ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (4) “ถึงติดตะราง ถึงตาย แต่บ้านเมืองพ้นภัยก็ยังคุ้ม”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (4) “ถึงติดตะราง ถึงตาย แต่บ้านเมืองพ้นภัยก็ยังคุ้ม”

13 กันยายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นายอมเรศ ศิลาอ่อน
นายอมเรศ ศิลาอ่อน

ซีรีส์ 15 วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ( ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้

….

การตัดสินใจเข้ามารับหน้าที่เป็นประธาน ปรส. ของ “อมเรศ ศิลาอ่อน” โดยเขาไม่รู้มาก่อนว่าจะถูกข้อครหา และถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ ซึ่งกรณีเลวร้ายสุดอาจถูกพิพากษาตัดสินถึงขั้น “ติดคุกติดตะราง” แต่หากย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็ยืนยันว่า จะรับทำหน้าที่นี้เพื่อช่วยประเทศชาติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ติดตามรายละเอียดได้ดังนี้

ไทยพับลิก้า : ถ้าย้อนกลับไป คุณอมเรศรู้ว่าจะต้องเข้ามารับปัญหาซึ่งศึกใหญ่มาก และคิดว่าต้องโดนข้อครหาแน่ๆ ตอนนั้นตัดสินใจอย่างไร

คือตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะมีเรื่องคนมาตามล่าทีหลังอะไรแบบนี้ ยังไม่รู้ ถามว่าถ้าตอนนั้นรู้ว่าตอนนี้จะโดนฟ้องอะไรอย่างนี้ จะทำไหม บอกอย่างไม่ต้องคิดเลย ผมก็ยังตัดสินใจว่าต้องทำ เพราะตอนนั้นบริษัท ประเทศ กำลังจะล้มละลาย ถ้าใครทำอะไรได้ต้องทำ ผลจะตามมาอย่างไรก็ต้องยอมรับ

“ถึงตอนนั้นผมบอกว่าถึงติดตะราง ถึงตาย แต่ว่าบ้านเมืองพ้นภัย ก็ยังคุ้ม คนคนเดียว ชื่อเสียงผมถูกทำลายไปก็ไม่เป็นไร คนเดียว แต่ว่ามันต้องทำให้ประเทศรอดพ้นให้ได้”

เพราะว่าตอนนั้นเราพูดถึงการรักษาระบบการเงินทั้งหมดของประเทศ ซึ่งตอนนั้นมันไม่มีใครเชื่อถือแล้ว

ไทยพับลิก้า : แต่ตอนนั้นมั่นใจใช่ไหม เข้ามายังไงก็จะสามารถบริหารจัดการได้

มันไม่มีความมั่นใจหรอกครับตอนนั้น รู้ว่าปัญหามันใหญ่มาก แต่ก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผมก็โชคดีมากที่ได้คนเก่งๆ มาช่วย คนอย่างคุณวิชรัตน์ (วิชรัตน์ วิจิตรวาทการ อดีตเลขา ปรส.) มาช่วย ถ้าเผื่อไม่ได้คนแบบนั้นมาก็คงทำได้แต่ช้าลง แต่ได้คนที่เก่งๆ มา คุณวิชรัตน์ก็ไปหาคนเก่งมาช่วย แม้แต่การประมูลสินทรัพย์รองก็เห็นนะ เราก็ทำได้ดี แล้วก็เป็นต้นแบบของการประมูลครั้งหลังๆ จนกระทั่งถึงบัดนี้ก็ยังใช้ต้นแบบที่เราทำไว้

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นข้อครหาอะไรที่หนักใจที่สุด

ตอนที่ผมทำงานอยู่ไม่มีอะไรหนักใจ เพราะว่าทุกอย่างที่มีข้อครหาเราก็ตอบได้หมด ตอบแล้วคนจะเชื่อมากเชื่อน้อยแค่ไหนเราไม่รู้ ตอนนั้นตัดสินไม่ได้ แต่ว่าภายหลังมันก็มีจริงๆ แล้วเมื่อเห็นเนื้อหาของข้อหาที่มาแล้วก็ไม่หนักใจนะครับ เพราะว่าผมว่าข้อหามัน “การ์ตูน” จริงๆ

“บอกว่าเราทำงานให้บ้านเมืองแล้ว แล้วมาบอกว่าเราเอื้อประโยชน์ทางภาษีให้ฝรั่ง ไม่การ์ตูนก็ไม่รู้จะพูดว่ายังไงแล้ว”

ไทยพับลิก้า : กฎหมายตอนนั้นยกเว้นให้อยู่แล้ว

คือว่าเป็นสิทธิของเขาที่จะได้การยกเว้นภาษีอันนั้น

มากล่าวหาได้ยังไงว่าคนของ ปรส. เอื้อประโยชน์ เป็นสิทธิของเขาอยู่แล้ว ไม่ให้เขา เขาก็ฟ้อง ทั้งกฎหมาย ทั้งเงื่อนไขการประมูล เราก็บอกไว้ชัดเจนนะครับ เขาสามารถที่จะโอนสิทธิในการทำสัญญาได้ และเขาก็ทำตามสัญญาหมดทุกอย่าง แล้วก็หาเรื่องกัน

“ก็ต้องนับถือว่าเขาเก่ง หาเรื่องจนได้เก่งจริงๆ ทั้งๆ ที่ไม่มีเรื่อง คดีนี้ก็คงจะตัดสินภายในปี สองปีนี้ ตอนนี้อยู่ที่ศาลแล้ว ก็ไม่เป็นไร เราก็สู้ไป แต่อย่างที่ผมว่า ถ้าแก้ปัญหานั้นให้ผ่านพ้นไปได้ แล้วผมติดตะรางก็ยังคุ้ม ลูกผมก็อาจจะรู้สึกไม่เห็นด้วยนะ แต่ว่าสำหรับตัวผม ผมไม่แคร์”

ไทยพับลิก้า : คดีที่ถูกฟ้องกังวลหรือไม่

ไม่ได้กังวล เพราะสมมติว่า the worst come to the worst (กรณีเลวร้ายที่สุด) ผมต้อง “ติดตะราง” ผมก็ไปทำกรรมฐานในตะรางได้

“ผมจะไปเดือดร้อนเรื่องอะไร คนที่จะเดือดร้อนก็คือคนที่เขาอยากจะแก้แค้น ใช่ไหม ตอนนี้เขาก็ได้แก้แค้นแล้ว ผมก็ไม่รู้เขาพอใจหรือยัง”

(อ่านต่อตอนที่5)