ThaiPublica > เกาะกระแส > เอดีบีประเมินเศรษฐกิจเอเชียชะลอ เจอพิษหนี้ยุโรป-สหรัฐ หั่นจีดีพีไทยเหลือ 5.2%

เอดีบีประเมินเศรษฐกิจเอเชียชะลอ เจอพิษหนี้ยุโรป-สหรัฐ หั่นจีดีพีไทยเหลือ 5.2%

4 ตุลาคม 2012


เอดีบีประเมิน เศรษฐกิจเอเชียชะลอลงจากปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรปและสหรัฐ และปรับลดจีดีพีไทยเหลือ 5.2% แนะเอเชียพัฒนาภาคบริการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว พร้อมประเมินหนี้สาธารณะประเทศในเอเชียไม่น่าเป็นห่วง ติงโครงการจำนำข้าวทำไม่ครบวงจร ขาดการดูแลคุณภาพ

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) รายงานวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจเอเชีย ปี พ.ศ. 2555 ฉบับล่าสุด  เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ที่สำนักงานเอดีบี ประเทศไทย
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) รายงานวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจเอเชีย ปี พ.ศ. 2555 ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ที่สำนักงานเอดีบี ประเทศไทย อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

เศรษฐกิจโลกทรุดฉุดการเติบโตเอเชียชะลอ

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) แถลงรายงานวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มทางเศรษฐกิจเอเชีย ปี พ.ศ. 2555 ฉบับล่าสุด (Asian Development Outlook Update 2012) โดยระบุว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ระยะต่อไป ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกำลังเผชิญกับยุคของการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับปานกลางไปอีกระยะหนึ่งท่ามกลางการหดตัวของอุปสงค์โลก ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ยืดเยื้อ และปัญหาความเสี่ยงด้านการคลังของสหรัฐอเมริกาที่กำลังก่อตัวมากขึ้น อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อประเทศอื่นๆ ในโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เนื่องจากส่วนใหญ่พึ่งพาการส่งออก

ดร.ลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส เอดีบี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เอดีบีได้ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) เอเชียในปี 2555 จาก 6.9% เป็น 6.1% แต่คาดว่าปี 2556 เศรษฐกิจเอเชียจะปรับตัวดีขึ้น ขยายตัวได้ 6.7% จะเห็นว่ามีแนวโน้มชะลอลงจากปี 2554 ที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวสูงถึง 7.2% อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจเอเชียชะลอทำให้เงินเฟ้อชะลอลงด้วย โดยคาดว่าเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียปี 2555 จะขยายตัว 4.2%

การที่การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียชะลอลง สาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจของจีนและอินเดียชะลอ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป ที่มีปัญหา โดยทำให้การส่งออกอินเดีย 5 เดือนแรก หดตัว 6.7% จากช่วงเดียวกันปีของก่อนที่ขยายตัว 40% ส่วนการบริโภคของจีน 8 เดือนแรก ขยายตัว 14% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนที่ขยายตัว 17%

ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย
ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย ที่มา: เอดีบี

ทั้งนี้ ในปี 2555 เอดีบีประมาณการว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 7.7% และ 8.1% ในปี 2556 และเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 5.6% ในปี 2555 และ 6.4% ในปี 2556 โดยเอดีบีประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศพัฒนาชะลอลง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจอินเดียส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าปัจจัยภายนอกประเทศ

“อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะชะลอลง แต่เอดีบีเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมากมายอะไร” ดร.ลักษมณกล่าว

เอดีบีปรับลดจีดีพีไทยปีนี้โต 5.2%

สำหรับแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก ฟื้นตัวจากน้ำท่วมโดยขยายตัว 2.3% แต่ทั้งปี 2555 เอดีบีปรับลดประมาณการลงเหลือ 5.2% จาก 5.5% ที่ประมาณการไว้เดิมเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และ 5% ในปี 2556

ดร.ลักษมณระบุว่า สาเหตุการปรับลดจีดีพีของไทยส่วนใหญ่มาจากการส่งออกชะลอลงมาก โดยเอดีบีคาดว่า การส่งออกของไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้เพียง 5% เนื่องจากที่คุยกับผู้ประกอบการพบว่าช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่มีคำสั่งซื้อแล้ว เป็นผลจากอุปสงค์ในต่างประเทศอ่อนแอจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐ และยุโรป

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้และปีหน้า เอดีบีมองว่าอุปสงค์ในประเทศจะยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศไม่เข้มแข็ง ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกแล้ว ในแง่การดำเนินนโยบาย รัฐบาลก็คงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายๆ เรื่อง เช่น การดำเนินนโยบายจำนำข้าว ส่วนเรื่องของเงินเฟ้อปีนี้ เท่าที่ผ่านมาแรงกดดันลดลง แต่ประเมินว่านโยบายการเงินอยู่ที่ 3% คาดว่าจะอยู่ประมาณนี้ต่อไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่ถ้าจำเป็นก็มีช่องที่จะให้คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดลงได้

หนี้สาธารณะในเอเชียไม่น่าห่วง

สำหรับเครื่องมือด้านนโยบายการคลัง เอดีบีดูตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพีพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังไม่สูงเท่ากับประเทศพัฒนาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าประเทศต่างๆ ในเอเชียจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังสามารถดำเนินการได้

สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศในเอเชีย
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศในเอเชีย ที่มา: เอดีบี

กรณีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ดร.ลักษมณกล่าวว่า รัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งในปี 2556 รัฐบาลกำหนดงบประมาณขาดดุล 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 2.7% ของจีดีพี นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะกู้เงินตามพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้การขาดดุลอยู่ที่ประมาณ 4.8%

และรัฐบาลก็กำลังดำเนินการร่างพระราชบัญญัติเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการเป็นระยะเวลา 7 ปี ซึ่งคาดว่าการดำเนินการลงทุนจริงจะยังไม่เกิดในปี 2556 ถึงแม้รัฐบาลจะมีแผนกู้เงินจำนวนมากในระยะเวลาข้างหน้านี้ แต่จากการหารือของเอดีบีกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้นำตัวเลข สบน. ที่จะก่อหนี้ใน 3 ปี ซึ่งได้รวมภาระจากโครงการจำนำข้าวไว้แล้ว ก็มั่นใจว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะไม่เกิน 50% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

“ถ้านำสิ่งเหล่านั้นมาพิจารณาแล้วมองไปข้างหน้า คิดว่าในระยะปานกลางอีก 3 ปีข้างหน้า หนี้สาธารณะไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ 60% ต่อจีดีพี ทั้งนี้อยู่ในสมมติฐานจีดีพีขยายตัวปีละ 4% จะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้เพียงพอซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้ปรับลดภาษีนิติบุคคลแล้วด้วย” เศรษฐกรอาวุโส เอดีบี ประเทศไทย กล่าว

แนะปรับโครงการจำนำข้าว เน้นคุณภาพ

ดร.ลักษมณกล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลดำเนินการต่อในภาพใหญ่ว่า ทางเอดีบีเข้าใจว่าเป็นความหวังดีของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกร แต่อาจเป็นการดำเนินโครงการที่ไม่ครบวงจรเท่าไร คือขาหนึ่งอยากให้ข้าวราคาดี แต่อีกขาหนึ่ง เรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ที่เป็นเรื่องของการดูแลคุณภาพข้าว โดยเฉพาะไทยมีพันธุ์ข้าวคุณภาพดีๆ น่าจะไปเน้นตรงนั้นมากขึ้น คือเน้นการวิจัยและเพิ่มพันธุ์ข้าวคุณภาพสูง ตรงนี้จะทำให้ข้าวที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งที่ประเทศอื่นผลิตไม่ได้อย่างไทย มีราคาสูงขึ้น

ดร.ลักษมณ อรรถาพิช นักเศรษฐกรอาวุโส เอดีบี ประจำประเทศไทย
ดร.ลักษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส เอดีบี ประจำประเทศไทย

“คิดว่าเรื่องคุณภาพนี้หายไปจากภาพการดำเนินโครงการจำนำข้าว เพราะฉะนั้น นโยบายจำนำข้าวจึงถูกโจมตีมากมาย และเห็นด้วยถ้าจะปรับนโยบายจำนำข้าวให้เป็นการจำนำ คือ ราคาจำนำต่ำกว่าราคาของ หรือราคาตลาด และควรหาศึกษาหาวิธีเพิ่มราคาข้าวให้สูงขึ้น ซึ่งมีวิธีอื่นที่อาจดีกว่าการจำนำข้าว” ดร.ลักษมณกล่าว

ภาคบริการตัวช่วยเศรษฐกิจโตระยะยาว

ดร.ลักษมณระบุว่า ตอนนี้มองไปที่เศรษฐกิจโลกจะเห็นว่า อุปสงค์ภายนอกในประเทศพัฒนาแล้วไม่เข้มแข็ง และมองไปที่จีน อินเดีย เศรษฐกิจก็ชะลอลง สิ่งเหล่านี้กระทบการส่งออกของเอเชีย เพราะฉะนั้นเอดีบีจึงมองว่าตัวช่วยเศรษฐกิจช่วงต่อไปของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียน่าจะเป็นภาคบริการ

โดยในรายงานฉบับนี้ เอดีบีมีศึกษารายงานพิเศษเรื่องภาคบริการ ซึ่งพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีภาคบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นด้วย (ดูภาพประกอบ)

สัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการ
สัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการ ที่มา: เอดีบี

จากภาพข้างบนจะเห็นว่า ในปี 2009 จะมีการจ้างงานในภาคบริการมากกว่าปี 1990 สะท้อนว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้นในภาคบริการของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย

ดร.ลักษมณกล่าวว่า จากรายงานเอดีบีพบว่า ผลิตภาพในภาคบริการของเอเชียยังต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วค่อนข้างมาก ในเอเชียมีแค่สิงคโปร์ ฮ่องกง ไทเป จีน ที่มีผลผลิตภาพของภาคบริการดี แต่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย มีผลิตภาพของบริการต่ำกว่า 10% และถ้ามาดูที่ภาคบริการในเอเชียจริงๆ ส่วนใหญ่เป็นภาคบริการที่ค่อนข้างจะเป็นแบบดั้งเดิม ไม่ค่อยทันสมัย โดยบริการที่ทันสมัย ได้แก่ โทรคมนาคม บริการทางการเงิน การบริการวิชาชีพ และบริการอื่นๆ พบว่าในเอเชียค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบอังกฤษ อเมริกา

สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นแบบดั้งเดิม เช่น บริการด้านการค้า การบริหารราชการ บริการส่วนบุคคล และบริการอื่นๆ ขณะที่บริการแบบทันสมัย เช่น บริการทางการเงิน การสื่อสารโทรคมนาคม และบริการธุรกิจ มีประมาณ 8-9% เท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ในเรื่องการจ้างงานซึ่งมีส่วนสำคัญกับการเติบโตแบบมีส่วนรวมทุกภาคส่วน เอดีบีพบว่า ภาคบริการทำให้เกิดการจ้างงานสูง นอกจากนี้ การบริหารหลายๆ ด้าน เช่น การสาธารณสุข หรือการศึกษา จะสามารถทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในที่สุดก็จะมีผลิตผลเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภาคบริการ จะทำให้เกิดการส่งออก เกิดการค้าขายภาคบริการได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น call center ในอินเดียและฟิลิปปินส์ เป็นต้น

เศรษฐกรอาวุโส เอดีบีประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายสำคัญที่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียควรทำ เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาภาคบริการ คือ ต้องแก้อุปสรรคที่สำคัญ 3 ประการ

1. ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค จากการศึกษาพบว่า จีน อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย เทียบกับประเทศอื่นที่มีรายได้เท่าเทียมกัน ปรากฏว่ามีอุปสรรคในเรื่องการค้าภาคบริการสูงกว่ามาก

2. ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ เช่น โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ต้องทำให้ดีขึ้น อย่างประเทศไทย เรื่องอินเทอร์เน็ตต้องทำอีกมากกว่าจะทันประเทศอื่น

และสุดท้าย พัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับภาคบริการ โดยเฉพาะภาคบริการที่ทันสมัย ไม่ใช่ภาคบริการแบบเดิมๆ เอดีบีพูดถึงเรื่องทรัพยากรมนุษย์ เรื่องแรงงานที่มีปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีก ว่าควรมีแรงงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น และมีการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งมีปัญหาใหญ่คือการไม่มีพนักงานที่มีคุณสมบัติเพียงพอ

“จากรายงานการศึกษาของเอดีบีฉบับนี้ เชื่อว่าภาคบริการที่แข็งแกร่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ เช่น ไอซีที เรื่องการออกแบบอุตสาหกรรม เรื่องการตลาด สิ่งเหล่านี้จะเข้าไปส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเห็นว่าภาคการผลิตและภาคบริการจะเชื่อมโยงกันได้ จะก่อให้เกิดผลิตภาพกับเศรษฐกิจ” ดร.ลักษมณกล่าว