ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 6: แบงก์ไทยปรับตัวหลังวิกฤติ 2540

ตอนที่ 6: แบงก์ไทยปรับตัวหลังวิกฤติ 2540

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

แบงก์ไทยปรับตัวหลังวิกฤติ 2540 ทำธุรกิจระมัดระวังมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยง และฐานะแข็งแกร่ง รองรับผลกระทบจากความผันผวนต่างประเทศได้

ปกป้อง: มีคนเขาบอกว่า วิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเป็นวิกฤติใหญ่ แต่ผลกระทบที่มีต่อสถาบันการเงินไทยไม่มาก เป็นเพราะว่าสถาบันการเงินไทยเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤติและค่อนข้างดำเนินนโยบายแบบอนุรักษ์นิยม ป้องกันตัวเองไว้มากขึ้นจากวิกฤติ 40 อันนี้ถือว่าเป็นอย่างนั้นไหมครับ

อันนี้เป็นความจริง หนึ่ง การออกอนุพันธ์แบบตลกๆ ธนาคารพาณิชย์ไทยไม่ทำ ที่ไม่ทำเพราะไม่มีใครกล้าทำ เข้าคณะกรรมการ คณะกรรมการก็ไม่ให้ทำ

ปกป้อง: ไม่ใช่เพราะทำไม่เป็น แต่ว่าเลือกที่จะไม่ทำเพราะกลัวเสี่ยง

เลือกที่จะไม่ทำเพราะว่าไม่เข้าใจว่ามันแปลว่าอะไร ทำไปแล้วตอนจบจะออกมาเป็นยังไง แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยก็กลัวพวกแบบนี้มาก ถ้าไม่เข้าใจไม่ให้ทำไว้ก่อน ซึ่งก็เผลอๆ เป็นสิ่งที่ดี

เพราะฉะนั้นในมุมนี้ใช่ ไอ้ที่คนอื่นจะไปล้มที่ยุโรป ที่อเมริกา ก็เป็นเพราะตัวเองทำตัวเอง โดยการใช้จ่ายเกินตัวแล้วก็ออกอนุพันธ์ตลกๆ ซึ่งในที่สุดควบคุมไม่ได้ แต่ว่าการที่เศรษฐกิจทางซีกโลกตะวันตกล้มทุกคนจะเดือดร้อน เพราะเราต้องขายของ ไม่ใช่เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ก็ต้องขายของไปยุโรปไปอเมริกา ถ้าเศรษฐกิจทางนั้นไม่ดีธุรกิจทางนี้ก็ไม่รอด

ปกป้อง: วิกฤติเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ 2007 หลักๆ 2008 มาจนถึงปัจจุบัน กระทบกสิกรไทยอย่างไรครับ

โดยตรงไม่เท่าไหร่ ก็เพราะประเทศไทยกันตัวเองตรงที่ว่า ไม่ได้ไปซื้อตราสารอะไรหรือมีการไปปล่อยกู้อะไรในซีกโลกทางนั้นโดยตรง นั่นคือคำถามแรกที่คุณถาม คำตอบก็คือ “ไม่มี”

ปกป้อง: ทางอ้อม

ทางอ้อมก็คือว่า ผู้ส่งออกไทยก็มี “โจทย์” ยากขึ้น เพราะว่าคนซื้อเดิมๆ ก็กำลังซื้อแผ่วไป ต้องไปหาที่ใหม่ ตลาดใหม่ ซึ่งก็หาได้ดี แล้วตอนนี้ก็จะวกกลับมาเอเชียแหละ ถึงเวลาที่เอเชียจะฟื้นแล้ว ทุกคนก็จะพูดแบบนี้ เพราะฉะนั้น พลังซื้อในเอเชียจะเป็นตัวที่ผลักดันเศรษฐกิจของเอเชีย หรือ AEC อาเซียนอะไรพวกนี้ก็ด้วย ความคิดตรงนี้ก็จะวกกลับมาว่า พลังของการเจริญเติบโตในอนาคตจะมาอยู่ตรงภาคนี้ของโลก

ปกป้อง: นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้กสิกรบุกตลาดในอาเซียนในเอเชียมากขึ้นใช่ไหม

ก็เป็นส่วนหนึ่งนะครับ เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกของระบบเศรษฐกิจ คนในระบบเศรษฐกิจก็ต้องคิดโจทย์ว่า ถ้าตลาดเปลี่ยนไป เราต้องวางตัวอย่างไรให้เป็นผู้เล่นที่มีความหมายสำหรับตลาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาคการเงิน ภาคผลิต ภาคค้าขาย ทุกคนก็ต้องคิดโจทย์

ปกป้อง: ยุทธศาสตร์ของกสิกรไทยตอนนี้ให้ความสำคัญกับอะไรที่แตกต่างจากที่อื่น

แตกต่างหรือเปล่าไม่รู้ ทุกคนก็คิดโจทย์ไปในทิศทางทางเดียวกัน แต่ทำอย่างไรถึงจะมี “แบรนด์” หรือมี “ยี่ห้อ” ที่คนเชื่อถือ เพราะถ้าไม่เชื่อถือเขาก็ไม่มาทำธุรกิจด้วย ทำยังไงถึงจะมีการบริหารต้นทุนที่มีความหมาย ถ้าต้นทุนมากเกินไปธุรกิจก็สู้ไม่ได้ ทำยังไงถึงจะบริหารความเสี่ยง เพราะว่าธนาคารพาณิชย์มีความเสี่ยงสูงในเรื่องต่างๆ และทำยังไงถึงจะบริหารผู้คน ให้คนมีความรู้ แล้วคนเก่งๆ ทำงานด้วยกันได้สามารถผลักดันธุรกิจไปได้

อ่านต่อ ตอนที่ 7: “บัณฑูร” เข็ด ไม่อยากร่วมทุน