ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (5) วิเคราะห์สาเหตุวิกฤติและปัญหาต่างๆ มาจาก “4 C”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (5) วิเคราะห์สาเหตุวิกฤติและปัญหาต่างๆ มาจาก “4 C”

14 กันยายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นายอมเรศ ศิลาอ่อน
นายอมเรศ ศิลาอ่อน

ซีรีส์ 15 วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ( ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้

….

สาเหตุของวิกฤติ 2540 มีการวิเคราะห์กันหลากหลาย และหลายมุมมอง ส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาด หรือทุกคนมีส่วนร่วมทำให้เกิดวิกฤติครั้งนี้ แต่อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจคือ “อมเรศ” วิเคราะห์ว่า วิกฤติและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจาก “4 C” ซึ่งเป็นมุมมองเชิงสังคมและการเมือง โดยรายละเอียดมีดังนี้

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองย้อนกลับไป เป็นเพราะสามารถขายสินทรัพย์ได้เร็ว ก็ทำให้ทุกอย่างมันบริหารจัดการได้เร็วขึ้น นั่นเป็นผลที่ทำให้ประเทศฟื้นได้เร็วใช่ไหม

ถูกต้อง แต่มันก็ไม่ใช่อันเดียว เพราะว่าตอนหลังคุณธารินทร์ (นิมมานเหมินท์) ก็ต้องมาแก้เรื่องปัญหาของธนาคาร จำได้ไหม ต้องปิดธนาคาร ต้องยุบธนาคาร ต้องควบรวบธนาคารไม่รู้กี่ที่ ก็เป็นผลพวงที่ตามมาอันนั้น แต่ว่าเผื่ออันนั้นทำไม่สำเร็จธนาคารยิ่งปั่นป่วนใหญ่ แล้วเมื่อทำเรื่องการเงิน การปรับโครงสร้างระบบการเงินสำเร็จแล้ว ก็ทำให้ประเทศไทยพอมีความแข็งแกร่ง จนกระทั่งตอนหลังเงินสำรองเงินตราระหว่างประเทศเรามากมายมหาศาลมโหฬาร จนกระทั่งทุกคนพยายามจะเอาไปใช้ (หัวเราะ)

“เสร็จแล้วก็คนที่ทำ ปรส. คุณธารินทร์ที่แก้ปัญหาธนาคาร ก็เป็นจำเลยสังคม นี่คือความน่าเป็นห่วงของสังคมไทย ไม่รู้อะไรถูก อะไรผิด ไม่รู้ว่าคนดีคนไม่ดีอยู่ที่ไหน ไม่รู้ว่าควรจะตามใคร”

ตอนก่อนที่ผมจะออกจาก ปรส. ทางเอเชียโซไซตีได้เชิญผมไปพูดที่ฮ่องกง แล้วก็ผมก็ส่งบทความนั้นมาลงที่นี่ ที่เมืองไทย ก็มีคนฮือฮาๆ อยู่พักหนึ่งนะครับ

ผมบอกว่า “ในขณะนั้นเมืองไทยรอดแล้ว แต่ว่าก็ยังมีสัญญาณ มีเครื่องหมายที่ชี้ว่ายังมีอันตรายอยู่”

ตอนที่ผมพูดนั้นเป็นปลายยุครัฐบาลชวน (ชวน หลีกภัย) แล้ว และผมก็มองเห็นสัญญาณหลายอย่างที่ว่ารัฐบาลคงอยู่ไม่ได้ แล้วก็จะมีคนอื่นมาแทน แล้วก็มีพิธีการอะไรต่างๆ ทั้งการทำงานต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า เรามีปัญหาไฟแนนซ์เกิดขึ้นได้ หรือปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้ เพราะ 4 อย่าง

อันแรกคือ Complacent ความชะล่าใจ

อันที่สองคือ Cronyism การเล่นพรรคเล่นพวก

อันที่สาม Collusion การรวมหัวกันทำผิดกฎหมาย

อันที่สี่คือ Corruption ฉ้อราษฎร์บังหลวงเลย

“ประเทศใดก็ตาม ระบบเศรษฐกิจไหนก็ตาม ที่มี 4 อย่างนี้ในอัตราที่สูง อยู่ไม่ได้ เจ๊งแน่ๆ”

ถ้ามี corruption มากๆ เรียกกัน 50% อย่างนี้เจ๊งแน่ๆ ประเทศนั้นอยู่ไม่ได้ ถ้ามี collusion คือรวมหัวกัน ฮั้วกันประมูล ถ้าเป็นของรัฐบาลก็ฮั้วกันให้มันถูก ถ้าเผื่อจะประมูลไปสร้างอะไรให้รัฐบาลก็ฮั้วกันเพื่อให้มันแพง ถ้ามีมากๆ ระบบนั้นก็อยู่ไม่ได้ แล้วอันนั้นก็เริ่มจากการเล่นพรรคเล่นพวกก่อน พอการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอะไรต่างๆ นานา ก็ไม่ใช่ว่าอะไรถูกอะไรผิด ใครเก่งใครไม่เก่ง ใครดีใครไม่ดี มันอยู่ที่ว่าจะทำอะไร ทำเพื่อพวกใคร พอเล่นพรรคเล่นพวกมีทั้งเพื่อนฝูง ทั้งเครือญาติ ทั้งพี่น้องอะไร ถ้าเล่นกันแบบนั้นระยะยาวมันอยู่ไม่ได้ ใช่ไหมครับ

อย่างบริษัทใหญ่ๆ ส่วนมากเขาต้องเอาพี่น้องมาทำ แต่พอเป็นบริษัทใหญ่มากจริงๆ ระดับนานาชาติไม่เอาคนมีฝีมือเข้ามาทำมันอยู่ไม่ได้ใช่ไหม และเมื่อเอาเขาเข้ามาทำก็ต้องปฏิบัติต่อเขาด้วยความเป็นธรรมนะครับ ไม่ใช่ว่าเขาเก่งแต่ไม่ให้ขึ้น น้องเราไม่เก่งแต่จะให้เป็นนายเขา อะไรอย่างนี้นะครับ

ถ้าเราทำอย่างนั้นระบบเศรษฐกิจก็เจริญไม่ได้ ในที่สุดมันก็เป็นซิมบับเวย์ หรือเป็นกรีซในปัจจุบัน มันคือผลของการที่ระบบเศรษฐกิจหรือประเทศชาติอันหนึ่งอันใดมีเรื่อง cronyism เรื่อง collusion เรื่อง corruption มาก แล้วอันนี้ (วิกฤติ) มันก็มาจากอันแรกคือ complacent ความชะล่าใจ คิดว่ารอดแล้วๆ ตอนนี้ก็ทำอะไรตามชอบใจได้แล้ว ใช่ไหม

“คนไทยพอตอนเข้าวิกฤติ ให้มีวินัย ทำได้ รวมหัวกันให้ทำอะไรที่สิ่งที่ถูกต้องทำได้ แต่พอทำเสร็จแล้ว นึกว่าเราแน่ ก็ชะล่าใจ ว่า เฮ้ย! ต่อไปนี้ไม่ต้องทำแบบนั้นก็ได้ มาทำแบบที่เราเคยทำก็ได้ นี่คือปัญหาของเรา”

ไทยพับลิก้า : ถ้าวิกฤติรอบใหม่มาอีกครั้ง คุณอมเรศมองว่าขบวนการที่เคยทำเมื่อปี 2540 จะรับมือไหวไหม

อันนี้บอกไม่ได้ครับ เพราะมันจะมาแบบไหน จะมารุนแรงแค่ไหน แล้วก็เศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเป็นอย่างไร หรือถ้าเศรษฐกิจโลกเลวหมดแล้วเราเลวด้วย แก้ยาก แต่ถ้าเศรษฐกิจโลกดีเราเลวคนเดียว อย่างนั้นไม่ยาก ใช่ไหม มันขึ้นกับหลายอย่าง แต่มันอยู่ที่ว่า เมื่อคุณมีปัญหาแล้วจะต้องแก้ คุณหาคนที่แก้เป็น ได้หรือเปล่า

“สมมติว่าหาได้คนนี้แก้เป็นแล้ว ก็ไปถามเขา มาช่วยหน่อยได้ไหม เขาบอกว่า แล้วคุณแก้ปัญหาให้เขาได้หรือเปล่า คุณจะตอบเขาว่าไง ถ้าจะเอาคนดีมาทำงานให้บ้านเมือง”

หมายเหตุ : ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)