ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอชี้การวิจัยและพัฒนาของไทย เป็นเอ็นพีแอลเยอะเสร็จร้อยละ 5 และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม

ทีดีอาร์ไอชี้การวิจัยและพัฒนาของไทย เป็นเอ็นพีแอลเยอะเสร็จร้อยละ 5 และไม่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม

9 กันยายน 2012


เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาเรื่อง “ระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ: สรุปข้อเสนอเพื่อการนำไปปฏิบัติจริง”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้งบประมาณลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2539 จาก 5,528 ล้านบาท เป็น 21,493 ล้านบาท แต่ยังคงน้อยอยู่ คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.24 ต่อจีดีพี

อีกทั้งประสิทธิภาพresearch and development (R&D) ของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 47 ประเทศทั่วโลกแล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำมาก แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นทุกปีก็ตาม โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 57 ซึ่งเหนือกว่าประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เพียง 2 ประเทศเท่านั้น และถึงแม้จะเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีการลงทุนใกล้เคียงกัน เช่น แอฟริกาใต้ หรือเพิ่มงบวิจัยของไทยให้เท่ากับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ไทยก็ยังมีประสิทธิภาพ R&D ที่ได้ต่ำกว่าประเทศนั้นๆ

ที่มา : ทีดีอาร์ไอ

หากพิจารณาการลงทุนรายสาขาจะพบว่า งบประมาณครึ่งหนึ่งไปอยู่ที่การวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประมาณร้อยละ 25 เป็นของสาขาการเกษตร ด้านสาขามนุษยศาสตร์มีการลงทุนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ส่วนที่เหลือลงทุนในสาขาการแพทย์และสาขาสังคมศาสตร์ในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน ซึ่งแต่ละปีที่แต่ละสาขาได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

ด้านจำนวนนักวิจัยปัจจุบันมีเพิ่มขึ้นมาประมาณ 3 เท่า คือจาก 12,853 คนในปี 2539 เป็น 37,102 คนในปี 2552 แต่สัดส่วนของนักวิจัยต่อประชากร 1 ล้านคนของไทยก็ยังถือว่าน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยล่าสุด ในปี 2552 มีนักวิจัย 589 คนต่อประชากร 1 ล้านคน

สำหรับสาขาที่มีนักวิจัยมากที่สุด คือ สังคมศาสตร์ ประมาณร้อยละ 27 รองลงมาคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การแพทย์ การเกษตร และมนุษยศาสตร์ ตามลำดับ ซึ่งจำนวนนักวิจัยในสาขาการแพทย์และสาขาวิทยาศาสตร์ฯ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สาขาอื่นที่เหลือมีจำนวนลดลงในปี 2552

แต่ผลผลิตของงานวิจัยไทยที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2551-2554 กลับพบว่า จำนวนงานวิจัยนับพันๆ ชิ้นต่อปีนั้น มีสัดส่วนโครงการที่เสร็จสิ้นในแต่ละปีลดลงเรื่อยๆ คือ ร้อยละ 69, 65, 44 และ 5 ตามลำดับ ซึ่งจำนวนโครงการที่หายไปนั้นอาจเป็นเพราะนักวิจัยยังทำไม่เสร็จจริงๆ หรือไม่ก็โครงการเสร็จสิ้นแล้วแต่ไม่ได้ป้อนข้อมูลเข้าระบบ

ในส่วนของผลงานตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มี peer review นั้น พบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปีในทุกสาขาการวิจัย ซึ่งสาขาที่มีผลงานตีพิมพ์มากที่สุดคือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูลจาก Scopus, WoS และ TCI

ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์และการจดสิทธิบัตร เป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยยังขาดความเข้าใจและให้ความสำคัญน้อยอยู่ แม้ว่าหลายๆ คนจะบอกว่าแต่ละปีมีการยื่นจดสิทธิบัตรกันมากมาย ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ได้ช้าบ้าง ก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากๆ อยู่ ง่ายๆ คือ จำนวนสิทธิบัตรทั้งหมดที่จดในประเทศไทยยังน้อยกว่าการจดสิทธิบัตรของบริษัทฮิตาชิแค่เพียงแห่งเดียว

ดร.สมเกียรติกล่าวว่าสาเหตุที่ต้องทำระบบการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศ นั่นก็เพราะประโยชน์ 2 หลักใหญ่ คือ 1. สร้างกลไกการพร้อมรับผิดชอบในการใช้งบประมาณทั้งผู้ทำวิจัยและผู้ให้ทุน และ2.เป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานด้านนโยบาย เพื่อกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรการวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของสังคม

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

สำหรับข้อสรุปของวิธีการประเมินผลการวิจัยและพัฒนาของประเทศนั้น มีแนวคิดที่เน้นการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบ ไม่เน้นกระบวนการ ด้วยการประเมินที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำ ดังนั้นจึงใช้ตัวชี้วัดเดิมและเพิ่มบางตัวเท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละสาขาวิชาว่า มีผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบต่อสังคม และเวลาที่ใช้ประเมิน แตกต่างกัน ทั้งนี้ จึงแบ่งตัวชี้วัดเป็น 3 ด้าน คือ

1. ปัจจัยนำเข้า ได้แก่ การลงทุนด้าน R&D จำนวนนักวิจัย จำนวนห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากล และเพิ่มตัวชี้วัดอีก คือ สัดส่วนนักวิจัยที่เข้าถึงฐานข้อมูล และความเร็วอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนนักวิจัย

2. ผลผลิต นอกจากตัวชี้วัดเดิม คือ สัดส่วนจำนวนโครงการที่เสร็จสิ้น ผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มี peer review สัดส่วนจำนวนครั้งการอ้างอิง และจำนวนการยื่นขอ/จดทะเบียนทรัพย์ทางปัญญาแล้ว ได้เพิ่ม ผลงานตีพิมพ์และจำนวนทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ การประชุมทางวิชาการ การจัดแสดงผลงาน การได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ และประสิทธิภาพของ R&D ด้วย

3. ผลลัพธ์หรือผลกระทบ ยึดตามข้อเสนอเดิมใน การสัมมนาใหญ่ครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดเหล่านี้

ด้านแนวทางการประเมิน จะแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่คือ 1. การประเมินในเบื้องต้น ซึ่งต้องทำทันทีหลังโครงการเสร็จสิ้นในทุกๆ โครงการ 2. การประเมินการนำผลงานไปใช้ ซึ่งจะประเมินโดย วช. และผู้เชี่ยวชาญ หลังจากโครงการเสร็จสิ้น 3-5 ปี ในบางโครงการที่มีต้นทุนวิจัยหรือผลกระทบสูงเท่านั้น และ 3.การประเมินผลกระทบ จะประเมินขั้นสุดท้ายเมื่อโครงการเสร็จสิ้น 5-10 ปี เฉพาะโครงการที่ถูกนำไปใช้สูงหรือมีผลกระทบเบื้องต้นสูงเท่านั้น โดยจะวิเคราะห์รายละเอียดต้นทุนและผลประโยชน์

ข้อเสนอแนะในการจัดเก็บข้อมูล คือ ดัชนีชี้วัดด้านปัจจัยนำเข้าควรปรับการสำรวจค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนา (GERD) เป็นประจำทุกปี จากที่ วช. ทำ 2 ครั้งต่อปี อีกทั้งควรปรับแบบสอบถามต่างๆ ของหน่วยงานและผู้วิจัยด้วย ส่วนดัชนีชี้วัดด้านผลผลิตและประสิทธิภาพ ควรผลักดันให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูล TCI และต้องมีกลไกการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลวิจัยด้วย นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินตัวชี้วัดด้านผลลัพธ์และผลกระทบต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ

สำหรับสิ่งสำคัญที่ วช. ควรทำคือ 1. จัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบและดูแลระบบอย่างชัดเจน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในระบบ NRPM รวมถึงทำรายงานผลการประเมินประจำปีให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม เพื่อให้ทันการของบประมาณประจำปีจากรัฐ และรณรงค์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตระหนักถึงความสำคัญของระบบ โดยจัดสรรทรัพยากร 5-7% ให้ผู้ดูแลระบบฯ และผู้จัดทำรายงานฯ อีกทั้งควรสร้างแรงจูงใจ เช่น ให้ fast track นักวิจัย หรือใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารางวัลของนักวิจัย และสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ทำ MOU กับหน่วยงานวิจัยในการกรอกข้อมูล เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ หรือขอร่วมมือคณะกรรมาธิการงบประมาณ ไม่ให้พิจารณางบฯ แก่โครงงานที่ไม่ยื่นเรื่องผ่าน วช.