ThaiPublica > คนในข่าว > ตอนที่ 3: ในวิกฤติยังมีโอกาส

ตอนที่ 3: ในวิกฤติยังมีโอกาส

23 กันยายน 2012


นายบัณฑูร ล่่ำซำ
นายบัณฑูร ล่่ำซำ

“บัณฑูร” ชี้ วิกฤติ 2540 รุนแรงมาจากหลายสาเหตุเกิดพร้อมกัน ทั้งฟองสบู่เศรษฐกิจแตก ธุรกิจล้ม คนแห่ถอนเงิน สถาบันการเงินหลายแห่งไม่รอดเพราะเสียหายหนัก แต่ “กสิกรไทย” ยังประคองไว้ได้จนเจอ “โอกาส” ตลาดเปิด เพิ่มทุน รอดมาได้

ปกป้อง: คุณปั้นเล่าให้ฟังถึงทุกข์ ว่ามันมีทุกข์อะไรบ้างในเศรษฐกิจไทย สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ ถ้าเราประเมินย้อนกลับไป อะไรเป็นสาเหตุหลักๆ รากฐานของปัญหาทั้งหมดมันมาจากไหน

ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรในเชิงธรรมะมากมาย ก็ล้มครับ (หัวเราะ) คือพอเช้าวันหนึ่งตื่นมาก็พบว่าเงินกู้ทั้งหมดของระบบธนาคารพาณิชย์ทำท่าจะไม่ได้คืนเป็นส่วนใหญ่ ก็หมายความว่าส่วนที่จะหายไปคือ ทุนของระบบ

“เมื่อไม่มีทุนพาณิชย์ธนาคารพาณิชย์ก็อยู่ไม่ได้”

แล้วผสมโรงด้วยการที่เกิดความตื่นตระหนกในสถาบันการเงินหลายแห่งที่คนไปเคาะประตูจะถอนเงิน ถ้าคนไปถึงขั้นนั้น สถาบันการเงินนั้นก็ต้องล้มลงในวันนั้นเลย คือ รัฐบาลก็ต้องเอาเงินของรัฐบาลหรือเงินภาษีของประชาชนในอนาคตมาใส่แทนความเสียหาย มิฉะนั้นจะไปตกไปอยู่ที่ผู้ฝากเงิน ส่วนเจ้าของหุ้นของธนาคารไม่ต้องพูดถึง ถึงจุดหนึ่งก็คือศูนย์ หลายๆ ธนาคารก็เป็นลักษณะอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์มันประดังเข้ามาหลายอย่าง ธุรกิจล้ม ผู้คนตื่นตระหนกจะถอนเงินจากระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นสภาวการณ์ที่น่ากลัวมาก หมดสิ้นซึ่งความน่าเชื่อถือ สินค้าก็แพงไปโดยปริยายเพราะว่าอัตราแลกเปลี่ยนของไทยไม่เหลือแล้ว

คือว่า “ไม่รู้ว่าต้องทำยังไง ทุกคนต้องมาคิดกันเป็นครั้งแรกในชีวิต”

ปกป้อง: นักวิชาการจำนวนหนึ่งชี้ปัญหาถึงสาเหตุวิกฤติเศรษฐกิจว่า เป็นเพราะเราเปิดเสรีทางการเงิน ให้ธนาคารสามารถกู้เงินราคาถูกจากต่างประเทศได้ในช่วงนั้น โดยไม่ปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม อันนี้คุณปั้นเห็นยังไงครับ มันเป็นสาเหตุของวิกฤติจริงๆ หรือเปล่า

“ไอ้ชี้น่ะง่าย มีนิ้วก็ชี้ได้” แต่คนที่จะแก้ปัญหาและคนที่ต้องจัดการมาตลอดทางมันไม่ได้ภาพชัดเหมือนตอนจบ ตอนจบมันเห็นภาพชัดแล้วมันก็ชี้ได้ทั้งนั้น

เหมือนกับชี้ “ศพที่มันตายแล้ว” แต่ตอนที่มันป่วย มันเจ็บ มันอะไร มันดูไม่ออกในทันที

คนที่ทำดำเนินการมาก็นึกว่าตัวเองทำดี นึกว่าตัวเองกำลังปลุกให้เศรษฐกิจกำลังฟื้น แล้วตัวเองก็ดีใจกันว่าประเทศไทยเศรษฐกิจโต 11% 12% อะไรอย่างนี้ ก็นึกว่าเป็นกำลังจะวิเศษกำลังจะบรรเจิดกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเกินความเป็นจริง

แต่ตอนนั้นถ้าใครไปพูดก็ไม่มีใครฟังกัน เดี๋ยวจะหาว่าขัดลาภ หาว่าไม่มองไปไกล ไม่มีวิสัยทัศน์

ทุกวันนี้ก็ยังพูดอย่างนี้อยู่ เวลาทำอะไรแล้วมีคนไปขัดก็จะหาว่าไม่มีวิสัยทัศน์ แต่เวลาผ่านไปถึงได้รู้ว่าจริงๆ ที่ทำไปมันพอดีหรือเกินพอดี “ตอน 2540 มันพิสูจน์ได้แล้วว่ามันเกินพอดี แต่ตอนที่ทำไม่มีใครรู้ว่าความพอดีอยู่ตรงไหน” อาจจะมีคนเตือนนิดๆ หน่อยๆ แต่ว่ากลบไปด้วยเสียงของความไชโยโห่ร้องของการทำกำไรในราคาหุ้น ราคาที่ดิน อะไรต่างๆ ซึ่งตอนนั้นก็สนุกสนาน

ปกป้อง: วันนั้นตัวคุณปั้นเองมองเห็นไหมว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 40 มันจะเกิดขึ้น

ก็ไม่ได้เห็นชัดทั้งหมดนะ แต่ก็เห็นในลักษณะที่ว่า เอ้ย! อื้อหือ ทำไมมันขึ้นกันพรวดพราดๆ มันเหมือนคนรถเวลาขับเร็ว มันก็ยังขับเร็วอยู่ แต่ในใจคิดว่า เอ๊ะ! ถ้าอะไรเกิดสะดุดนิดหนึ่งแล้วพลิกคว่ำไหม แต่ตัวเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ว่าวิกฤติหน้าตามันเป็นยังไง ก็เจอเป็นครั้งแรกในชีวิตตัวเองเหมือนกัน

ปกป้อง: แล้ววันนั้นพอเจอแล้วเราอยู่กับมันยังไง เราสู้กับมันยังไง กสิกรทำอะไรบ้าง

ก็ทำเหมือนที่คนอื่นทำ คือ “ประคอง ถ้ามันยังไม่ตาย” บางคนประคองมันไม่ทันแล้ว ที่ตายก็คือความเสียหายมันเหมือนคนบาดเจ็บหนักเกินไป มันใช้คำพูดว่า “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” ก็เสียชีวิตไป ถ้าเป็นสถาบันการเงินก็คือความเสียหายจากหนี้มันมากจนกระทั่งกองทุนไม่เหลือแล้ว และก็ไม่มีเงินที่ไหนมาเพิ่มทุนในวันเวลาเช่นนั้น บวกกับคนเกิดความตื่นตระหนกไม่เชื่อขึ้นมา มาเอาเงินคืนเดี๋ยวนี้ ก็ล้มวันนั้นเลย อุปมาอุปไมยก็อย่างนั้น

แต่เผอิญธนาคารใหญ่ๆ ก็ “บาดเจ็บสาหัส” แต่ไม่ถึงขั้นทนพิษบาดแผลไม่ไหว ก็ยังพอพะงาบๆ ต่อไป แต่ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะทำยังไง จนกระทั่งภาพออกมาหลังจากนั้นอีกปีหนึ่ง ไม่ถึงปีด้วยซ้ำไป เกิดมีภาพว่าเอเชียจะฟื้นเร็ว ในภาพนี้ก็ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่าจะไป “เพิ่มทุน”

แต่การเพิ่มทุนต้องเพิ่มทุนจากต่างประเทศเท่านั้น เพราะในประเทศไม่มีเงินที่จะเพิ่มทุน ทุกคนเสียหายหมด ก็ต้องไปเพิ่มทุนต่างประเทศ และเหตุผลเดียวที่ไปเพิ่มทุนต่างประเทศได้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยและก็ในเวลาอันใกล้ตามด้วยธนาคารกรุงเทพ ก็เพราะมีความเชื่อในตลาดทุนสากลว่า เอเชียโดยรวมจะฟื้นเร็ว ที่พูดติดปากกันว่ารูปตัว “วี “ (V) ซึ่งก็ทำให้สามารถเพิ่มทุนได้

เพราะถ้าเขาไม่เชื่อว่าภูมิภาคเอเชีย ยังไม่ต้องพูดถึงประเทศไทยหรือธนาคารกสิกรไทย ถ้าเขาไม่เชื่อว่าภูมิภาคเอเชียจะฟื้น ไม่มีทางที่เจ้าของเงินพวกนั้นจะใส่เงินเข้ามาในการเพิ่มทุนของบริษัทอะไรก็ตามที่มาจากเอเชีย ซึ่งบังเอิญธนาคารกสิกรไทยเป็นบริษัทแรกที่ออกมาจากเอเชียหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ที่จะมาหาเงินทุน “แบมือ” ขอเขาทั่วโลกมาเพิ่มทุนในธนาคารกสิกรไทย

ปกป้อง: ตอนนั้นทำไมธนาคารกสิกรไทยคิดได้ก่อนที่อื่น

ก็ไม่ได้คิดได้ก่อนที่อื่นหรอก ก็คิดกันไป หลายๆ คนก็คิดกันไป แต่ว่ามีใครกล้าลุกไปทำหรือไม่กล้าลุกไปทำเท่านั้นเอง บางคนก็อยู่ในลักษณะที่หลอกตัวเองซะด้วยซ้ำไปว่า มันยังไม่ถึงกับเป็นอะไรหรอก ไม่ถึงกับลุกขึ้นไปเพิ่มทุน เพราะก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยมีการที่ต้องเพิ่มทุนในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยลักษณะใหญ่ๆ อย่างนี้ เพิ่มนิดเพิ่มหน่อย ใช่ไหม แล้วทุกคนก็หลอกตัวเองว่าไม่เป็นไร

แต่จริงๆ ครั้งนั้นเป็นการเพิ่มครั้งใหญ่ที่ “พลิกสถานการณ์ของระบบการเงินของประเทศ” คือสามารถมีเงินก้อนใหญ่เข้าประเทศได้ในระดับทุนของธนาคารพาณิชย์ คือ เข้าที่ธนาคารกสิกรไทย 830 ล้านเหรียญ ก็คิดเป็นเงินไทยประมาณ 32,000 ล้านบาท ก็เป็นเงินใหญ่ที่สุดที่เคยเข้ามาในบริษัทอะไรในประเทศไทย แต่ภายในเดือนเดียวธนาคารกรุเทพก็ไปได้มา 1,000 กว่าล้านเหรียญ เพราะว่าธนาคารเขาใหญ่กว่า ทุนเขาเพิ่มมากกว่า ก็ปาไป 45,000 ล้านเหรียญ คร่าวๆ นะครับ ก็เป็นการพลิกเกมมาขั้นหนึ่งตรงที่ว่ามันยังมีเงินเข้าประเทศไทย แทนที่จะบอกว่ามันสิ้นสลายแล้ว

แต่หลังจากเพิ่มทุนไปแค่ 3 เดือน สิ่งที่ตลาดทุนสากลเดิมคาดหวังไว้ว่าเอเชียจะฟื้นเร็ว ก็ปรากฏว่าไม่จริง เป็น “ฝันสลาย” แล้วมันไประเบิดที่อินโดนีเซีย พออินโดนีเซียระเบิดทุกคนก็บอกว่า ไอ้ที่วาดฝันไว้ว่าเอเชียจะไม่ถึงกับหนักหนาจนเกินไปนั้นไม่จริง แต่เงินเข้าประเทศแล้ว พูดง่ายๆ คือ เขาซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพกับธนาคารกสิกรไทยไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ เงินนั้นเข้ามาอยู่ในระบบการเงินไทยแล้ว แต่ถ้ารออีก 3 เดือน รอให้อินโดนีเซียล้มก่อนก็จบทั้งประเทศ ไม่ต้องเพิ่มทุนกันสักแม้แต่ธนาคารเดียว

และที่ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงเทพยังเป็นอยู่ในลักษณะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะว่าเหตุการณ์วันนั้น เหมือนมี “ช่องนิดเดียว แล้วหลุดผ่านออกมาได้ แต่คนอื่นไม่ทันแล้ว” ธนาคารอื่นในประเทศไทยไม่สามารถเพิ่มทุนในลักษณะที่ธนาคารกรุงเทพกับธนาคารกสิกรไทยทำได้ ต้องไปหาช่องทางอื่น ต้องโดยรัฐบาลหนุน อะไรต่างๆ เพราะตลาดมันปิดแล้ว “ตลาดมันเปิดแค่แป๊บเดียว” ตอนที่ยังมีความเชื่อหลงเหลืออยู่บ้างในตลาดทุนต่างประเทศว่าเอเชียจะฟื้นเร็ว ที่ใช้คำว่า “V shape” น่ะ ในที่สุดแล้วมันไม่ใช่ตัววี มันเป็นตัวยู (U) ยาวเลย (หัวเราะ)

ปกป้อง: ยังดีที่ไม่เป็นตัวแอล (L) ณ วันนั้นวันที่ตัดสินใจไปสู้ด้วยการเพิ่มทุนในต่างประเทศ นอกจากความเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเป็นรูปตัววีแล้ว กสิกรไทยมีอะไรไปขายครับ ตอนนั้นใช้ยุทธศาสตร์อะไร

เราไม่มี คือ กสิกรโดยตัวเองไม่มี กสิกรก็ต้องขายว่าประเทศไทยจะต้องฟื้น ส่วนเขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้นไม่ใช่ธนาคารกสิกรไทยคนเดียว รัฐบาลไทยก็ต้องไปขายใช่ไหมครับ แล้วผู้นำของรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียก็ต้องไปขายความคิดนี้ ไม่อย่างนั้นเงินจะไม่ไหลกลับมาในภูมิภาค

ทีนี้ พอมีความเชื่อนั้นก็แสดงว่ามีโอกาสขายของได้ เขาถึงมาซื้อหุ้น เขามาซื้อหุ้นธนาคารกสิกรไทยไม่ใช่เพราะว่าเขาเชื่อธนาคารกสิกรไทย ไม่ว่าเราจะเสนอว่าตัวเองดูดียังไงก็ตาม เราก็ต้องเสนอตัวเองตามความเป็นจริง จะไปพูดเกินความเป็นจริงไม่ได้ ถือว่าไปหลอกเขา แต่ถ้าเขาไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะฟื้น มันไม่มีทางที่เขาจะซื้อหุ้นธนาคารกสิกรไทยหรือหุ้นธนาคารกรุงเทพได้

แต่ว่ามองมันกลับไปก็คือว่า “เขาประเมินผิด” ฉะนั้น คนที่ซื้อหุ้นก็มีคนที่ถูกเสนอขายหุ้น บางคนก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเขาก็ไม่ซื้อ ต่อให้เขาบอกว่าเราไปทำตัวเองดีที่สุดเท่าที่ธนาคารแห่งหนึ่งจะทำตัวเองได้ แต่เขาก็บอกว่าเสียใจด้วย เขาไม่เชื่อว่าเอเชียจะฟื้นเร็ว ไม่อย่างนั้นเขาไม่กล้าใส่เงินเข้ามา เพราะถ้าใส่เข้ามาแล้วมันไม่ได้คืน ก็อาจจะมีความผิดในฐานะผู้จัดการเงินลงทุนพวกนั้น

แต่มีบางคนเชื่อ บางคนเชื่อก็ซื้อเพราะนั่นเขาทายผิด แต่ไม่ใช่เพราะว่าเราไปโกหกเขา เราเล่าความจริงของสถานการณ์ของธนาคารกสิกรไทย NPL (Non Performing Loan) ขึ้นไปถึงเกือบจะ 40% เราก็ต้องวาดภาพให้ดูเอง แต่เขาเชื่อเองว่ามันคงฟื้น คือ เอเชียกับไทยคงจะฟื้น เพราะฉะนั้นธนาคารกสิกรไทยก็คงจะฟื้นไปด้วย เพราะฉะนั้นหุ้นที่ซื้อในวันนั้นก็คงจะได้ราคาดี วันนั้นก็ขายได้ในราคา 88 บาท

อ่านต่อตอนที่ 4: การพลิกฟื้นระบบแบงก์