ThaiPublica > สัมมนาเด่น > ดร.ทนง พิทยะ ชี้ อนาคตไทย เราเลือกได้ แต่ต้องรื้อระบบราชการ-การเมืองที่ผุกร่อน กับ “public governance” ที่ล้าสมัย

ดร.ทนง พิทยะ ชี้ อนาคตไทย เราเลือกได้ แต่ต้องรื้อระบบราชการ-การเมืองที่ผุกร่อน กับ “public governance” ที่ล้าสมัย

17 กันยายน 2012


เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย...เราเลือกได้”
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย…เราเลือกได้”
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาได้จัดสัมมนาในหัวข้อ “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย…เราเลือกได้” โดยมี ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการสถาบันฯ ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เพื่ออนาคตเรา: KPI ของไทยควรเป็นอะไร?”

นอกจากนี้ มีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “What are the big decisions that will shape our future” โดย ดร.ทนง พิทยะ อดีต รมว.คลัง, นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด, นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด และนายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน)

ในวงเสวนา “What are the big decisions that will shape our future” ดร.ทนงในฐานะผู้อาวุโสได้ออกตัวว่า ตนไม่น่าจะเป็นคนที่ต้องมาขึ้นเวทีแล้ว เพราะเป็นรุ่นอดีต โดยประเด็นที่ ดร.อุตตม สาวนายน ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งโจทย์ให้ ดร.ทนงตอบคือ วันนี้ประเทศไทยกินบุญเก่ามานาน 40 ปี สิ่งที่ทำให้ประเทศไทยมาได้ถึงขนาดนี้ มาจากกระบวนการตัดสินที่ชาญฉลาด หรือเป็นระบบ หรือเป็นไปตามธรรมชาติ

ดร.ทนงกล่าวว่า ตนเชื่อว่าประเทศไทยที่กินบุญเก่ามีอยู่ 3 ระยะ ระยะแรก คือ การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เป็นระยะเริ่มต้นของประเทศไทยที่เราถูกต่างชาติมาซื้อทรัพยากรธรรมชาติ และทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่มันหมด ไม่ว่าจะเป็นเหมืองแร่ที่ภูเก็ต ไม่ว่าป่าไม้ทางภาคเหนือ ทำให้สิ่งเหล่านี้หมดไป

ระยะที่สอง ประเทศไทยโชคดีที่เริ่มอยู่ในเวทีอาเซียน และได้เปรียบค่าแรงที่ต่ำมากของโลก จึงเปิดให้มีการลงทุนเข้าสู่ประเทศ โดยไทยใช้ค่าแรงต่ำเป็นจุดขาย ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรมนุษย์ บวกทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่บ้าง อาทิ แก๊สธรรมชาติ มีการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน แต่เป็นการส่งเสริมการลงทุนที่ตามมาด้วยการลงทุนที่ไม่ค่อยสร้างสมดุลให้ประเทศ มีการกู้ยืมเงินมาก จนมาสู่ภาวะวิกฤติของประเทศ

ระยะที่สาม การใช้นโยบายการเงิน คือ จากที่ใช้อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ก็เปิดให้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ทำให้เศรษฐกิจปรับสมดุลขึ้นมาใหม่ ภาคเกษตรขายสินค้าได้ ภาคท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ส่วนภาคอุตสาหกรรมในระยะแรกๆ ก็เหนื่อย แต่ก็กลับมาใหม่ และตอนนี้อุตสาหกรรมขยายตัวโตกว่าเดิม

“ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนเสียสละ ต้องเหนื่อย เพราะทุกคนไปลงทุนที่ไม่สร้างผลผลิตมากพอ ไปสร้างหนี้ ไปสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มากเกินไป”

ระยะที่สี่ ก็ถามตัวเองว่าบุญเก่าหมดไปแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็โชคดีที่มีการวางเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์เป็นครั้งแรกในปี 2002-2003 ซึ่งมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นคนหนึ่งที่ช่วยวางแผน ทำให้ประเทศไทยมีกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจชัดเจนเป็นครั้งแรก

“จริงๆ แล้วประเทศไทยมีแผนเยอะมากเสียจนกระทรวงการคลังบอกว่าแผนเต็มห้องแล้ว และเวลาจะใช้แผนเป็นกลยุทธ์ มันใช้ไม่ค่อยได้ผล”

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ดร.ทนงกล่าวต่อว่า เป็นครั้งแรกที่เริ่มมีแผนที่เป็นกลยุทธ์ และความพยายามตอบคำถามชัดๆ ว่าประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างไร หลังมีการลอยตัวค่าเงินบาท มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มองว่าจะแข่งกับโลกได้ อาทิ มีการดูแลอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มในอุตสาหกรรม 5-6 อย่าง อาจจะสำเร็จไม่หมดทุกอัน แต่อย่างน้อยที่สุดทำให้ประเทศไทยกลับมาเจริญ มาจากความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงขึ้นมา รวมทั้งมีการผ่อนผันเรื่องภาษี

“ผมมองว่าจุดนี้เป็นจุดที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่พัฒนาเชิงกลยุทธ์ และนักธุรกิจเริ่มพัฒนาเข้าสู่ร่องนั้น แต่โชคไม่ดี พอมีการปฏิวัติขึ้นมา สิ่งที่วางแผนไว้ ทุกอย่างล่าช้าไป 10 ปี ไม่ว่าเมกะโปรเจกต์ 1.5 ล้านล้านบาท”

ดร.ทนงกล่าวต่อว่า แต่ธุรกิจเอกชนไม่ได้ล่าช้าตาม เพราะภาคธุรกิจเอกชนต้องต่อสู้กับสิ่งที่มีอยู่ ถึงแม้จะล้าหลัง ต้องพยายามสร้างประสิทธิภาพ ทำให้ภาคเอกชนของไทยแข็งแกร่งขึ้นมา ทั้งๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานล่าช้าไปเป็น 10 ปี แต่ภาคเอกชนไม่ได้หยุดนิ่ง พยายามสู้ ช่วยตัวเอง ทำทุกอย่างให้เกิดขึ้นมา

“มาถึงจุดนี้ เรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงของโลก ผมเชื่อว่าจะทำให้เอกชนหวั่นใจ ว่าจะเป็นการเข้าสู่ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้น เรื่องเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป เรามองชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตน้อยมากๆ และหลายๆ ประเทศจะเจอการถดถอยทางเศรษฐกิจ แน่นอนว่าภาคเอกชนต้องยอมรับ การส่งออกไปสู่ยุโรปจะน้อยลง ตอนนี้ตัวเลขเริ่มชัดเจนแล้ว จะปรับตัวอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าสิ่งที่จะเสริมสร้างให้เกิดสมรรถนะการแข่งขัน ไม่ว่าโลจิสติกส์ ทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาเชิงพื้นฐานที่ ดร.เศรษฐพุฒิ พูด ผมว่าเรามีการบ้านทำเยอะมากๆ แต่ผมเชื่อว่าในที่สุดภาคเอกชนมีความพร้อมกว่าภาครัฐเยอะมาก อันนี้เป็นช่องว่างหลายๆ ด้านด้วยกัน”

ดร.ทนงกล่าวว่า ช่องว่างระหว่างภาครัฐที่มีกับภาคเอกชนในเรื่อง digital literacy ผมมองภาพว่าเอกชนไปถึงไหนๆ ไม่ว่าการใช้ไอแพดเพื่อธุรกิจ การใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อธุรกิจ เพื่อสร้างประสิทธิภาพของตัวเอง แต่ภาครัฐตามได้ช้ามาก และตามไม่ทัน แล้วภาครัฐจะบริหารองค์กรของรัฐอย่างไร

“ผมขอให้ประสบการณ์ในช่วงที่ผมไปนั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผมเห็นอะไรอยู่บ้าง องค์กรของรัฐ ข้าราชการทำงานหนักมาก และมีข้าราชการเก่งมากๆ แต่ทำไมงานมันไม่เดิน งานเดินตามภาคเอกชนไม่ทัน ทำไมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการบริหารของภาครัฐตามภาคเอกชนไม่ทัน อันนี้เป็นการพัฒนา digital literacy สมมติคนเป็นอธิบดี วันหนึ่งประชุม 4-5 ประชุมต่อวัน หมดเวลาแล้ว โอกาสที่จะไปเรียนรู้ digital literacy มันหมดไปแล้ว มันเลยสมัยไป ส่วนเด็กข้างล่างที่ได้เรียนมาเยอะแยะไม่มีโอกาสได้ใช้เลย ข้าราชการข้างล่างเก่งมาก แต่ไม่เคยได้ใช้เลย เพราะต้องคอยฟังนายว่าจะเอาอย่างไร นายก็ไม่รู้จะเอาอย่างไร เพราะต้องถามรัฐมนตีว่าจะเอาอย่างไร พอรัฐมนตรีให้ไอเดียมาอย่างนี้ นายก็ไม่รู้ไม่แน่ใจว่าไอเดียถูกหรือไม่ถูก”

ดร.ทนงได้กล่าวต่อว่า “ผมดูการสร้างแต่ละโปรเจกต์ กว่าจะสำเร็จ มันล่าช้ามหาศาลเลย รถไฟฟ้า 10 สาย คิดมาแล้วเป็น 10 ปี บีทีเอสคิดมาเป็น 10 ปี สนามบินหนองงูเห่าคิดมา 30 ปี ถ้าเราไม่มีทางเร่งการบริหารโปรเจกต์ของรัฐ เพื่อสร้างโลจิสติสก์ที่จะสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสู้กับโลกได้ ภาคธุรกิจก็ทำได้แค่นี้ ช่วยตัวเองไปอย่างนี้ ล้มบ้าง ลุกบ้าง เหนื่อยบ้าง ในที่สุดภาคธุรกิจจะต้องลดต้นทุน ก็จะกลับมาที่ตัวเลขที่ชัดเจนว่าทำไมค่าแรงขึ้นไม่ได้ ที่ขึ้นไม่ได้เพราะต้นทุนด้านอื่นๆ มันสูงมากๆ สำหรับภาคเอกชน เพราะไม่มีระบบโลจิสติกส์ หากต้นทุนการขนส่งไม่ลดลง ก็ไม่มีปัญญาไปเพิ่มค่าแรง โดยเฉพาะบริษัทเอสเอ็มขนาดเล็ก จึงเป็นวัวกินหางไปตลอดเลย”

ดร.ทนง พิทยะ
ดร.ทนง พิทยะ

ดังนั้น หากภาครัฐยอมรับตัวเอง ถ้าอยากเป็นอธิบดีที่มีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรที่ระดับอธิบดียอมมอบอำนาจให้แก่คนข้างล่าง อาทิ ผู้อำนวยการ ให้เขาทำ ไม่อย่างนั้นมันก็ไม่เกิด หรือทำอย่างไรให้รัฐมนตรีจะเริ่มตัดสินใจในกรอบการทำงานเพื่อริเริ่มโครงการได้รวดเร็ว

“ที่มันไม่เร็วเพราะอะไร เพราะมีการต่อรองที่เรานึกไม่ถึงอยู่เยอะมากตลอดขั้นตอนของการพัฒนาโครงการ ไม่ใช่ทำไม่ได้ การเริ่มโครงการให้ได้ดี มีประสิทธิภาพ ผมว่าผู้ใหญ่ต้องมอบให้เด็กทำ ผมมองว่าเด็กมี literacy สูงมากๆ ผู้ใหญ่แค่กำหนดนโยบายและปล่อยให้เด็กทำ รัฐมนตรีที่อายุเกิน 50 ปี ผมว่าแย่แล้ว ดูสิงคโปร์ รัฐมนตรีอายุ 40 ปีบวกลบ ทำงานได้เต็มที่ อย่างผม ใครบอกว่าทำไมไม่กลับไปเป็นรัฐมนตรี ผมบอกว่ากลับไปได้อย่างไร เบาหวาน ความดันก็ขึ้น ไม่มีโอกาสที่จะไปทำงานวันละ 20 ชั่วโมงแล้วอยู่ได้อย่างแข็งแรง แค่ประชุมก็ตายแล้ว เรามีเด็กไทยที่จบมาแต่ใช้เขาไม่เป็น ในที่สุดเขาลาออกจากข้าราชการไปอยู่ภาคเอกชน ดังนั้น หากการพัฒนาภาคเอกชนถูกรั้งดึงจากภาครัฐ มันก็จะไม่เกิด”

ดร.ทนงได้กล่าวถึงการศึกษา โดยเปรียบเทียบภาพๆ หนึ่งว่า “ผมต้องการให้เห็น รูปทางซ้ายมือ รูปคนอินเดียที่ใช้ปัญญาชาวบ้าน ใช้จักรยานที่สามารถขนอิฐจำนวนมากไปสู่ที่ก่อสร้าง ปัญญาชาวบ้านมันถูกจำกัดด้วยความรู้ เครื่องมือ ส่วนรูปทางขวา เด็กเกิดใหม่เล่นไอแพด ที่รวมความรู้เอาไว้ แต่ปราศจากปัญญา ประเทศไทยอยู่ตรงไหน ผมทิ้งปัญหาให้คิด ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนระหว่างสองรูปนี้ แล้วเราจะเชื่อม 2 รูปนี้อย่างไร”

ดร.ทนงกล่าวว่า หากไปดูปัญญาชาวบ้านในชนบท เขาใช้ปัญญาเต็มที่ แต่เราดูว่าเขาขาดอะไร และประเทศไทยเด็กในเมืองมีไอแพด มี BB และไทยใช้ทั้ง2 อันนี้เพื่อแชทเป็นของเล่น และบริษัทที่ขายก็ชายเยาวชนให้แชทกัน ขายเพื่อเป็นของเล่น ขณะที่ข้าราชการที่ควรใช้ในการประชุม สั่งลูกน้อง ทั้งที่มันมีประสิทธิภาพสูงในการลดการสื่อสาร การคมนาคม และการลดต้นทุนอื่นๆ มากมาย

“ผมมองว่าการบริหารจัดการไอซีที การประมูล 3 จี ต้องมีเงินเท่านั้นเท่านี้ก่อน ผมว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง มันหมดสมัย ที่อยู่ดีๆคนจะเอาเงินไปให้รัฐก่อน 5 พันล้าน 8 พันล้าน แล้วค่อยทำ 3G ผมมองว่าทุกๆ อย่างอยู่ที่กำไร จะให้เอกชนกำไรเท่าไหร่ และจะให้ผู้ใช้ใช้ได้ถูกแค่ไหน seat money แทนที่เอกชนจะไปลงทุน 3G เขาต้องเอามาจ่ายรัฐก่อน ผมว่ามันหมดสมัยแล้ว มันเป็นสมัยที่ต้องพยายามทำเทเลคอมให้ถูกที่สุดสำหรับผู้ใช้ และให้เขาได้ใช้ประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนการแบ่งปันกำไร มีกำไรก็คิดภาษีไป มีวิธีคิดภาษีตั้งเยอะแยะ ผมไม่ได้สนับสนุนใคร แต่เป็นสิ่งรัฐที่ต้องทำ ไม่งั้นปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก ใครมีความสามารถทำก็ลงทุนไป มันจะทำให้เทเลคอม 3G ถูกลง การใช้เครื่องมือต่างๆ ก็จะถูกลง ทำไมไม่ทำตรงกันข้าม ให้เขาลงทุนน้อยที่สุด กำไรพอควร และผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด”

อย่างไรก็ตาม ดร.ทนงได้เสนอแนะว่า หากอนาคตไทยเราเลือกได้ สิ่งควรจะต้องทำคือ

1. การเปลี่ยนทัศนคติ ปัจจุบัน ภาคเอกชนมีความพร้อม พยายามสู้ด้วยตนเอง และพยายามดิ้นรน พยายามขยายกิจการมาตลอด ขณะที่มุมมองต่างประเทศจากที่ตนได้พบปะกับนักธุรกิจญี่ปุ่นมาก เขาบอกว่าตอนนี้ประเทศที่เขาสนใจไปลงทุนคือเวียดนาม พม่า ส่วนอินโดนีเซียเขาลงทุนเยอะอยู่แล้ว ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่เขาอยากลงทุนมากแต่ไม่กล้ามา ผมไม่แน่ใจว่าเพราะอะไร ไม่รู้ว่าเพราะน้ำท่วม เพราะกฎระเบียบ หรือความเสี่ยงทางการเมือง หรือมาจากปัจจัยอะไร ทำให้เขาเฝ้ามองประเทศไทย ทั้งๆ ที่อยากมาลงทุน

ขณะเดียวกันประเทศไทยได้ลดภาษีนิติบุคคลลงมาแล้ว ทำให้เขามองว่าแทนที่จะไปนั่งที่สิงคโปร์ ฮ่องกง เขาพร้อมที่จะย้ายมาไทย แต่ทำอย่างไรให้เขาแน่ใจที่จะเข้ามาลงทุน

นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุน เมื่อรัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลลงมาใกล้เคียงสิงคโปร์ มาเลเซีย การส่งเสริมการลงทุนต้องเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว โครงการการส่งเสริมการลงทุนแบบใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องภาษีอีกต่อไป แต่ทำอย่างไรให้ธุรกิจมีกำไรต่างหาก เมื่อเขามีกำไร เขาพร้อมจะจ่ายภาษี15-20% ฉะนั้น การส่งเสริมการลงทุนมันต้องเปลี่ยนรูปแบบ โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อส่งเสริม R&D

ดร.ทนง พิทยะ
ดร.ทนง พิทยะ

“สมัยผมเป็นรัฐมนตรี เคยมีบริษัทอิเล็กทรอนิกส์จะมาลงทุนในไทย 5 หมื่นล้านบาท แต่ว่าเขาต้องการให้แน่ใจว่ามีคนที่ความเชี่ยวชาญเพียงพอ นั่นแสดงว่าเขาไม่ต้องการเรื่องภาษี แต่ต้องการให้มหาวิทยาลัยเทรนนิงคนให้เขา ซึ่งเราจัดการให้เขาไม่ได้ เพราะอยู่นอก พ.ร.บ.ส่งเสริมกรลงทุน ผมเสียดายมาก”

หรือตอนที่ตนเป็นประธานบริษัทการบินไทย มีอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ตอนนั้นเขาต้องการแวร์เฮาส์ที่ปลอดฝุ่น ปรากฏว่าในไทยไม่เพียงพอ เราก็พยายามสร้างแวร์เฮาส์ที่สนามบิน โดยบริษัทอิโตชูพร้อมจะลงทุน ปรากฏว่า รมต.คมนาคมไม่ยอมผ่าน ครม. ก็ไม่รู้เพราะอะไร อันนั้นคือผลประโยชน์ของประเทศไทย ทำให้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกต้องบินไปพักสินค้าไว้ที่สิงคโปร์แล้วค่อยส่งต่ออีกที ทั้งที่สนามบินหนองหูเห่ามีพื้นที่ตั้ง 20,000 กว่าไร่ ปรากฏว่าไม่ยอมให้ทำ การบินไทยจะทำก็ทำไม่ได้ ก็เลยเป็นจุดตายซึ่งไม่น่าเกิด

“ผมมองว่า หากจะให้อุตสาหกรรมมันเติบโตต่อไป การส่งเสริมการลงทุนต้องเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานและซอฟต์แวร์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ให้มันเกิด”

ดร.ทนงกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ตนห่วง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ใครบอกว่าจะโต แต่ตนมองว่าไทยมีจุดจำกัดอยู่ อยู่ที่ว่าไทยไปถึงอุตสาหกรรมต้นน้ำได้ไม่ครบวงจร ไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่จะทำตัวถังรถยนต์ ตอนนี้กำลังผลิตรถยนต์ที่เราผลิตได้อยู่ มีสเกลเพียงพอที่จะสร้างโรงงานผลิตเหล็กกล้าสำเร็จรูป เพื่อใช้ป้อนทั้งอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องการประมาณ 4-5 ล้านตันต่อปี แต่เราไม่มีความสามารถที่จะสร้าง

“เรื่องนี้เป็นนโยบายมาหลายรัฐบาล และไม่มีรัฐบาลไหนกล้าตัดสินใจให้มันเกิด และจุดนี้เป็นจุดอ่อนของไทย ในที่สุดแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์จะย้ายไปอินโดนีเซีย ที่นั่นเขามีความพร้อมทั้งโรงงานถ่านหิน มีทั้งพลังงาน และมีเกาะเป็นพันเกาะ ที่จะสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้าได้ อุตสาหกรรมรถยนต์เขาจะโตขึ้นแน่นอน ตอนนี้เราได้เปรียบเพราะโรงงานอะไหล่อยู่ที่นี่ แต่ถึงจะจุดหนึ่งการย้ายฐานการผลิตจะค่อยๆ เกิด ต้องคิดให้ยาวๆ เรื่องสมรรถนะการแข่งขันมันก็จะหายไป”

2. เรื่องยาเสพติด ประเทศไทยไปเน้นเรื่องการปราบปราม ยิ่งปราบยิ่งมีอาชญากรรมมากขึ้น ทั้งที่ควรให้การศึกษาแก่เยาวชนเพื่อละเว้นการใช้ยาเสพติดซึ่งสำคัญกว่าการปราบปราม แต่ปรากฏว่าเกือบจะไม่มีงบประมาณเลย ขณะที่งบประมาณไปอยู่ที่การปราบปราม ใครจับได้มีรางวัล ก็ยิ่งทำให้ยาเสพติดแพงขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลประโยชน์ของใคร ตนไม่ทราบ แต่เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดในประเทศไทย ขณะที่ประเทศอื่นที่เขาทำสำเร็จ เพราะเขาใช้การศึกษาเป็นหลัก

3. เรื่อง public governance จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในปี 2540 เราพยายามสร้างเรื่อง CG (corporate governance) ในภาคเอกชนว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ภาคราชการมีกฎมีระเบียบล้าสมัยอยู่ ขณะที่โลกเปลี่ยนไปหมด จึงเป็นสิ่งที่ข้าราชการไม่กล้าตัดสินใจทำอะไร เพราะ public governance มันไม่ชัดพอ และขบวนการตัดสินใจทุกอย่างจากระดับบนลงมามันช้าหมด ขณะที่ระดับกลาง มันก็ไปไม่ได้ เพราะมันรอสัญญาณอยู่ตลอด จะเอาไม่เอา จะเอาแบบไหน (หัวเราะ) มันไม่เคยจบได้ง่ายๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแนะนำ ช่วยกันสร้าง ให้การประสานงานระหว่างภาครัฐ เอกชน วิชาการ ให้มันเกิดให้ได้