ThaiPublica > คนในข่าว > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (2) แจงกระบวนการขายทรัพย์สิน 56 ไฟแนนซ์ “โปร่งใส-ราคาเหมาะสม”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 “อมเรศ ศิลาอ่อน” (2) แจงกระบวนการขายทรัพย์สิน 56 ไฟแนนซ์ “โปร่งใส-ราคาเหมาะสม”

12 กันยายน 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนั้นบ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นายอมเรศ ศิลาอ่อน
นายอมเรศ ศิลาอ่อน

ซีรีส์ 15 วิกฤติ 2540 สัมภาษณ์พิเศษ นายอมเรศ ศิลาอ่อน อดีตประธานองค์การเพื่อปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) อีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการสะสางปัญหาหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ 2540 แต่ผลจากการกระทำกลับตกเป็น “จำเลย” สังคม ข้อหาทำให้ชาติเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท และถูกข้อครหาว่าทำให้กิจการหลายๆ บริษัทล้มละลาย ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีรายละเอียดจากการ “ถาม-ตอบ” ของบทสัมภาษณ์พิเศษดังนี้

….

ปรส. ถูกโจมตีอย่างหนักหลังประมูลขายสินทรัพย์ 56 ไฟแนนซ์ เนื่องจากขายได้ราคาต่ำมากประมาณ 30% โดยสังคมตั้งข้อสงสัยว่า เป็นการขายของที่ “ถูกเกินไป” หรือไม่ และกระบวนการอาจไม่โปรงใส เอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติหรือไม่อย่างไร ทุกข้อสงสัย “อมเรศ” อธิบายได้ทุกเรื่อง โดยมีรายเอียดดังนี้

ไทยพับลิก้า : ข้อครหาที่ ปรส. โดนเยอะคือประเด็นการขายราคาต่ำ เรื่องของการประมูล ว่าไม่ค่อยโปร่งใส

มีเรื่องราคานี้นะครับ คือราคาในตอนนั้นไม่มีใครบอกได้ว่ามันจะได้ราคาเท่าไหร่ ก่อนที่จะเกิดกระบวนการนี้ทางรัฐบาลเขาก็ให้พวกบริษัทตรวจสอบบัญชีเป็น 100 บริษัท ตรวจมาแล้วก็รายงานว่าเป็นยังไง เขาก็มาตรวจ ที่เขาเรียกว่าตรวจแบบลึก ที่เรียกว่า “due diligence”

ตรวจแล้วเขาก็บอกว่า “สรุปแล้วควรจะได้เงินคืนประมาณเท่านี้ถึงเท่านี้ เขาก็บอกประมาณกว่า 30 50% อะไรอย่างนี้นะครับ เขาพูดแบบนั้น”

ซึ่งผมก็ไม่เชื่อ ผมไม่เคยยอมรับอันนี้นะครับ คุณธารินทร์ (นิมมานเหมินท์) ก็นำตัวเลขนี้มาโควตบ่อยๆ แต่ผมไม่เชื่อ เพราะผมรู้ว่าพวกนี้ไม่รู้จริง ผู้สอบบัญชีจะไปรู้เรื่องคุณภาพของสินทรัพย์ได้อย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ของเขา เขาไม่ได้มีประสบการณ์ไปดูเรื่องคุณค่าสินทรัพย์ โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ เขาจะไปรู้ได้ยังไง แล้วการตรวจสินทรัพย์จะดีหรือไม่ดีแค่ไหน อยู่ที่ว่าการันตีต่างๆ เช่น โฉนด หลักทรัพย์ค้ำประกัน อะไรต่างๆ มีมากน้อยแค่ไหน คุณภาพของหลักทรัพย์เหล่านั้นดีแค่ไหน ซึ่งอันนี้มันเป็นการพิจารณาหรือตัดสิน ที่ผมคิดว่าผู้สอบบัญชีไม่ได้มีความเชี่ยวชาญ

เพราะฉะนั้น ผมไม่เชื่อในเรื่องนี้ ผมเชื่ออย่างเดียวว่า “ถ้าประมูลออกมาแล้วได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น นั่นคือราคาตลาดของโลกในขณะนั้น”

ถ้าเผื่อเราทำไม่ดี เขา (นักลงทุน) ไม่เชื่อ หรือจัดกระบวนการไม่ดี จัดกลุ่มหลักทรัพย์ไม่ดี เราก็จะได้ราคาสู้อินโดนีเซีย สู้เกาหลีใต้ไม่ได้ หรือสู้ญี่ปุ่นไม่ได้ในที่สุด

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นกระบวนการจัดหลักทรัพย์ ปรส. ทำอย่างไร โดยเฉพาะการ จัดกองสินทรัพย์ต่างๆ

เราก็ต้องจัดกองให้ ต้องสำรวจตลาดว่าเขาสนใจทางไหน บางพวกเขาจะสนใจเรื่องเช่าซื้อ บางพวกเขาก็จะสนใจเรื่องบ้าน บางพวกเขาก็จะสนใจเรื่องอสังหาริมทรัพย์ บางพวกเขาก็จะสนใจอย่างอื่น ก็ต้องจัดกลุ่มให้เป็นที่น่าสนใจกับเขา

แล้วก็มีคนบอกว่า ทำไมจัดกลุ่มใหญ่ ทำให้ฝรั่งได้เปรียบ เราก็ไม่มีเวลาที่ไปอธิบายตอนนั้น แต่ถ้าไปจัดกลุ่มเล็ก คนไทยก็จะมีโอกาสแข่งขันมากขึ้น ก็จะถามว่า

“คนไทยมีตังค์หรือเปล่าตอนนั้นน่ะ ในขณะนั้นคนไทยที่มีสตางค์เอาไปไว้เมืองนอกหมด เขาจะโง่พอที่จะกลับมาเอาเมืองไทยหรือ ถามแค่นี้”

เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วตอนนั้นเราต้องจัดกลุ่มให้เป็นที่สนใจของตลาดโลกของคนที่อยู่ทั่วโลก และคนเหล่านี้ที่จะมาประมูลสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ จริงๆ แล้วมีไม่กี่รายหรอกที่เก่งพอจะรวบประมูลไปแล้วทำได้กำไร มีแค่เป็นหลักสิบๆ ราย ไม่ได้มีเป็นพัน เป็นหมื่นราย

“เพราะฉะนั้น เราก็ต้องจัดให้เหมาะกับตลาดอย่างนี้ แล้วกลุ่มของมันก็ต้องเป็นกลุ่มน่าสนใจ เขาซื้อไปแล้วมันใหญ่พอที่เขาจะจัดการได้ ถ้ากลุ่มมันเล็กเกินไปมันก็ไม่คุ้มค่าเขาที่เขาจะไปทำ”

ไทยพับลิก้า : ที่ว่าสินทรัพย์มีราคา แต่เหมือนกับว่าผู้ตรวจอาจจะไม่เข้าใจประเด็นนี้

เรื่องนั้นเป็นเฉพาะกลุ่มๆ เรามีผู้ชำนาญการเป็นกลุ่ม ซึ่งทำงานเป็นเอกเทศแยกออกไป พวกนี้จะทำราคาเป็นราคาอ้างอิง ซึ่งเขาก็ต้องดูตลาดเมืองนอกในขณะนั้นด้วยว่าเป็นยังไง แล้วราคาอันนี้ก็ไม่มีใครรู้ จนกระทั่งวันที่เอาผลการประมูลไปเสนอคณะกรรมการฯ เขาก็จะเสนอราคาอ้างอิงเขาเข้ามา แล้วคณะกรรมการฯ ก็จะดูราคา 2 ราคานี้ แล้วก็ตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับ

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างมันโปร่งใส คือทำเพื่อป้องกันไม่ให้มีการ “ฮั้ว” ไม่ให้มีการ “เล่นพรรคเล่นพวก” กระบวนการเหล่านี้ทำเพื่อประโยชน์เรื่องนี้ แล้วเมื่อผู้ลงทุนเขาเห็นว่าเราทำขนาดนี้ เขาก็มีความเชื่อมั่น

ไทยพับลิก้า : ประเด็นที่พูดถึงการจัดกองใหญ่เพื่อให้ต่างชาติ มีคนที่บอกว่าทำไมไม่ขายคนไทย ทั้งที่มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เกียรตินาคิน มีบสส.(บริษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน)

เกียรตินาคินก็ติดกับอยู่ตอนนั้น (ติดอยู่ใน 58 บริษัทเงินทุนที่ต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการ) เขามาทีหลัง เมื่อเขารอดแล้วเขาเป็น 1 ใน 2 บริษัทที่รอด ทีหลังถึงมาประมูล ตอนที่ประมูลตอนแรกเขายังติดกับอยู่

ไทยพับลิก้า : ทำไมถึงไม่อธิบายให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ

คือตอนที่มีเรื่อง เป็นเรื่องตอนที่ผมลาออกมาแล้ว ผมถือว่าผมจบแล้วนี่ ไม่ใช่เรื่องไม่ใช่หน้าที่ผมที่จะต้องไปอธิบาย เป็นหน้าที่ของ ปรส. ในขณะนั้นที่ต้องอธิบาย หรือเป็นหน้าที่รัฐบาลจะต้องอธิบาย

จริงๆ แล้วผมว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลขณะนั้น ที่จะต้องอธิบายว่า ปรส. ทำอะไร ทำไปยังไง โปร่งใส ไม่โปร่งใส ไปทำอะไรบ้าง ซึ่งความจริงในตอนที่ผมอยู่ก็มี “ไอ้ข่าวบ้าๆ บอๆ ขึ้นมาบ่อยๆ” แล้ว 2 ครั้ง คุณธารินทร์ก็ส่งคนมาตรวจสอบ ก็เป็นต่างชาติทั้งคู่ เป็นกลุ่มต่างชาติพวกเวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) พวกไอเอ็มเอฟ (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) พวกบริษัท พวกธนาคารต่างชาติ ที่คุณธารินทร์ให้มาดูว่าการทำงานของ ปรส. โปร่งใสหรือไม่โปร่งใส มีปัญหาหรือเปล่า

“ทั้ง 2 ครั้งกลับไปรายงานก็ไม่มีปัญหาอะไรนะ คุณธารินทร์ก็ไปชี้แจง แต่ทีนี้พอไม่มี scandal (เรื่องอื้อฉาว) คนเลยไม่ค่อยสนใจ” (หัวเราะ)

(อ่านต่อตอนที่3)