำนักข่าว Bloomberg ว่า

“Thailand Doesn’t Need to Reduce Interest Rates, Prasarn Says” ในเนื้อข่าวมีการ quote ท่านผู้ว่าฯบอกว่า “We don’t see necessity at the moment to use monetary policy to restore confidence because the market is already quite confident,” Prasarn said. “Exports are coming down but domestic demand is still very strong to compensate.”

เข้าใจว่า ท่านผู้ว่าฯ คงไม่ได้ต้องการชี้นำตลาดในเรื่องการตัดสินใจของ กนง. และปกติแล้วท่านผู้ว่าจะระมัดระวังเรื่องการให้ข่าวเป็นอย่างมาก แต่คาดว่าครั้งนี้เป็นการตอบคำถามเรื่องการใช้นโยบายการเงินเพื่อรักษาความมั่นใจของตลาดการเงิน แต่พอพาดหัวข่าวออกมาอย่างนี้ ตลาดก็คงถูกชี้นำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ผมได้ยินมาว่า นักวิเคราะห์บางท่านเปลี่ยนคำทำนายหลังจากเห็นพาดหัวข่าวอันนี้)

จริงครับ อาจบอกได้ว่าการให้ความเห็นเหล่านี้ เป็นแนวความคิดของแบงก์ชาติหรือท่านผู้ว่าฯ เอง และไม่ได้บอกว่าเป็นสิ่งที่ กนง. จะต้องตัดสินใจตามนี้

และผลที่ออกมาคือ เสียงส่วนใหญ่ของ กนง. เห็นว่าควรลดดอกเบี้ย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงอ่อนแอ และน่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้ จึงควรผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก และรักษาแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศที่อาจจะอ่อนแรงลงในระยะถัดไป และน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงอยู่ ในขณะที่ กนง. เสียงส่วนน้อยเห็นว่า แรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่รอดูความชัดเจนได้อยู่

ที่น่าสนใจคือ หลายๆ ฝ่ายให้ความเห็นว่า แถลงข่าว กนง. รอบนี้ อาจดูไม่ค่อยน่าเชื่อตามนัก เพราะบอกว่า การส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก (แต่) เศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ และสินเชื่อภาคเอกชนยังขยายตัวในระดับสูง แต่สรุปให้ลดดอกเบี้ย (บางคนบอกว่า เปลี่ยนแค่ย่อหน้าสุดท้ายก็สรุปเป็นอีกแบบได้เลย)

ทำให้เกิดคำถามว่า การลดดอกเบี้ยในตอนที่สินเชื่อภาคเอกชนเติบโตในระดับสูง จะช่วยเศรษฐกิจได้อย่างไร การส่งผ่านนโยบายการเงินจะเกิดขึ้นอย่างไร และจะไม่ทำให้การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนที่โตเร็วอยู่แล้วยิ่งโตเร็วขึ้นจนคุมลำบากขึ้นหรือไม่ ถ้าอัตราดอกเบี้ยถูกปรับลดลง และแบงก์ชาติจะมีมาตรการอะไรมารับมือในกรณีที่ต้องการคุมการเจริญเติบโตของสินเชื่อ

จนนำไปสู่คำถามว่า ทำไมถึงต้องลดดอกเบี้ยในตอนนี้ มีแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่ หรือมีแรงกดดันจากเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ หรือการขาดทุนของแบงก์ชาติมีผลในการตัดสินใจหรือไม่ (ซึ่งแบงก์ชาติก็ได้ปฏิเสธแล้วว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีส่วนในการตัดสินใจครั้งนี้)

และที่น่าสนใจอีกอันคือ ทำไมผลการออกเสียงจึงออกมา 5-2 (ผมทิ้งไว้ให้คิดเล่นๆ แล้วกันครับ)

ปฏิบัติการหักปากกาเซียนรอบนี้ เป็นคำถามการบ้านให้แบงก์ชาติต้องกลับไปคิดว่า กลยุทธ์ในการสื่อสารแนวนโยบายที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไรในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเสี่ยง ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจจะไม่เชื่อและคล้อยตามตามแนวคิดและความเห็นของแบงก์ชาติเอง

การส่งสัญญาณที่สับสนและการหักปากกาเซียนบ่อยๆ อาจจะทำให้ความน่าเชื่อถือของแบงก์ชาติ และประสิทธิผลของการสื่อสารเรื่องนโยบายการเงินของแบงก์ชาติลดลงไป ต่อไปนักลงทุนและสาธารณชนอาจจะรอฟังความเห็นของกรรมการ กนง. คนที่เป็น swing vote มากกว่าการแถลงข่าวของแบงก์ชาติก็ได้

บทบาทและการให้ข่าวของกรรมการ กนง. แต่ละท่านควรจะเป็นอย่างไร ที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการสื่อสารที่มีประสิทธิผลของนโยบายการเงิน กับความเคารพในความเห็นส่วนบุคคลของกรรมการแต่ละท่าน

และประเด็นเรื่องการสื่อสารแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคต ควรทำอย่างไรเพื่อให้การดำเนินนโยบายการเงินเกิดประสิทธิผลสูงสุด

น่าคิดครับ แต่ให้ผมเดา ผมว่า รอบนี้ปากกาแบงก์ชาติก็หักไปพร้อมกับเซียนคนอื่นๆ เหมือนกันละครับ