ThaiPublica > เกาะกระแส > 12 เสียง ชี้ชะตา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะอยู่หรือไป ?

12 เสียง ชี้ชะตา “สุเทพ เทือกสุบรรณ” จะอยู่หรือไป ?

18 กันยายน 2012


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/online

และแล้วก็ถึงนัด “ชี้ชะตา” ชีวิตทางการเมืองของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ว่าจะต้องหรือไม่ต้องออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ 2550

หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด กรณีที่ “สุเทพ” ในห้วงเวลาที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจแทรกแซงการทำหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กรณีส่งบุคคลเข้าไปขอช่วยราชการ จำนวน 19 คน

โดยถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (1)

ในการประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2555 ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม ได้พิจารณากระบวนการถอดถอน โดยได้เปิดให้ทั้งทาง “ผู้กล่าวหา” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” ได้แถลงปิดคดีด้วยวาจา ก่อนที่จะมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติถอดถอนในวันที่ 18 กันยายน ในเวลา 11.00 น.

ในส่วนของผู้กล่าวหานั้น นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงปิดคดีต่อที่ประชุมวุฒิสภาว่า “ป.ป.ช. มีอำนาจพิจารณาคดีของนายสุเทพได้ แม้จะมีองค์กรอื่นพิจารณาและวินิจฉัยออกมาแล้ว ยืนยันว่านายสุเทพได้ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 266 (1) ข้ออ้างว่าได้รับหนังสือดังคืนก่อนที่ รมว.วัฒนธรรมจะเห็นหนังสือ ก็เป็นเรื่องที่รู้กันเพียง 2 คน แต่ตามเอกสารที่สำนักงานเลขาธิการนายกฯ ให้ไว้กับ ป.ป.ช. พบการบันทึกที่โต้แย้งกัน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแจ้งว่าไม่ประสงค์จะรับ ส.ส. ไว้ช่วยงาน เพราะเกรงว่ามีปัญหา นอกจากนี้ คำชี้แจงของ ส.ส. ทั้ง 19 คน ยืนยันว่าไม่ทราบว่ามีรายชื่อไปปรากฏได้อย่างไร ไม่เคยแสดงความจำนง เพราะไม่ใช่นโยบายพรรค”

กับความเห็นของ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” อดีตเลขาคณะรัฐมนตรี ฐานะพยานในกรณีดังกล่าว ที่ใช้คำว่า “ไม่น่าจะขัด” ซึ่งหมายความว่า “ไม่ยืนยัน” นั้น ในเรื่องนี้ “กล้านรงค์” ระบุกับที่ประชุมวุฒิสภาว่า “เป็นความเห็นเชิงวิชาการ ซึ่ง ป.ป.ช. จะรับฟังหรือไม่ก็ได้”

ส่วนประเด็นที่ผู้ถูกกล่าวหายกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ใน 2 เรื่อง มาโต้แย้ง คือ

1. ประเด็นที่ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเร่งรัดให้ดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

2. กรณีของ พล.อ.ต.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฐานะ ผอ.ศปภ. ตั้ง ส.ส. ไปช่วยงานใน ศปภ.

“ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน ดังนั้น ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลผูกพันใดๆ ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และจะไม่เสียใจหากการตัดสินตรงข้ามกับการชี้มูลของ ป.ป.ช.”กรรมการ ป.ป.ช. ระบุ

ขณะที่ “สุเทพ” แถลงว่า “ในรายงานของ ป.ป.ช. ที่เสนอต่อวุฒิสภา ไม่ได้ยืนยันว่าการกระทำของตนนั้นเป็นการทำทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สำหรับความเห็นของนายบวรศักดิ์ที่ระบุในหนังสือว่า การส่ง ส.ส. ไปช่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรมไม่ถือว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซง เพราะการช่วยงานดังกล่าวอาจเป็นกรณีที่รัฐมนตรีต้องติดต่อกับคนในพื้นที่ และให้ ส.ส. ช่วยประสานงานคนในพื้นที่ ช่วยอภิปรายสนับสนุนกฎหมายของกระทรวงวัฒนธรรม”

“สุเทพ” ระบุว่า ยังมีความเห็นที่ ป.ป.ช. ไม่รับฟังอีกหนึ่งความเห็น คือ ความเห็นของ “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” อดีตกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะพยาน ที่ให้ความเห็นว่า “สิ่งที่สุเทพทำหนังสือถึงกระทรวงวัฒนธรรมนั้นไม่ขัด เพราะเป็นการช่วยงาน ไม่ได้แทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ หรือได้ค่าตอบแทนประโยชน์อื่นใด”

รวมไปถึงรายงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่ให้ความเห็นว่าการกระทำของตนไม่มีมูลความผิดตามที่กล่าวหา ที่สำคัญ ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการกระทำของตนได้สร้างความเสียหายให้กับรัฐอย่างไร

“ไม่ว่าสถานะเหมือนหรือต่างกัน การตีความหรือใช้กฎหมาย น่าจะต้องเป็นหลักเป็นบรรทัดฐานเดียวกันทุกสถานการณ์ ผมหวังให้ ส.ว. พิจารณาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นเจตนารมณ์ และการตีความและการใช้กฎหมายที่ได้พูดถึงเจตนารมณ์ บทบาท หน้าที่ของ ส.ส. และผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ คิดว่า ส.ว. พิจารณาลึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ ที่องค์กรอื่นต้องยึดถือเพื่อคงความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้”

และไม่ว่าท้ายที่สุดผลออกมาเป็นอย่างไร “สุเทพ” ยืนยันว่าจะเคารพดุลยพินิจของที่ประชุมวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม หากย้อนในหน้าประวัติศาสตร์ของวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ผ่าน “เวทีถอดถอน” มาแล้ว 2 ราย คือ

“นพดล ปัทมะ” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา

“สมชาย วงศ์สวัสดิ์” อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

โดยบุคคลทั้งสองต่างรอดพ้นจากการถูกถอดถอน เพราะ “มือ” ที่ยกให้มีการถอดถอนไม่เพียงพอ หรือเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 จากจำนวน ส.ว. ทั้งหมด

“3 ใน 5” หรือ “89 จาก 146 คน” จึงถือเป็นจำนวนที่มาก ประกอบกับกรณีของ “สุเทพ” นั้น ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. เป็นเพียงการระบุว่า ส่อกระทำความผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีองค์ประกอบเพียงพอที่จะชี้มูลความผิดทางอาญาได้

ความเป็นไปได้ที่ “สุเทพ” จะถูกถอดถอดเป็นไปได้ไม่มาก

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เนื่องจากหากยึดตามเสียงโหวตเลือกประธานวุฒิสภาที่จบลงด้วยการหนุนให้ “นิคม ไวยรัชพานิช” ส.ว.ฉะเชิงเทรา นั่งเป็นประมุขสภาสูงด้วยคะแนน 77 ต่อ 69 เสียง สะท้อนว่าเสียงที่อยู่คนละฝั่งกับฝ่ายค้านขาดเพียง 12 เสียง ก็จะครบจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

หากกระบวนการ “ล็อบบี้” เขี่ย “สุเทพ” ให้พ้นถนนการเมืองมีอยู่จริงตามที่มีกระแสข่าว ถ้า “สอย” อีก 12 มือได้ ก็จะทำให้ “สุเทพ” ต้องโบกมืออำลาบรรดาคอการเมืองไปนานถึง 5 ปี !!!